Skip to main content
sharethis

รัฐบาลทหารพม่าถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุวิสามัญฆาตกรรมนักโทษการเมืองหลายสิบคน และมีบางกรณีที่กลบเกลื่อนด้วยการจัดฉากว่านักโทษเหล่านี้พยายามหนีออกจากคุก นอกจากนี้ยังถูกกล่าวหาในเรื่องทารุณกรรมนักโทษโดยมีเหยื่อรวมหลายพันรายเป็นผู้ที่ต่อต้านการรัฐประหาร

แฟ้มภาพเรือนจำอินเส่ง ทางตอนเหนือของย่างกุ้ง สถานที่ซึ่งใช้คุมขังนักโทษการเมืองในพม่า (ที่มา: Wikipedia)

สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองในพม่า (AAPP) ระบุในแถลงการณ์ที่ออกมาเมื่อกลางเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาว่า กองทัพพม่าได้นำตัวนักโทษการเมืองออกจากเรือนจำไจก์สะกอ ภาคพะโค เมื่อช่วงวันที่ 27 มิ.ย. โดยทำเหมือนว่ากำลังเคลื่อนย้ายนักโทษ แต่หลังจากนั้นนักโทษก็ได้หายตัวไปรวมแล้ว 37 ราย

AAPP เป็นองค์กรที่คอยสอดส่องและเก็บข้อมูลในเรื่องการเสียชีวิตของพลเรือน การจับกุม และการวิสามัญฆาตกรรมที่เกิดขึ้นในพม่า AAPP ระบุว่าเมื่อครอบครัวของนักโทษถามเกี่ยวกับนักโทษที่หายไปเหล่านี้ เจ้าหน้าที่เรือนจำในกรณีดังกล่าวนี้ปฏิเสธซ้ำๆ ว่าไม่ทราบว่านักโทษเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหน

ในเวลาต่อมา ครอบครัวของนักโทษ 2 ราย ที่ถูกอ้างว่า "หายสาบสูญ" ไปนั้น กลับได้รับจดหมายแจ้งเกี่ยวกับการเสียชีวิตของพวกเขา ในจดหมายอ้างว่ารถที่เคลื่อนย้ายทักโทษเกิดอุบัติเหตุในช่วงที่มีการเคลื่อนย้าย จนทำให้นักโทษทั้ง 2 รายพยายามหลบหนี ก่อนที่จะถูกสังหารโดยกองกำลังความมั่นคง

AAPP ระบุว่า การที่นักโทษหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอยโดยไม่รู้ว่าจะเป็นตายร้ายดีอย่างไรนั้น การกระทำเช่นนี้นับเป็นการข้ามลำดับขั้นตอนของเรือนจำ นอกจากนี้ยังมีกรณีการกระทำเลวร้ายอื่นๆ จากเรือนจำทางการพม่า อย่างการทารุณกรรม และการวิสามัญฆาตกรรม ที่เป็นการละเมิดปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

คำกล่าวหาในเรื่องนี้เป็นหลักฐานล่าสุดที่แสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายของคณะเผด็จการพม่าที่ก่อตั้งโดยผู้นำกองทัพระดับสูง มินอ่องหล่าย หลังจากที่กองทัพได้ยึดอำนาจจากรัฐบาลอองซานซูจีที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อต้นปี 2564

พวกนายพลพม่าโต้ตอบด้วยความรุนแรงกลุ่มต่อต้านเผด็จการ ทั้งการไล่เผา ทิ้งระเบิดใส่ บ้านเรือนประชาชน และปราบปรามกลุ่มต่อต้าน ผู้ประท้วง นักการเมือง ศิลปิน และนักข่าว ถึงแม้ว่ากองทัพพม่าจะกำลังเผชิญความสูญเสียอย่างหนักในการสู้รบกับกองกำลังฝ่ายประชาธิปไตยก็ตาม

AAPP ประเมินว่าหลังจากรัฐประหารปี 2564 จนถึงตอนนี้มีการจับกุมประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหารรวมแล้วมากกว่า 23,800 ราย และในตอนนี้มีอยู่เกือบ 20,000 ราย ที่ยังอยู่ในที่คุมขัง ในปี 2565 กลุ่มผู้นำทหารพม่ายังได้สั่งประหารชีวิตผู้นำฝ่ายประชาธิปไตยและนักกิจกรรม 4 ราย ซึ่งนับเป็นการใช้โทษประหารชีวิตครั้งแรกในรอบหลายสิบปี ทำให้เกิดการประณามจากทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีนักโทษการเมืองอีกหลายสิบคนที่ยังคงรอรับโทษอยู่ในแดนประหารด้วย

ถึงแม้ว่าจะมีกรณีที่นักโทษไม่ได้ถูกกระทำทารุณทางร่างกายโดยตรง แต่ก็มีการปฏิเสธไม่ให้ญาติๆ เข้าเยี่ยมนักโทษ ทำให้นักโทษอยู่ในภาวะโดดเดี่ยวเป็นเวลานาน ทางรัฐบาลปฏิเสธข้อเรียกร้องขอให้มีการกลับเข้าเยี่ยมนักโทษได้หลังจากที่เคยมีการห้ามเยี่ยมโดยอ้างเรื่องการระบาดของ COVID-19

มีนักโทษเรือนจำรายหนึ่งให้สัมภาษณ์ต่อสื่ออัลจาซีราว่านักโทษบางคนอาจจะไม่ได้ติดต่อกับครอบครัวมานานมากกว่า 3 ปีแล้ว และผู้ต้องขังจำนวนมากพยายามจะอยู่รอดประคับประคองจิตใจตัวเองด้วยการทำสมาธิ

 

สภาพในเรือนจำที่แออัดยัดเยียด

หลายเดือนหลังการรัฐประหารในพม่าเมื่อปี 2664 ปีเตอร์ เมาเรอร์ ประธานคณะกรรมาธิการกาชาดสากล (ICRC) ในสมัยนั้นได้เดินทางเยือนกรุงเนปิดอว์เพื่อพบปะกับมินอ่องหล่าย เรียกร้องให้มีการอนุญาตให้ ICRC เข้าเยี่ยมนักโทษในเรือนจำได้อีกครั้ง และเรียกร้องให้พื้นที่ความขัดแย้งสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้ ในเดือน มิ.ย. 2565 ทาง ICRC ยังได้ไปเยือนพม่าอีกรอบหนึ่งเพื่อยื่นข้อเรียกร้องเดิมแต่ก็ไร้ผล

นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่หนักกว่าอย่างการที่เรือนจำมีสภาพแออัดยัดเยียด มีความตีงเครียดเกิดขึ้นกับผู้คุมเรือนจำ อีกทั้งนักโทษยังไม่สามารถเข้าถึงน้ำและการรักษาพยาบาลได้

มโย ตุระ นักกิจกรรมจากกรุงย่างกุ้งเล่าว่า เจ้าหน้าที่เรือนจำมักจะขู่ว่า "พวกเราจะฆ่าพวกคุณให้หมด หลังจากนั้นพวกเราก็จะออกแถลงการณ์ว่ามีนักโทษบางคนที่เสียชีวิตขณะพยายามหลบหนี"

มโย ตุระ เคยเข้าคุก 2 ครั้ง ช่วงเวลาที่เขาติดคุกนานที่สุดคือระหว่างเดือน มี.ค. ถึง ต.ค. 2564 ในเรือนจำอินเส่ง ซึ่งเป็นเรือนจำที่อื้อฉาวตั้งอยู่ที่ใจกลางย่านการค้าของกรุงย่างกุ้ง เรือนจำแห่งนี้มีนักโทษเพิ่มขึ้นมากหลังการรัฐประหาร

นอกจากนี้ยังมีกรณีอื่นๆ ที่มโย ตุระ กล่าวถึง คือเรื่องที่เจ้าหน้าที่เรือนจำปฏิบัติต่อนักโทษเหมือนไม่ใช่มนุษย์ มีการบังคับใช้แรงงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานในไร่นาและแม้กระทั่งให้สูบน้ำเน่าเสียด้วยมือตัวเอง อีกทั้งยังขู่ว่าจะทำร้ายหรือสังหารพวกเขา

นอกจากนี้สภาพที่คนถูกจับรวมกันอย่างแออัดยังทำให้เรือนจำมีสภาพแวดล้อมที่ชวนให้หายใจไม่ออกด้วย นักกิจกรรมจากย่างกุ้งผู้นี้เล่าด้วยว่า ในบางห้องขัง ให้ผู้ต้องขังเข้าแออัดรวมกันถึง 200 คนในห้องขนาด 111 ตร.ม. หรือกระทั่ง 300 คน ในห้อง 186 ตร.ม. จากที่ในเรือนจำอินเส่งมีนักโทษในตอนนั้นอยู่รวมแล้วเกือบ 900 คน

มีอดีตนักโทษหญิงรายหนึ่งเล่าว่าในเรือนจำยังขาดระบบการรักษาพยาบาลที่ดีพออีกด้วย เธอเล่าว่าเธอได้พบกับนักโทษหญิงรายหนึ่งที่ถูกจับกุม 2 วันก่อนหน้าที่เธอจะต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษามะเร็งเต้านม แต่ก็ไม่สามารถผ่าตัดได้หลังถูกคุมขังในเรือนจำ ทำให้เธอประคองชีวิตอยู่รอดได้ด้วยการใช้ยาเท่านั้น

ทั้งนี้ในเรือนจำยังมีชาวโรฮิงญาจำนวนมากที่ต้องโทษจากคดีเกี่ยวกับการอพยพ มีผู้หญิงจำนวนมากถูกตัดสินลงโทษจำคุก 10 ปี ข้อหาค้ามนุษย์ เช่น การจัดให้เด็กในหมู่บ้านไปทำงานที่บ้านคนอื่นหรือทำงานในร้านน้ำชา

เรือนจำอินเส่งเป็นเรือนจำที่ถูกระบุว่าเป็นหนึ่งในเรือนจำที่แย่ที่สุดของโลก กองทัพพม่าที่กุมอำนาจในพม่ามาโดยตลอดมักจะจับคนเข้าเรือนจำแห่งนี้ แต่สิ่งที่พวกเขาทำหลังจากการรัฐประหาร 2564 นั้นถือว่าเลวร้ายกว่ามากเมื่อเทียบกับการกดขี่ก่อนหน้านี้


"สภาพที่ไม่สามารถติดต่อกับคนอื่นได้โดยสิ้นเชิง"

รายงานที่ชื่อ "The Flow of Injustice" ที่ออกมาเมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา เตือนถึงระบบที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ ในพม่า จากการที่นักโทษการเมืองเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนเหล่านี้

รายงานระบุว่า นักโทษการเมืองในพม่า "เผชิญกับความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในตอนที่พวกเขาถูกจับกุม ในช่วงที่พวกเขาถูกสอบสวน ในช่วงที่พวกเขาถูกเคลื่อนย้าย และในช่วงที่พวกเขาอยู่ในเรือนจำ" สภาพชีวิตที่เลวร้ายในเรือนจำยิ่งทำให้พวกเขาต้องดิ้นรนมากขึ้นไปอีก

อดีตนักโทษเรือนจำบอกกับ AAPP ว่าศูนย์สอบสวนนั้นเป็น "นรกบนดิน" มีเจ้าหน้าที่สืบสวนของกองทัพใช้วิธีการทารุณกรรม การข่มขู่คุกคาม บังคับขู่เข็ญ และการลงโทษ ในการรีดข้อมูลจากพวกเขาโดยอ้างว่า "เป็นนโยบาย"

รายงานของ AAPP ระบุว่า นับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร มีนักโทษการเมืองอย่างน้อย 99 ราย ที่ถูกสังหารในช่วงที่มีการสืบสวน ซึ่งตัวเลขผู้เสียชีวิตจริงอาจจะมากกว่านี้

จ่อโซวินนักกิจกรรมของ AAPP กล่าวว่าการวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องขังไม่เคยเกิดขึ้นมากขนาดนี้ในประวัติศาสตร์ แม้กระทั่งในช่วงที่มีการลุกฮือปี 2531 ที่นักประชาธิปไตยและนักศึกษาถูกยิงและถูกจับเข้าคุกก็ไม่เกิดอะไรแบบนี้ คุกในพม่ามักจะมีปัญหาเรื่องความแออัดอยู่แล้ว แต่ในตอนนี้เผด็จการทหารดูเหมือนจะส่งเสริมและชื่นชมเจ้าหน้าที่เรือนจำถ้าหากพวกเขาละเมิดสิทธิมนุษยชน

ฝ่ายเผด็จการทหารยังไม่ได้วิจารณ์อะไรโดยตรงต่อรายงานล่าสุดของ AAPP แต่เมื่อก่อนหน้านี้ โฆษกของเผด็จการ ซอมินทุน เคยแก้ต่างการประหารชีวิตนักโทษการเมือง โดยบอกกับผู้สื่อข่าวว่า "นี่เป็นความยุติธรรมให้กับประชาชน พวกโจรพวกนี้ได้รับโอกาสแก้ต่างให้ตัวเองแล้ว"

ในแง่สภาพเรือนจำของพม่านั้น มานนี หม่อง นักวิจัยพม่าที่ฮิวแมนไรท์วอทช์บอกว่ามันไม่เคยที่จะถึงเกณฑ์มาตรฐานของนานาชาติอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนหน้ารัฐประหาร แต่ทว่าในตอนนี้สภาพที่ย่ำแย่ในเรือนจำและอาชญากรรมจากฝ่ายทหารรุนแรงยิ่งกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการทุบตีทำร้ายและการทารุณกรรมอื่นๆ จากที่มานนี หม่อง ได้รับรู้มาจากคำบอกเล่าของอดีตผู้ต้องขังจำนวนมาก

ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้บันทึกเรื่องเหล่านี้ไว้เช่นกัน รวมถึงการเสียชีวิตในเรือนจำด้วย แต่มานนี หม่อง ก็บอกว่าข้อมูลที่พวกเขาได้รับมายังเป็นแค่เรื่องในระดับผิวเผินเท่านั้น เขากล่าวด้วยว่า "การที่กองทัพพม่าจงใจใช้วิธีการที่โหดร้ายในที่คุมขังเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการโจมตีประชาชนพม่ามันจะนับเป็น อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ"

มานนี หม่องบอกว่าบางครั้งก็มีกรณีการทารุณกรรมและก่อเหตุเลวร้ายในที่อื่นๆ นอกเหนือจากเรือนจำในย่างกุ้ง เช่น อดีตเรือนจำทหารเยจีไอง์ ถูกเปิดใช้อีกครั้งหลังรัฐประหาร และสถานกักกันต่างๆ ของเผด็จการพม่าเองก็ไม่มีความโปร่งใส มักจะมีรายงานเรื่องเลวร้ายอย่างการทารุณกรรมและความรุนแรงทางเพศหลุดออกมาให้ได้ยิน ทั้งที่เรือนจำในย่างกุ้งและในพื้นที่อื่นๆ ที่มีการต่อต้านเผด็จการอย่างหนัก

รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า (NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาก่อตั้งโดยนักการเมืองกลุ่มต่อต้านเผด็จการเรียกร้องให้ประชาคมโลกช่วยเหลือนักโทษการเมืองในพม่ามากกว่านี้

นพ.ซะไลหม่องไตง์ซาน หรือซาซารัฐมนตรีของ NUG กล่าวว่า "มันเป็นเรื่องสำคัญที่นักโทษทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพใดก็ตาม ควรจะสามารถสื่อสารแลกเปลี่ยนกับครอบครัวของพวกเขา และได้รับการรักษาพยาบาลและการดูแลเกี่ยวกับอาหารที่จำเป็นต่อพวกเขา"

"กองทัพพม่าไม่เพียงแค่แสดงให้เห็นถึงการขาดความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเหล่านี้เท่านั้น แต่ยังละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงด้วย" ซาซากล่าว

ซาซายังได้กล่าวเน้นถึงเรื่องที่นักโทษการเมืองรวมถึงอองซานซูจีถูกดำเนินคดีในศาลลับและถูกตัดขาดจากโลกภายนอกทำให้ตกอยู่ใน "สภาพที่ไม่สามารถติดต่อกับคนอื่นโดยสิ้นเชิง"

 

เรียบเรียงจาก

Myanmar military regime accused of murdering political prisoners, Aljazeera, 14-07-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net