Skip to main content
sharethis

ประชาชนรวมกลุ่มกันชุมนุม “ฌาปนกิจ ส.ว. และศาลรัฐธรรมนูญ” หลังศาลรัฐธรรมนูญสั่ง "พิธา" หยุดทำหน้าที่ ส.ส. และวันนี้ที่ประชุมสภาไม่ให้เสนอชื่อพิธาซ้ำด้วย เวทีปราศรัยท้า ส.ว.ถ้าคิดว่าความคิดตัวเองเป็นสิ่งที่สังคมส่วนใหญ่ต้องการก็มาลงเลือกตั้ง

19 ก.ค.2566 เวลา 17.00 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ประชาชนรวมกลุ่มกันชุมนุมตามที่แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมประกาศ “ฌาปนกิจ ส.ว. และศาลรัฐธรรมนูญ” เพื่อแสดงออกคัดค้านศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและเป็นแคนดิเดตนายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ระหว่างรอศาลวินิจฉัยว่าสิ้นความเป็นสมาชิกสภาพ ส.ส.หรือไม่จากกรณีมีหุ้นไอทีวี

ธัชพงษ์ แกดำ กล่าวถึงผลการลงมติในสภาที่ผลลงคะแนนออกมาว่าไม่สามารถเสนอชื่อพิธาซ้ำได้ ว่าเป็นการกระบวนการ ที่เขาชี้ปัญหาไปที่ปัญหาในรัธรรมนูยที่ให้อำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ และยังถูกปิดกั้นเมื่อแสดงความเห็นคัดค้าน แล้วพอมาเลือกตั้งปีหกสองก็ถูกกลั่นแกล้งยุบพรรค แต่เมื่อสู้ไปตามกลไกของประชาธิปไตยและคาดหวังให้กลไกสภาเป็นที่เปิดโปงเผด็จการที่ครอบงำอำนาจทั้งหมดไว้ โดนยระหว่างนั้นคนหนุ่มสาวก็ออกมาต่อสู้กับเผด็จการก็ถูกดำเนินคดีในช่วงปี 63-64 เป็นจำนวนมาก

ธัชพงษ์กล่าวว่ามาจนการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้ที่พรรคชนะเลือกตั้งจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะ ส.ว.และผู้ชนะการเลือกตัง้ยังถูกคุกคามกลั่นแกล้งจาก กกต.ด้วย อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญก็ยังกลั่นแกล้งด้วย สภาก็ยังบอกว่าเสนอชื่อพิธาเป็นนายกฯ ไม่ได้อีกแล้ว

ธัชพงษ์ แกดำ

“เราไม่สามารถเชื่อกระบวนการในสภาได้อีกแล้ว ไม่สามารถเชื่อ ส.ว.ได้แล้ว ไม่สามารถเชื่อได้อีกต่อไปแล้วว่ากลไกสภาจะเป็นความหวังในการเปลี่ยนแปลงสังคม ถ้าเกิดปล่อยให้เลือกตั้งดำเนินไปตามทำนองคลองธรรมของมันวันนี้ก็จะไม่เกิดการชุมนุมแบบนี้” ธัชพงษ์กล่าวถึงปัญหาที่เกิดจาก ส.ว. กกต. และศาลรัฐธรรมนูญที่ขัดขวางกระบวนการเหล่านี้

ธัชพงษ์กล่าวบนเวทีว่าแม้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดความโกรธแค้นแต่ก็ขอให้มวลชนที่มาร่วมกิจกรรมไม่เอาความโกรธแค้นไปทำร้ายร่างกายคนที่เห็นต่างจากพวกเขา และขอให้มวลชนที่มาชูสามนิ้วถ้าหากมีคนทำการด่าทอ ดูถูกเหยียดหยามด้วย รวมถึงไม่เดินไปตามการประกาศจากคนอื่นที่ไม่ได้อยู่บนเวที

ท้า ส.ว.มาลงเลือกตั้งถ้าคิดว่าความคิดตัวเองเป็นสิ่งที่สังคมต้องการ

รัฐภูมิ เลิศไพจิตร หรือ เติร์ด จาก WeVo ขึ้นปราศรัยต่อว่าตลอดเวลา 9 ปีที่ผ่านมาภายใต้รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาอำนาจอธิปไตยของประชาชนถูกทำให้ลดน้อยถอยลงทุกวันด้วยการรวบอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางแล้วก็ลดความสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกลุ่มบุคคลที่ทำงานร่วมกับพี่น้องประชาชนที่เป็นแนวคิดของกลุ่มอนุรักษ์นิยมและไม่อยากกระจายอำนาจ

เขากล่าวว่าตัวเองพยายามย้ำถึงเรื่องอำนาจอธิปไตยของประชาชนเพื่อเป็นการรื้อฟื้นความคิดว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย แม้ว่าสถานการณ์การเมืองที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละช่วงที่ฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวาทัดทานอำนาจกัน ซึ่งบางช่วงพรรคการเมืองมีพลังอย่างมากทำให้ชนชั้นนำหวาดกลัวแต่บางช่วงที่ชนชั้นนำมีอำนาจก็เลยทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลง

เติร์ดกล่าวถึงว่าระบอบประชาธิปไตยอนุญาตให้ใครก็ตามได้พูดอย่างมีอิสรภาพโดยไม่ต้องกลัวสิ่งที่จะตามมาการร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2491 ที่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในเวลานั้นมีการถกเรื่องว่าไทยจะเป็นรัฐเดี่ยวหรือสหรัฐฯ แต่มาวันนี้เรื่องบางเรื่องที่เพดานต่ำมากก็ยังพูดไม่ได้ทำให้เห็นว่าความเป็นประชาธิปไตยของเราต่ำลงขนาดไหน ทั้งที่ในปี 2491 มีการอภิปรายถึงเรื่องรูปแบบของรัฐประเทศไทยก็ยังอยู่มาแบบทุกวันนี้ได้ดังนั้นที่มีส.ว.อภิปรายว่านโยบายของพรรคการเมืองบางพรรคจะทำให้ประเทศล่มสลายจึงไม่เป็นความจริง

“เขา(ส.ว.) บอกอยากขอคืนประเทศอยากขอคืนลูกหลานของเรา ไม่อยากเห็นแล้วการเปลี่ยนแปลง ผมยากเสนอ ส.ว.ท่านนั้นว่า ถ้าคิดว่าความคิดของคุณมันทันยุคทันสมัยมันเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ของสังคมต้องการ เชิญเลยครับมาลงเล่นการเมืองสมัครเป็น ส.ส.ไปเลยไม่ต้องเป็นส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งแต่มาจากเสียงของพี่น้องประชาชน กล้าหรือเปล่า” เติร์ดกล่าว

เขาบอกว่าแม้ตัวเองจะไม่ได้ใกล้ชิดกับพรรคก้าวไกลหรือรู้จักกับพิธาเป็นการส่วนตัว ไม่ได้เป็นแม้แต่ลงคะแนนเสียงเลือกพรรคก้าวไกล แต่ที่เขามาในวันนี้เพื่อแสดงจุดยืนว่าเขาเชื่อในระบอบประชาธิปไตยและเป็นหลักการที่ประเทศไทยจะต้องเดินไป และเขาคิดว่าการเริ่มต้นที่ดีจะนำไปสู่ปลายทางที่ดี

“พรรคการเมืองหนึ่งที่ได้คะแนนเสียงมาจากพี่น้องประชาชน 14 ล้านเสียงไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี บางทีอาจถูกกลั่นแกล้งให้เป็นฝ่ายค้านด้วยซ้ำไปนี้เราจะเริ่มต้นประเทศกันแบบนี้จริงๆ ใช่มั้ยแล้วส่งต่อประเทศแบบนี้ไปให้ลูกหลานของเราจริงๆ หรือไม่ เราอยากเห็นลูกหลานของเรามายืนอยู่ตรงนี้แบบที่เรายืนอยู่จริงๆ หรือไม่”

เติร์ดกล่าวชักชวนให้คนออกมาร่วมกันเพื่อต่อสู้จากการถูกกดขี่จากเผด็จการและยังได้ส่งกำลังใจให้กับ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลจับมือกันให้มั่นและพูดคุยกันอย่างเปิดเผยเพื่อให้เกิดในสิ่งที่แต่ละพรรคต้องการคือการได้เห็นประชาชนที่เป็นประชาชนจริงๆ เพราะสิ่งที่พรรคการเมืองทำผู้ที่ได้ประโยชน์คือประชาชนไม่ใช่พรรคการเมือง เพราะเขาอยากเห็นทั้งพรรคการเมืองและ ส.ว.ได้ทำตามเจตนารมณ์เพื่อทำให้อธิปไตยเป็นของประชาชนที่ไม่ได้เป็นเรื่องยากเย็นอะไร เพื่อให้ประชาชนที่ทนทุกข์มา 9 ปีได้หลุดพ้น

ในที่สุด ม.112 ก็ถูกอภิปรายในสภา

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ หรือเป๋า ไอลอว์ กล่าวถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถึงกรณีที่ออกคำสั่งให้พิธาหยุดทำหน้าที่ ส.ส.ว่าจะหลอกใครก็หลอกได้ แต่หลอกตัวเองไม่ได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่และสิ่งที่ทำอยู่นี้ชื่อของตุลาการแต่ละคนจะถูกลงบันทึกไว้ในราชกิจจานุเบกษา

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

“ไม่มีทางที่คนจะลืม และไม่มีทางที่จะเช็คบิลย้อนหลังไม่ได้”

ยิ่งชีพกล่าวว่าคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้และในวันข้างหน้าประชาชนทั่วไปก็รู้อยู่แล้วว่าจะสั่งอย่างไรต่อให้ไม่ต้องเคยอ่านรัฐธรรมนูญมาก่อนหรือต้องเคยเรียนกฎหมายมาก่อนก็รู้อยู่แล้วว่าศาลจะมีคำสั่งอย่างในวันนี้

เขายังกล่าวด้วยว่าพิธาเองก็ดำรงตำแหน่ง ส.ส.มาแล้วถึง 4 ปี ถ้าจะขาดคุณสมบัติก็ขาดมานานแล้วและเป็นหน้าที่ของ กกต.ที่รับใบสมัครของพิธาที่ไปยื่นสมัครตั้งแต่เดือนเมษายนก็ต้องไปตรวจสอบ

“มีเวลาตั้งหลายปีหลายเดือนถ้าท่านใช้ดุลพินิจตามกฎหมาย ท่านก็สั่งไปปีที่แล้วแล้ว แต่นี่เหลือวันเดียวจะโหวตนายกฯ ท่านก็เพิ่งคิดได้สั่งเรื่องนี้ดีกว่า ปัดโธ่ กูไม่ได้โง่นะ”

ยิ่งชีพกล่าวว่าที่มาของศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คนแม้ว่าที่มาจะมาจากหลากหลายสาขาแต่ก็ต้องผ่าน ส.ว.เลือกมาดำรงตำแหน่ง พอศาลรัฐธรรมนูญออกคำวินิจฉัยมาก็เอามาอภิปรายทันทีก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นพวกเดียวกัน แม้ว่าจะมีอยู่ 6 คนที่มาจากการแต่งตั้งของ สนช.ที่แต่งตั้งมาโดย คสช.สรุปแล้วก็คือองค์กรเดียวกัน เป็นเกมการเมืองที่ดูง่ายมากและรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นมาก็เพื่อให้มาถึงวันนี้

เขายังได้กล่าวถึงข้ออ้างต่างๆ ที่พรรคฝ่ายตรงข้ามกับ 8 พรรคร่วมและ ส.ว.เอามาอภิปรายวนอยู่ทั้งวันเมื่อวันโหวตเลือกนายกฯ ครั้งแรก 13 ก.ค.ที่ผ่านมา จริงๆ แล้วก็มีแค่อยู่ 3 ประเด็น

ประเด็นแรกคือเรื่องพิธาขาดคุณสมบัติจากการมีหุ้นของบริษัทไอทีวี ซึ่งขาดแค่คุณสมบัติ ส.ส.เท่านั้นไม่ใช่คุณสมบัตินายกฯ ทั้งที่ในปี 2562 ศาลรัฐธรรมนูญจะเคยสั่งว่าขาดคุณสมบัติด้วยเรื่องเดียวกันแต่ที่ประชุมสภาก็ยังโหวตกันได้และวันนี้ต่อให้พิธาถูกสั่งให้ออกจากสภาก็ยังเสนอโหวตต่อไปได้

ประเด็นที่สองคือเรื่องว่ากลัวจะเกิดการแบ่งแยกดินแดน ทั้งที่ฝ่ายหนึ่งกำลังพูดเรื่องการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นตัดสินใจเรื่องของตัวเองได้ แต่ถูกตีความเป็นการแบ่งแยกดินแดน ทั้งที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 1 ก้กำหนดไว้อยู่แล้วว่าประเทศไทยจะแบ่งแยกไม่ได้จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว

ประเด็นสุดท้ายคือเรื่องประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่พรรคก้าวไกลเสนอแก้ไขซึ่งเป็นเรื่องที่ ส.ส. 25 คนสามารถเข้าชื่อกันเพื่อเสนอแก้ไขได้ ไม่ว่าพิธาจะเป็นนายกฯ พรรคก้าวไกลจะได้ร่วมรัฐบาลหรือไม่ พรรคก้าวไกลก็ยังเสนอแก้ได้ตามที่หาเสียงและเสนอแก้แน่นอน

“คือเขาบอกว่าพรรคนี้แก้ 112 เขาไม่เห็นด้วยแก้ 112 เลยไม่โหวตนายกฯ มันถูกตรงไหน คุณไม่เห็นด้วยแก้ 112 เขาเสนอแก้ 112 มาคุณก็ไปโหวตไม่เห็นด้วยตอนนั้น ตอนนี้คือโหวตนายกฯ มีหน้าที่โหวตตาม ส.ส.เสียงข้างมากก็โหวตไป เข้าใจไม่ยากเนอะ”

“เสรี สุวรรณภานนท์ อยู่ในสภามาเกือบ 10 ปี ไม่เคยเลือกตั้งเลย สมชาย แสวงการ อยู่ในสภา 10 กว่าปีไม่เคยเลือกตั้งเลย ไปไหนไม่ได้ไง งานหนักฉิบหาย คำนูณ สิทธิสมานอยู่สภามา 10 กว่าปี ไม่เคยเลือกตั้งเลยอยู่มาได้เรื่องแค่นี้ไม่เข้าใจเหรอ”

ยิ่งชีพกล่าวต่อว่าเพราะพวกเขาเหล่านี้ไม่รู้จะยกเหตุอะไรมาไม่โหวตให้พิธาจึงต้องยกเรื่องที่ไม่เป็นเหตุผลมาใช้และรู้อยู่แล้วว่าเรื่องที่พูดอยู่มันผิดแต่ก็พูดอยู่เป็นชั่วโมงแต่ก็หน้าด้านที่จะพูด

อย่างไรก็ตาม เขาก็มองว่าเรื่องนี้ทำให้เป้าหมายเรื่องที่จะนำเรื่องมาตรา 112 เข้าไปพูดในสภาทำได้สำเร็จกว่าที่คาดเพราะรู้กันอยู่ตั้งแต่ต้นแล้วว่าถึงพรรคก้าวไกลจะเสนอเข้าไปในสภาก็ถูกโหวตคว่ำเพราะมีเสียง ส.ส.อยู่แค่ 151 ที่นั่ง เพียงแค่ขอเสนอเข้าไปและมีการอภิปรายก่อนอยากให้ถูกอภิปรายในสภาสักครั้ง

“ขอบคุณ ส.ส.พรรครัฐบาลเดิม พรรคสืบทอดอำนาจ และ ส.ว.ทุกท่าน ที่ช่วยอภิปราย 112 ในสภาเรียบร้อยแล้ว ยังไม่ทันเสนอเลยท่านเร่งอภิปราย 112 แล้วฟังเพลินเลย อีกหน่อยเสนอเข้าไปเขาก็พูดได้แค่นี้แหละพูดมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว”

ส.ว.ไม่มีความชอบธรรมมาโหวตนายกฯ 

ศรีไพร นนทรี กล่าวถึงในฐานะผู้ใช้แรงงานจากการเธออยู่ในสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียงที่มีสมาชิก 22 องค์กร หลังการเลือกตั้งทุกคนก็ถามว่าพิธาจะได้ขึ้นเป็นนายกฯ หรือไม่ เงิน 3,000 บาทจะได้หรือไม่ สวัสดิการ ทุกคนต่างก็มีคำถามเหล่านี้ แต่วันนี้ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ทำลายความหวังของทุกคนลงไปจนหมด

“ความเลวร้ายที่ผ่านมามันต่อเนื่องมาจาก คสช. ส.ว.ไม่ได้มีความชอบธรรมอะไรเลยที่จะมาเป็น ส.ว.”

“คนจนๆ อย่างดิฉัน ให้รัฐบาลเผด็จการแบบนั้น ให้พวกเผด็จการแบบนั้นแต่งตั้ง ฉันจะไม่เอาเกียรติและศักดิ์ศรีชื่อเสียงที่อยู่น้อยนิดของคนจนๆ ไปแปดเปื้อนกับพวกเผด็จการเลย”

ศรีไพรสิ่งที่คนงานคาดหวังว่าถ้าเราได้รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยและมีนโยบายให้คนงานทุกส่วนมีสวัสดิการถ้วนหน้าเราก็จะได้ลืมตาอ้าปากมีค่าจ้างที่สูงขึ้น รวมถึงเงินผู้สูงอายุ 3,000 บาท แต่สิ่งเหล่านี้ก็ลอยหายไปแล้ว เสียงของประชาชนไม่เคยถูกรับฟังแต่เป็นเพียงเกมการเมืองของคนที่อยู่เบื้องหลังของเผด็จการเท่านั้น

ตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาเป็นนายกฯ สิ่งของต่างๆ ที่ราคาแพงขึ้นสวนทางกับค่าแรง แต่ประชาชนกลับถูกบอกให้อยู่กับความพอเพียงทั้งที่คนจนๆ ยังไม่มีปัญญาจะจ่ายหนี้สินที่ตัวเองมี

“ถ้าคิดว่าพอเพียงจริง งบประมาณสถาบันกษัตริย์สามหมื่นกว่าล้านจะต้องคืนสู่ประชาชน นี่คือสิ่งที่เราต้องการ งบทหารจะต้องลดลงมาคืนสู่พี่น้องประชาชน”

ศรีไพรยังกล่าวต่อว่าทั้งเรื่องค่าแรง สวัสดิการ วันหยุด ของแรงงานล้วนถูกทำลายไปพร้อมกับนโยบายของพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่เราคาดหวังจะได้เห็น และสิ่งที่พูดนี้ก็พูดในฐานะคนจนที่ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใดและเป็นคนที่ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องจ่ายไปตามร้านค้าจะต้องถูกเอามาแบ่งปันอย่างเป็นธรรม

นอกจากส.ว.แล้วก็ไม่รู้ว่าจะมีศาลรัฐธรรมนูญไว้ทำไมสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ก็เป้นเรื่องที่รู้อยู่แล้วว่าจะเกิด แต่ประชาชนก็มีความหวังเพราะต้องอึดอัดกับ 9 ปีที่ผ่านมา

“วุฒิสมาชิกไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมีความชอบธรรมอะไรมาโหวตนายกฯ รัฐธรรมนูญมั้ย มีการทำประชามติแต่ใครพูดเรื่องประชามติก็จับติดคุก หลังลงประชามติสถาบันกษัตริย์ก็ไปแก้ไม่มีการรับรองอีกเลย มันเป็นรัฐธรรมนูญของใคร”

ศรีไพรกล่าวต่อว่าการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวไม่ได้ทำให้เรื่องปากท้องของคนยากจนจบลงได้ แต่อำนาจของประชาชนอยู่ในมือของใครก็ไม่รู้ ทำให้วันนี้ต้องกลับมาพูดถึงข้อเรียกร้องของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เพื่อชีวิตของผู้ใช้แรงงานและคนยากจน ลูกจ้างต่างๆ ได้มีอนาคต พวกเราจะต้องออกมาร่วมกันเพื่อเดินไปสู่การปฏิวัติของประชาชน

ถูกทำลายก็ยิ่งจะเกิดใหม่ 

อานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ขึ้นกล่าวต่อว่าการต่อสู้ที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่องยาวนานไม่ได้ขาดตอนแม้ว่าจะถูกค่อนขอดว่าที่ลงมาต่อสู้บนถนนแล้วไม่เคยชนะ ที่ในอดีตประชาชนหลักแสนก็สามารถขับไล่เผด็จการถนอม-ประพาสออกนอกประเทศได้คือชัยชนะ และในปี 2535 ประชาชนก็สามารถขับไล่เผด็จการพล.อ.สุจินดา คราประยูรได้ก็เป็นชัยชนะ

“ไม่ชนะก็มีแต่ชนะทางการเมือง ปี 2553 ประชาชนคนเสื้อแดงชุมนุมเรือนหมื่นเรือนแสนคนตาสว่างทั้งแผ่นดิน ปี 63 คนรุ่นใหม่ชุมนุมกันที่นี่เรือนหมื่นเรือนแสนเปลี่ยนประเทศแบบไม่สามารถย้อนกลับได้ เปลี่ยนประเทศจากหน้ามือเป็นหลังมือคือการชุมนุมที่นี่ถนนราชดำเนินเป็นจุดตั้งต้น วันนี้จะถือเป็นวันแรกของการต่อสู้ยกใหม่ ยกสุดท้ายที่จะทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ ”

อานนท์กล่าวว่าฝ่ายที่กำลังจะสูญพันธุ์ก็จะสู้อย่างดิ้นรนด้วยทุกวิถีทาง ทำให้ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจจากพรรคการเมืองหน้าใหม่ของคนหนุ่มสาวที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างพรรคอนาคตใหม่ถูกเล่นงานไปก่อนด้วยศาลรัฐธรรมนูญองค์กรเดียวกับที่สั่งพิธาหยุดทำหน้าที่ ส.ส.

“เขาเหยียบย่ำเรา เขาเหยียบเราให้จมดิน เขาไม่รู้ว่าเราไม่ได้เป็นแค่เม็ดดินเม็ดทราย เราคือเมล็ดพืชยิ่งเหยียบยิ่งงอกงาม”

จาก 80 กว่าเสียงของอนาคตใหม่ เป็นพรรคอันดับรองๆ อันดับที่สามที่สี่ มาวันนี้เป็นพรรคก้าวไกลได้มาอันดับหนึ่ง มี ส.ส. ส่วนหนึ่งก็เคยมาชุมนุมปี 63 ด้วยอย่างปิยัรฐ จงเทพ หรือโตโต้ หัวหน้าการ์ดวีโว หรือชลธิชา แจ้งเร็ว ที่เป็นคนคอยแจ้งจัดชุมนุม รวมถึงทนายความที่คอยช่วยเหลือผู้ชุมนุมอย่าง ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์หรือ วีรนันท์ ฮวดศรี ต่างก็ได้เป็น ส.ส.ของพรรคก้าวไกลด้วยเช่นกัน จึงเป้นสัญญาณว่าคนรุ่นใหม่เติบโตขึ้นมา โหวตเตอร์ที่ในวันนี้มีอยู่ 14 ล้านเสียงอีก 4 ปีข้างหน้าก็จะได้ถึง 20 ล้านเสียงอย่างแน่นอน

“มึงทำลายพิธาได้ อีก 4 ปีมึงเจอโรม ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่า “โรม” กรุงโรมไม่ได้สร้างภายในวันเดียว”

อานนท์กล่าวว่าอีกฝ่ายอำนาจเก่ากลัวเรื่องเหล่านี้และสิ่งที่เกิดกับพิธาวันนี้เป็นเพียงน้ำจิ้มเพราะจะมีการตัดสิทธิ์ในอนาคตแน่นอนและถ้าไม่ออกมาต่อสู้พรรคก้าวไกลก็จะถูกยุบพรรค 100% เพราะในช่วงหนึ่งเดือนมานี้และในการโหวตเลือกนายกฯ ครั้งแรกเมื่อ 13 ก.ค.พวกเขาเห็นแล้วว่าประชาชนนิ่งเฉยแม้ว่า ส.ว.จะไม่โหวตให้ แล้ว กกต.ก็ยังส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญทั้งเรื่องหุ้นไอทีวีของพิธาและเรื่องล้มล้างการปกครองจากนโยบายแก้ไขมาตรา 112

“ถ้าการปกครองมันล้มได้เพราะแก้ 112 มันล้มไปนานแล้ว”

ทั้งนี้อานนท์อธิบายว่าเรื่องแก้ 112 ไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริงเพราะว่าหากมีการเสนอเข้าไปในสภาแล้วก็ยังมี ส.ส.ไม่เห็นด้วยอีกจำนวนมาก แต่ที่เขากลัวคือคนรุ่นใหม่เหล่านี้เข้าไปในสภาแล้วผ่านกฎหมายที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองหลายอย่างต่างหาก เช่น โครงสร้างของกระทรวงกลาโหมให้กองทัพอยู่ภายใต้พลเรือน หรือเข้าไปอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการแล้วจะเอาประวัติศาสตร์ที่แท้จริงเรื่องใครฆ่าในหลวงรัชกาลที่ 8 เข้าไปสอนในโรงเรียนประถมมัธยมและกลัวจะบอกว่าใครสั่งฆ่าคนเสื้อแดง แต่สิ่งที่พวกเขากลัวจะเกิดขึ้นภายใน 4 ปีนี้แน่นอน

อานนท์ยังได้กล่าวถึงกรณีที่ธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษออกมาแฉว่าเหตุผลที่พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร ทำรัฐประหาร 2557 เพราะกลัวจะต้องติดคุกเพราะสั่งฆ่าคนเสื้อแดง ความหวังเดียวที่จะหยุดการสืบทอดอำนาจของเผด็จการได้ในตอนนี้คือพรรคเพื่อไทย

“เพื่อไทยต้องตั้งหลักให้มั่นไม่ทรยศประชาชนอย่างเด็ดขาด ถ้าจะไปจับมือกับประชาธิปัตย์ให้นึกหน้าอภิสิทธิ์ไว้มันทำอะไรคนเสื้อแดง ถ้าจะไปจับมือกับพรรคภูมิใจไทยนึกถึงไอ้เนวินเข้าไว้ ถ้าจะจับมือกับประวิตร ประยุทธ์ นึกถึงหน้าคนที่ตายไปทั้งหมดตั้งแต่คนเสื้อแดงจนถึงผู้ลี้ภัยทางการเมือง” อานนท์กล่าวถึงผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ต้องเสียชีวิตระหว่างลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้าน

อานนท์กล่าวว่าการชุมนุมหลังจากนี้จะนัดกันให้มากกว่านี้เพื่อให้คนที่อยู่ต่างจังหวัดเข้ามาพักค้างแรมเพื่อเข้าร่วมชุมนุมได้ และขอให้คนที่มาร่วมเตรียมตัวเพื่อเดินไปทำเนียบรัฐบาลด้วย เพราะความอดทนของคนมีจำกัดและการที่มาชุมนุมวันนี้ได้ก็เพราะความอดทนของคนได้หมดลงแล้ว นอกจากนั้นวันนี้ก็ยังเกิดการชุมนุมในจังหวัดอื่นๆ ด้วย และหลังจากนี้ก็จะมีการชุมนุมของนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ

อานนท์ยังขอให้ประชาชนได้ร่วมกันชักชวนคนรอบข้างออกมาร่วมชุมนุมเพิ่มขึ้นเมื่อวันหนึ่งถ้าคนออกมาเป็นแสนเมื่อไหร่เผด็จการก็อยู่ไม่ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net