Skip to main content
sharethis

กลุ่มองค์กรชาวพุทธ กรุงเทพมหานคร สภาศิลปินส่งเสริมพระพุทธศาสนา ยื่นหนังสือข้อกังวลต่อโรงแรมที่ตั้งรูปปั้น 'ครูกายแก้ว' แนะไม่ให้คนสักการะบูชา อาจจะทำเป็นรูปปั้น ที่แสดงประวัติตามความเชื่อแต่มิใช่เปิดให้สักการะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์กลางเมือง-ให้เคลื่อนย้ายออกไปจากพื้นที่ หากไม่สามารถดำเนินการได้ ควรจัดพิธีบวงสรวงขอขมาโทษต่อพระรัตนตรัยและพรหมเทวดาชั้นสูง


ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2566 สำนักข่าวไทย [1] [2] รายงานว่าตัวแทนกลุ่มองค์กรชาวพุทธ กรุงเทพมหานคร – สภาศิลปินส่งเสริมพระพุทธศาสนาฯ เข้ายื่นหนังสือถึงนายชาลี ตุลยพิศิษฐ์ชัย ผู้บริหารและเจ้าของโรงแรม เดอะบาร์ซ่า แบงค็อก ผ่านทาง นายชาลี นพวงศ์ ณ อยุธยา เลขาฯ ผู้บริหารโรงแรม ดังกล่าว ถึงข้อกังวลของชาวพุทธและสังคม โดยนายชาลี ได้รับเรื่องไว้เสนอต่อผู้บริหารโรงแรมฯ

นายชาลี บอกว่า โรงแรมดังกล่าวแบ่งเป็น 2 ส่วนส่วนโรงแรมเป็นที่เช่าการรถไฟ ฯ ส่วนบริเวณที่ตั้งรูปปั้นครูกายแก้วเป็นพื้นที่ของโรงแรมเอง ซึ่งในขณะนี้โรงแรมยังอยู่ในโครงการของแผนฟื้นฟู ซึ่งผู้บริหารจะต้องหาวิธีทางในการสร้างรายได้ให้กับโรงแรม และช่วยเหลือลูกน้อง ที่ตกงานในช่วงเกิดการระบาดของโรคโควิด ให้กลับมามีอาชีพและรายได้ โดยเห็นตัวอย่างจากบริเวณสี่แยกห้วยขวางที่มีศาลพระพิฆเนศ ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มาก จากนั้นเจ้าของครูกายแก้วมาขอเช่าพื้นที่ โดยไม่รู้จักครูกายแก้วมาก่อน แต่สิ่งหนึ่งที่อยากจะบอกว่าตอนนี้ เมื่อรูปปั้น ครูกายแก้ว มา มีประชาชนนักท่องเที่ยวสนใจเดินทางมาเที่ยวชม จนยอดจองส่งโรงแรมดีขึ้น และผู้เชี่ยวชาญที่ สร้างครูกายแก้ว ให้ข้อมูลว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของศาสนาพุทธ เป็นเรื่องความเชื่อส่วนบุคคล หากคิดว่าตรงจุดนี้เป็นปัญหา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะไปตรวจสอบตามวัดต่างๆ ที่มีการจัดสร้าง รูปปั้นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาให้คนกราบไหว้ ขอโชคขอลาภด้วย โดยยืนยันว่าทางโรงแรมไม่ได้เพิกเฉยกับปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งวันนี้ กทม.ได้มาพูดคุยหารือซึ่งได้ข้อสรุป ว่าผู้บริหารฯ จะมีการดำเนินการก่อสร้างเป็นโดมปิดกั้น ทำเป็นสถานที่ปิด บุคคลภายนอกไม่สามารถเห็นครูกายแก้วได้ เพราะ หากใครอยากไหว้สักการะก็ให้เข้ามาในพื้นที่ พร้อมยืนยัน การสักการะครูกายแก้ว ใช้เพียงผลไม้ ดอกไม้ น้ำผึ้ง ไม่มีการบูชายัญด้วยแมวหรือสุนัขตามที่มีกระแสข่าวก่อนหน้านี้

ด้านประชาชนที่มากราบไหว้สักการะ บอกว่ารู้จัก ครูกายแก้ว จากกระแสข่าว จึงมากราบไหว้ขอพรให้กับครอบครัว รวมทั้งขอโชคลาภ ส่วนเรื่องประเด็นที่มีกลุ่มคนบางกลุ่มเรียกร้องให้มีการย้ายรูปปั้นครูกายแก้วออกนอกพื้นที่ มองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ใครนับถือก็มากราบไหว้ส่วนใครไม่นับถือ ก็ไม่ต้องมา

นายศุภชัย ผ่องสวัสดิ์ ตัวแทนสภาศิลปินส่งเสริมพระพุทธศาสนาฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานรวมถึงประชาชนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับตัวรูปปั้น ครูกายแก้ว และอยากจะใช้การแถลงข่าวดังกล่าวเป็นสื่อในการรณรงค์ ว่าหลักของชาวพุทธในการสักการะบูชา จะต้องมีหลักเหตุและผล มีหลักฐานอ้างอิงได้ แต่หากปล่อยความเชื่อบางเรื่อง การไหว้โดยไม่มีเหตุผลไปสู่คนรุ่นหลัง อาจจะเป็นผลเสียต่อพระพุทธศาสนาได้ และวานนี้ได้มีโอกาสพูดคุยกับลูกศิษย์ คนจัดสร้างครูกายแก้วในรายการโทรทัศน์หนึ่ง ซึ่งบอกว่า ครูกายแก้ว เป็นอสูรเทพ เหมือนท้าวเวสสุวรรณฯ แต่ไม่มีการอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ จึงเชื่อว่า น่าจะเป็นความเชื่อส่วนบุคคลมากกว่า โดยไม่มีการหารือในทางออกแต่อย่างใด ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า ความเชื่อไม่ใช่เรื่องผิด แต่ห่วงเยาวชนที่ไปไหว้ โดยไม่รู้ที่มาที่ไป หรือประวัติ หากจะมูจริงๆ ก็ควรมีหลักการ หลักฐานอ้างอิง เพื่อให้เกิดความเหมาะสม ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา ส่วนจะมีการย้ายออกนอกพื้นที่หรือไม่ คงเป็นสิทธิ ส่วนบุคคล ทั้งนี้ในอนาคตอาจไปยื่นเรื่องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กทม., กรมศาสนา รวมถึงผู้บริหารโรงแรมดังกล่าวด้วย

นส.วีรยานันท์ อภิธนาพัฒน์ คณะกรรมการสภาศิลปินส่งเสริมพระพุทธศาสนาฯ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากมีการนำรูปปั้นที่แปลกตา มีลักษณะน่ากลัว นำมาตั้งให้คนสักการะ เสมือนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยที่พุทธศสานิกชนส่วนใหญ่ ไม่ทราบประวัติที่มาว่าเป็นสถานะใด เป็นเทพ เป็นพรหม หรือสิ่งใด ต่อมามีผู้รู้ ผู้วิจารณ์ในโซเชียลมากมายว่า เป็น อสุรกาย บ้าง เป็นเทพอสูร (ซึ่งไม่สอดคล้องกับเทพ เทวดาในหลักพระพุทธศาสนา) เป็นเปรตบ้าง ซึ่งเรื่องที่กล่าวมา พระพุทธศาสนา ได้มีหลักคำสอนที่ทุกคนควรยึดถือ และปฏิบัติ คือการบูชาบุคคลที่ควรบูชา เป็นอุดามมงคล บุคคลที่ควรบูชา อาทิ พระรัตนตรัย บิดา มารดา หรือเทวดา (ที่ระบุไว้ในพระพุทธศาสนา) และพระมหากษัตริย์ มิใช่ อสุรกาย เปรต ถึงแม้จะมีอิทธิฤทธิ์ บันดาลบางอย่างได้ แต่ก็อยู่ในภูมิทุคติต่ำกว่ามนุษย์ จะเป็นมงคลได้อย่างไร จะนำมาซึ่งความเสื่อม และไม่เป็นมงคลต่อผู้บูชา และอาจจะ มีผลกระทบต่อ พื้นที่ใกล้เคียงได้

องค์กรชาวพุทธ กทม. และสภาศิลปีนส่งเสริมพระพุทธศาสนาฯ อยากเสนอแนะ เพื่อพิจารณาดังนี้ 

1. ไม่ให้คนสักการะบูชา อาจะทำเป็นรูปปั้น ที่แสดงประวัติตามความเชื่อ แต่มิใช่เปิดให้สักการะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์กลางเมือง แบบนี้ 

2. หากเป็นไปได้ จะเคลื่อนย้าย ออกไปให้พ้นในพื้นที่ 

3. ถ้าไม่สามารถดำเนินการได้ ทั้ง 2 ข้อ สมควรจัดพิธีบวงสรวงขอขมาโทษต่อพระรัตนตรัย และพรหมเทวดาชั้นสูง มีท้าวมหาราชทั้งสี่ และไม่เน้นการบูชารูปปั้นนี้ต่อไป โดยนิมนต์พระสงฆ์มาสวดภาณยักษ์ ฯลฯ จะทำให้บรรดาภูตผี หรือสิ่งไม่ดี ที่มาสิงสถิตในรูปปั้นนี้ หลีกทางออกไปด้วยพุทธคุณ 

จึงขอเสนอแนะมาเพื่อพิจารณาตามสิทธิส่วนบุคคล ตามที่ได้ มีพุทธศาสนิกชนสวนใหญ่ เกิดความวิตกกังวลหวาดกลัว เกรงจะเกิดเรื่องไม่ดีขึ้นในบ้านเมือง ตามความเชื่อส่วนบุคคล

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net