Skip to main content
sharethis

รองผู้ว่าฯ ลำปาง ยืนยันกับผู้สื่อข่าว 'Khaosod English' ว่า กรณีที่มีภาพเอกสารเผยแพร่บนโลกออนไลน์ว่าเขาถูกตั้งกรรมการสอบ เหตุติดตามเพจเฟซบุ๊ก 'Yan Marchal' ชาวต่างชาติผู้ถูกแจ้ง ม.112 เป็นของจริง แต่ไม่ทราบว่าใครปล่อย คาดผู้กล่าวหาเป็นนักการเมืองท้องถิ่นที่เสียผลประโยชน์เรื่องที่ดิน

 

2 มิ.ย. 2566 ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าว "Khaosod English" โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก "Pravit Rojanaphruk" เมื่อ 31 พ.ค. 2566 ระบุว่า จำลักษ์ กันเพ็ชร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ยืนยันว่า ตามที่มีเอกสารเผยแพร่บนโลกออนไลน์ว่าเขาถูกกระทรวงมหาดไทยตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เนื่องจากกดติดตามเพจเฟซบุ๊ก "Yan Marchal" ผู้ถูกห้ามเข้าประเทศ และอาจเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม นั้นเป็นเอกสารจริง

รายละเอียดเอกสาร

คำสั่งกระทรวงมหาดไทย 
ที่ 1007/2566
เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง

ด้วยมีผู้ร้องเรียนกล่าวหานายจำลักษ์ กันเพ็ชร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง มิได้จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยได้แสดงพฤติการณ์ในที่สาธารณะทางเฟซบุ๊กว่า ถูกใจเพจนี้ ถูกใจกับนายยัน มาร์ฉัล ชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นบุคคลที่ภัยต่อประเทศไทย และถูกทางการประเทศไทยห้ามเข้าประเทศไทย เพราะอาจเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม ผระพฤติตัวไม่เหมาะสมกับการเป็นข้าราชการระดับผู้ใหญ่ของจังหวัดลำปาง เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อคนทั่วไป กดไลก์ กดแชร์ให้กลุ่มต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ สนิทกับกลุ่มเฟซบุ๊กหมิ่นเบื้องสูงหรือมิจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

ดังนั้น เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ประกอบข้อ 5 แห่งกฎ ก.พ.ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556 จึงแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงประกอบด้วยบุคคลดังต่อไปนี้ 

  1. นายปรีชา เดชพันธุ์ เป็นประธานกรรมการ
  2. นายเนรมิตร จันทร์ศรีรัตน์ เป็นกรรมการ
  3. นางสาวอนงค์รัตน์ ลือนาม เป็นกรรมการ
  4. นางสาวฐิติพร อุนรัตน์ เป็นกรรมการ
  5. นางสาวศรัญดา ป้อสาย เป็นกรรมการ
  6. นางสาวเปมิกา แจ้งพลอย เป็นกรรมการ

ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงแบะรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง โดยมีอำนาจเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำ หรือส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องตามที่เห็นสมควร แล้วรายงานผลการสืบสวนข้อเท็จจริงพร้อมทั้งเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาสั่งการ

สั่ง ณ วันที่ 3 เมษายน 2566

 

(นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ)

ปลัดกระทรวงมหาดไทย

ที่มา: เอกสารเผยแพร่บนโลกออนไลน์

จำลักษ์ ได้ยืนยันกับผู้สื่อข่าวจาก 'Khaosod English' ว่า เอกสารที่หลุดบนโลกออนไลน์เป็นของจริง แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นคนปล่อย ส่วนกรณีที่เขาถูกตั้งคณะกรรมการสอบ จำลักษณ์ อ้างว่ามีผู้ที่เป็นนักการเมืองที่เสียผลประโยชน์จากการออกโฉนดที่ดิน พยายามใส่ร้ายเขา 

นอกจากนี้ รองผู้ว่าฯ ลำปาง กล่าวถึงประเด็นที่เขาติดตามเพจเฟซบุ๊ก Yan Marchal เป็นเรื่องจริงเช่นกัน แต่ทำไปเพราะต้องการมอนิเตอร์ หรือตรวจตรา เพื่อไม่ให้คนอื่นๆ เข้าถึงเพจดังกล่าว เพื่อแชร์ และคอมเมนต์ ทั้งนี้ กระบวนการสอบสวนเสร็จสิ้นตั้งแต่เมื่อ เม.ย.ที่ผ่านมา โดยที่จำลักษณ์ ยังคงนั่งเก้าอี้รองผู้ว่าฯ ลำปางต่อไป

รองผู้ว่าฯ ลำปาง กล่าวด้วยว่า เขามีความเป็นห่วง และรู้สึกไม่ดีต่อคอนเทนต์ของยัน มาร์ฉัล เนื่องจากไม่ทราบว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่

ทั้งนี้ รองผู้ว่าฯ ลำปาง ยังย้ำด้วยว่า เขาเป็นรอยัลลิสต์ตัวจริง เคยบวชตอนรัชกาลที่ 9 ทรงพระประชวรถึง 3 ครั้ง

"ผมจงรักภักดียิ่งชีวิต... จะให้ผมตายแทนพระองค์ก็ได้" ประวิตร ระบุถึงข้อความบางส่วนจากการสัมภาษณ์ จำลักษ์

สำหรับ ยัน มาร์ฉัล นักพัฒนาเกมชาวฝรั่งเศส ผู้อยู่ในประเทศไทยมานานกว่า 17 ปี ยัน โด่งดังจากการทำคอนเทนต์ล้อเลียนการเมืองไทย แต่เมื่อ 27 พ.ย. 2564 เขาถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ห้ามเดินทางเข้าประเทศไทย ขณะที่เดินทางจากสนามบินภูเก็ต มายังสนามบินสุวรรณภูมิ และรอเดินทางต่อไปที่กรุงปารีส ประเทศบ้านเกิด และมีคำสั่งแจ้งส่งออกนอกประเทศ ด้วยเหตุผลว่า "มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม" จึงห้ามให้เข้าเมือง อาศัยอำนาจตามมาตรา 19 22 และ 54 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 นอกจากนี้ มีการตั้งข้อสงสัยด้วยว่า ทำไมยัน ถึงถูกห้ามเข้าประเทศทั้งที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด

หนังสือคำสั่งแจ้งคนต่างด้าวเข้าเมืองทราบถึงยัน มาร์ฉัล

ต่อมา เมื่อ 18 เม.ย. 2566 ยัน มาร์ฉัล ซึ่งกำลังอยู่ที่ฝรั่งเศส ได้ถูก อานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน หรือ ศปปส. เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษที่ ศูนย์รับแจ้งความตำรวจสอบสวนกลาง ข้อหา ม.112 โดยอ้างว่า ยัน มาร์ฉัล ทำคลิปเพลงที่มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net