Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อไม่นานมานี้ ไทยพีบีเอส ได้ผลิตรายการ “อนุบาล คือ อนาคต” เผยแพร่ทาง ALTV หมายเลข 4 ซึ่งจากรายการนี้พบว่า ถ้าระบบการสอนปฐมวัยไม่เปลี่ยนในวันนี้ เราต้องเจอแนวโน้มเด็กไทยที่มีการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) เด็กซึมเศร้า เด็กเบื่อการเรียนอีกจำนวนมาก และไม่อยากจะเชื่อว่าทั้งครู ผู้ปกครองบ้านเรายังขาดทักษะ และมองเห็นปัญหาของชั้นเรียนคนละทิศละทาง ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก 

‘โควิด-19 เปิดโอกาสให้เห็นวิกฤต’

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการศึกษาไทยเป็นอย่างมาก ที่เห็นได้ชัดเลยคือ ‘การเรียนออนไลน์’ ที่สร้างปัญหาและภาระให้กับเด็กและผู้ปกครองจำนวนมาก และมีปัญหาเป็นลูกโซ่ตามมาอีกมากมาย ทั้งผู้ปกครองขาดรายได้ พ่อเเม่หย่าร้าง บางครอบครัวผู้ปกครองต้องพาเด็กไปทำงานรับจ้างหารายได้มาจุนเจือ ทำให้เด็กขาดเรียนบ่อยครั้ง ส่งผลให้ในปี 2564 ที่ผ่านมา มีเด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นจำนวนมากกว่า 200,000 คน แต่ทั้งนี้สาเหตุทั้งหมดอาจไม่ได้มาจากไวรัสโควิด-19 เพียงอย่างเดียว ถ้าลองมองย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ สังคมไทยก็มีภาพของเด็กที่ยากจนและไม่ได้เรียนต่อให้ได้เห็นกันอยู่จนชินตาตามข่าวและรายการโทรทัศน์ เพียงแต่ไวรัสโควิด-19 ทำให้ภาพของปัญหาชัดเจนมากขึ้น บางที วิกฤตทางการศึกษาอาจจะเริ่มต้น ตั้งแต่พื้นฐานการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยแล้วก็เป็นได้

เราเห็นปัญหากันถ้วนหน้าตลอดหลายเดือนหลังสถานการณ์โควิด-19 แต่น่าตกใจที่เราค้นพบว่า ห้องเรียนอนุบาลยังไม่ปรับตัวเป็นส่วนใหญ่ 

ดร.วรนาท รักสกุลไทย ผู้อำนวยการแผนกอนุบาล โรงเรียนเกษมพิทยา เล่าว่า “อยู่วงการนี้มา 40 ปี ต้องบอกว่า ปัญหามาจากนโยบายด้วย  มาจาก 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ของชั้นประถมฯ และมัธยมฯ ที่ผิดทาง เช่น ระบบ สพฐ. ที่ตั้งเป้าหมายอยากให้ไอคิวเด็กสูงขึ้นถึง 100 แต่ขณะนี้ทำงานมากี่ปีแล้ว ก็ยังถึงแค่ 98 เช่นเดียวกับ อีคิว ก็ยังต่ำอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัว เช่นเดียวกับความเคยชินที่เด็กและครูต้องอยู่กับอุปกรณ์เล็กทรอนิกส์ในช่วงที่มีการเรียนออนไลน์ ซึ่งก็หลงทิศหลงทางเชื่อไปว่าสื่อเทคโนโลยี คือ คำตอบที่จะทำให้เด็กเกิดไอคิวที่สูงขึ้น ครูเองก็มีภาวะซึมเศร้าเพราะต้องทำตามตัวชี้วัด กระทรวงศึกษาธิการยังคงเน้นการแข่งขัน ความเป็นเลิศทางการศึกษา และสิ่งเหล่านี้ก็ยังอยู่ในสิ่งที่ใช้ในการประเมินระบบวิทยาฐานะต่าง ๆ ของครูและผู้อำนวยการโรงเรียน นับตั้งแต่มีการกลับมาเปิดเรียน ปัญหา Learning Loss ของเด็กยังไม่ถูกแก้อย่างจริงจังสักที และมันต้องแก้จากนโยบาย” 

ดร.วรนาท รักสกุลไทย
ดร.วรนาท รักสกุลไทย

“โรงเรียนเอกชนกับโรงเรียนทางเลือกอาจจะรอด เพราะเขามีพื้นที่ให้ตัวเองได้ทดลองเรียนรู้ แต่โรงเรียนสังกัดกทม.และ สพฐ. ซึ่งเป็นโรงเรียนของรัฐส่วนใหญ่ของประเทศยังมุ่งให้อนุบาลทั้งฝึกอ่าน ทั้งฝึกเขียน แข่งขันกันเป็นเลิศ นักศึกษาไปฝึกสอนที่โรงเรียนสังกัดสพฐ.แห่งหนึ่ง โทรมาบ่นว่าปวดใจมาก โรงเรียนที่เขาไปฝึกสอน ครูประจำชั้นไม่ปล่อยให้เด็กทำกิจกรรมส่งเสริมรักการอ่าน แต่เน้นให้ฝึกอ่านและเร่งรัดเด็กให้อ่านเขียนให้ได้ เส้นบางๆ ของหน้าที่ครูปฐมวัย ที่คุณจะต้องทำหน้าที่ให้เด็กสนุกกับการเล่น สนใจว่าหนังสือมันน่าอ่านจึงต้องมีนิทานภาพ มีกิจกรรมเล่านิทาน มีกิจกรรมที่จะทำให้เด็กสนใจหนังสือ ไม่ใช่บังคับให้อ่านให้ได้ เขียนให้ได้” ดร.รังรอง สมมิตร ประธานหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าว 

ดร.รังรอง สมมิตร
ดร.รังรอง สมมิตร

‘ความสำคัญของวัยอนุบาล’

‘เด็กอนุบาล’ หรือ ‘เด็กปฐมวัย’ เป็นช่วงอายุที่ต้องได้รับการเอาใจใส่ ในด้านของการเรียนรู้มากกว่าที่คิด ผู้ปกครองบางกลุ่มยังมีภาพจำว่าเด็กที่อ่านออกเขียนได้เร็วที่สุดคือ ‘เด็กฉลาด’ แต่ในความจริงแล้ว พัฒนาการที่ดีที่สุดของเด็กปฐมวัยคือการ ‘เรียนรู้ผ่านการเล่น’ (Play-Based Learning) เพื่อให้เด็กสามารถขยายกรอบความคิด และกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่เด็กปฐมวัยในศตวรรษที่ 21 ควรมีติดตัวไว้ แต่เมื่อเด็กปฐมวัยต้องเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้านในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาด เด็กปฐมวัยจึงไม่ได้มีโอกาสเรียนรู้ในสภาพเเวดล้อมที่เปิดกว้าง ไม่ได้ทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น ทำให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้า อีกทั้งเด็กที่เติบโตมาในยุคของดิจิทัลนั้น เติบโตผ่านการเล่นสมาร์ตโฟนหรือไอแพด ซึ่งไม่ช่วยในการพัฒนา ‘กล้ามเนื้อมัดเล็ก’ ที่เกิดจากการออกแรงบีบนวด แรงกด การจับดินสอ ส่งผลให้เด็กในปัจจุบันเสี่ยงที่จะมีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตในอนาคต

‘รากฐานที่ถูกมองข้าม’

แน่นอนว่า ‘เด็กปฐมวัย’ เป็นช่วงสำคัญของการวางรากฐานทางการศึกษา เพราะเป็นช่วงที่เด็กจะมีพัฒนาการเกี่ยวกับสติปัญญา การควบคุมอารมณ์ ความยับยั้งใจตัวเอง การกำกับความคิดและพฤติกรรม ซึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการทางความคิดระดับสูงของสมองส่วนหน้า หรือ EF (Executive Functions) ที่จะทำให้เด็กเกิดเป้าหมายในการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสม หากมองข้ามการเอาใจใส่เด็กในวัยนี้ อาจจะหมายถึงการผลิตประชากรที่ไร้คุณภาพเข้าสู่สังคมในอนาคต ดังนั้น เวลาที่สังคมเกิดปัญหาคุณภาพของประชากรตกต่ำ เราควรต้องย้อนไปดูถึงสาเหตุของปัญหาด้วยเช่นกัน

“เพราะบทบาทสำคัญของการใช้ชีวิตของเด็กที่กำลังเติบโตต่อเนื่อง คือ “สมอง” ตามธรรมชาติมนุษย์จะเกิดมาพร้อมเซลล์ประสาท ประสบการณ์ระหว่างทางจะช่วยตัดแต่งกิ่งของเซลล์ประสาท แม้จะไม่เพิ่มแต่ขยายได้มากขึ้นในช่วง 5 ปี นั่นหมายความว่า เซลล์สมองจะทำงานได้เต็มที่แต่ถ้าไม่ใช้จะถูกตัดทิ้ง จากการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ครูและผู้ปกครองจึงมีส่วนสำคัญมา” ดร.วราบุษ ศุภลักษณ์บันลือ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะการจัดการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คณะทำวิจัยแก้ปัญหา Learning Loss 

ดร.วราบุษ ศุภลักษณ์บันลือ
ดร.วราบุษ ศุภลักษณ์บันลือ

‘หากสังคมมองข้ามปัญหา’

เราพบเห็นได้บ่อยครั้ง ในเวลาที่ประชากรไร้คุณภาพบางส่วนกระทำผิดกฎหมายหรือละเมิดสิทธิของผู้อื่น กระเเสสังคมจะรุมโจมตีและประณามคนเหล่านั้นให้ย่อยยับ แน่นอนว่าผู้กระทำผิดต้องได้รับการลงโทษเป็นเรื่องที่ถูกต้อง และมันก็เป็นเรื่องง่ายที่เราจะประณามเพื่อกดทับประชากรที่ไร้คุณภาพเหล่านี้จากความผิดที่พวกเขาได้ก่อ แต่อาจเป็นเรื่องยากที่เราจะแก้ไขต้นเหตุที่เกิดขึ้น เพราะต้นตอของปัญหาคือความเหลื่อมล้ำที่ฝังตัวอยู่ในโครงสร้างของประเทศ อันเป็นสาเหตุหลักที่ผลิตประชากรไร้คุณภาพออกมา 

เด็กปฐมวัยจำนวนมากไม่ได้เติบโตมาในสภาพเเวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ ไม่ได้รับการศึกษาที่เหมาะสม ขาดโอกาสในการพัฒนาตัวเองให้หลุดจากสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ได้ ดังนั้น รากฐานของพัฒนาการที่ดีคือช่วง ‘ปฐมวัย’ ซึ่งเป็นพื้นฐานทางด้านอารมณ์และความคิด การเรียนรู้ที่เหมาะสมจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยชี้ให้เห็นถึงทิศทางของคุณภาพของประชากรไทยในรุ่นถัดไป หากวันนี้เราเลือกที่จะมองข้ามปัญหา และละเลยการเอาใจใส่เด็กปฐมวัย เราก็คงต้องก้มหน้ายอมรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างเลี่ยงไม่ได้

‘ความเหลื่อมล้ำกัดกินอนาคต’

โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลหลาย ๆ แห่งมีจุดร่วมที่คล้ายกัน นั่นคือ การประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน ซึ่งเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกลงไปในโครงสร้างสังคมไทย ทำให้โรงเรียนและเด็กปฐมวัยในชุนชน ไม่ได้รับการดูแลโดยทั่วถึงในระดับเดียวกัน การศึกษาในแต่ละพื้นที่ขาดความเสมอภาค และเกิดปัญหาตามมาอย่างมากมาย ตัวอย่างเช่น บุคลากรทางการศึกษาไม่เพียงพอต่อจำนวนเด็กในโรงเรียน ห้องเรียนหลายเเห่งมีเด็กระดับชั้นอนุบาลที่ต้องเรียนคละชั้นกับเด็กระดับชั้นประถม ทำให้ครูไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง ขาดความต่อเนื่องในการเรียนรู้ อีกทั้งระบบไม่ได้บรรจุครูที่มีองค์ความรู้เฉพาะทางในด้านเด็กปฐมวัยมาเป็นครูอนุบาล นอกจากนี้การกระจายองค์ความรู้เกี่ยวกับเด็กปฐมวัยให้แก่ผู้ปกครองและชุมชนก็ขาดความทั่วถึง สิ่งที่เกิดขึ้นคือเด็กไม่ได้เติบโตขึ้นอย่างเหมาะสม พัฒนาการเเละทักษะที่จำเป็นขาดหาย ไม่สามารถใช้ความรู้เชื่อมโยงกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ 

‘อุปสรรคที่ยากจะพัฒนา’

นอกจากในด้านความรู้ที่ขาดหายไปแล้ว ด้านร่างกายก็เสี่ยงที่จะไม่ได้รับการพัฒนาที่เหมาะสมด้วย จากผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีทั่วประเทศไทย หรือ MICS 6 (Multiple Indicator Cluster Survey) ในปี 2563 เด็กในสามจังหวัดชายเเดนใต้ กำลังเผชิญกับภาวะขาดสารอาหาร โดยร้อยละ 23 ของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีในสามจังหวัดชายเเดนใต้ กำลังเผชิญกับภาวะเตี้ยแคระแกร็น ตัวเลขนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่ร้อยละ 13 เกือบสองเท่า ซึ่งภาวะเตี้ยแคระแกร็นจะส่งผลต่อทั้งการเรียนรู้ในระยะสั้นและระยะยาว ร่างกายและสมองขาดสารอาหารที่จะเข้าไปช่วยหล่อเลี้ยงหรือสร้างพลังงานให้เกิดความพร้อมต่อการเรียนรู้ ปัญหานี้มีสาเหตุมาจากความยากจนของบางครอบครัว ที่ผู้ปกครองต้องทำงานจนไม่มีเวลามาเอาใจใส่อาหารในเเต่ละมื้อของบุตรหลาน และมองข้ามความสำคัญของโภชนาการที่เด็กควรจะได้รับในแต่ละช่วงวัย

ผศ.ดร.พิสมัย วัฒนสิทธิ์ อาจารย์วิชาการพยาบาลเด็ก คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวไว้ว่า “ปัญหาเรื่องโภชนาการเด็กไทย เป็นปัญหาสองด้าน ทั้งด้านโภชนาการที่มากเกินสำหรับคนที่มี ทั้งด้านที่ขาดสำหรับคนที่ไม่มีอันจะกิน ผู้ปกครองขาดความรู้ และทักษะในการจัดการอาหารให้เด็กวัยอนุบาล เด็กประถมฯ หากพูดถึงเรื่องของงบประมาณสนับสนุนอาหาร ตอนนี้อาหารกลางวันรัฐบาลเพิ่มงบ ฯ ให้ แปลว่าเห็นความสำคัญมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่เด็กอนุบาล อาหารเช้าสำคัญมาก เด็กไม่ได้กินอาหารเช้าเขาไม่มีแรงไปเล่น เรียนรู้กับเพื่อนๆ สมองจะพัฒนาการช้าลง หลายพื้นที่เริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ทำโครงการเพื่อที่จะไปของบประมาณจาก สปสช. เพื่อที่จะแก้ไขภาวะทุพโภชนาการเด็ก แต่ควรทำทั้งระบบ”

ผศ.ดร.พิสมัย วัฒนสิทธิ์
ผศ.ดร.พิสมัย วัฒนสิทธิ์

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการ สำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุว่า “อนุบาล คือ อนาคต และคือเรื่องของทุกคน ในกลุ่มเป้าหมาย กสศ. โฟกัสเด็กยากจน และยากจนพิเศษ จากการเห็นข้อมูลพัฒนาการถดถอย ภาษา สติปัญญา อารมณ์ สังคม เวลานี้ เด็กอนุบาล ต้องได้รับความช่วยเหลือสูงสุด”  

ดร.อุดม วงษ์สิงห์
ดร.อุดม วงษ์สิงห์

เพื่อปกป้องอนาคตของเราในวันพรุ่งนี้  ‘ชั้นอนุบาล’ จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญ  ถ้าจะบอกว่า อนุบาล คือ ‘อนาคต’ ของเราก็ไม่ผิด ดังนั้น อย่าปล่อยภาระให้เด็กรับผิดชอบตนเอง หรือผลักภาระให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เรื่องของเด็กชั้นอนุบาล ต้องช่วยกันทุกฝ่าย ทั้งผู้ดูแลนโยบาย ครูปฐมวัย และผู้ปกครอง ต้องมองเห็นปัญหาที่ถูกมองข้าม ต้องช่วยกันฟื้นฟูและให้ความสำคัญกับทักษะที่ต้องพัฒนาเด็กวัยนี้อย่างถูกต้องโดยเร่งด่วน

ติดตามชมย้อนหลังรายการอนุบาลคืออนาคต ALTV ช่อง 4 - อนุบาลคืออนาคต ที่เว็บไซต์ altv.tv

#LearningLoss #อนุบาลคืออนาคต #ALTVช่อง4ทีวีเรียนสนุก #ช่องหมายเลข4 #เด็กอนุบาล #ปฐมวัย #อนุบาลคืออนาคต #เหลื่อมล้ำ

ข้อมูลอ้างอิง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net