Skip to main content
sharethis

ศาลอุทธรณ์เชียงใหม่ลดค่าปรับ คดีเขียนป้าย “ประเทศทวย” ของ พึ่งบุญ ใจเย็น ศิลปินช่างสัก จาก 40,000 เหลือ 6,000 บาท แต่ปัดตกประเด็นไม่รับฟังว่าเป็นงานศิลปะ เข้าผิดข่าย ม.360 ทำให้ป้ายจราจรที่ถูกเขียนเสื่อมค่าลงได้รับความเสียหาย

 

13 มิ.ย. 2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในคดีของ พึ่งบุญ ใจเย็น ศิลปินช่างสัก ที่ถูกฟ้องในข้อหาทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 จากกรณีขีดเขียนข้อความคำว่า “ประเทศทวย” ลงบนแผ่นป้ายจราจรและเสาไฟฟ้า 14 จุด ในเมืองเชียงใหม่

คดีนี้ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้มีคำพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามที่ถูกฟ้องเมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2565 โดยพิพากษาจำคุก 2 ปี ปรับ 60,000 บาท แต่ลดโทษ 1 ใน 3 เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา เหลือโทษจำคุก 1 ปี 4 เดือน ปรับ 40,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี และให้คุมประพฤติ 1 ปี ก่อนฝ่ายจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อมา

พึ่งบุญ ใจเย็น ศิลปินช่างสัก

ภาพจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

เวลาประมาณ 9.30 น. จำเลยพร้อมด้วยทนายความเข้าฟังคำพิพากษาที่ห้องพิจารณา 3 ศาลได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีใจความโดยสรุปอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้นใน 3 ประเด็น และอุทธรณ์ของจำเลยรับฟังได้ใน 1 ประเด็น ดังนี้

ข้อต่อสู้ชั้นอุทธรณ์ของจำเลยเรื่องพยานโจทก์ที่เป็นพยานแวดล้อมนั้น ศาลวินิจฉัยเห็นว่า ศาลสามารถรับฟังพยานหลักฐานทั้งหมดในคดีได้ แม้พยานปากดังกล่าวจะเป็นพยานที่ไม่ได้เห็นเหตุการณ์เอง แต่ได้รับฟังมา หากเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็สามารถรับฟังได้ แต่ก็ต้องใช้การรับฟังอย่างระมัดระวัง อีกทั้งพยานปากดังกล่าวก็ไม่ใช่พยานในประเด็นสำคัญ

ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่าการเขียนป้ายจราจรไม่เป็นความผิดตามมาตรา 360 ประกอบกับข้อกล่าวอ้างเรื่องการขีดเขียนของจำเลยเป็นงานศิลปะไม่มีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลนั้น ศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลย เมื่อได้มีการทำความสะอาดป้ายโดยการใช้น้ำยาลบ ก็จะทำให้ป้ายบริเวณดังกล่าวไม่สามารถสะท้อนแสงได้เนื่องจากสารเคลือบแผ่นป้ายได้หลุดออก ทำให้ป้ายจราจรที่ถูกเขียนเสื่อมค่าลง ได้รับความเสียหาย

ข้อต่อสู้ของจำเลยเรื่อง การกระทำของจำเลยมีกฎหมายเฉพาะบทอื่น เช่น พ.ร.บ.ความสะอาดฯ เป็นต้น บังคับใช้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องดำเนินคดีด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 360 ศาลเห็นว่ากฎหมายทั้ง 2 ฉบับ มีเจตนาเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดเช่นเดียวกัน การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำเดียว ผิดกฎหมายหลายบท ย่อมต้องลงโทษบทหนักที่สุด การที่โจทก์ฟ้องมาเฉพาะประมวลกฎหมายอาญามาตรา 360 ก็สามารถกระทำได้ อุทธรณ์ของจำเลยทั้ง 3 ประเด็นจึงยังฟังไม่ขึ้น

ส่วนข้อต่อสู้ชั้นอุทธรณ์เรื่องค่าปรับที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษาปรับจำนวน 40,000 บาทนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 5 เห็นว่าเป็นโทษปรับที่ยังไม่ได้สัดส่วน อุทธรณ์ส่วนนี้จึงรับฟังได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้ลดค่าปรับเหลือ 9,000 บาท จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดค่าปรับเหลือ 6,000 บาท

อีกทั้งในส่วนของกลางในคดีนั้น ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าไม่มีพยานหลักฐานชี้ว่าปากกาที่ยึดได้เป็นของกลางที่ใช้ในการกระทำความผิด เนื่องจากปากกาที่ใช้ในการกระทำความผิดนั้นอาจถูกใช้ไปจนหมดแล้ว เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานระบุได้ว่าปากกาของกลางเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดอย่างชัดเจน ศาลพิพากษาไม่ให้ริบปากกาเป็นของกลาง และให้คืนปากกาดังกล่าวแก่จำเลย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net