Skip to main content
sharethis

ผู้เชี่ยวชาญ UN ส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทยแสดงความกังวลเกี่ยวกับการใช้สปายแวร์ 'เพกาซัส' ของรัฐบาลประยุทธ์ ต่อนักเคลื่อนไหวอย่างน้อย 35 ราย ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวที่มีการคุ้มครองไว้ในสิทธิทางการเมืองในระดับสากล

 

22 มิ.ย. 2566 จดหมายจากผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติระบุถึงความกังวลเกี่ยวกับการใช้สปายแวร์ 'เพกาซัส' จากบริษัทสัญชาติอิสราเอล เอ็นเอสโอ กรุ๊ป เทคโนโลยี สอดแนมบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสิทธิมนุษยชนในไทย

การสืบสวนของยูเอ็นพบว่า มีสปายแวร์หรือไวรัสสอดแนมชนิดดังกล่าวนี้อยู่ในอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกของกลุ่มนักเคลื่อนไหวอย่างน้อย 35 ราย ไม่ว่าจะเป็นนักสิทธิมนุษยชน, นักวิชาการ, ผู้นำทางการเมือง, คนทำงานภาคประชาสังคม และนักกิจกรรมในช่วงที่มีการประท้วงทั่วประเทศเมื่อปี 2563 – 2564

กลางปี 2565 ส.ส. จากพรรคก้าวไกลเคยเปิดเผยในช่วงที่มีการอภิปรายในรัฐสภาว่ามีเครื่องมืออิเล็กโทรนิกของ ส.ส. พรรคก้าวไกล 3 ราย และสมาชิกคณะก้าวหน้าอีก 2 ราย ถูกติดสปายแวร์เพกาซัส ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2563 - ส.ค. 2564 ซึ่งบุคคลที่ติดสปายแวร์เหล่านี้ต่างก็เป็นคนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลประยุทธ์อย่างแข็งขัน และมักจะเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองและสิทธิมนุษยชนในไทย

นอกจากนักการเมืองแล้ว ยังมีกลุ่มนักสิทธิมนุษยชน 35 ราย ที่ถูกสอดแนมจากสปายแวร์เพกาซัส อีกทั้งยังเผชิญกับการคุกคาม หรือการเล่นงานด้วยการฟ้องร้องทางกฎหมาย โดยอ้างเรื่องที่พวกเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการประท้วงทางการเมือง

รายงานของยูเอ็นระบุอีกว่า หลังจากที่มีการเปิดโปงเรื่องเกี่ยวกับที่รัฐบาลประยุทธ์ใช้สปายแวร์เพกาซัสแล้ว กลุ่มผู้นำรัฐบาลก็โต้ตอบกลับเช่นกัน โดยในวันที่ 19 ก.ค. 2565 รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแถลงว่ามีการใช้สปายแวร์จริง เพื่อความมั่นคงของชาติและการปราบปรามยาเสพติด แต่ในวันที่ 21 ก.ค. 2565 ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีปฏิเสธว่าไม่มีสปายแวร์ ขณะที่กระทรวงกลาโหมอ้างว่าไม่มีสปายแวร์เช่นกัน จากนั้นในวันที่ 22 ก.ค. 2565 กระทรวงดิจิทัลฯ ก็กลับคำหันไปพูดทำนองเดียวกันบอกว่าในประเทศไทยไม่มีการใช้สปายแวร์

เดือนกันยายน 2565 กลุ่มภาคประชาสังคมและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสปายแวร์ได้ร้องเรียนเรื่องที่เกิดขึ้นต่อทั้ง คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในเดือน พฤศจิกายน 2565 กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบได้ทำการฟ้องคดีร่วมกันทางแพ่งต่อบริษัท เอ็นเอสโอ กรุุ๊ป ที่ศาลแพ่งรัชดาภิเษก ไม่กี่วันหลังจากนั้นศาลประกาศไม่รับฟ้อง โดยอ้างว่าไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์ "มีผลประโยชน์ร่วมกันในประเด็นของคดี"

ในรายงานของยูเอ็นมีการยกตัวอย่างบุคคลที่ถูกโจมตีด้วยสปายแวร์ เช่น ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้คุ้มครองสิทธิมนุษยชนจากองค์กรไอลอว์ (iLaw) ที่เน้นเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การรวมกลุ่ม และการชุมนุม ในช่วงนั้นยิ่งชีพทำการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมมากขึ้น เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 ยิ่งชีพมีชื่อในบัญชีรายชื่อผู้ที่ต้องจับตามองของหน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง หรือ ตม. ภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

จากการสืบสวนเชิงนิติเวชดิจิทัลพบว่า มือถือของยิ่งชีพติดสปายแวร์เพกาซัสอย่างน้อย 10 ครั้ง ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงเดือนธันวาคม 2564 ทางผู้รายงานพิเศษของยูเอ็นเชื่อว่าน่าจะเป็นการโต้ตอบของทางการไทยต่อการที่ยิ่งชีพทำงานคุ้มครองสิทธิมนุษยชน  

อีกรายหนึ่งที่ถูกเล่นงานโดยสปายแวร์เพกาซัสคือ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักกิจกรรมทางการเมืองและนักสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่เคยเป็นแกนนำในการประท้วงช่วงปี 2563 - 2564 จนทำให้รัฐบาลประยุทธ์ดำเนินคดีกับปนัสยาในหลายข้อหารวมถึงกฎหมาย ม.112 นอกจากนี้มี ตม. ไทยยังระบุชื่อของปนัสยาไว้ในรายชื่อบุคคลที่ต้องจับตามองด้วย จากการสืบสวนนิติเวชดิจิทัลพบว่า โทรศัพท์ของปนัสยา ติดสปายแวร์เพกาซัสอย่างน้อย 4 ครั้ง ในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน - กันยายน 2564

ในรายงานยูเอ็นของระบุว่า พวงทอง ภวัครพันธุ์ รองศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ก็เคยถูกเล่นงานจากสปายแวร์เช่นกัน งานวิจัยของพวงทองเน้นเรื่องเกี่ยวกับกองทัพไทยรวมถึงเรื่องที่กองทัพสั่งให้สอดแนมประชาชนไทยและองค์กรที่ต่อต้านรัฐบาลเผด็จการด้วย ทั้งนี้พวงทองยังเป็นหนึ่งในผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีการปราบปรามกลุ่มเสื้อแดงเมื่อปี 2553 และเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมาย ม.112 จากการสืบสวนของยูเอ็นพบว่าโทรศัพท์ของพวงทองติดสปายแวร์เพกาซัสอย่างน้อย 5 ครั้ง ในช่วงระหว่างเดือน พฤษภาคม ถึงกรกฎาคม 2564

หนึ่งในกรณีของนักการเมืองที่เผชิญกับการโจมตีของสปายแวร์เพกาซัส คือกรณีของเบญจา แสงจันทร์ ส.ส. จากพรรคก้าวไกล ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องตรวจสอบการใช้งบประมาณแผ่นดินของรัฐบาลประยุทธ์ รวมถึงที่เกี่ยวกับราชวงศ์ นอกจากนี้ยังสนับสนุนสิทธิมนุษยชนในด้านต่างๆ อย่างเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมอย่างสันติและต่อต้านการจับกุมคุมขังโดยพลการ การตรวจสอบของยูเอ็นพบว่าโทรศัพท์ของเบญจาติดสปายแวร์เพกาซัสอย่างน้อย 3 ครั้งในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน -กรกฎาคม 2564

รายงานของยูเอ็นระบุว่า จนถึงช่วงที่มีการรายงานเรื่องนี้เสร็จสิ้นแล้ว ทางรัฐบาลไทยก็ยังไม่ได้มีมาตรการใดๆ ในการคุ้มครองคนที่เผชิญกับการสอดแนมอย่างผิดกฎหมาย

ยูเอ็นระบุว่า สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็นรวมถึงสิทธิในการชุมนุมอย่างสันติและการรวมกลุ่มนั้นได้รับการคุ้มตรองโดยกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ในหลายมาตรา และในมาตราที่ 17 ก็ระบุคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวที่ระบุว่า ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามก็ไม่ควรถูกแทรกแซงโดยพลการหรืออย่างผิดกฎหมายต่อความเป็นส่วนตัวของพวกเขา ครอบครัว ที่อยู่อาศัย หรือการติดต่อสื่อสารของพวกเขา ซึ่งรวมถึงโทรศัพท์มือถือด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net