Skip to main content
sharethis

"เราไม่สบายใจที่ถ้าเพื่อไทย เลือกที่จะตัดสินใจอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายที่สุด เช่น ผลักก้าวไกลไปเป็นฝั่งฝ่ายค้าน หรือไปร่วมจับมือกับเสียงฝั่งน้อย เพื่อจัดตั้งรัฐบาล ผมในฐานะโหวตเตอร์ พรรคก้าวไกล ไม่รู้สึกดีอยู่แล้ว" พี พนักงานบริษัท อายุ 28 ปี

"รู้สึกมั่นใจเล็กๆ ว่า เขาคงไม่เอาฐานเสียงตัวเองมาแลก คิดดีๆ เพราะราคาแพงมาก และอยากให้เห็นแก่ประชาชน" ต้นกล้า อายุ 20 ปี

"อยากให้ใช้จุดยืนเดิมคือไม่ร่วมกับ 3 ป. (ประยุทธ์ ประวิตร และ ป๊อก อนุพงษ์ เผ่าจินดา) ไม่ร่วมกับพลังประชารัฐ หรือพรรคที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย" มาย นิสิตปี 2 ม.เกษตรฯ 

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน สถานที่จัดงาน 'ไล่ ส.ว.ใจทราม' เมื่อ 21 ก.ค. 2566 เพื่อคุยกับมนุษย์ม็อบ กับเสียงที่อยากฝากถึงพรรคเพื่อไทยที่กำลังรับไม้ต่อในการจัดตั้งรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย หลังมีการแถลงของ 8 พรรคร่วมให้พรรคเพื่อไทย จัดตั้งรัฐบาล 

ไม่ผลักก้าวไกล ไปฝ่ายค้าน

พี อาชีพพนักงานเอกชนอายุ 28 ปี และโหวตเตอร์ก้าวไกล ระบุว่า เขาอยากออกมาแสดงออกทางการเมือง ไม่ได้อยู่บนโซเชียลเน็ตเวิร์ก ตั้งใจแอบแม่ออกมาเลย อยากออกมาดูบรรยากาศการชุมนุมทางการเมือง

พี กล่าวด้วยว่า เขาออกมาเพราะว่าช่วงที่ผ่านมา มันมีสถานการณ์ผิดปกติในการเมืองไทย และแปลกใจมากกว่าว่าทำไมคนถึงไม่ออกมา

"ผมไม่ลำบากเลย แต่ผมไม่ได้ออกมาเพื่อตัวเอง เราออกมา เพื่อพ่อแม่เราที่เขาควรจะได้ชีวิตสูงวัยอย่างสงบ เพื่อคนที่เขาทำงาน นักศึกษาที่เพิ่งจะเริ่มทำงาน" พี กล่าว

ภาพบรรยากาศเมื่อ 21 ก.ค. 66 ถ่ายโดย แมวส้ม ประชาไท

พนักงานบริษัทวัย 28 ปี กล่าวต่อว่า เรื่องการโหวตนายกฯ รอบที่ 2 ไม่สามารถเสนอพิธา เป็นนายกฯ ได้อีกแล้ว ทำให้เขารู้สึกผิดหวัง เพราะในความเห็นเขา มันไม่ควรจะเป็นญัตติ เขาตามข่าวมาเรื่อยๆ ทุกวันเห็นนักข่าวไปถามวิษณุ (เครืองาม) เขาให้ความเห็นว่า ใครได้เป็น ประธานสภาฯ เสนอนายกฯ ได้กี่รอบก็ได้ แต่พอวันจริงที่ผ่านมา เราผิดหวังมากๆ ก้าวไกล ถอยมาเยอะ ให้วันนอร์ เป็นประธานสภาฯ เรามองว่ามันก็คงเสนอรอบ 3-4 ได้ แต่กลายเป็นว่า ไม่ได้ และผลกระทบน่าจะเยอะ เพราะว่า แคนดิเดตพรรคเพื่อไทย เสนอได้แค่รอบเดียว ปัดตก ก็ตกเลย

โหวตเตอร์ก้าวไกล วัย 28 ปี มองเรื่องพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล ทำให้เขารู้สึกกลัว เพราะกลัวเรื่องการเมืองแบบเก่าที่เห็นผลประโยชน์สำคัญ มันก็คงไม่มีปัญหา ถ้าเกิดว่ามีแต่พรรคฝ่ายประชาธิปไตยแย่งตำแหน่งกันอย่างเดียว

"เราไม่สบายใจที่ถ้าเพื่อไทย เลือกที่จะตัดสินใจอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายที่สุด เช่น ผลักก้าวไกลไปเป็นฝั่งฝ่ายค้าน หรือไปร่วมจับมือกับเสียงฝั่งน้อย เพื่อจัดตั้งรัฐบาล ผมในฐานะโหวตเตอร์ พรรคก้าวไกล ไม่รู้สึกดีอยู่แล้ว" พี กล่าว

พี อยากฝากถึงพรรคเพื่อไทยว่าก็หลายอย่างที่พูดมา อยากให้ทำตามที่เขาพูด ทำให้ชัดเจนจากเพื่อไทย เราไม่อยากให้เขาทำอะไรกับขั้วอำนาจเก่า

"เราไม่อยากให้เขาทำอะไรกับขั้วอำนาจเก่า จับมือกับใครเพิ่ม ผมก็ไม่รู้หรอกว่า จะเกิดอะไรขึ้น แต่อย่าเลย ขอร้อง เรารู้ดีว่าประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย หรือพรรคอื่นๆ ของประยุทธ์ และก็ประวิตร เขาบริหารประเทศไม่ได้ดีขนาดนั้น และเขาเข้ามาเพื่อผลประโยชน์จากเรา" พี กล่าว

สุดท้าย โหวตเตอร์ก้าวไกล วัย 28 ปี กล่าวว่า ส.ว. ควรทำให้มันผ่าน หรือถูกต้อง อย่ากลืนน้ำลายตัวเอง ไม่งั้นคนจะย้อนเทป กลับไปดูได้ อย่างเช่น วิโรจน์ ลักขณาอดิศร อภิปรายในรัฐสภา ย้อนเทปให้ดูว่า ส.ว. เคยพูดอะไรไว้ โดยเฉพาะเรื่องบอกว่า พรรคไหนรวบรวม ส.ส. เสียงข้างมากในสภาเกิน 250-270 เสียง จะโหวตให้

อยากให้เพื่อไทย ร่วมผลักดันนโยบายของก้าวไกล 

พลอย (กลาง) และแป้ง (ขวา) ทั้งสองเป็นนิสิตภาควิชาประวัติศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กล่าวว่า เธออยากมาร่วมกิจกรรมและเป็นครั้งแรกที่มาร่วมกิจกรรมชุมนุมทางการเมือง เนื่องจากตนเองมีสิทธิมีเสียง และแสดงจุดยืนที่จะออกมาขับไล่ ส.ว. และเรื่องรัฐธรรมนูญปี 60

(กลาง) พลอย และ (ขวา) แป้ง

แป้ง มองว่า การโหวตนายกฯ รอบ 2 ที่สุดท้ายแล้ว พิธา ไม่ได้รับการเสนอชื่อรับรองนายกฯ ต่อรอบ 2 เธอไม่เห็นด้วยกับ ส.ว. เนื่องจากมาจากการแต่งตั้ง และการแสดงออกในสภา คือ เธอมองว่า ไม่มีวุฒิภาวะ ดั่งคำที่ ส.ส.พรรคก้าวไกลพูดคือ "แก่ก็แก่ให้เป็น"

แป้ง มองเรื่องที่พรรคเพื่อไทย รับไม้ต่อเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ว่า เธอโอเค เพราะพรรคแรกไม่สามารถจัดตั้งได้ พรรคอันดับที่ 2 เขาก็มีสิทธิแต่งตั้งรัฐบาล

"ส่วนเรื่องที่พรรคถ้ามันเป็นไปตามกระบวนการแบบนี้ก็โอเค ในเมื่อพรรคแรกไม่สามารถจัดตั้งได้ พรรคที่สองเขาก็มีสิทธิ์ขึ้นมาแต่งตั้งรัฐบาลของเขา แต่ว่ายังไงพรรคอันดับหนึ่งก็ควรจะได้ แต่เขาถูกตัดสิทธิ์อย่างหน้าด้านๆ เราเห็นๆ กันอยู่ว่าฝั่งนั้นเขายื้อเวลาเพื่อที่จะตัดสินอย่างนี้ พรรคอันดับหนึ่งควรมีสิทธิ์จะแต่งตั้งมากกว่า" แป้ง กล่าว

"ต่อให้เราเชียร์เพื่อไทย แต่ยังไงก็ควรเป็นก้าวไกลอยู่ดี ตามกระบวนการกฎหมาย หรือความถูกต้อง" พลอย กล่าว

แป้ง กล่าวต่อว่า ถ้าเพื่อไทย จัดตั้งรัฐบาล อยากให้นำนโยบายของพรรคก้าวไกล ไปดำเนินการด้วย โดยเฉพาะมาตรา 112 เพราะเป็นกฎหมายที่กดประชาชน

"จากใจเด็กสาขาประวัติศาสตร์ มัน (มาตรา 112) คือสิ่งที่ควรแก้จริงๆ เพราะว่าสถาบันเรามีไว้ได้ แต่เราไม่ได้มีไว้กดประชาชน" แป้ง กล่าว

ขอ 8 พรรคร่วมฝ่าย ปชต.ยังจับมือกัน

เพลง อายุ 23 ปี ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองว่า อยากให้พรรคเพื่อไทยจับมือกับ 8 พรรคร่วมรัฐบาล ให้เหนียวแน่น เราไมมีปัญหา เพราะถ้ายังจับมือกันไปแล้ว ไม่ปัดตกนโยบายใดสักข้อที่เคยให้ไว้กับประชาชน สุดท้ายมันกลายเป็นผลประโยชน์ของประชาชนทุกคน แม้ว่าก็แอบจะแปลกที่ว่า คนที่มาจากพรรคอันดับหนึ่งทำไมไม่ได้เป็นนายก มันอาจจะประดักประเดิดแต่ว่าตอนนี้ทางแก้มันก็มีแค่ทางนี้ เพลงก็เลยรู้สึกว่า ถ้าให้การสนับสนุนทั้ง 8 พรรคจากทางฝั่งประชาธิปไตยให้เข้าไปสู่รัฐสภา เป็นคนบริหารประเทศได้ ก็พยายามจะทำ 

เพลง พรรคอาทิตย์ใหม่ อายุ 23 ปี

เพลง ไม่เห็นด้วยที่จะมีการดึงพรรคอย่างประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทยเข้ามาร่วม โดยเฉพาะภูมิใจไทย เพลง มองว่า ถ้าหากพรรคภูมิใจไทยอยากเข้ามาร่วม ต้องรับผิดชอบการบริหารที่ผิดพลาดในช่วงโควิด (2563-2565) ก่อน จากนั้น ถึงเข้ามาร่วม 

"เรารู้สึกว่ามันมีคนที่ได้รับบาดแผลจากสิ่งที่พรรคนั้นๆ ทำ อย่างเช่น คุณอนุทิน อยู่ภูมิใจไทย บาดแผลที่เขาสร้างไว้คือการไม่ป้องกันโควิด ครอบครัวหนึ่ง ชีวิตหนึ่งหายไป คือมันเป็นบาดแผลของประชาชน เราจะแกล้งลืมมันไม่ได้ ถ้าคุณอยากจะร่วม คุณต้องรับผิดชอบในการกระทำที่มันเกิดขึ้นในตอนนั้นก่อนแล้วคุณถึงมาร่วม" สมาชิกพรรคอาทิตย์ใหม่ กล่าว

เพลง ทิ้งท้ายขอให้ทั้ง 8 พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยยังจับมือกัน แม้ว่ามันจะยาก เพราะว่าอีกฝ่ายมีอำนาจเหนือกว่า และอยากฝากถึงประชาชน แม้ว่าเวลาอยู่ข้างเรา แต่ว่าเราก็ต้องสู้ ไม่ใช่ปล่อยเวลาผ่านไปโดยที่ไม่ทำอะไรเลย

"ตอนนี้เพลงได้ยินเยอะมากคนที่พูดว่า ‘ให้กูไปเลือกตั้งทำไม’ แต่ว่าการเลือกตั้งมันเป็นการแสดงออกทางประชาธิปไตย แน่นอนว่ามันไม่ได้ผิดที่เราออกไปเลือกตั้ง เราเลือกตั้งเพื่อให้เห็นว่านี่คือพลังของเรานะ ตั้งแต่วันที่ 14 มันเปลี่ยนไปแล้ว  …ไม่อยากให้ทุกคนไปท้อแท้ว่าสุดท้ายแล้วทำไมผลเป็นแบบนี้ มันเพราะว่าเขาถืออำนาจสูงสุดอยู่ … เขาวางแผนกันมาหมดแล้ว เราเพียงต้องต่อสู้ต่อไปในฐานะประชาชน ไม่ใข่พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หรือเพื่อใครสักคน แต่เพื่อพวกเรา พวกเราที่ให้เขาเคารพเสียงส่วนมากของประชาชน

"แล้วก็อยากจะฝากว่ามันอาจจะเซ็ง แต่ยิ่งเราเซ็งมันอาจจะเป็นตัวที่ทำให้เขาเดินเกมได้อย่างรวดเร็ว ยิ่งประชาชนเบื่อ ยิ่งประชาชนไม่สนใจ ชั้นจะทำมากกว่าเดิม ก็เห็นแล้วที่ผ่านมาคนที่ออกมาเขาก็ต่อสู้กันจริงๆ แต่คนที่ไม่ออกมาเห็นแล้วว่าแล้วสุดท้ายผลมันก็ขึ้นมา ความร้ายแรงมันก็สูงขึ้นแบบนี้ ก็เลยอยากให้ทุกคนออกมา เพราะไม่รู้จะต้องออกมาตอนไหนแล้ว" เพลง ทิ้งท้าย 

อยากให้เพื่อไทยคิดดีๆ อยากให้เห็นแก่ประชาชน

ต้นกล้า อายุ 20 ปี โหวตเตอร์ก้าวไกล มองเรื่องพรรคเพื่อไทย กำลังจะรับไม้ต่อจัดตั้งรัฐบาลว่า ใจจริงเขาอยากดัน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตจากพรรคก้าวไกล ไปให้สุดๆ แต่มันไม่ได้จริงๆ ผมรู้สึกว่า พรรคเพื่อไทยเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เขาก็อันดับสอง และมีคะแนนโหวต 10 ล้านเสียง แต่ต้องชัดเจนกว่านี้

ต้นกล้า อายุ 20 ปี

ต้นกล้า กล่าวต่อว่า อยากให้ชัดเจนเรื่องมาตรา 112 และเรื่องอื่นๆ อยากให้จุดยืนเพื่อไทยเข้มแข็งมาก อยากให้มีจุดยืนพรรคที่ไม่จับมือกับพรรคสืบทอดอำนาจจากเผด็จการ อยากให้เป็นพรรคมั่นคง 

"รู้สึกมั่นใจเล็กๆ ว่า เขาคงไม่เอาฐานเสียงตัวเองมาแลก คิดดีๆ เพราะราคาแพงมาก และอยากให้เห็นแก่ประชาชน" ต้นกล้า กล่าว

ส่วนความเห็นถึง ส.ว. ต้นกล้า กล่าวว่า "ไม่มีโอกาสไหนที่มึงจะได้ล้างตัวเท่าโอกาสนี้แล้ว ไม่ให้อภัยมึงหรอก แต่มึงจะสะอาดขึ้นเล็กน้อย ถ้ามึงเลือกเพื่อประชาชน"

ไม่ร่วมกับ 3 ป. หรือพรรคที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย

มาย นิสิตภาควิชารัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเป็นโหวตเตอร์ก้าวไกล มองเรื่องพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลว่า ไม่ถูกต้องที่เสียงของประชาชนไม่ได้ถูกนำมาใช้ แต่เมื่อเหตุการ์ทางการเมืองเป็นแบบนี้ การให้พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคจัดตั้งรัฐบาลเป็นเรื่องจำเป็น เพราะว่าไม่มีทางเลือก  

มาย อยากให้การจัดตั้งรัฐบาลโปร่งใส บริสุทธิ์ อยากให้ฟังเสียงของประชาชนให้มากที่สุด เพราะว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน 

"อยากให้ใช้จุดยืนเดิมคือไม่ร่วมกับ 3 ป. (ประยุทธ์ ประวิตร และ 'ป๊อก' อนุพงษ์ เผ่าจินดา) ไม่ร่วมกับพลังประชารัฐ หรือพรรคที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย" มาย กล่าว 

มาย

เมื่อถามว่าอย่างภูมิใจไทย ร่วมรัฐบาลได้ไหม มาย ตอบว่าไม่ได้ เพราะว่าจุดยืนเรื่องประชาธิปไตยของพรรคภูมิใจไทย และส่วนตัวไม่ชอบนโยบายกัญชาเสรี

นอกจากนี้ มาย กล่าวถึงการที่ ส.ว. มีสิทธิเลือกนายกฯ ว่า เธอไม่เห็นด้วย เพราะว่าไม่ได้มาจากประชาชน และอยากให้เป็นสภาเดี่ยวไปเลย 

"ควรฟังเสียงประชาชน ย้ำคำเดิมว่าทุกอย่างต้องยึดจากประชาชน (จากการเลือกตั้ง) ไม่ว่าคุณจะมาจากอะไรแต่ว่าคุณต้องมองภาพรวมในประเทศว่าประเทศไปในทิศทางไหน” มาย กล่าวถึงหลักการที่ ส.ว.ควรโหวตเลือกนายกฯ  

เมื่อได้เห็นสถานการณ์การเมืองที่ผ่านมาทำให้เรารู้สึกท้อแท้หรือไม่ นิสิต ม.เกษตรฯ ทิ้งท้ายว่า สำหรับเธอ ยิ่งท้อแท้ ยิ่งต้องสู้ พร้อมเชิญชวนประชาชนให้ออกมาสู้ต่อด้วย

“อยากให้ออกมาสู้ เพราะว่าเรื่องการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน ตั้งแต่ ม.ต้น ม.ปลายที่ผ่านมา การที่การเมืองเป็นแบบนี้ทำให้มายตัดสินใจเรียกรัฐศาสตร์ คิดว่ามันต้องขับเคลื่อนจากเรา ถ้าไม่เริ่มต้นที่ตัวเองก็ไม่มีคนอื่น” นิสิตรัฐศาสตร์ ระบุ

แม้พรรคการเมืองไม่มีนโยบายผลักดัน มาตรา 112 แต่การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนสามารถทำได้ต่อ

หยก เยาวชนอายุ 15 ปี มองเรื่องที่พรรคเพื่อไทยรับไม้ต่อจัดตั้งรัฐบาล ว่าสำหรับเธอยังไงก็คิดว่าก้าวไกลก็ควรได้ เพราะว่าประชาชน 14 ล้านเสียงเลือกพรรคก้าวไกล และเพื่อไทยควรสนับสนุนก้าวไกลให้เต็มที่ เพราะก้าวไกลเป็นพรรคที่ประชาชนเลือก 

หยก อายุ 15 ปี

ส่วนข้อเรียกร้องถึงพรรคเพื่อไทยในการจัดตั้งรัฐบาล หยก อยากให้เพื่อไทยเคารพเสียงประชาชน เพราะประชาชนกว่า 14 ล้านเสียงเลือกตั้งเข้ามา

"อยากให้เคารพเสียงประชาชน 14 ล้านเสียงที่เลือกพรรคก้าวไกล มติที่เป็นเอกฉันท์ว่าเลือกก้าวไกลมา อยากให้เพื่อไทยเลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่ประชาชนอยากได้มากที่สุด อยากให้สนับสนุนสิ่งที่ประชาชนเลือก" หยก ระบุ 

เยาวชนอายุ 15 ปี มองว่า ส่วนตัวแม้ว่าการที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแล้ว อาจอำนาจทำให้เรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ถูกผลักออกไป แต่การเคลื่อนไหวภาคประชาชนสามารถทำได้ แม้ว่าพรรคการเมืองจะไม่ได้ผลักดันประเด็นนี้ 

"อยากจะฝากไว้ว่าอย่าไปฝากความหวังไว้ที่ตัวพรรคการเมืองหรือตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง คุณต้องมองที่ว่าคุณต้องใช้สิทธิเสียงของคุณในการขับเคลื่อนเองด้วย และก็การเลือกตั้งภายในประเทศนี้อะมันไม่ใช่แค่เลือกตั้งและจบ และได้ตำแหน่งนายก แต่มันเป็นการเลือกตั้งแล้วไปสู้กับกฎหมายที่บิดเบี้ยวกับผู้มีอำนาจในประเทศนี้ที่ไม่ถูกใจในสิ่งที่คุณเลือกอีกด้วย" หยก ทิ้งท้าย
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net