Skip to main content
sharethis

นักวิจัยจาก Furniture@Work สร้างแบบจำลอง 3 มิติที่น่าตกใจ แสดงให้เห็นว่าคนทำงานทางไกลในอนาคตจะมีรูปร่างอย่างไรในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด จากการใช้แล็ปท็อปและสมาร์ทโฟนอย่างต่อเนื่องในลักษณะท่าทางที่ไม่ถูกต้อง และการบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพเป็นประจำ


ที่มาภาพ: Furniture@Work

ไม่มีอะไรดีไปกว่าการทำงานที่บ้านใช่ไหม แต่การศึกษาใหม่ที่พยายามศึกษาการทำงานในอนาคต มันอาจทำให้คุณอยากวิ่งกลับไปที่สำนักงานของคุณด้วยความเร็วอย่างเหลือเชื่อ จากความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญและการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของการทำงานทางไกล (remote work ) ต่อสุขภาพ นักวิจัยจาก Furniture@Work ได้สร้างแบบจำลอง 3 มิติที่น่าตกใจ แสดงให้เห็นว่ารูปร่างของคนที่ทำงานทางไกลในอนาคตจะมีลักษณะอย่างไรในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด

ตั้งแต่ท่าทางที่ดูไม่ดี ไปจนถึงมือที่เหมือนกรงเล็บ ดวงตาที่ปูดบวม นี่คือการคาดการณ์ในอนาคต — เชิญพบกับ “แอนนา”:


การสร้างภาพจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ คาดการณ์ว่าคนทำงานทางไกลจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไรในอนาคต ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด | ที่มาภาพ: Furniture@Work

คณะนักวิจัยชาวสก็อต ตั้งข้อสังเกตว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ในสิ่งที่ผู้คนมองว่าเป็นวันทำงาน “ปกติ” แม้ว่าการแพร่ระบาดจะสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ แต่คนทำงานยังคงใช้ห้องนอนและโต๊ะในครัวเป็นสถานที่ทำงาน ขณะที่หลายบริษัทพยายามบังคับให้พนักงานกลับไปยังออฟฟิศ แต่ก็ยังมีบริษัทอีกจำนวนมากเช่นกันที่ยอมรับตารางการทำงานแบบผสมผสาน ทั้งในออฟฟิศและการทำงานทางไกล เป็นเรื่อง "ปกติใหม่"

แม้ว่าคนทำงานทางไกลอาจจะรักอิสระที่เพิ่งค้นพบในตอนนี้ แต่ “แอนนา” เป็นตัวแทนของปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่าอาจเกิดขึ้นจากตารางการทำงานจากที่บ้านในระยะยาว ทีมวิจัยชี้ว่าการใช้แล็ปท็อปและสมาร์ทโฟนอย่างต่อเนื่องในลักษณะท่าทางที่ไม่ถูกต้อง และการบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพเป็นประจำ อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่น่าตกใจสำหรับมนุษย์ในอนาคต

นักวิจัยของ Furniture@Work ได้ขอให้ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพตรวจสอบลักษณะนิสัยที่ไม่ถูกต้องของคนทำงานทางไกลแต่ละอย่าง และผลที่จะตามมา

ท่าทางบนโซฟาที่ไม่ถูกต้อง อาจทำให้คุณหลังค่อมได้

มีการศึกษาก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่าการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้มีท่าทางที่ไม่ถูกต้องได้ เนื่องจากผู้คนทำงานจากที่บ้านมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นหมายความว่าผู้คนจำนวนมากนั่งอยู่บนโซฟาหรือเตียงในลักษณะโน้มตัวอยู่หน้าแล็ปท็อปเป็นเวลานานหลายชั่วโมง การทำงานแบบนั้นเป็นเวลาหลายปีอาจทำให้กระดูกสันหลังเสียสมดุล ทำให้ดูเหมือนหลังค่อม


การสร้างภาพจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ คาดการณ์ว่าคนทำงานทางไกลจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไรในอนาคต | ที่มาภาพ: Furniture@Work

“การขาดการเคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอ และความไร้ประสิทธิภาพตามหลักสรีรศาสตร์ อาจนำไปสู่ความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อและกระดูก (MSD) ความเจ็บปวดเรื้อรังสามารถเกิดขึ้นได้เนื่องจากการนั่งเป็นเวลานานในท่าทางที่ไม่เหมาะสม (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม่มีใครเฝ้าดู)” ดร.แอล.เอส. หวัง (LS Wang) ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ที่ะมีประสบการณ์ทางคลินิกมากกว่า 18 ปี กล่าวในแถลงการณ์งานวิจัยชิ้นนี้

“การยศาสตร์ (Ergonomics) ที่ไม่ดี หรือลักษณะที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ รวมถึงอาการปวดคอและหลัง และกลุ่มอาการโรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ” ดร.โซนี เชอร์ปา (Sony Sherpa) ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท Nature’s Rise กล่าวเสริม

เพื่อหลีกเลี่ยงอาการปวดหลังและคอ แพทย์แนะนำให้หยุดพักและยืดกล้ามเนื้อเป็นประจำ เฟอร์นิเจอร์ที่เหมาะกับสรีระที่รองรับท่าทางอาจบรรเทาอาการเหล่านี้ได้เช่นกัน

มือที่เหมือนกรงเล็บ


ที่มาภาพ: Furniture@Work

เช่นเดียวกับการศึกษาก่อนหน้านี้ที่ได้ตรวจสอบความผิดปกติทางร่างกายที่อาจเกิดขึ้นของผู้ใช้เทคโนโลยีในอนาคต การศึกษาใหม่นี้ยังพบว่า "มือ" ของแอนนาอาจกลายเป็น "กรงเล็บ" ได้ จากการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลมากเกินไป

“Text Claw” ไม่ใช่คำศัพท์ทางการแพทย์ เป็นการอธิบายเมื่อนิ้วเป็นตะคริวจากการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ในกรณีของคนทำงานทางไกล นั่นหมายถึงการใช้สมาร์ทโฟน ด้วยท่างอมือในท่าที่ผิดธรรมชาติ


ที่มาภาพ: Furniture@Work

“พยายามละสายตาจากหน้าจอทุกๆ 20 นาที เป็นเวลา 20 วินาที และจดจ่อกับสิ่งที่อยู่ห่างออกไป 20 ฟุต นี่เป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการหลีกเลี่ยงอาการปวดตาขณะทำงานจากที่บ้าน” ซาราห์ กิบสัน (Sarah Gibson) ผู้อำนวยการของ Proactive Healthcare กล่าว

การนั่งทั้งวันอาจทำให้น้ำหนักขึ้นและสุขภาพแย่ลงได้

โดยทั่วไปแล้วการทำงานทางไกลหมายความว่าการเดินทางไปออฟฟิศที่น่าหงุดหงิดในแต่ละวันจะหายไป แม้ว่านั่นอาจฟังดูดี แต่ก็หมายความว่าการเดินทางเพียงอย่างเดียวที่บางคนทำคือระหว่างเตียงกับตู้เย็น!

“โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปทำงาน หลายคนพบว่าพวกเขานั่งนิ่งมากขึ้น ส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นและมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะสุขภาพเรื้อรัง เช่น เบาหวานและโรคหัวใจ” ดร.เจบี เคอร์บี (JB Kirby) พยาบาลวิชาชีพที่มีประสบการณ์ 38 ปี กล่าว 


ที่มาภาพ: Furniture@Work

“คุณมีแนวโน้มที่จะใช้ชีวิตแบบนั่งนิ่งเมื่อทำงานจากที่บ้าน การไม่ออกกำลังกายเลยอาจทำให้คุณมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน และโรคอ้วน” ดร.เชอร์ปา กล่าวเสริม

นอกจากความเจ็บป่วยทางกายเหล่านี้แล้ว นักวิจัยยังได้ตั้งข้อสังเกตถึงปัญหาสุขภาพจิตจากการทำงานทางไกล

“หากไม่มีสมดุลชีวิตและการทำงาน ไม่มีเวลาทำงานที่แน่นอนในแต่ละวัน ความวิตกกังวลที่ไม่รู้ว่าเมื่อใดควร 'ปิด' อาจกลายเป็นเรื่องที่ครอบงำความรู้สึกเราได้ เราเริ่มรู้สึกว่าเราไม่เคยห่างจากงานเลยจริงๆ ซึ่งอาจนำไปสู่ความเหนื่อยหน่ายได้” โจนี โอเกิล (Joni Ogle) CEO ของ The Heights Treatment กล่าว

“ความเสี่ยงต่อสุขภาพในระยะยาวจากการทำงานที่บ้านรวมถึงความกังวลด้านสุขภาพจิต เช่น ความเครียด ความเหงา และความเหนื่อยหน่าย เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเหล่านี้ ผู้ที่ปฏิบัติงานทางไกลควรให้ความสำคัญกับการติดต่อทางสังคมและการดูแลตนเอง สร้างขอบเขตที่ชัดเจนระหว่างงานและเวลาส่วนตัว” ไบรอัน คลาก (Brian Clark) ผู้ก่อตั้ง United Medical Education กล่าวสรุป


ที่มา:
Future shock: Are remote workers doomed to have claw-like hands, hunched backs? (Chris Melore, StudyFinds, 16 June 2023)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net