Skip to main content
sharethis

เครือข่ายแรงงานและกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานจัด จัดรำลึก 30 ปี เหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์  ย้ำ สุขภาพดี คือชีวิตที่มั่นคง ความปลอดภัย คือหัวใจของการทํางาน เรียกร้องรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 7 ประการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยการทำงาน

10 พ.ค.2566 เนื่องในวันความปลอดภัยในการทํางานแห่งชาติ และครบรอบ 30 ปี เหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์  วันนี้ (10 พ.ค.66) เวลา 8.00 น ที่หน้าพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ถนนมักกะสัน กรุงเทพฯ สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย (WEPT) สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย องค์กร Asia Monitor Resource Centre และเครือข่ายอันโรฟ จัดกิจกรรมรำลึก 30 ปีเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงาน ตุ๊กตาเคเดอร์ ของบริษัท เคเดอร์ อินดัสเทียล (ไทยแลนด์) จำกัด ที่จังหวัดนครปฐม เป็นเหตุให้มีคนงานเสียชีวิต 188 ราย พิการและบาดเจ็บเป็นจํานวนมาก 

โดยมีกิจกรรมพิธีทางศาสนา พิธีกล่าวรำลึก จากตัวแทนของอดีตคนงานเคเดอร์ อดีตประธานคณะกรรมการรณรงค์ด้านความปลอดภัยในการทำงาน และเครือข่าย ก่อนวางดอกไม้เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิต

ทั้งนี้กิจกรรมมีการอ่านแถลงการณ์รำลึกถึงเหตุการณ์ มีรายละเอียดดังนี้ 

แถลงการณ์ เนื่องในวันความปลอดภัยในการทํางานแห่งชาติ และครบรอบ 30 ปี เหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ สุขภาพดี คือชีวิตที่มั่นคง ความปลอดภัย คือหัวใจของการทํางาน  

10 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 เหตุการณ์เศร้าสลดเกิดขึ้น เมื่อโรงงาน ตุ๊กตาเคเดอร์ ของบริษัท เคเดอร์ อินดัสเทียล (ไทยแลนด์) จำกัด ที่จังหวัดนครปฐม เป็นเหตุให้มีคนงานเสียชีวิต 188 ราย พิการและบาดเจ็บเป็นจํานวนมาก ซึ่งกระบวนการแรงงาน ได้ใช้ เหตุการณ์โศกนาฏกรรมครั้งนี้ในการขับเคลื่อน เพื่อให้รัฐบาลได้ตระหนัก และคํานึงถึงชีวิตของคนงาน และในที่สุด ในปี พ.ศ.2540 รัฐบาลก็ได้มีการประกาศให้ วันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปีนั้น เป็นวันความปลอดภัยในการทํางานแห่งชาติ เพราะกระนั้นในระยะเวลาต่อมา ขบวนการแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชนและเครือข่ายทั้งหลาย ก็ได้ร่วมกันผลักดันเพื่อให้รัฐบาลมีการตรากฎหมาย เพื่อที่จะให้มีการคุ้มครอง ต่อคนทํางานให้มีความปลอดภัยในการทํางาน ซึ่งในที่สุดเราก็ได้กฎหมาย ว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางานเมื่อปี พ.ศ. 2544 และต่อมารัฐบาลก็ได้มีการให้สัตยาบัน รับรองอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบเชิงส่งเสริมการดูแลความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ปี ค.ศ.2006 แล้วหลังจากนั้นเช่นเดียวกันภายใต้เงื่อนไข ภายใต้สถานการณ์ ที่เราขับเคลื่อน กันอย่างหนัก อย่างต่อเนื่อง แล้วก็เชื่อมร้อยกันระดับสากลก็เป็นเหตุให้ เมื่อปี ค.ศ. 2022 ที่ผ่านมา ทางองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ก็ได้ยกระดับมาตรฐานเรื่องความปลอดภัย ประกาศให้อนุสัญญาหลักขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ที่เรียกว่า จากเดิมที่มีอยู่ 8 อนุสัญญา ก็มีการปรับเพิ่มขึ้นเป็น 10 อนุสัญญา ซึ่งอนุสัญญาที่เพิ่มขึ้น 2 ฉบับเลย เกี่ยวข้องกับเรื่องความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมในการทํางาน ก็คืออนุสัญญาฉบับที่ 155 และอนุสัญญา 187 อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากรอบตามกฎหมาย นโยบายได้มีการเปลี่ยนไป แต่ในความเป็นจริงก็เป็นการรับรู้รับทราบกันโดยทั่วกันว่า การบังคับใช้กฎหมาย ความเจ็บป่วยจากการทํางาน อุบัติเหตุจากการทํางานก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องสําหรับคนทํางาน รวมถึงการจ้างงานแบบใหม่ ที่ก่อให้เกิดความรุนแรง การสูญเสียที่เพิ่ม จํานวนมากยิ่งขึ้น

ดังนั้น เนื่องในวันความปลอดภัย การทํางานแห่งชาติ ประจําปี พ.ศ.2566 ขบวนการแรงงานโดยสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทํางานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย และกระบวนการแรงงานที่มีข้อเสนอ ต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้

ประการที่ 1ให้กระทรวงสาธารณสุข เร่งดําเนินการวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวกับสารเคมี มลพิษ สิ่งแวดล้อม โรคมะเร็งจากการทํางาน และให้ตั้งโรงพยาบาล คลินิก อาชีวเวชศาสตร์ในเขตอุตสาหกรรมให้เพียงพอ

ประการที่ 2 ต้องมีมาตรการ ทั้งให้มีกฎหมาย นโยบายแผนงานที่ชัดเจน ทําให้สังคมไทยไร้แงแร่ใยหิน โดยเฉพาะการรื้อถอนอาคารเก่า ต้องมีมาตรการควบคุมอย่างเคร่งครัด ไม่ให้ฝุ่นแร่ใยหินฟุ้งกระจาย  

ประการที่ 3 ให้มีการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยอาชีวอนามัย สภาพแวดล้อมในการทํางานอย่างเข้มข้น พร้อมทั้งปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย กฎหมายเพื่อได้เงินทดแทน ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อโรงงาน โดยให้คนงานสามารถเข้าถึงสิทธิ์ได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว ครอบคลุมทุกโรคที่เกิดขึ้นจากการทํางาน และเกี่ยวเนื่องครอบคลุมในการป้องกัน รักษา ฟื้นฟู และการเยียวยา โดยไม่เลือกปฏิบัติ ต่างเชื้อชาติ  

ประการที่ 4 สร้างมาตรการกลไกในการปฏิบัติการประชาสัมพันธ์ให้คนงาน ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทํางาน ทั้งการป้องกันการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรค รวมทั้งงบประมาณ สถานพยาบาล บุคลากร อุปกรณ์ทางการแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ อาชีวเวชศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม อย่างเพียงพอมีมาตรฐาน  

ประการที่ 5 รัฐบาลต้องเร่งออกกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาดฉบับประชาชน และเร่งแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 และแก้ไขปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจากภาวะโลกร้อน

ประการที่ 6 รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 155 ว่าด้วยความปลอดภัยในการทํางาน และอาชีวอนามัย ค.ศ.1981 และฉบับที่ 161 ว่าด้วยการบริการอาชีวอนามัย ค.ศ. 1985 และให้ตรากฎหมายรองรับ ให้ควบคุมให้สอดคล้องกับข้อตกลงของนานาประเทศ และขอให้รัฐบาลมีความมุ่งมั่น ที่จะดําเนินงานเรื่องการบริการอาชีวอนามัยอย่างเต็มที่ อย่างจริงจัง

ประการสุดท้ายซึ่งเป็นแถลงการณ์ ที่จะสร้างความสมานฉันท์กันในทางสากล เป็นการเรียกร้องต่อขบวนการแรงงานไทย ขบวนการแรงงานระดับสากลและองค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาชนทั้งหลาย ที่จะต้องร้องร่วมมือกัน เพื่อสร้างมาตรฐานเพื่อความปลอดภัย  

สมาพันธ์สมาธิฉันแรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และสภาเครือข่ายผู้ป่วยจากการทํางานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย จะร่วมกันทำงาน ประสานความร่วมมือกับขบวนการแรงงาน องค์กรภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน ทั้งในประเทศและสากล เพื่อร่วมกันรณรงค์ สร้างมาตรฐานความปลอดภัย สุขภาพ อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นเพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของคนงาน และประชาชน

ด้วยจิตคารวะคนงานเคเดอร์ที่เสียชีวิต บาดเจ็บ และได้รับผลกระทบ สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย , สมาพันธ์รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ , สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย , Asia Monitor Resource Centre (AMRC) , Asian Network for the Rights Of Occupational and Environmental Victims (ANROEV) 10 พฤษภาคม พ.ศ.2566

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net