Skip to main content
sharethis

กสม. ร่วมภาคีเครือข่ายภาครัฐและประชาชน จ. เชียงใหม่ ระดมความเห็นแก้ไขปัญหาฝุ่นควันจากไฟป่าเตรียมจัดทำข้อเสนอแนะเชิงระบบ เน้นหลักชุมชนมีส่วนร่วมบริหารจัดการพื้นที่

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2566  กสม. ร่วมกับ สภาลมหายใจภาคเหนือ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัด “ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างกรอบตัวชี้วัด มาตรฐาน และแนวทางการดำเนินงาน สิทธิในอากาศสะอาดและการจัดการมลภาวะทางอากาศที่เป็นธรรมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่” โดยมีผู้แทนภาคประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม นักวิชาการ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐส่วนภูมิภาคและส่วนกลางที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมประมาณ 60 คน ณ โรงแรม Green Nimman CMU Residence at CMU และผ่านระบบออนไลน์

นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดการประชุมร่วมกับนายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. อาจารย์ไพสิฐ พาณิชย์กุล ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายบัณรส บัวคลี่ สภาลมหายใจภาคเหนือ และนายวิโรจน์ ติปิน มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 หมอกควันที่เกิดขึ้นจากไฟป่า และการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของสภาพภูมิอากาศ ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและสุขภาพของประชาชนมาอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลามากกว่า 10 ปีที่ผ่านมา และนำมาสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาในระดับนโยบายของรัฐบาลซึ่งได้ประกาศนโยบาย “ซีโรเบิร์นนิง” (zero burning) หรือการห้ามเผา 100% ในช่วงเวลาที่รัฐกำหนดเพื่อหลีกเลี่ยงการเผาพื้นที่เกษตรกรรมปริมาณมากพร้อมกัน และล่าสุด คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติยังมีมติกำหนดค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 จากเดิมไม่เกิน 50 เป็น 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2566 ด้วย

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และองค์กรร่วมจัด ได้ตระหนักว่าปัญหามลพิษดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสิทธิในอากาศสะอาด สิทธิชุมชนในการได้อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งเกี่ยวโยงไปถึงสิทธิและความปลอดภัยชีวิตและร่างกายของประชาชนในระยะยาว ดังนั้น เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่หลากหลายในการจัดการมลภาวะทางอากาศในพื้นที่ ตลอดจนเพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อตกลง กรอบมาตรฐาน/ตัวชี้วัด และแนวทางการดำเนินงานเพื่อจัดการปัญหาอย่างเป็นธรรมร่วมกันของทุกภาคส่วนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่อง กสม. และภาคีเครือข่ายจึงได้ร่วมกันจัดประชุมในครั้งนี้ขึ้น เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมอันเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายภายใต้หลักการสำคัญคือการมีส่วนร่วมของทั้งหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย ส่วนท้องถิ่น และชุมชน

ในการนี้ ผู้แทนเครือข่ายพื้นที่ 12 ตำบลจังหวัดเชียงใหม่ โดยนายนิกร เต๋จ๊ะแยง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทาเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ นายก่อชิ เพชรไพรพนาวัลย์ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ นายพฤ โอโดเชา ผู้แทนชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ และนายบุญตัน กาละวิน ผู้แทนผู้ใช้ไฟ ได้มีข้อเสนอต่อคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) และจังหวัดเชียงใหม่ ดังนี้

(1) ควรมีการปรับปรุงข้อเสนอคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ ให้มีการถ่ายโอนภารกิจด้านการควบคุมไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่สอดคล้องกับชุมชนท้องถิ่น

(2) เสนอให้คณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ และกระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น แก้ไขวิธีงบประมาณ เงินอุดหนุนสำหรับสนับสนุนภารกิจป้องกันและควบคุมไฟป่าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

(3) ให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ในการจัดการ สนับสนุนงบประมาณอย่างเต็มที่แก่ อปท. ในการใช้ในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงและการจัดการไฟป่า

(4) ให้มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการสั่งการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าฝุ่นควัน โดยนำไปสู่การจัดตั้งคณะกรรมการระดับตำบล ที่มีอำนาจในการจัดทำแผนการบริหารจัดการเชื้อเพลิง และมีอำนาจในการอนุมัติคำร้องแผนการจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ผ่านช่องทางแอปพลิเคชัน FireD

(5) เกณฑ์การอนุมัติแผนการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ของแอพพลิเคชัน FireD มีการอ้างอิงจากข้อมูลดาวเทียม ข้อมูลในพื้นที่ และข้อมูลแบบจำลอง พร้อมทั้งการวัดเกณฑ์จากเครื่องวัดเทคโนโลยีโดยมีการกำหนดค่าฝุ่น PM 2.5 ค่าจุดความร้อน ค่าปริมาณฝน และดัชนีการระบายอากาศ ทั้งนี้หากกำหนดเกณฑ์เครื่องวัดเทคโนโลยีอย่างชัดเจน คณะทำงานจะสามารถทำงานได้อย่างคำนึงถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

(6) องค์ความรู้และข้อมูลที่ใช้ในการประกอบการตัดสินใจบริหารจัดการเชื้อเพลิง ควรมีชุดความรู้ที่สนับสนุนให้เกิดแผนการบริหารจัดการเชื้อเพลิงที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ คือ ให้ไฟที่จำเป็นทั้งหมดเข้ามาอยู่ในแผนแล้วบริหารจัดการ เพื่อตัดสินใจกันในระดับท้องถิ่น

ในการประชุมดังกล่าว ผู้แทนภาคประชาสังคม ผู้แทนชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่ทำไร่หมุนเวียน ผู้แทนชุมชนท้องถิ่นในเครือข่ายพื้นที่ 12 ตำบลจังหวัดเชียงใหม่ นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ ราชการส่วนกลางและนักวิชาการ ยังมีความเห็นร่วมกันว่า ควรมีการพัฒนาตัวชี้วัดระบบการบริหารจัดการไฟผ่านแอปพลิเคชัน FireD ในด้านข้อมูลนำเข้า คือกิจกรรมที่ทำให้เกิดไฟทุกประเภท ตัวชี้วัดในเชิงกระบวนการทำงานร่วมกันของส่วนราชการร่วมกับภาคชุมชนท้องถิ่น ตัวชี้วัดในการนำองค์ความรู้ของชุมชนและผู้มีส่วนได้เสียมาใช้ในกระบวนการทำงาน ตัวชี้วัดเชิงระบบภูมิสารสนเทศ ตัวชี้วัดในการวางแผนบูรณาการเชิงพื้นที่ของจังหวัด ชุมชน และท้องถิ่น ตัวชี้วัดในการสื่อสารทำความเข้าใจ ตัวชี้วัดปรับปรุงกฎหมาย ตัวชี้วัดระบบงบประมาณ เป็นต้น โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาตัวชี้วัด และ จังหวัดเชียงใหม่เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนการวางแผนงานเชิงบูรณาการในระดับชุมชนร่วมกับท้องถิ่น

“กสม. จะนำข้อมูลดังกล่าวไปพิจารณาประกอบการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงระบบกรณีสิทธิชุมชนและสิทธิในอากาศสะอาดและการบริหารจัดการเชื้อเพลิง เสนอไปยังรัฐบาลเพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิของประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย ทั้งชุมชนผู้ใช้ทรัพยากรและอาศัยอยู่ในป่า ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ ตลอดจนหน่วยงานผู้มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ให้เกิดความเป็นธรรมต่อไป” นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวปิดท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net