Skip to main content
sharethis

ปฏิเสธไม่ได้ว่า 'บาร์บี' เป็นภาพยนตร์ที่ครองใจคนดูและกวาดรายได้อย่างมโหฬาร 1,000 ล้านดอลลาร์ฯ ภายในไม่กี่สัปดาห์ กลายเป็นการเย้ยกลุ่มฝ่ายขวาอเมริกันที่ตีอกชกหัวไม่ชอบใจว่าเรื่องบาร์บีเป็นพวก "อุดมการณ์แบบ woke" ที่สนับสนุนคนข้ามเพศ แต่ทว่าในประเทศอื่นๆ นอกจากสหรัฐฯ ดูเหมือนจะมีกระแสต่อต้านบาร์บีมาจากภาครัฐเอง ด้วยหลายสาเหตุ

คูเวต และ เลบานอน เป็นสองประเทศล่าสุดที่ประกาศแบนภาพยนตร์เรื่อง "บาร์บี" ภาพยนตร์ทำเงินของผู้กำกับหญิง เกรตา เกอร์วิก ที่กวาดรายได้ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 35,000 ล้านบาท) ภายในเวลาเพียง 17 วัน อีกทั้งสื่อซีบีเอสนิวส์ยังจัดให้เกอร์วิกเป็นผู้กำกับหญิงคนแรกที่สามารถกวาดรายได้จากภาพยนตร์ในสัปดาห์แรกมากเป็นประวัติการณ์

แต่ คูเวต ก็ออกคำสั่งแบนภาพยนตร์บาร์บีตามหลังเลบานอน หลังจากที่กระทรวงวัฒนธรรมของเลบานอนขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทำการเซนเซอร์ภาพยนตร์นี้ โดยอ้างว่าภาพยนตร์บาร์บี "ส่งเสริมการรักเพศเดียวกันและการข้ามเพศ"

กระทรวงสารสนเทศของคูเวตแถลงเมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า ภาพยนตร์เรื่องบาร์บีนั้น "เผยแพร่แนวคิดและความเชื่อที่แปลกแยกจากสังคมคูเวตและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง" พวกเขาอ้างว่าที่ต้องแบนบาร์บีเพื่อเป็นการปกป้อง "ศีลธรรมอันดีของประชาชนและประเพณีในสังคม"

โดยที่กระทรวงสารสนเทศของคูเวตยังเคยแบนภาพยนตร์สยองขวัญออสเตรเลีย "จับ มือ ผี" (Talk To Me) ด้วยข้ออ้างเดียวกันด้วย

สำหรับเลบานอนนั้น รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม โมฮัมหมัด มอร์ทาดา ประกาศในวันที่ 9 ส.ค. ที่ผ่านมา ขอให้กระทรวงกิจการภายในของเลบานอน "ใช้มาตรการทุกอย่างที่จำเป็นในการแบนการฉายภาพยนตร์" บาร์บีในประเทศของพวกเขา

มอร์ทาดากล่าวหาว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ "ส่งเสริมการรักเพศเดียวกัน และการข้ามเพศ ... ส่งเสริมให้มีการปฏิเสธสถานะผู้คุ้มครองของคนเป็นพ่อ (ซึ่งหมายถึงการที่ผู้ชายในบ้านต้องคอยใช้อำนาจควบคุมผู้หญิง มักจะเกิดในประเทศที่ศาสนาอิสลามมีอิทธิพล-ผู้แปล) มีการลดทอนและล้อเลียนบทบาทของแม่ และมีการตั้งคำถามต่อความจำเป็นของการแต่งงานและการมีครอบครัว"

หลังจากที่มอร์ทาดาร้องขอในเรื่องนี้ รัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในของเลบานอน บัสซัม มาวลาวี ก็ขอให้คณะกรรมการเซนเซอร์ของเลบานอนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงทำการพิจารณาเรื่องบาร์บีและให้คำแนะนำในเรื่องนี้ โดยที่บาร์บีมีกำหนดเข้าฉายในเลบานอนในวันที่ 31 ส.ค. ที่จะถึงนี้

การเรียกร้องให้แบนบาร์บี เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสการต่อต้านความหลากหลายทางเพศในเลบานอนที่มีหัวหอกนำการเคลื่อนไหวเป็นกลุ่มติดอาวุธฮิชบอลเลาะห์

ในคำปราศรัยเมื่อเดือน ก.ค. ฮัสซัน นัสรัลเลาะห์ ผู้นำฮิชบอลเลาะห์เรียกร้องให้ทางการเลบานอนมีปฏิบัติการต่อต้านสิ่งที่เขามองว่าเป็นการส่งเสริมการรักเพศเดียวกัน รวมถึงมีการสั่งแบนสิ่งเหล่านั้นด้วย นัสรัลเลาะห์บอกว่าการรักเพศเดียวกันเป็น "ภัยคุกคาม" ที่เลบานอนจะต้อง "เผชิญหน้า" นัสรัลเลาะห์ยังเสนอว่าคนที่มีความสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน "ควรจะถูกฆ่าตั้งแต่ครั้งแรกแม้ว่าจะไม่ได้แต่งงานกัน"

ไอมาน มฮันนา ผู้อำนวยการบริหารขององค์กรภาคประชาชนไม่แสวงหาผลกำไร มูลนิธิ ซามีร์ แคสซีร์ กล่าวว่าการสั่งแบนบาร์บี้ในเลบานอนเกิดขึ้นท่ามกลาง "กระแสความใจแคบหัวรั้น"

มฮันนา บอกว่าการสั่งแบนเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวของกลุ่มหัวรั้นที่ชักพาให้กลุ่มติดอาวุธอิสลามสุดโต่งอย่างฮิชบอลเลาะห์มาเจอกับพวกขวาจัดชาวคริสต์ และพวกผู้นำศาสนาอื่นๆ ที่เน้นเคลื่อนไหวต่อต้านผู้มีความหลากหลายทางเพศ

บาร์บี นำแสดงโดย มาร์ก็อต ร็อบบี ในบทของบาร์บี และ ไรอัน กอสลิง ในบทของเคน เป็นภาพยนตร์ที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศจำนวนมากในทั่วทุกมุมโลกให้ความสนใจ ถึงแม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะไม่ได้มีการสื่อถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนรักเพศเดียวกันอย่างตรงไปตรงมาหรือมีแก่นของเรื่องเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศก็ตาม

ฝ่ายอนุรักษ์นิยมสหรัฐฯ โวย 'บาร์บี' Woke เกินไป

ไม่เพียงแค่กลุ่มประเทศมุสลิมเท่านั้นที่กล่าวหาภาพยนตร์บาร์บีว่าส่งเสริมเรื่องความหลากหลายทางเพศ พวกฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยมในสหรัฐฯ ก็แสดงความไม่พอใจต่อบาร์บีด้วยสาเหตุคล้ายๆ กัน รวมถึงนักวิจารณ์การเมืองที่เป็นฝ่ายขวาอย่าง เบน ชาปิโร ผู้ที่แสดงจุดยืนต่อต้านคนข้ามเพศมาโดยตลอดก็ถึงขั้นทุ่มเททำวิดีโอยาว 43 นาที เพื่อแสดงความเกลียดชังต่อภาพยนตร์เกี่ยวกับตุ๊กตาเด็กเล่นโดยเฉพาะ

ชาปิโร วิพากษ์วิจารณ์ภาพยนตร์ "บาร์บี" ซึ่งได้คะแนนสูงมากในเว็บไซต์รวบรวมคำวิจารณ์จากสื่อต่างๆ โดยเปรียบเทียบว่าเป็นสิ่งอุจาด บอกว่าเป็นภาพยนตร์ที่แย่ที่สุด 10 อันดับรั้งท้ายสำหรับเขา นอกจากนี้ยังถึงขั้นนำตุ๊กตาบาร์บีของเล่นมาจุดไฟเผาโชว์

ปฏิกิริยาแบบล้นเกินของชาปิโรส่งผลให้ชาวเน็ตพากันล้อเลียนท่าทีเช่นนี้ เช่นเรื่องที่เขาบ่นเกี่ยวกับภาพยนตร์บาร์บีถึง 43 นาที หรือความคิดเห็นว่า "ดูเหมือนว่าเรื่องบาร์บีจะทำลายเบนไปแล้วล่ะ"

ผู้ใช้งานเว็บไซต์ทวิตเตอร์/เอ็กซ์ ที่ชื่อ @WajahatAli ระบุว่า "ถ้าหากการงานของคุณขึ้นอยู่กับการคอยปั้นความโกรธแค้นเพื่อหล่อเลี้ยงพวกหัวรุนแรงที่เป็นฐานสนับสนุนของคุณอยู่ตลอดเวลา คุณก็จะกลายเป็นแบบ เบน ชาปิโร พ่อค้าความเกลียดชังที่ใช้เวลาตลอด 2 วันก่อนหน้านี้ไปกับการด่าว่าภาพยนตร์บาร์บีแทนที่จะสนุกและผ่อนคลายไปกับครอบครัวของเขา"

ไม่เพียงแค่ เบน ชาปิโร คนเดียว พวกขวาจัดกลุ่มอื่นในสหรัญฯ อย่างเช่น สื่อขวาจัดฟ็อกซ์นิวส์ก็กล่าวหาว่าภาพยนตร์บาร์บีนั้นมีอุดมการแบบตาสว่างในเรื่องการเมืองเชิงอัตลักษณ์ หรือที่เรียกว่า Woke เกินไป และอ้างอิงเว็บวิจารณ์ภาพยนตร์ของคริสเตียนที่อระบุว่าบาร์บีละทิ้ง "ผู้ชมหลักของตัวเองที่เป็นครอบครัวและเด็กผู้หญิงแล้วหันไปเน้นเรื่องราวของ LGBTQ+" ถึงแม้ว่าเรื่องนี้จะไม่ได้พูดถึงประเด็น LGBTQ+ โดยตรงเลยก็ตาม

อย่างไรก็ตามเรื่องบาร์บี มีนักแสดงหลายคนที่เป็นคนที่เปิดตัวว่าเป็นบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ หนึ่งในนั้นคือหญิงข้ามเพศ ฮารี เนฟ ผู้ที่แสดงเป็นเวอร์ชั่นหนึ่งของบาร์บี และได้ปรากฏตัวในการโฆษณาภาพยนตร์เรื่องนี้ในทุกแบบ อีกทั้งตัวละครที่เธอแสดงก็ไม่ใช่ตัวละครคนข้ามเพศแต่อย่างใด

ประเทศอื่นๆ ที่แบน "บาร์บี"

อย่างไรก็ตาม มีประเทศอื่นๆ ที่แบนหรือเซนเซอร์เนื้อหาบางส่วนของบาร์บี โดยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องความหลากหลายทางเพศแต่อย่างใด

เช่นประเทศเวียดนามที่แบนบาร์บีเพราะมีฉากหนึ่งที่แสดงให้เห็นแผนที่โลกซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงแผนที่ในแบบที่จีนอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ทะเลจีนใต้ โดยที่พื้นที่น่านน้ำที่ว่านี้ยังคงเป็นพื้นที่ๆ มีข้อพิพาทกันอยู่ระหว่างเวียดนาม กัมพูชา และจีน

ฉากดังกล่าวเป็นแผนที่ที่วาดขึ้นมาด้วยสีเทียนแบบเด็กๆ ที่แสดงให้เห็นถึงจินตนาการส่วนตัวของบาร์บีในการเดินทางจากดินแดนบาร์บีไปสู่ "โลกจริง" ซึ่งทางโฆษกของวอร์เนอร์บราเธอร์บอกว่า "ไม่ได้มีเจตนาจะแสดงจุดยืนอะไร"

แต่เวียดนามก็วิจารณ์ว่าแผนที่ในเรื่องนี้แสดงให้เห็น "เส้นประ 9 เส้น" แบบที่จีนขีดไว้เพื่อย้ำถึงพื้นที่อาณาเขตน่านน้ำของตัวเอง (อย่างไรก็ตามในภาพยนตร์เรื่องบาร์บีมีเส้นแค่ 8 เส้น และไม่ได้สื่อถึงแผนที่โลกในแบบของโลกที่เราอาศัยอยู่แต่อย่างใด) ซึ่งในเรื่องนี้ เวียดนามกำลังพิพาทกับจีนว่าการขีดเส้นเขตน่านน้ำของพวกเขาถือเป็นการรุกล้ำอาณาเขตของเวียดนาม

อีกประเทศหนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทนี้คือฟิลิปปินส์อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่องบาร์บีต่อไปได้ แต่ก็ขอให้มีการเบลอภาพแผนที่ที่พวกเขามองว่าเป็นภาพของแผนที่ทะเลจีนใต้

ในแคว้นปัญจาบของปากีสถานก็มีการเลื่อนฉายบาร์บีออกไปเช่นเดียวกัน โดยที่เจ้าหน้าที่ทางการแคว้นปัญจาบอ้างว่าบาร์บีมี "เนื้อหาที่น่ารังเกียจ" แต่ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่าทำไมถึง "น่ารังเกียจ"


เรียบเรียงจาก
Kuwait bans Barbie movie as Lebanese minister calls for action, Aljazeera, 10-08-2023
‘Barbie’ Map Controversy: Warner Bros. Explains the Drawing That Got the Film Banned in Vietnam (EXCLUSIVE), Variety, 06-07-2023
Ben Shapiro Ridiculed for 43-Minute Anti-‘Barbie’ Tirade: ‘Went to Harvard Law School and Spends His Time Like This’, The Wrap, 23-07-2023
‘Barbie’ Makes History, Becoming First Billion-Dollar Movie Directed Solely by a Woman, Smithsonian Magazine, 09-08-2023
Conservatives Are Mad That the Barbie Movie Is 'Woke' & 'Promotes Trans Agenda', Out, 19-07-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net