Skip to main content
sharethis

'IN BETWEEN อยู่ไม่ได้ ไปไม่ถึง' นิทรรศการภาพวาดจากศิลปินชาวเมียนมา สะท้อนความรู้สึกที่ต้องลี้ภัยจากบ้านเกิด

8 ก.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ เวลา 15.11 น. ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร หรือ BACC ชั้น 5 ติดตามงานเปิดตัวนิทรรศการศิลปะภาพวาดภายใต้หัวข้อ "In Between: ชีวิตติดกับ" สะท้อนชีวิต และความรู้สึกของผู้พลัดถิ่นภายในและผู้ลี้ภัยเมียนมา หลังการทำรัฐประหาร เมื่อ 1 ก.พ. 2564 โดย พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพเมียนมา 

งานนิทรรศการ แนวคิด "In Between" จัดโดยมูลนิธิเสมสิกขาลัย (SEM) สะท้อนชีวิตของผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา ที่ไม่สามารถไปต่อได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่สามารถกลับบ้านเกิดได้เนื่องจากสภาวะสงครามกลางเมืองในเมียนมา และไม่ได้เกิดขึ้นแค่ปัจจุบัน แต่ประวัติศาสตร์การเมืองเมียนมา เป็นแบบนี้มาตั้งแต่ในอดีต นับตั้งแต่นายพลเนวิน ทำรัฐประหารยึดอำนาจครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505)

โดยภายในงาน มีงานศิลปะจากศิลปินชาวเมียนมาจัดแสดงบนชั้น 5 ของ BACC และงานศิลปะบางส่วนมาขาย ซึ่งผู้จัดงานจากเสมสิกขาลัย เปิดเผยว่า รายได้หักจากยอดขายราว 50-60 เปอร์เซ็นต์ จะนำไปช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นภายในเมียนมา (Internal Displaced Persons - IDPs)

นอกจากนิทรรศการศิลปะแล้ว ภายในงานมีการจัดแสดงวิดีโอ 'Installation' ที่สัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา ถึงความรู้สึกที่ต้องจากบ้านเกิด และข้อเสนอการจัดการผู้ลี้ภัยถึงรัฐบาลใหม่ของประเทศไทย 

มีการจัดแสดงข้อมูลไทม์ไลน์ของผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาที่เข้ามาในไทย นับตั้งแต่หลังการทำรัฐประหาร 1 ก.พ. 2564 กองทัพเมียนมาใช้กองทัพอากาศโจมตีแบบไม่เลือกเป้าหมาย ในเขตกองพล 5 ของกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNLA ตรงข้าม บ้านแม่สามแลบ ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน และทำให้มีผู้ลี้ภัยจำนวนมากเข้ามาในแม่ฮ่องสอน แต่อยู่ได้ไม่นานก็ถูกผลักดันกลับในระยะเวลาอันสั้น เหตุการ์การโจมตีที่เมืองเลเกก่อ รัฐกะเหรี่ยง ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อปลายปี 2564 ถึงต้นปี 2565 และครั้งล่าสุด เมื่อ 24 มิ.ย. 2566 กองทัพเมียนมาโจมตีในรัฐกะเรนนี 

กำหนดการเปิดนิทรรศการวันนี้เริ่มต้นเวลา 15.36 น. การแสดงดนตรีจาก อัญชลี อิสมันยี นักดนตรีวงคีตาญชลี โดยหนึ่งในเพลงที่เธอเล่น ชื่อว่า "รามัญคดี" ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากชีวิตแรงงานชาวมอญในประเทศไทยที่ไม่มีที่ไหนปลอดภัยสำหรับพวกเขา

ที่มาของงานศิลปะในนิทรรศการ

'แจ๊ค' ชาวอังกฤษ และหนึ่งผู้อาสาเข้ามาช่วยศิลปินในนิทรรศการศิลปะครั้งนี้ กล่าวถึงผู้รังสรรค์ผลงานศิลปะที่นำมาจัดแสดงครั้งนี้ว่า ศิลปินเมียนมาเหล่านี้พวกเขามาจากกลุ่มที่ชื่อ ‘Federal Arts Space’ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นมาหลังรัฐประหารเมียนมาปี 2564 พวกเขาเริ่มสร้างสรรค์ผลงานศิลปะขาย เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมือง ผู้ที่ต้องสูญเสียบ้าน ที่อยู่อาศัย และผู้ที่ต้องตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทุกรูปแบบ ผลงานนิทรรศการนี้จึงมาจากศิลปินที่ต้องการแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับผู้ที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ 

 

'แจ๊ค' ชาวอังกฤษ และหนึ่งในอาสาสมัครร่วมจัดนิทรรศการ

ต่อมา แจ๊คได้นำจดหมายจากศิลปินชาวเมียนมาบางรายมาอ่านให้ผู้ที่เข้าร่วมพิธีเปิดนิทรรศการครั้งนี้ด้วย

"ผ่านมา 2 ปีแล้วหลังการทำรัฐประหารเมียนมา แม้แต่ก่อนการทำรัฐประหารก็มีประชาชนหลายคนที่ต้องลี้ภัย เพราะสงครามกลางเมือง และความขัดแย้ง แต่ตอนนี้เต็มไปด้วยความขัดแย้ง เพราะว่ากองทัพพม่าทำการกดปราบผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่นภายใน และพลเรือนอย่างหนักหน่วงกองทัพพม่าไม่เคยหยุดก่อความรุนแรง และเข่นฆ่าประชาชน ผู้พลัดถิ่นภายในต้องการความช่วยเหลืออย่างมากทั้งผู้ที่อยู่ในค่ายฯ และทั่วประเทศ ผมอยากเรียกร้องให้ทุกคนให้ความช่วยเหลือผู้ที่ต้องสูญเสียวิถีชีวิตและอนาคตของพวกเขา ผมไม่สามารถอธิบายออกมาผ่านปลายดินสอกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมาได้เลย แต่ผมอยากขอบคุณทุกคนที่ทำให้เกิดนิทรรศการศิลปะนี้ และคนที่แสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพวกเรา" บางส่วนของจดหมายที่แจ๊ค ได้นำมาเปิดอ่านให้ผู้เข้าร่วมพิธีเปิดนิทรรศการ 

ท้ายสุด แจ๊ค ได้กล่าวถึงที่มาที่ไปของคอนเซ็ปต์ของงานนิทรรศการ "In Between" ว่า เพื่อเป็นการแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับผู้ที่ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายใน ซึ่งไม่ได้เป็นการแค่พลัดถิ่นในเชิงกายภาพเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายรวมถึงผู้คนที่ต้องพลัดพลากจากสังคม การพลัดพรากทางด้านจิตใจ และวิถีชีวิตของพวกเขา นิทรรศการ "In Between" พยายามเกาะกุมห้วงเวลาเหล่านั้นไว้ ผลจากสงครามและรัฐประหารทำให้ผู้คนต้องพลัดถิ่นในหลากหลายรูปแบบ และนี่คือสิ่งที่นิทรรศการต้องการสื่อ 

เปลี่ยนการผลักดันกลับ เป็นคำถามบนพื้นฐานความเป็นมนุษย์ 

ปรีดา คงแป้น กรรมการเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. ได้มาแชร์ประสบการณ์การลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาภายในศูนย์พักพิงชั่วคราวจังหวัดหนึ่ง ซึ่งตั้งมากว่า 40 ปี ผู้ลี้ภัยในค่ายฯ ได้เงินดูแลเพียง 11 บาทต่อวัน และการตรวจสอบประเด็นการผลักดันเด็กและเยาวชน อายุ 7-16 ปี ที่ไม่มีทะเบียนราษฎร จำนวน 126 ราย ที่เรียนในโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 จ.อ่างทอง กลับภูมิลำเนา และประเทศต้นทางเมียนมา ทำให้เด็กอาจถูกพรากการศึกษา และบางคนต้องกลับไปเผชิญอันตรายที่ประเทศต้นทาง

ปรีดา คงแป้น

เธอเรียกร้องให้ประชาชนร่วมตั้งคำถามกับผู้ลี้ภัย หรือผู้หนีภัยสงคราม ในมุมมองของความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความหิว ร้อนไหม หนาวไหม หรือเขาหวาดกลัวไหม เพราะคนเหล่านี้เขาหนีภัยสงครามเข้ามา 

เธอกล่าวต่อว่า ที่มาของคำถามเหล่านี้ เธอได้แรงบันดาลใจสมัยทำงานวิจัยเรื่องสิทธิคนไร้รัฐ และมีงานชื่อว่า 'บันทึกชีวิตเปลือยเปล่า ไทยพลัดถิ่น' เขียนโดย ฐิรวุฒิ เสนาคำ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ โดยตัวหนังสือบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของคนไร้สัญชาติ เปรียบเสมือนชีวิตที่เปลือยเปล่า เมื่อร้อนก็จะร้อนมากกว่า เมื่อหนาวก็จะหนาวมากกว่าคนอื่นๆ ซึ่งปรีดา มองว่า ไม่ใช่แค่คนไร้รัฐ แต่ผู้ที่ต้องหนีภัยจากประเทศบ้านเกิดก็เช่นกัน 

“เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน ทุกครั้งที่ดิฉันลงในพื้นที่ก็เข้าใจได้ว่าด้านหนึ่งเป็นความทุกข์ทรมานของคนที่ไร้ความหวัง อยากบอกว่าไม่ว่าจะคนที่อยู่ในค่ายพักพิงหรือหนีภัยมานั้น ถ้าร้อนเขาก็ร้อนกว่าเรา ถ้าหนาวเขาก็หนาวกว่าเรา ให้เราช่วยๆ กัน” สมาชิก กสม. ระบุ และทิ้งท้ายว่าในฐานะกรรมการสิทธิฯ จะพยายามอย่างยิ่งยวดในการผลักดันให้รัฐไทยลงนามอนุสัญญาปี ค.ศ. 1951 ว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย 

สถานการณ์ผู้หนีภัยโดยคร่าว

วิชัย จันทวาโร สมาชิกมูลนิธิเสมสิกขาลัย กล่าวว่า หลังการทำรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. 2564 มีคนที่จะต้องจากบ้าน มีคนต้องหนีทิ้งบ้านตัวเอง จำนวน 1,800,000 คน ของประชากรในประเทศที่จะต้องตกระกำหลบหนีมาอยู่ในป่า หรือตามแนวชายแดน ไม่ว่าจะเป็นชายแดนไทย อินเดีย บังคลาเทศ หรืออื่นๆ 

วิชัย จันทราโร

วิชัย ระบุต่อว่า มีผู้ลี้ภัยจำนวนหนึ่งเข้ามาในพื้นที่ประเทศไทยและอินเดียโดยเฉพาะในรัฐอัสสัม แต่คนที่อาศัยในประเทศไทยไม่มีสิทธิใช้คำว่า 'ผู้ลี้ภัย' เพราะประเทศไทยไม่ยอมรับคำนี้ ซึ่งส่งผลให้พวกเขากลายเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย ต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ อยู่อย่างหวาดกลัว และผิดกฎหมาย 

สมาชิกเสมสิกขาลัย กล่าวต่อว่า ผู้ลี้ภัยอีกส่วนหนึ่งรัฐไทยไม่เคยใช้คำว่า "ผู้ลี้ภัยเช่นกัน" ใช้คำว่า ผู้หนีภัยการสู้รบ ซึ่งอยู่ในค่ายพักพิงชั่วคราวมานานถึง 43 ปี ความชั่วคราวที่อยู่มาถึง 43 ปี มีค่าใช้จ่ายให้เขาเพียง 11 บาท ไม่เป็นภาษีของรัฐบาลไทย และเงินส่วนนี้มาจากข้าหลวงใหญ่แห่งผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (UNHCR) ประเทศไทยไม่ได้ใช้ภาษีในการไปดูแลพวกเขา 

"เพราะฉะนั้นเลิกพูดได้แล้วว่า เราจะเอาเงินภาษีไปดูแลพวกเขาทำไม" วิชัย กล่าว 

สมาชิกเสมสิกขาลัย กล่าวต่อว่า ผู้ลี้ภัยเก่าที่อยู่ในค่าย นอกจากจะได้เงินเพียง 11 บาทต่อวันแล้ว เขายังไม่มีสิทธิออกไปทำงานนอกค่ายฯ รัฐไทยห้ามมีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่อนุญาตให้เขาใช้ชีวิต ให้เขาอยู่ในพื้นที่ที่จำกัด แต่ในความเป็นจริง 43 ปีในค่ายฯ มีเด็กเกิดและเติบโตมาแล้ว 2 รุ่น (เจเนอเรชัน) ซึ่งพวกเขาไม่เคยรู้จักบ้านที่เมียนมาเลย รู้จักแค่บ้านในประเทศไทยเท่านั้น เขาเกิดที่นี่ เขารู้ภาษาไทยที่มีการสอนในค่าย  และเราจะคาดหวังให้เขากลับไปประเทศต้นทางได้หรือ หรือให้ผู้ลี้ภัยเก่าที่อยู่ในค่ายกว่า 7-8 หมื่นคนไปประเทศที่สามได้หรือ เป็นไปได้ยาก เพราะฉะนั้น ผมขออนุญาตใช้คำของ ‘ชยันต์ วรรธนะภูติ’ ซึ่งกล่าวถึงข้อเสนอด้านนโยบายการจัดการผู้ลี้ภัยของไทยว่า "ถ้าเราอยากปิดค่าย โอกาสเดียวที่เป็นไปได้คือ เราต้องเปิดค่ายให้เขาออกไป เราถึงจะปิดค่ายได้ 

"ฝากเรื่องราวเหล่านี้ไว้ในกลางใจของพวกเราที่พยายามจะใช้คำนี้ และก็หวังว่าเรื่องราวเหล่านี้จะถูกถ่ายทอดมาสู่พวกเรามากขึ้น ผ่านการชมงานเขียนงานศิลปะ" วิชัย ทิ้งท้าย ก่อนพาผู้เข้าร่วมพิธีเปิดชมงานศิลปะในนิทรรศการ 

ข้อมูลจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือ AAPP เปิดเผยว่า ตั้งแต่ 1 ก.พ. 2564 จนถึงวานนี้ (7 ก.ค. 2566) มีผู้เสียชีวิตโดยกองทัพเมียนมา จำนวนอย่างน้อย 3,757 ราย มีผู้ถูกจับกุม 23,759 ราย และยังถูกควบคุมตัวในเมียนมา จำนวน 19,389 ราย 

ขณะที่ข้อมูลจากข้าหลวงใหญ่แห่งผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (UNHCR) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่มีการทำรัฐประหาร ตัวเลขผู้พลัดถิ่นภายใน 'IDP' ในเมียนมา พุ่งทะยานขึ้นราว 1,865,500 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากตอนช่วงก่อน รัฐประหารราว 1.5 ล้านคน โดยส่วนใหญ่มาจากภูมิภาคสะไกน์ ตอนกลางเมียนมา ราว 7.7 แสนราย รองลงมาเป็นภูมิภาค มะเกว่ ราว 2 แสนราย

นอกจากการพิธีการข้างต้น ภายในงานมี 'หวาน' ชุมพล คำวรรณะ ศิลปินไทยจากชลบุรี ได้มาร่วมพูดถึงความรู้สึกที่เขาได้มาร่วมทำงานกับ "Kyar Pauk" ศิลปินชาวเมียนมา และผลงานของพวกเขาก็ได้มาจัดแสดงในงานนิทรรศการนี้ 

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถชมงานนิทรรศการระหว่าง 4-23 ก.ค. 2566

ก่อนหน้านี้ เสมสิกขาลัย เคยจัดวงเสวนาที่ไทยพีบีเอส เมื่อ 25 มิ.ย. 2566 ว่าด้วยชีวิตของผู้ลี้ภัย และข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการผู้ลี้ภัย ต่อรัฐบาลใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net