Skip to main content
sharethis

เพจ "รอยัล เวิลด์ ไทยแลนด์" เผยปมคลิปเสียงคล้าย 'อุบลรัตน์ฯ' พูดปัญหา ส.ว. ไม่โหวตหนุน 'พิธา' เป็นนายกฯ-ปัญหาการใช้ ม.112 เมื่อสอบถามไปยังกองงานในพระองค์ฯ ยืนยันว่า 'ไม่เป็นความจริง' ด้าน ศปปส.แจ้งมาตรา 112 คนทำคลิปเสียง

 

21 ก.ค. 2566 เฟซบุ๊กเพจ "Royal World Thailand - รอยัล เวิลด์ ประเทศไทย" ซึ่งระบุตัวเองว่าเป็นองค์กรข่าวเผยแพร่ข่าวพระราชสำนักทั่วโลกทั้งฉบับภาษาไทย และอังกฤษ โพสต์ข้อความเมื่อ 19 ก.ค. 2566 ชี้แจงกรณีที่มีคลิปเสียงคล้ายทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ สนับสนุน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ด้านเจ้าหน้าที่กองงานในพระองค์ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง

รายละเอียดโพสต์ระบุว่า จากกระแสข่าวอันร้อนแรงในระดับหนึ่งกับการแชร์คลิปเสียงที่ประชาชนไม่น้อยเชื่อว่าเป็นพระสุรเสียงของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ที่มีรับสั่งเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังเป็นที่จับตามองอยู่ขณะนี้ ทั้งการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี การทำหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภา รวมไปถึงการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือมาตรา 112 เป็นต้น

ในคลิปเสียงดังกล่าว เป็นที่สนใจในสังคมออนไลน์เป็นอย่างมาก เนื่องด้วย มีการกล่าวสนับสนุนการเลือก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตจากพรรคก้าวไกลซึ่งได้คะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่ง สมควรที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามเสียงข้างมากของประชาชน ซึ่งเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ขณะเดียวกัน ได้มีการกล่าวพาดพิงถึงพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 โดยมิชอบ ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเดือดร้อนและได้รับผลกระทบ

คลิปเสียงนี้ถูกกล่าวถึงและถูกแชร์ไปมากมายตามสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่สนับสนุน พิธา ขณะเดียวกัน มีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังถกเถียงว่าเป็นพระสุรเสียงของทูลกระหม่อมจริงหรือไม่ เนื่องจากมีการเปรียบเทียบกับวีดีโอและรายการต่างๆ ที่ทูลกระหม่อมฯ ได้มีรับสั่งไว้ในหลายๆ เทป จึงสันนิษฐานว่าอาจเป็นเสียงของบุคคลอื่น หรือไม่เป็นการผลิตเสียงโดยใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (ติดตามคลิปเสียงได้ที่ Link: https://www.facebook.com/1000089.../videos/1392154738015037/)

หมายเหตุ - ผู้สื่อข่าวคลิกลิงก์เฟซบุ๊กดังกล่าวเมื่อ 21 ก.ค. 2566 เวลาประมาณ 12.43 น. พบว่าไม่สามารถเข้าถึงได้แล้ว

เพจรอยัล เวิลด์ฯ ได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่จากกองงานในพระองค์ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา ที่จังหวัดนนทบุรี ซึ่งได้มีโอกาสฟังคลิปเสียงนี้แล้วเช่นกัน และได้รับคำตอบว่าไม่เป็นความจริง และไม่ใช่เสียงของทูลกระหม่อมหญิงแน่นอน โดยเจ้าหน้าที่จากกองงานในพระองค์ได้กล่าวว่า "ตอนแรกตกใจเล็กน้อย เพราะเสียงดูคล้ายๆ อยู่บ้าง พอฟังไปๆ ก็รู้ว่าไม่ใช่ สไตล์และจังหวะการพูดของท่านไม่ใช่แบบนี้ ใครที่ได้ยินได้ฟังท่านพูดบ่อยๆจะรู้ หรือใครไปหาดูคลิป To Be Number One ดูก็ได้"

เพจรอยัล เวิล์ดฯ ระบุว่าต่อว่า นอกจากนี้ ทางกองงานฯ ยังมีการกล่าวเพิ่มเติมอีกว่าไม่มีทางที่จะมารับสั่งเหมือนเป็นการป่าวประกาศให้คนเขาทราบโดยทั่วกันแบบนี้ ยิ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง จากที่เคยลงชิงนายกฯ มา ทูลกระหม่อมหญิงเองทรงระมัดระวังพระองค์เองกว่าเดิมมาก อย่างมากทรงตามกระแสด้วยการอ่านข่าวหรือทรงคอมเมนต์ตามโพสต์ต่างๆ ในแพลตฟอร์ม 'อินสตาแกรม' เท่านั้น นอกจากนี้ ทูลกระหม่อมหญิงเองก็แทบจะไม่รับสั่งเรื่องเกี่ยวกับการเมืองกับใครด้วย แม้กระทั่งบุคคลใกล้ชิด

สำหรับทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ ปัจจุบันพระชันษา 72 ปี ทรงเคยตอบรับเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคไทยรักษาชาติ เมื่อปี 2562 กระทั่งมีพระราชโองการระงับการเสนอพระนามเป็นนายกฯ เนื่องด้วยยังทรงเป็นพระบรมวงศ์ชั้นสูงอยู่ ในฐานะพระโสทรเชษฐภคินี แม้จะทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์ตามกฎหมายไปแล้ว

ศปปส.แจ้ง ม.112 คนทำคลิปเสียง

วันนี้ (21 ก.ค.) เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) โพสต์ข้อความว่า เมื่อเวลา 12.30 น. ที่ศูนย์รับแจ้งความกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พหลโยธิน จตุจักร กทม. อานนท์ กลิ่นแก้ว ในฐานะประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และ นพดล พรหมภาสิต เลขาธิการศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) นำหลักฐานคลิปเสียงในลักษณะหมิ่นเบื้องสูง เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน กก.1 บก.ปอท. เพื่อเสนอให้ พล.ต.ต.อธิป พงษ์ศิวาภัย ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้ตรวจสอบดำเนินคดีตามมาตรา 112 

อานนท์ กล่าวว่า วันนี้ ศปปส. นักรบเลือดสีน้ำเงิน  และ ศชอ. รวบรวมหลักฐานคลิปเสียงหมิ่นเบื้องสูงมาแจ้งให้พนักงานสอบสวน บก.ปอท. ตรวจสอบและดำเนินคดี ซึ่งเป็นการนำข้อมูลอันเป็นเท็จและบิดเบือนทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อตัวบทกฎหมายมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฏหมายคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่เป็นกฎหมายที่เอาไว้กลั่นแกล้งกันทางการเมืองอย่างที่มีการปลุกปั่นกัน

นพดล กล่าวว่า ภารกิจของเราวันนี้คือการตามล่าเจ้าของคลิปเสียงที่เผยแพร่แชร์กันใน TikTok (ติ๊กต็อก) ก่อนวันโหวตนายกฯ รอบสอง เมื่อ 19 ก.ค. 2566 ปรากฏมีคลิปเสียงที่ฟังแบบไม่พิจารณาก็จะคิดว่าเป็นเสียงของบุคคลสำคัญของประเทศ ทำออกมาหวังผลทางการเมือง ตอนแรกเราฟังแล้วก็เชื่อเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อพิจารณาและตรวจสอบกันแล้ว จึงเชื่อว่าไม่น่าจะใช่ วันนี้จึงได้รวบรวมเอามาให้ตำรวจ ปอท. ดำเนินการตรวจสอบและสืบสวนในเชิงลึกหาคนที่อยู่เบื้องหลังมาดำเนินคดี

นพดล กล่าวด้วยว่า ยังพบอีกว่ามีคลิปอีกอันหนึ่งออกมาระบุว่าคลิปเสียงดังกล่าวเป็นเสียงของใคร เพื่อความเป็นธรรมกับคนที่ถูกระบุดังกล่าว จึงมาให้ตำรวจ ปอท.ทำการตรวจสอบเปรียบเทียบตัวตน คลิปดังกล่าวมีการปล่อยมาในช่วงเลือกนายกฯ รอบสองดังนั้น เจตนาหวังผลทางการเมืองแน่นอน 

เบื้องต้น พนักงานสอบสวนรับหลักฐานเอกสารต่างๆ ไว้พร้อมสอบปากคำผู้แจ้งเสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net