Skip to main content
sharethis

‘ผลิตภาพแรงงาน’ (Labour Productivity) หรือ "มูลค่าของสินค้าและบริการที่ผลิตโดยเฉลี่ยจากการทำงานหนึ่งชั่วโมง" ในหลายรัฐของสหรัฐฯ ลดลงในช่วงปี 2564-2565 แม้แต่รัฐใหญ่ๆ มันมีความหมายอย่างไรต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ?


ที่มาภาพ: U.S. Department of Agriculture (Public domain)

สื่อที่เกาะติดเรื่องท้องถิ่นสหรัฐอเมริกาอย่าง Stateline ภายใต้ The Pew Charitable Trusts รายงานว่า ‘ผลิตภาพแรงงาน’ (Labour Productivity)* ของคนทำงานในสหรัฐอเมริกาลดลงอย่างมาก ซึ่งรวมถึงในรัฐใหญ่ที่มีความสำคัญ ทำให้นักเศรษฐศาสตร์บางคนตื่นตระหนกกับสถานการณ์นี้ ซึ่งอาจหมายถึงเงินหลายล้านล้านดอลลาร์ฯ ในระบบเศรษฐกิจที่ลดลงไปด้วย

‘ผลิตภาพแรงงาน’ (Labour Productivity) หมายถึง อัตราส่วนของผลผลิตกับจำนวนแรงงานในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งในทางทฤษฎีผลิตภาพแรงงานนั้นมีทั้งแบบผลิตภาพเฉลี่ยของแรงงาน (Average Labour Productivity) และผลิตภาพแรงงานหน่วยสุดท้าย (Marginal Labour Productivity) โดยทั่วไป ผลิตภาพแรงงานจะหมายถึงผลิตภาพเฉลี่ยของแรงงานซึ่งในการคำนวณมี 2 แบบ คือ ผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยต่อคน (Labour Productivity per Employed Person) และ ผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยต่อชั่วโมงทำงาน (Labour Productivity per Hour Worked) อย่างไรก็ตาม การคำนวณผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยต่อคนสามารถทำได้ง่ายกว่าเฉลี่ยต่อชั่วโมง แต่ก็มีหลาย ประเทศมีการคำนวณผลิตภาพแรงงานทั้ง 2 แบบ โดยจากการรวบรวมข้อมูลของ ILO พบว่า มี 51 จาก 123 ประเทศที่สามารถจัดทำผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยต่อชั่วโมงทำงาน อาทิ ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย ฮ่องกง และสิงคโปร์ เป็นต้น

ผลิตภาพแรงงาน — มูลค่าของสินค้าและบริการที่ผลิตโดยเฉลี่ยจากการทำงานหนึ่งชั่วโมง — อยู่ระหว่าง $58.80 ในมิสซิสซิปปี ถึง $120.67 ในนิวยอร์กเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา ตามการวิเคราะห์ของ Stateline โดยใช้ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแรงงานของรัฐบาลกลาง (BLS) ที่เผยแพร่ในเดือน พ.ค. 2566

ใน 37 รัฐ ผลิตภาพคนทำงานลดลงจากปี 2564-2565 หลังจากปรับอัตราเงินเฟ้อแล้ว จนถึงปี 2566 นี้ ผลผลิตทั่วสหรัฐฯ ลดลงตลอดไตรมาส 1/2566

ผลผลิตที่ลดลงทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น เศรษฐกิจชะลอตัวและมันได้คุกคามค่าจ้างที่จ่ายให้คนทำงาน ซึ่งส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและการเก็บภาษีของรัฐ

แม้แต่รัฐที่เป็นผู้นำในการผลิตในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผลิตภาพแรงงานก็ยังลดลงระหว่างปี 2564-2565 เช่น แคลิฟอร์เนีย นิวยอร์ก เท็กซัส และวอชิงตัน ตั้งแต่ปี 2550-2562 รัฐเหล่านั้นมีส่วนสนับสนุนการเติบโตของผลิตภาพของสหรัฐฯ เป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่ง

นักเศรษฐศาสตร์บางคนมองว่าตัวเลขผลผลิตของประเทศที่ลดลงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนเป็นสัญญาณเตือนภัย แม้ว่าบางคนมองว่าเป็นผลลัพธ์ที่คาดไว้แล้วจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เมื่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีในแคลิฟอร์เนียและวอชิงตันทะยานขึ้นพร้อมกับอุตสาหกรรมการเงินในนิวยอร์ก มีเพียง 9 รัฐเท่านั้นที่มีผลผลิตลดลงเมื่อเปรียบเทียบปี 2562 กับปี 2565

เกรกรอรี ดาโก (Gregory Daco) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Ernst & Young เรียกการลดลงนี้ว่าเป็น “สัญญาณการถดถอย” ในทวีตเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2566 โดยระบุว่าการลดลงติดต่อกัน 5 ไตรมาสจนถึงต้นปี 2566 นั้นไม่เคยเกิดขึ้นเลยนับตั้งแต่ BLS เก็บสถิติมาตั้งแต่ปี 1948

“ภาคการผลิตยังตกต่ำ” ดาโก เขียนในการบรรยายสรุปสำหรับลูกค้า โดยเหตุผลของปรากฎการณ์นี้คือ ตลาดแรงงานปั่นป่วน ทำให้ธุรกิจสูญเสียพนักงานที่มีทักษะ รวมถึงการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ไม่เท่าเทียมกันของคนทำงาน

นักเศรษฐศาสตร์ ระบุว่ามีหลายปัจจัยที่สามารถเป็นไปได้ การขาดแคลนแรงงาน ทำให้ภาคธุรกิจจำเป็นต้องรับพนักงานใหม่ที่ไม่ได้รับการฝึกฝนเข้ามาทำงานมากขึ้น และการฟื้นตัวของงานบริการหลังการระบาดของโควิด-19 สิ้นสุดลง ได้เพิ่มปริมาณงานที่มีค่าแรงต่ำกลับเข้ามาในตลาดแรงงานอีก

ผู้เชี่ยวชาญยังถกเถียงกันว่าการเพิ่มขึ้นของการทำงานทางไกล (remote work) ทำให้ผลผลิตลดลงหรือไม่ และนักวิจารณ์บางคนแย้งว่าการลดลงของผลิตภาพแรงงาน อาจเป็นเพราะคนทำงานเครียดและเหนื่อยล้าจากการระบาดใหญ่หลายปี


ท่อส่งน้ำมันในรัฐอลาสกา | ที่มาภาพ: Malcolm Manners (CC BY 2.0)

รัฐที่ผลิตพลังงานและรัฐที่เศรษฐกิจขึ้นอยู่กับภาคการท่องเที่ยว ผลิตภาพแรงงานลดลงมากที่สุด: อลาสกา ลดลง 7.1% (อยู่ที่ $99.80) รัฐลุยเซียนาลดลง 6.1% (อยู่ที่ $72.90) รัฐเนวาดาลดลง 5.9% (อยู่ที่ $71.06) ฮาวายลดลง 5.3% (อยู่ที่ $75.39) และรัฐนอร์ทดาโคตาลดลง 5.1% (อยู่ที่ $90.28)

นั่นอาจเป็นอีกหนึ่งสัญญาณของความยากลำบากอีกครั้งในรัฐที่ผลิตพลังงาน ซึ่งเพิ่งผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากจากราคาน้ำมันที่สูงในปี 2565 ส่วนในฮาวายและเนวาดา เนื่องจากการขาดแคลนแรงงาน การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวอาจได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน 

ไอดาโฮเป็นรัฐที่ผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างมากสวนทางกับรัฐส่วนใหญ่ ทั้งนี้เป็นเพราะการไหลเข้ามาอยู่อาศัยของคนทำงานด้านเทคโนโลยีที่ย้ายจากแคลิฟอร์เนียและรัฐวอชิงตัน ไอดาโฮซึ่งเพิ่มขึ้น 4% ทำให้ผลิตภาพแรงงานเพิ่มเป็น $65.51, ทั้งที่ก่อนหน้านี้ในปี 2564 ไอดาโฮมีผลิตภาพแรงงานต่ำที่สุดรองจากมิสซิสซิปปี แต่ในปี 2565 ผลิตภาพแรงงานของรัฐไอดาโอกลับแซงหน้าอาร์คันซอ เมน มอนแทนา และเซาท์แคโรไลนา

McKinsey Global Institute ออกรายงานเมื่อช่วงเดือน ก.พ. 2566 ชี้ว่าสหรัฐฯ สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของตนในทศวรรษหน้าได้ถึง 10 ล้านล้านดอลลาร์ฯ โดยการกลับไปสู่รูปแบบการเติบโตของผลิตภาพแรงงานในระดับสูงเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต


คนทำงานภาคก่อสร้างในรัฐเท็กซัส | ที่มาภาพ: Bill Jacobus (CC BY 2.0)

รายงานซึ่งวิเคราะห์แนวโน้มก่อนเกิดโรคระบาดจนถึงปี 2562 ชี้ว่ารัฐอย่าง แคลิฟอร์เนีย โคโลราโด แมสซาชูเซตส์ นิวยอร์ก นอร์ทดาโคตา เท็กซัส และวอชิงตัน มีประสิทธิผลมากขึ้นและผลิตภาพเพิ่มขึ้นเร็วกว่าค่าเฉลี่ยของสหรัฐฯ ด้วยตัวเลขที่อัปเดตในปี 2565 พบว่ามีเพียงเท็กซัสเพียงรัฐเดียวเท่านั้นที่หลุดจากรายชื่อ

“ตัวเลขของรัฐในปี 2565 ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแนวโน้มโดยพื้นฐาน” รีเบคคา รอบบอย (Rebeca Robboy) โฆษกของ McKinsey กล่าวในแถลงการณ์ “รัฐที่มีการเติบโตสูงบางรัฐจากการวิเคราะห์ของเรา เช่น แคลิฟอร์เนีย ผลิตภาพแรงงานลดลงอย่างรวดเร็วในปี 2565 แต่หากเรามองภาพรวมในระยะยาวนับตั้งแต่ปี 2550 มีการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงเพียงเท็กซัสเท่านั้น ที่ลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย”

ทั้งนี้รายงานของ McKinsey ไม่เห็นว่าการลดลงระหว่างปี 2564-2565 เป็นสัญญาณของภาวะเศรษฐกิจถดถอย และยังไม่สามารถระบุอย่างชัดเจนได้ว่าการทำงานจากระยะไกลเป็นตัวการที่ทำให้ผลิตภาพแรงงานลดลงหรือไม่ 

ดาเนียล ฮาเมอร์เมซ (Daniel Hamermesh) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์กิตติมศักดิ์แห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน กล่าวว่า ตัวเลขผลผลิตของรัฐดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจและการเติบโตอย่างรวดเร็วของรัฐ

“เท็กซัสเป็นผู้นำด้านการเติบโตของจีดีพี แต่นั่นเป็นเพราะขนาดของมัน แต่กลับมีส่วนร่วมต่อหัวน้อยกว่ารัฐใหญ่อื่นๆ: ฟลอริดา แคลิฟอร์เนีย และนิวยอร์ก” ฮาเมอร์เมช กล่าว “ในแง่ของการเติบโตของผลผลิตในระยะยาว มันดูค่อนข้างแย่ ไม่ใช่เรื่องน่ายินดีสำหรับเท็กซัส”


การทำงานทางไกล ถูกมองว่าเป็นตัวการหนึ่งที่ทำให้ผลิตภาพแรงงานในสหรัฐฯ ลดลง | ที่มาภาพ: Oregon Department of Transportation (CC BY 2.0)

ในขณะที่ผู้นำธุรกิจชี้ว่าการทำงานจากระยะไกลอาจเป็นสาเหตุของผลผลิตที่ลดลง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่นักวิจัยบางคนเรียกว่า 'ความหวาดกลัวว่าจะไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ' (productivity paranoia)

'ความหวาดกลัวว่าจะไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ' (productivity paranoia) คือ สถานะที่ผู้คนรู้สึกกังวลหรือกลัวว่าไม่สามารถผลิตผลงานหรือทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือเพียงพอต่อความต้องการหรือความคาดหวังที่กำหนดไว้ เรื่องนี้อาจเกิดขึ้นเมื่อมีความกดดันหรือความเร่งด่วนในการผลิตผลงาน ความกังวลเกี่ยวกับการผลิตผลงานอาจทำให้คนรู้สึกกดดันทางจิตใจและกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของตนเอง ส่งผลให้ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพหรือไม่สามารถตอบสนองต่อความคาดหวังหรือมาตรฐานที่กำหนดไว้ได้

แต่ โจเซ มาเรีย บาร์เรโร (Jose Maria Barrero) นักเศรษฐศาสตร์และผู้ร่วมก่อตั้งโครงการวิจัย WFH ซึ่งวิเคราะห์ปรากฏการณ์การทำงานจากที่บ้านกล่าวว่าเป็นการยากที่จะวัดความแตกต่างระหว่างประสิทธิภาพการทำงานจากระยะไกลและในออฟฟิศแบบปกติ

“ผมสงสัยอย่างมากว่าการทำงานระยะไกลทำให้ผลิตภาพลงได้อย่างไร มีเหตุผลที่เรียบง่ายมากกว่าที่อธิบายได้ว่าผลิตภาพมีความผันผวน", บาร์เรโร กล่าว "สำหรับคนทำงานทั่วไป, การทำงานทางไกลที่ทำที่บ้านมีสัดส่วน 30% และตัวเลขนี้ไม่เปลี่ยนมากในช่วงปีที่ผ่านมา"

"ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทที่จ้างงานพนักงานทักษะสูงเพิ่มขึ้น เนื่องจากสาเหตุที่เกี่ยวกับการระบาดของโรคโควิด-19" Barrero กล่าวว่า "ปี 2563-2564 เป็นปีที่ภาคการเงินมีกำไรสูงมาก รวมทั้งยังมีการเติบโตในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน"


ที่มา:
Workers are less productive in key states. What it means for the economy (Tim Henderson, Stateline, 6 June 2023)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net