Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการนิสิตคณะนิเทศฯ จุฬาฯ โพสต์ จม.เปิดผนึกถึง 4 ส.ว.ที่ศึกษาหรือประกอบวิชาชีพด้านนิเทศฯ โหวตหนุนนายกฯ ที่รวมเสียงข้างมากในสภาฯ หรือช่วยลาออกจากการเป็น ส.ว. หวังดำรงเกียรติภูมิของวิชานิเทศศาสตร์

 

18 ก.ค. 2566 เพจเฟซบุ๊ก คณะกรรมการนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ (กนท.) โพสต์จดหมายเปิดผนึกถึง ส.ว.ที่ศึกษาด้านนิเทศศาสตร์หรือประกอบวิชาชีพด้านนิเทศศาสตร์ ขอพิจารณาให้โหวตลงมติสนับสนุนพรรคการเมืองที่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรได้มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในวันพรุ่งนี้ (19 ก.ค.) หรือลาออกจากการเป็น ส.ว. เพื่อลดเสียงกึ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องรับจากวุฒิสภาชิกได้

 

รายละเอียดจดหมายเปิดผนึก 

จดหมายเปิดผนึกถึงสมาชิกวุฒิสภาที่ศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ หรือประกอบวิชาชีพด้านนิเทศศาสตร์

เรื่อง ขอพิจารณาลงมติเห็นชอบนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองที่รวมเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้อันดับหนึ่งหรือลาออกจากตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา

เรียน คุณคำนูณ สิทธิสมาน คุณชาตอุดม ติตถะสิริ คุณนิพนธ์ นาคสมภพ และคุณสุรสิทธิ์ ตรีทอง (สมาชิกวุฒิสภา)

สืบเนื่องจากการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีของสมาชิกรัฐสภาเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมวลชน เนื่องจาก คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล ในฐานะพรรคการเมืองที่รวมเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้เป็นอันดับหนึ่งไม่ได้รับการเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาตามเงื่อนไขที่กำหนดให้ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกัน ประชาชนต่างรู้ดีว่าสมาชิกวุฒิสภา คือตัวแปรที่สามารถสนองฉันทามติของประชาชนได้ผ่านการเห็นชอบ คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่น่าเสียดายที่มีสมาชิกวุฒิสภาเพียง 13 ท่านที่ลงมติตามฉันทามติมวลชน และสมาชิกวุฒิสภาอีก 1 ท่านที่ลาออกจากตำแหน่ง

คณะกรรมการนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภาทั้ง 4 ท่าน ได้แก่ คุณคำนูณ สิทธิสมาน คุณชาตอุดม ติตถะสิริ คุณนิพนธ์ นาคสมภพ และคุณสุรสิทธิ์ ตรีทอง ในฐานะสมาชิกวุฒิสภาที่ศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ หรือประกอบวิชาชีพด้านนิเทศศาสตร์ ลงมติให้ คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 เนื่องจากเป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่านิเทศศาสตร์คือวิชาสื่อสารไปยังมวลชน ตามคำจำกัดความของ พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ที่เคยมอบไว้เมื่อครั้งก่อตั้งคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดังนั้น สมาชิกวุฒิสภาทั้ง 4 ท่านจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องน้อบรับฉันทามติของมวลชนด้วยการลงมติให้ผู้ถูกเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีที่มาจากเสียงของมวลชนได้ดำรงตำแหน่งที่สมควร หรือมากไปกว่านั้น หากสมาชิกวุฒิสภาสามารถลาออกจากตำแหน่งเช่นเดียวกัน คุณเรณู ตังคจิวางกูร อดีตสมาชิกวุฒิสภา เพื่อลดจำนวนเสียงกึ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องรับจากวุฒิสภาชิกได้ จะถือว่าเป็นการสนองฉันทามติของมวลชนอย่างแท้จริง เพื่อเป็นตัวแทนของผู้ศึกษาด้านนิเทศศาสตร์หรือผู้ประกอบวิชาชีพด้านนิเทศศาสตร์ทั่วประเทศได้แสดงให้สังมเห็นว่า นิเทศศาสตร์ยังคงเป็นศาสตร์ที่ใช้องค์ความรู้รับใช้สังคม นำพาประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ แต่หากท่านสมาชิกวุฒิสภาทั้ง 4 ท่าน ยังคงฝ่าฝืนฉันทามติของมวลชน คณะกรรมการนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะถือว่าการกระทำของท่านสมาชิกวุฒิสภาจักเป็นที่น่าอับอายสำหรับบุคลากรด้านนิเทศศาสตร์

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาให้เคารพฉันทามติของมวลชน เพื่อคงไว้ซึ่งเกียรติภูมิของนิเทศศาสตร์ 

คณะกรรมการนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net