Skip to main content
sharethis

Prof.Zam นักวิจัยสันติภาพและผู้ประสานงานเครือข่ายศึกษาความขัดแย้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งคำถามถึงการสร้างสันติภาพในบริบทปาตานี/ชายแดนใต้ ชี้อุปสรรคใหญ่ของการสร้างวัฒนธรรมสันติภาพ มีอำนาจกดทับและความยุติธรรมไม่มี ประชาชนเห็นแตกต่างกันและการไม่มีเอกภาพ กระบวนการเจรจาที่เชื่องช้า ไม่เรียนรู้อดีตและต้องเริ่มใหม่ทุกครั้ง ถ้าจะให้เร็วต้องสมดุลทั้งสองฝ่าย ความครอบคลุมจึงสำคัญและมี Road Map บอกสิ่งที่อยากจะบรรลุ เสนอ 8 ข้อที่ต้องทำเพื่อสร้างปาตานีใหม่ (Patani Baru) ที่มีสันติภาพ


Kamarulzaman Askandar หรือ Prof.Zam ผู้ประสานงานการวิจัยและการศึกษาเพื่อสันติภาพที่ Universiti Sains Malaysia (REPUSM) และยังเป็นผู้ประสานงานระดับภูมิภาคสำหรับเครือข่ายศึกษาความขัดแย้งแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEACSN) ผู้สนับสนุนกิจกรรมสร้างสันติภาพในพื้นที่ความขัดแย้งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างแข็งขัน

แม้ว่า กระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี ระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับตัวแทนขบวนการ BRN เพื่อหาทางออกจาความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนานขณะนี้ ดูเหมือนจะยังไม่คืบหน้าอะไร เพราะไม่รู้เมื่อไหร่ประเทศไทยจะได้ตั้งรัฐบาลซักที

แต่สำหรับคนในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานีแล้ว ตลอดระยะเวลา 10 ปีของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ(เริ่มตั้งแต่ปี 2556) นั้น ได้สร้างการเรียนรู้และบทเรียนมาพอสมควร โดยเฉพาะในกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการ แม้กระทั่งคนที่อยู่ในกระบวนการพูดคุยเองในฐานะหุ้นส่วนสันติภาพ 

ส่วนหนึ่งก็มาจากการสนับสนุนชุดข้อมูล/ความรู้/ข้อคิด/ข้อเสนอแนะ ฯลฯ ของนักวิชาการคนสำคัญอย่าง “Kamarulzaman Askandar” ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่น่าจะไม่รู้จัก แต่คนในพื้นที่จะเรียกกันว่า Prof.Zam 

Prof.Zam เป็นผู้ประสานงานการวิจัยและการศึกษาเพื่อสันติภาพที่ Universiti Sains Malaysia (REPUSM) และยังเป็นผู้ประสานงานระดับภูมิภาคสำหรับเครือข่ายศึกษาความขัดแย้งแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEACSN) เขาสนับสนุนกิจกรรมสร้างสันติภาพในพื้นที่ความขัดแย้งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างแข็งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาเจะห์ อินโดนีเซีย มินดาเนา ฟิลิปปินส์ และภาคใต้ของไทย

ในโอกาสที่ สถาบันปาตานีเพื่อการวิจัยและพัฒนามนุษย์ (INSANI) สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) และเครือข่ายผู้นำอิสลามปาตานี (JAKIP) จัดงานระดมทุนจัดตั้ง “กองทุนองค์กรภาคประชาสังคมปาตานี” (BINA Patani) เมื่อวันเสาร์ที่ 22 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา ณ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ได้เชิญ Prof.Zam มาให้ความรู้เรื่อง “บทบาทของสันติศึกษาในการสร้างวัฒนธรรมสันติภาพ”

การบรรยายครั้งนี้มีเนื้อหาน่าสนใจต่อความพยายามในการสร้างสันติภาพ/สันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี แม้ Prof.Zam จะบอกว่ารู้สึกลำบากใจที่จะพูดถึงเรื่องความขัดแย้งและสันติภาพ ในฐานะคนมาเลเซียที่ไม่ได้มีความรู้สึกเหมือนกับคนที่อยู่ในพื้นที่ขัดแย้งโดยตรง

0 0 0

“เมื่อพูดถึงสันติภาพก็ต้องพูดถึงความขัดแย้ง เหมือนเหรียญที่มี 2 ด้าน เพื่อทำความเข้าใจวัฒนธรรมสันติภาพ ก็ต้องทำความเข้าใจวัฒนธรรมของความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรง

อะไรคือการสร้างสันติภาพ คิดว่าพี่น้องหลายคนคงจะรู้และรู้สึกได้ในฐานะคนที่อยู่ในปาตานี

ถ้าดูอย่างผิวเผิน สันติภาพก็คือการไม่มีความรุนแรง ไม่มีสงคราม แต่เพียงพอหรือยังที่จะอธิบายความหมายของสันติภาพ

สันติภาพไม่ใช่แค่ไม่มีความรุนแรง

สันติภาพไม่ได้หมายถึงการไม่มีความรุนแรง ทั้งทางโดยตรงและทางอ้อม ทั้งจากการกระทำของฝ่ายหนึ่งต่ออีกฝ่ายหนึ่ง แต่ยังรวมถึงการไม่มีความรุนแรงในเชิงโครงสร้างในสังคมที่ส่งผลทำให้เกิดสถานการณ์ความรุนแรง การกดดัน การข่มเหงรังแกหรือการฆาตกรรมคนในสังคมนั้นขึ้นมา 

สิ่งที่เราไม่ต้องการคือความรุนแรงเชิงโครงสร้าง เราไม่ต้องการกฎหมายที่กดขี่สังคม เราไม่ต้องการกฎหมายทหารหรือกฎอัยการศึกที่บังคับใช้ในสังคมอย่างเข้มงวด ถ้าเราต้องการสันติภาพ

ต้องมีกลไกจัดการความขัดแย้ง

สันติภาพคือสิ่งหนึ่งที่แสดงถึงการมีความยุติธรรม เราจะดูว่าสังคมของเรามีความยุติธรรมหรือไม่ ไม่ใช่ดูเพียงแค่ 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่หมายถึงการได้รับความยุติธรรมอย่างต่อเนื่องยาวนานมาเป็นสิบเป็นร้อยปีและตลอดไป 
สังคมจำเป็นต้องมีความยุติธรรม มีกลไกที่จะจัดการและแก้ปัญหาความขัดแย้ง ไม่ว่าความขัดแย้งนั้นจะเกิดขึ้นที่ไหนก็ตาม

เมื่อความขัดแย้งเกิดขึ้น เราจะมีกี่วิธีการในการจัดการความขัดแย้ง เรามีกลไกอะไรบ้างที่เราสร้างขึ้นเพื่อจะหาทางออกจากความขัดแย้ง 

ถ้ายังรู้สึกหวาดกลัว เราก็ยังไม่มีสันติภาพ

การสร้างสันติภาพอ้างอิงถึงเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของมนุษย์ Human Security 

ในสังคมเรามีความรู้สึกหวาดกลัวหรือไม่ ถ้ายังมีความรู้สึกหวาดกลัวก็หมายความว่าเรายังไม่มีสันติภาพ ความกลัวคืออะไร ความกลัวเป็นเหตุทำให้สังคมสร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมา เช่น ระบบรักษาความปลอดภัยภายในบ้าน เพราะเรากลัวความไม่ปลอดภัย

เราจะพูดคุยเราก็หวาดกลัว ที่ปาตานีเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเท่านั้นที่เราสามารถพูดคุยกันเรื่องนี้ได้ เมื่อก่อนเราจะพูดคุยเรื่องความขัดแย้งและสันติภาพอย่างเปิดเผยไม่ได้ เพราะเรากลัว ยิ่งมีกฎหมายควบคุมเราอยู่เราก็ไม่สามารถส่งเสียงในสิ่งที่เราต้องการได้ 

เราเป็นอิสระจากความกลัวหรือไม่ เราสามารถทำตามความปรารถนาได้หรือไม่ เราไม่มีความเจริญรุ่งเรืองหรือไม่ เรามีส่วนร่วมในสังคมหรือไม่

มีอิสระเสรีทางด้านอัตลักษณ์และศักดิ์ศรี

เราเคยได้ยินมาว่า พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยากจนที่สุดในประเทศ นั่นแสดงว่าเราไม่มีความเจริญรุ่งเรือง ไม่มีการพัฒนา ทั้งที่เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของการมีสันติภาพ

ท้ายที่สุดก็คืออัตลักษณ์และศักดิ์ศรีของเราเป็นอย่างไร อัตลักษณ์ของเราคือความเป็นมลายูอิสลามปาตานี เรามีอิสรเสรีอย่างไรในการที่จะแสดงออกทางด้านอัตลักษณ์ และมีศักดิ์ศรีในฐานะอัตลักษณ์แห่งชาติ หรือไม่ นี่คือเงื่อนไขหนึ่งของการมีสันติภาพ

วัฒนธรรมสันติภาพกับวัฒนธรรมความรุนแรง 

วัฒนธรรมการใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องปกติของสังคม เมื่อมีความขัดแย้งก็จะมีการใช้ความรุนแรง ซึ่งเราสามารถพบเห็นได้ในสังคม

เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นแล้วมีทหารตำรวจเข้ามาจัดการ หรือมีการตอบโต้ขึ้นมาก็เป็นเรื่องปกติ นี่คือวัฒนธรรมของความรุนแรง คือมีปฏิบัติการแล้วมีการต่อต้านหรือตอบโต้ขึ้นมา

ความรุนแรงเป็นธรรมชาติหนึ่งของชีวิตอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะบางทีเราเองก็ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาทั้งในระดับปัจเจกบุคคล ในครอบครัวหรือในสังคม 

แล้วอะไรบ้างที่เราต้องทำเพื่อปฏิเสธวัฒนธรรมการใช้ความรุนแรง ในที่นี้ให้เรามุ่งเน้นไปที่วัฒนธรรมสันติภาพ

ต้องแก้ปัญหาความขัดแย้งที่รากเหง้า

ตามความหมายของ UNESCO วัฒนธรรมสันติภาพคือวัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อ คุณค่า พฤติกรรมที่เคารพถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ทั้งในฐานะปัจเจกบุคคลหรือเชื้อชาติ ศักดิ์ศรีเหล่านี้ต้องได้รับการเคารพจากผู้อื่น 

ผู้ผลักดันสันติภาพทุกคนต้องผลักดันสันติภาพตั้งแต่คนเล็กๆ ไปจนถึงคนใหญ่คนโต ต้องป้องกันความขัดแย้งเพราะเป็นสาเหตุหนึ่งของความรุนแรงที่เรามองเห็นได้อย่างเปิดเผย แต่ไม่ได้หมายความว่าความขัดแย้งทั้งหมดจะเป็นสาเหตุของความรุนแรง

ดังนั้น เพื่อจะแก้ปัญหาความขัดแย้งแบบเบ็ดเสร็จ เราจำเป็นต้องค้นหาสาเหตุรากเหง้าว่าอะไรคือต้นเหตุของความขัดแย้ง เราต้องมีวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่รากเหง้า

แต่รัฐกับขบวนการมองต่างกัน

ผมติดตามกระบวนการสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับกลุ่มชาวมลายูปัตตานีที่มีคนในขบวนการต่าง ๆ เป็นตัวแทน พบว่า บนโต๊ะพูดคุยยังไม่มีผลลัพธ์อะไรมากนัก เพราะอะไร ผมก็จะตอบว่า แม้ทั้งสองฝ่ายจะนั่งอยู่บนโต๊ะเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้อ่านหนังสือหน้าเดียวกัน เพราะฝ่ายรัฐไทยมองสถานการณ์ในปาตานีเป็นเรื่องความไม่สงบ จึงแก้ปัญหาโดยนำทหารและกฎหมายทหารเข้ามาใช้เพื่อรักษาความปลอดภัย ด้วยการกดความรุนแรงเอาไว้

ถามว่า สิ่งเหล่านี้จะแก้ปัญหาความขัดแย้งได้หรือไม่ มองอย่างผิวเผินอาจจะใช่ แต่ถ้ามองอย่างลึกซึ้งไม่สามารถแก้ปัญหาได้ 

แล้วตัวแทนของรัฐบาลไทย และ ฝ่ายขบวนการมองความขัดแย้งอย่างไร 

ฝ่ายขบวนการมองความขัดแย้งในมุมของความยุติธรรมว่า ความยุติธรรมถือเป็นสาเหตุรากเหง้าหนึ่งของความขัดแย้ง สุดท้ายก็ต้องการสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นเพื่อมุ่งไปสู่การมีสันติภาพ

ต้องจัดการความอยุติธรรมทางประวัติศาสตร์

เรามองว่า จำเป็นต้องจัดการกับความอยุติธรรมทางประวัติศาสตร์ (historical injustices) เราต้องเชื่อมโยงกับสถานการณ์ในอดีตสมัยรัฐปาตานีเสียเอกราชเมื่อปี ค.ศ.1976 กระทั่งเกิดกลุ่มขบวนการต่อสู้เพื่อจะกอบกู้รัฐ อัตลักษณ์และศักดิ์ศรีของปาตานีกลับคืนมา จากนั้นก็เกิดประวัติศาสตร์การกดขี่ข่มเหงนานเท่าที่มีการลุกขึ้นสู้ของขบวนการ

สิ่งเหล่านี้เราต้องมีการจัดการและมองว่าเป็นปัญหารากเหง้า แต่ถ้าทั้งสองฝ่ายที่นั่งอยู่บนโต๊ะเดียวกัน แต่มีมุมมองที่ต่างกัน ผลลัพธ์ก็จะไม่เกิดขึ้น 

เราต้องการสิ่งก่อสร้างกระนั้นหรือ ชีวิตถึงจะมีสันติภาพ

ดังนั้น เราจำเป็นต้องแก้ปัญหาที่รากเหง้าของความขัดแย้ง ไม่ใช่มองแค่ว่าพลเมืองปาตานียากจน ก็แค่แจกเงินหรือสร้างสิ่งก่อสร้างขึ้นมา ถามว่าจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ไหมถ้ามีสิ่งก่อสร้างเกิดขึ้น 

ชีวิตเราต้องการสิ่งก่อสร้างกระนั้นหรือ เมื่อเรามีสิ่งก่อสร้างแล้วชีวิตเราจะมีความสุข ทั้งที่วิธีการนั้นต้องพึ่งพาคนอื่นมาสร้างให้เพื่อความสุขของเรา ผมคิดว่าไม่ 

ในการป้องกันความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงและการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่รากเหง้า โดยใช้ความร่วมมือ การเจรจา การประนีประนอมและการยอมรับความแตกต่างในสังคม ถือเป็นแก่นแท้ของวัฒนธรรมสันติภาพ 

เรารู้อยู่แล้วว่า การจะแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ต้องใช้วิธีการพูดคุยร่วมกันและไม่ใช้ความรุนแรง เพราะหากมีการใช้ความรุนแรงมันก็จะทำลายกันทั้งสองฝ่าย

เป้าหมายหลักของการศึกษาสันติภาพ

1. การเรียนรู้และปลูกฝังความตระหนัก ความห่วงใยและพฤติกรรมที่สามารถนำไปสู่ความสัมพันธ์ สภาพที่ดี และมีโครงสร้างทางสังคมที่สงบสุข

เหตุที่ต้องสร้างความตระหนักก็เพราะผลของการใช้ความรุนแรงจะนำไปสู่พฤติกรรมที่จะส่งผลด้านลบที่ร้ายแรง และพฤติกรรมด้านลบก็มาจากมุมมองทัศนคติด้านลบนั่นเอง ซึ่งเราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนผ่านทัศนคติของเราไปสู่มุมมองที่ดีกว่า 

2. การต่อสู้เพื่อความยุติธรรม 

3. สร้างวัฒนธรรมแห่งความเคารพและความสมานฉันท์ในสังคม

4. ปลูกฝังความสงบสันติภาพภายใน ซึ่งต้องเริ่มจากภายในของตัวเราเองก่อน ถ้าภายในตัวเราเองไม่มีความสันติ แล้วครอบครัวเรา สังคมเรา และประเทศของเราจะมีสันติภาพได้อย่างไร 

5. ละทิ้งรูปแบบความคิดและการมีปฏิสัมพันธ์ที่ไม่สันติหรือมีการใช้กำลัง

6. เปลี่ยนวิธีคิด ทัศนคติ และค่านิยมของสังคม

7. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดหรือเพิ่มความรุนแรงของความขัดแย้ง

สร้างวัฒนธรรมสันติภาพ ในบริบทของปาตานี

นี่เป็นชุดข้อมูลความรู้ในภาพรวมทั่วไปที่ผมใช้สอนนักศึกษา แต่ในการศึกษาสันติภาพนั้นมีอะไรบ้างที่เราต้องทำ การศึกษาสันติภาพสามารถนำไปสร้างวัฒนธรรมสันติภาพที่ปาตานีได้อย่างไร 

ในบริบทของปาตานี เราคงไม่สามารถนำยุทธศาสตร์เหล่านั้นมาใช้ได้แบบเบ็ดเสร็จ แต่ต้องพิจารณาบริบทในภาคสนามด้วย เพราะสถานการณ์ในสนามจะเป็นตัวกำหนด

เรารับรู้ว่า ปาตานีเป็นพื้นที่เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งในปัจจุบัน และมีการใช้อาวุธมายาวนาน เป็นความขัดแย้งทางสังคมและทางอาวุธที่ยืดเยื้อ แต่ไม่ได้รับความสนใจจากโลกซักเท่าไหร่? 

คนนอกไม่ค่อยรับรู้เรื่องราวในปาตานีหรือในประเทศไทยมากนัก นี่ก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่งเช่นกัน เพราะการที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ ถ้ามีความเห็นจากภายนอก จากสังคมโลกก็จะส่งผลสะเทือนได้ แต่ขอโทษปัตตานีไม่ได้สำคัญมากสำหรับคนภายนอก ทำให้เราไม่ค่อยเห็นการช่วยเหลือจากภายนอกเข้ามาในปาตานีมากสักเท่าไหร่

อำนาจที่กดทับ ความยุติธรรมไม่มี

บริบทของปาตานี ประกอบด้วย

ㆍอัตลักษณ์ ค่านิยมและความต้องการของคนชายขอบ เป็นสิ่งที่เรารับรู้กัน เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องเรียนรู้และปกป้องก่อนที่มันจะพังทลายไปมากกว่านี้
ㆍมีกฎหมายและโครงสร้าง (อำนาจ) รวมถึงโครงสร้างด้านความมั่นคงที่กดทับอยู่ ซึ่งคนมาเลเซียเวลาเดินทางมาปาตานีก็จะรู้สึกตกใจ เพราะมีด่านตรวจเยอะมาก ทั้งด่านตำรวจ ด่านทหารและด่านอื่นๆ นี่คือภาพความขัดแย้งที่เกิดขึ้นที่นี่
ㆍขาดความยุติธรรมและความเป็นอยู่ที่ดี คนที่ก่อเหตุรุนแรงหรือก่อความไม่สงบ (เมื่อถูกดำเนินคดี) มีการให้ความยุติธรรมกับพวกเขาอย่างไร ซึ่งประเด็นนี้ค่อนข้างที่จะอ่อนไหว 
ความเห็นที่แตกต่างและการไม่มีเอกภาพ
ㆍมีความหลากหลายของตัวแสดงในพื้นที่ ทั้งในเรื่องความหวัง เรื่องเล่าและเป้าหมายสุดท้ายที่แตกต่างกันและขัดแย้งกัน

ลองถามตัวเองดูว่า คนอิสลามมลายูปาตานีเป็นเอกภาพหรือไม่ นี่ก็เป็นปัญหาหนึ่งเพราะความหลากหลายนั้นสร้างความลำบากใจในการที่จะแก้ปัญหาได้ เพราะแต่ละคนมีเรื่องราวของตัวเองและมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน 

ถ้าเราอยากเดินหน้าไปด้วยกัน เราจะไม่ถูกกีดกันจากคนนอกเลย แต่เราจะถูกสกัดขัดขาจากพวกเราด้วยกันเอง แม้แต่การนำปัญหาขึ้นไปคุยบนโต๊ะเจรจาสันติภาพ ใครหรือกลุ่มไหนจะเป็นผู้นำปัญหาเหล่านั้นขึ้นไปพูดคุย ก่อนหน้านี้เรามีกลุ่ม MARA Patani ตอนนี้ก็เป็น BRN แล้วกลุ่มอื่น ๆ ที่รู้สึกว่าถูกกันออกไป เขาไม่อยากจะเป็นผู้นำด้วยดอกหรือ

ในขณะที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายของฝ่ายต่าง ๆ ในสังคมปาตานีนั้น แล้วกลุ่มที่อยู่บนโต๊ะเจรจาสันติภาพ ถือเป็นตัวแทนที่จะนำพาความปรารถนาของคนปาตานีโดยรวมทั้งหมดหรือไม่

หาจุดร่วมได้ ถ้าไม่สุดโต่งเกินไป

มีความแตกแยกในสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มภาคประชาสังคมที่แยกเป็นกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ แต่ละกลุ่มก็มีวาระของตัวเอง และยังมีเรื่องช่องว่างระหว่างวัย กลุ่มอูลามะ (ผู้รู้ศาสนา) ก็แบบหนึ่ง คนรุ่นใหม่ก็แบบหนึ่ง ไม่นับความคิดที่แตกต่างกันระหว่างชายหญิงที่มีอยู่แล้ว

จริงๆ แล้วความแตกต่างหลากหลายเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดีถ้าสามารถหาจุดร่วมที่มีพลังได้ และสามารถเป็นตัวแทนเสียงของสังคมปาตานีได้ แต่ในความเป็นจริง ถ้าเรื่องแตกต่างกันนั้นแสดงออกถึงความสุดโต่งเกินเลย มันก็จะทำลายความพยายามของเราไป

เพราะเหตุนี้ผมจึงบอกว่า ความหลากหลาย เรื่องเล่าที่ต่างกัน พร้อมกับเป้าหมายสุดท้ายที่แตกต่างกันมันก็จะเป็นปัญหา

กระบวนการเจรจาสันติภาพที่เชื่องช้า

สุดท้าย ㆍ กระบวนการเจรจาสันติภาพเป็นไปอย่างเชื่องช้า ไม่สมดุล ไม่ครอบคลุมและไม่มีแผนที่นำทาง(Road Map) และจุดจบที่ชัดเจน 

ทำไมถึงบอกว่า กระบวนการสันติภาพล่าช้า ซึ่งผมก็พูดตามที่ผมมองเห็น ถ้าจะโกรธก็โกรธได้ จุดเริ่มต้นของกระบวนการสันติภาพเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2556 แม้มีการพบปะพูดคุยกันอยู่ก่อนหน้านั้นแล้วในแบบที่ไม่เป็นทางการ 

ถามว่า ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบันปี 2566 เกิดผลลัพธ์อะไรบ้าง กระบวนการพูดคุยสันติภาพที่เริ่มต้นด้วยขบวนการ BRN ต่อมาก็เป็นกลุ่ม MARA Patani แล้วก็กลับมาที่ขบวนการ BRN อีกครั้ง และกระบวนการพูดคุยตอนนี้ก็เดินไปหยุดไป

ถึงแม้ในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางบวก ซึ่งอาจส่งผลในทางบวกมากขึ้นในภายภาคหน้า และผมก็ไม่ได้คิดว่าความพยายามที่ต่อเนื่องยาวนานมานั้นจะว่างเปล่า 
ไม่เรียนรู้อดีต และต้องเริ่มกระบวนการใหม่ทุกครั้ง

กระบวนการสันติภาพก็เหมือนกับการสร้างบ้านที่ต้องสร้างทีละขั้นทีละตอน เริ่มจากการวางรากฐานก่อน จากนั้นก็สร้างสิ่งต่างๆตามมา สุดท้ายเราก็หวังว่าสามารถที่จะสร้างบ้านขึ้นมา 1 หลังได้ ทั้งหมดนี้คือ 1 กระบวนการซึ่งผมไม่มีปัญหากับกระบวนการนี้ ตราบเท่าที่เราสามารถเรียนรู้จากกระบวนการก่อนหน้านี้ แต่ปัญหาคือเราไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย ซ้ำยังสร้างปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการพูดคุยแล้วก็กลับไปเริ่มต้นใหม่อีก นี่คือปัญหา

กระบวนการที่เชื่องช้าเราจะทำอย่างไรที่จะเร่งให้เร็วขึ้น ผมรู้ว่าฝ่ายมาเลเซียต้องการจะเร่งให้เร็วเพราะมาเลเซียเป็นผู้รับผิดชอบในการแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้ในฐานะผู้อำนวยความสะดวก มาเลเซีย0ต้องการที่จะให้มีผลลัพธ์จากกระบวนการพูดคุยนี้ให้เร็ว

ถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ ก็มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ถ้าจะไปให้เร็ว ต้องมีความสมดุลทั้งสองฝ่าย

ผมเห็นด้วยที่จะให้มีกระบวนการที่รวดเร็ว เพราะเป็นความทุกข์ยากของคนปาตานีที่ต้องการให้มีการแก้ปัญหาให้ได้ในที่สุด แต่เราจะแก้ปัญหาอย่างไร ถ้าการแก้ปัญหาไม่มีความสมดุล เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่เกิดจากการกดดันของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และมีความได้เปรียบมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งมากเกินไป 

นั่นไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดี การแก้ปัญหาที่ไม่ดีมันเลวร้ายกว่าการไม่แก้ปัญหา กระบวนการแก้ปัญหาที่ไม่ดีเราก็ต้องแก้ไขหรือยกเลิก ซึ่งก็ต้องใช้เวลา เพราะฉะนั้นเราอย่าเร่งรีบเกินไปจนกระทั่งว่าเป็นเหตุให้เกิดการตัดสินใจที่ทำให้เราเสียเปรียบ นี่คือ กระบวนการสันติภาพที่ล่าช้าและไม่สมดุล

บนโต๊ะพูดคุยสันติภาพ ทั้ง 2 ฝ่ายก็มีปัญหาเรื่องจำนวนคณะพูดคุยแต่ละฝ่าย มีปัญหาเรื่องวิธีการพูดคุย และเรื่องอื่น ๆ ที่เห็นแล้วไม่สมดุลกัน ซึ่งการเจรจาก็ต้องทำให้สมดุลกันทั้งสองฝ่าย และการสร้างความสมดุลกันนั้นก็คือ อย่ามีแต่ฝ่ายขบวนการแต่จำเป็นต้องมีการสนับสนุนจากสังคมโดยรวมด้วย

แต่เมื่อเรามีความแตกแยกกัน ซึ่งมาจากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ส่งผลทำให้กลุ่มขบวนการที่เข้าร่วมเจรจากับฝ่ายรัฐจะรู้สึกว่าไม่มีเพื่อนหรือผู้สนับสนุนอยู่ข้างหลัง ก็ทำให้เกิดความอ่อนแอ เพราะต่างก็มีเรื่องเล่าของตัวเองแตกต่างกันไป นี่คือเรื่องหนึ่งที่เราต้องมาช่วยกันคิด 

กระบวนการสันติภาพที่ครอบคลุมจึงสำคัญ

Inclusivity ความครอบคลุมจึงสำคัญ ไม่ครอบคลุมเฉพาะกลุ่มขบวนการเท่านั้น แต่จะต้องเชื่อมโยงกับสังคมโดยรวมอย่างไร รวมถึงภาคประชาสังคมก็ต้องร่วมอยู่ในเรื่องนี้ด้วย และต้องไม่ปฏิเสธหรือกีดกันกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง 

เราอย่าเลือกเฉพาะเพื่อนเราเท่านั้น เพราะการที่จะเดินไปข้างหน้าได้นั้นจะไว้ใจแค่เพื่อนเรา ส่วนคนอื่น ๆ นั้นเป็นศัตรูไม่ได้ 

กระบวนการเจรจาสันติภาพถ้าไม่มีฝ่ายขบวนการทุกกลุ่มเข้าร่วมก็จะมีปัญหาเช่นกัน ยิ่งมีเฉพาะฝ่ายที่อ้างว่า ฉันนี่แหละที่เป็นตัวแทนของทุกคน สามารถทำได้ทุกอย่าง ฉันจะเป็นผู้นำเอง คนที่ไม่ตามฉันก็จะเป็นตัวป่วน 

ต้องมี Road Map บอกสิ่งที่เราอยากจะบรรลุ

เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะนำไปสู่ความครอบคลุมได้นั้น ก็คือจะต้องมี Road Map (แผนที่นำทาง) ที่ชัดเจน 

Road Map จำเป็นต้องมี เพราะบางครั้งผมก็ไม่แน่ใจว่ากระบวนการสันติภาพจะไปทางไหน บางครั้งเวลาใครถามว่าอะไรที่เราอยากจะบรรลุ คำตอบคือยังไม่แน่นอน จะให้แน่นอนได้เมื่อไหร่ก็หลังจากที่เราพยายามทำมันขึ้นมา แต่เราก็พยายามมาแล้วหลายปี ในขณะที่สังคมก็ประสบกับความทุกข์ยากอยู่ ต้องการหาทางออก เพราะฉะนั้นเราต้องจริงจังเรื่องนี้ และจุดจบที่ชัดเจนจะต้องมี 

สิ่งที่ผมพูดนี้ ไม่ได้เจาะจงไปที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เจาะจงไปที่ทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งฝ่ายรัฐบาลไทยก็ยังไม่มีความชัดเจนและครอบคลุม เพราะฝ่ายรัฐบาลไทยก็ยังมีความแตกแยกและมีความต้องการที่แตกต่างกันของฝ่ายต่างๆ กันอยู่ ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายทหาร รวมถึงสำนักพระราชวัง

รัฐบาลใหม่ก็ยังไม่รู้ว่าจะได้เมื่อไหร่ ซึ่งผมก็คิดว่ารัฐบาลใหม่ก็จะมีแนวทางของเขา เพราะฉะนั้นเราต้องร่วมกันคิดว่าอะไรคือจุดจบปลายทางที่ชัดเจน ที่เราจะต้องไปให้ถึง

จะต้องทำอะไรต่อไป....?  ใน 8 ข้อ

เราจะย้อนกลับไปที่วัตถุประสงค์เดิมของเวทีวันนี้ คือ การศึกษาสันติภาพจะสามารถสร้างวัฒนธรรมสันติภาพที่ปาตานี เราจะรวมเป็นความหวังใหม่ในการสร้างปาตานีใหม่ (Patani Baru) 

เพราะเราต้องการสร้างสิ่งใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องมองหาสิ่งที่เรามีอยู่ เพราะฉะนั้นผมจึงกล่าวถึงบริบทของปาตานี เพื่อที่จะเติมเต็มในสิ่งที่ขาดไป และต้องรวมแนวทาง/ยุทธศาสตร์ที่ดีกว่า ให้สามารถหนุนเสริมเราในการสร้าง Patani Baru ที่สามารถสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับเราได้

สร้างปาตานีใหม่ (Patani Baru) ที่มีสันติภาพ

เป้าหมายของทั่วไปของการศึกษาสันติภาพคืออะไร

1. ย้อนดูคุณค่าและเป้าหมายหลักของสันติศึกษา ปรับใช้ให้เข้ากับบริบทและค่านิยมของชุมชนปาตานีเพื่อสร้างวัฒนธรรมสันติภาพในเวอร์ชันปาตานี รวมถึงประวัติศาสตร์ ที่มีอยู่ในพื้นที่ 

2. ทำให้สิ่งนี้เป็นพื้นฐานของ "หลักการแห่งสันติภาพสำหรับชุมชนปาตานี" ซึ่งเคารพในอัตลักษณ์ คุณค่า ศักดิ์ศรี ความต้องการและความหวังของชุมชนชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูปาตานี

เมื่อเราจะสร้าง Patani Baru เรามีหลักการที่กล่าวถึงเฉพาะ Patani Baru ที่มีสันติภาพว่าคืออะไรและมีปัจจัยอะไรที่สามารถส่งเสริมการสร้างสันติภาพปาตานี 

3. ทำหลักการนี้เป็นพื้นฐานในการสร้าง Patani Baru ที่สงบสุข มั่งคั่ง และสง่างาม เป็นหลักการพื้นฐานในการสร้าง Patani Baru ที่มีสันติภาพ มีความรุ่งเรืองและมีศักดิ์ศรีของปาตานีใหม่ ไม่ใช่ปาตานีเก่าและไม่ใช่ปาตานีปัจจุบัน 

ยกตัวอย่างกรณี Aceh Baru 

ทุกท่านต้องค้นหาให้ได้ว่า อะไรบ้างที่ต้องมีใน Patani Baru ที่จะเป็นฐานของทั้งหมดที่ผมได้กล่าวไว้

ผมมีเพื่อนที่อาเจ๊ะห์ (ประเทศอินโดนีเซีย) เมื่อก่อนผมไปอาเจ๊ะห์บ่อย ได้เรียนรู้จากพวกเขาเยอะและได้สนับสนุนกระบวนการสันติภาพที่อาเจ๊ะห์ หนึ่งในโปรแกรมที่เราได้ทำ คือการก่อตั้งหน่วยงานหนึ่งชื่อว่า Konsosial Aceh Baru : KAB เมื่อครั้งยังมีความขัดแย้งอยู่

โดยทำกิจกรรมที่เราเรียกว่า Scenario Building Workshop ที่จะให้สังคมอาเจ๊ะห์ได้พูดคุยกันว่า อาเจ๊ะห์ในภายภาคหน้าจะเป็นอย่างไร เพราะถ้าไม่แก้ปัญหาความขัดแย้งก็จะเป็นอาเจ๊ะห์ที่ล้มเหลวแหลกลาน แต่เราพยายามเลี่ยงได้ เพราะเรามีทางเลือกอื่นๆ นั่นคือ Aceh Baru 

ถ้าเราทำ Patani Baru เราจะต้องทำอะไรบ้าง ผมหวังว่าทางผู้จัดคงจะรวบรวมความเห็นและข้อเสนอแนะมาศึกษาว่า อะไรที่จำเป็นสำหรับ Patani Baru ที่มีสันติภาพ

พัฒนาและเผยแพร่แนวคิดในทุกระดับการศึกษา

4. พัฒนาและเผยแพร่ "หลักสันติ" และแนวคิด "Patani Baru" ในทุกระดับการศึกษา - โรงเรียน มหาวิทยาลัย ทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบที่ไม่เป็นทางการ

เมื่อไหร่ ที่เราจะพัฒนาและเผยแพร่ "หลักสันติ" และแนวคิด "Patani Baru" ในทุกระดับการศึกษา

ต้องเริ่มที่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับกลางจนถึงระดับสูง รวมทั้งการศึกษาในระบบคือโรงเรียนและมหาวิทยาลัย และการศึกษานอกระบบคือการศึกษาที่จัดการโดยองค์กรพัฒนาเอกชน/ภาคประชาสังคม และอื่น ๆ เพื่อฝึกอบรมคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาปกติ เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกันในการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่ความปรารถนาของแนวคิดสันติภาพของปาตานีใหม่ (Patani Baru)

ต้องสามัคคีและมีส่วนร่วมของทุกกลุ่ม

5. ชิด ๆ กัน (ขยับแถวให้ชิดกัน)... ต้องกลับไปคิดว่า เราจะหลีกเลี่ยงความแตกต่างกันได้อย่างไร แล้วมามุ่งเน้นความสามัคคีกัน สร้างการมีส่วนร่วมของทุกกลุ่มทุกระดับ เพราะเรามีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือปาตานีที่มีสันติภาพ ปาตานีที่ไม่มีความหวาดกลัว ปาตานีที่มีคุณค่าและศักดิ์ศรีของตนเองด้วยอัตลักษณ์ความเป็นมลายูอิสลามของเรา

ทำไมเราจะไม่สามารถทำงานร่วมกันเพื่อเป้าหมายเดียวกันนี้ได้ นี่คือสิ่งที่เราต้องคิด โดยต้องเข้ามาอยู่ใกล้ชิดกันเพื่อพูดคุยกัน

6. สนับสนุนและช่วยเหลือกระบวนการสันติภาพปาตานีในทุกระดับ เพราะเรามีกระบวนการสันติภาพ เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น 

เราไม่มีกระบวนการสันติภาพอื่น ๆ อีก ถึงแม้ว่าจะมีการพบปะพูดคุยกับกลุ่มอื่น ๆ บ้างก็ตาม แต่กระบวนการสันติภาพที่เป็นทางการที่มีผู้เกี่ยวข้อง 2 ฝ่ายและมีฝ่ายผู้อำนวยความสะดวกก็เป็นกระบวนการเดียวเท่านั้น เป็นกระบวนการที่โอบกอดเราเอาไว้และต้องการความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากพวกเราทุกคน

ขอให้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นว่า เราจะทำอย่างไรที่จะทำให้มีกระบวนการพูดคุยที่ประสบความสำเร็จ และมีผลลัพธ์ที่ดีสำหรับพวกเราทุกคน

เคารพผู้จากไปและสร้างแหล่งอ้างอิงสันติภาพปาตานี

7.เคารพ หวงแหนและชื่นชมการต่อสู้ของผู้จากไป แต่บางทีเราก็ลืมผลงานที่พวกเขาได้ทิ้งไว้ให้เราได้อยู่อย่างมีความสุขในทุกวันนี้ ต้องไม่ลืมว่าพวกเขาเหล่านั้นได้เสียสละมากน้อยแค่ไหนในการต่อสู้ก่อนหน้านี้ และ

8. จัดตั้งพิพิธภัณฑ์สันติภาพปาตานีเพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงสำหรับสันติภาพปาตานี และหน่วยงานที่จะติดตามการพัฒนาของ Patani Baru เพื่อให้เกิดความคิดเห็นที่เป็นบวก แม้ว่านิทรรศการหรือการจัดแสดงต่าง ๆ ทางประวัติศาสตร์ที่มีอยู่แล้วนั้นถือว่าดีมาก แต่จำเป็นต้องมีพื้นที่อ้างอิงถึงความพยายามในการต่อสู้เพื่อสันติภาพในปาตานีที่กว้างขึ้น รวมถึงทุก ๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปาตานี

จำไว้ว่า มีความเชื่อมโยงระหว่างสถานการณ์กับพฤติกรรมและทัศนคติ ถ้าต้องการปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น เราต้องมีทัศนคติที่ดีกว่า มีความคิดที่ดีกว่าและมีความสันติมากกว่า ซึ่งเราสามารถทำได้ และพยายามทำให้เกิดขึ้นในพิพิธภัณฑ์สันติภาพปาตานี


*ฟังบรรยายเต็มระหว่างนาที 30.00 ถึง นาที 1.11.30 ตามลิงค์นี้ 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net