Skip to main content
sharethis

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นักวิชาการเผยผลสำรวจ 56.8% เห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับ คสช. 2560 เป็นเผด็จการ ขณะที่ 12.96% มองว่า มีความเป็นประชาธิปไตย โดยที่ภาคใต้เป็นภาคที่มีผู้เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นประชาธิปไตยสูงกว่าภาคอื่นๆ

3 ส.ค.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์' ของ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ รองศาสตราจารย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต รายงานว่า งานวิจัยส่วนบุคคลของตน เก็บข้อมูลแบบสอบถามจากคนทั้งประเทศ (ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 52.32 ล้านคน) จำนวน 4,588 คน ใน 57 จังหวัด เรื่อง ทัศนคติของประชาชนต่อการเลือกตั้งและสังคมการเมืองไทย 2566

ข้อคำถาม “ท่านคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับ คสช. 2560 มีความเป็นประชาธิปไตย หรือ เผด็จการ”

ผลการวิจัยพบว่า

1. ผู้ที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับ คสช. 2560 มีความเป็นประชาธิปไตย ร้อยละ 12.96 ส่วนผู้ที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับ คสช. 2560 เป็นเผด็จการ ร้อยละ 56.80 ผู้ไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 30.24

ผู้ที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับ คสช. 2560 มีความเป็นประชาธิปไตย นั้นสอดคล้องกับผู้ที่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร คสช. 2557 ที่มีร้อยละ 11.78

ส่วนผู้ที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับ คสช. 2560 เป็นเผด็จการ นั้นสอดคล้องกับผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร คสช. 2557 ที่มีร้อยละ 63.45

2. พิจารณารายภาคที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับ คสช. 2560 เป็นเผด็จการ ภาคเหนือ ร้อยละ 62.71 ภาคอีสาน ร้อยละ 61.32 ภาคกลางและกรุงเทพ ร้อยละ 60.10 ทั้งสามภาคมีระดับทัศนคติต่อความเป็นเผด็จการของรัฐธรรมนูญ คสช. ใกล้เคียงกัน ยกเว้นภาคใต้ที่มีเพียงร้อยละ 47.78

ภาคใต้จึงเป็นภาคที่มีผู้เห็นว่ารัฐธรรมนูญ คสช. 2560 เป็นประชาธิปไตยสูงกว่าภาคอื่นๆ คือมีร้อยละ 18.33 ขณะที่ภาคอื่นๆ มีร้อยละน้อยกว่า ภาคกลางและกรุงเทพ ร้อยละ 11.57 ภาคเหนือ ร้อยละ 10.62 ภาคอีสานน้อยที่สุด ร้อยละ 7.55

บทวิเคราะห์ของผู้วิจัย กรณีนี้แสดงให้เห็นว่า ภาคใต้มีผู้ที่มีทัศนคติด้านอนุรักษนิยมและอำนาจนิยมทางการเมืองสูงกว่าภาคอื่นๆ

3. ผู้ที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับ คสช. 2560 เป็นเผด็จการ คำอธิบายที่สำคัญคือ การมี ส.ว. 250 คนที่ คสช. แต่งตั้ง มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีได้, รัฐธรรมนูญนี้เกิดจากการยึดอำนาจ, การทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นแบบเผด็จการ, องค์กรในรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรเพื่อคณะทหารแต่ทำลายพรรคการเมืองและนักการเมืองของประชาชน

ผู้ที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญ คสช. 2560 เป็นประชาธิปไตย คำอธิบายที่สำคัญคือ ประเทศที่มีรัฐธรรมนูญก็ย่อมเป็นประชาธิปไตย, รัฐธรรมนูญนี้ได้ผ่านประชามติจากประชาชนมาแล้ว, ประเทศไทยยังต้องมี ส.ว. เพื่อถ่วงดุลอำนาจ ส.ส. และ ส.ว. มาจากคนหลากหลายอาชีพ ไม่ได้เป็นพวกนักกินเมืองแบบ ส.ส.

4. ข้อเสนอแนะของผู้วิจัย เนื่องจากวิจัยนี้เก็บแบบสอบถามในช่วงครึ่งแรกของเดือนเมษายน 2566 ซึ่งเป็นช่วงแรกของการเลือกตั้ง ทว่าหลังการเลือกตั้งผ่านมาสองเดือนครึ่งแล้ว หัวหน้าพรรคการเมืองอันดับที่หนึ่งถูกต่อต้านไม่ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อต้านจาก ส.ว. ซึ่งเป็นผลจากรัฐธรรมนูญ คสช. 2560 ในบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ดังนั้น จากสภาพทางการเมืองดังกล่าว จึงควรมีการสำรวจทัศนคติของประชาชนทั้งประเทศต่อรัฐธรรมนูญ คสช. 2560 อีกครั้งว่าประชาชนมีทัศนคติต่อความเป็นประชาธิปไตยและเผด็จการเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ อย่างไร ซึ่งจะช่วยทำให้เข้าใจว่าสังคมไทยควรจะดำเนินการอย่างไรกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ข้อมูลพื้นฐาน

งานวิจัยทัศนคติของประชาชนต่อการเลือกตั้งและสังคมการเมืองไทย 2566 มีผู้ตอบแบบสอบถามรวม 4,588 คน เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 6-17 เมษายน 2566

เพศของผู้ตอบแบบสอบถาม : หญิง 2,439 คน (53.16%) ชาย 2,023 คน (44.09%) เพศหลากหลาย 126 คน (2.75%)

อายุของผู้ตอบแบบสอบถาม Gen Z (18-26 ปี) 1,915 คน (41.74%) Gen Y (27-44 ปี) 1,016 คน (22.10%) Gen X (44-58 ปี) 1,046 คน (22.80%) Gen Baby Boomer ขึ้นไป (59 ปีขึ้นไป) 613 คน (13.36%)

การศึกษาของผู้ตอบแบบสอบถาม ประถมศึกษาหรือต่ำกว่า 492 คน (10.72%) มัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า 971 คน (21.16%) อนุปริญญาหรือเทียบเท่า 542 คน (11.82%) ปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 2,210 คน (48.17%) สูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 373 คน (8.13%)

อาชีพหลักของผู้ตอบแบบสอบถาม: นักเรียนนักศึกษา 1,529 คน (33.33%) เกษตรกร 456 คน (9.94%) พนักงานเอกชน 431คน (9.39%) รับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน 471 คน (10.27%) เจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ 602 คน (13.12%) ข้าราชการ/พนักงานของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 600 คน (13.08%) พ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน 329 คน (7.17%) อื่นๆ 170 คน (3.70%)

รายได้ต่อเดือนของผู้ตอบแบบสอบถาม: ไม่มีรายได้ 939 คน (20.47%) รายได้ไม่เกิน 10,000 บาท 1,141 คน (24.87%) รายได้ 10,001-20,000 บาท 1,170 คน (25.50%) รายได้ 20,001-30,000 บาท 620 คน (13.51%) รายได้ 30,001- 40,000 บาท 302 คน (6.58%) รายได้ 40,001 บาทขึ้นไป 416 คน (9.07%)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net