Skip to main content
sharethis

เมื่อต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา สภาคองเกรสโหวตคว่ำร่างกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นของกรุงวอชิงตันดีซีที่อนุญาตให้ชาวต่างชาติที่อยู่อาศัยในเมืองมีสิทธิเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ส.ส.ส่วนใหญ่ชี้สิทธิในการเลือกตั้งควรเป็นของพลเมืองอเมริกัน ด้านกลุ่มผู้ผลักดันกฎหมายระบุรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามคนต่างชาติหรือผู้เสียภาษีออกเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น และมีหลายรัฐที่ผลักดันกฎหมายสำเร็จแล้ว พร้อมเรียกร้องให้เทศบาลกรุงวอชิงตันดีซีมีอำนาจในการปกครองตนเองมากขึ้น ขณะที่สื่อใหญ่อเมริกันมองเหตุคว่ำร่างกฎหมายครั้งนี้สะท้อนอนาคตสภาไร้เสถียรภาพ เพราะ ส.ส.รัฐบาลเป็นเสียงข้างน้อย

  • สภาคองเกรสซึ่ง ส.ส.พรรครีพับลิกันครองเสียงส่วนมากโหวตคว่ำร่างกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นของกรุงวอชิงตันดีซีที่อนุญาตให้ผู้อยู่อาศัยที่ไม่ได้ถือสัญชาติอเมริกันมีสิทธิเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ด้วยคะแนนเสียง 260 ต่อ 162 เสียง สื่ออเมริกันชี้ ส่อแววสภาล่มในอนาคต
  • รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาไม่ได้กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องถือสัญชาติอเมริกัน แต่การต่อสู้ทางการเมืองนับตั้งแต่ยุคสงครามกลางเมืองมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ทำให้มีการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง และธรรมนูญระดับมลรัฐให้พลเมืองอเมริกันทุกคนมีสิทธิเลือกตั้งอย่างเท่าเทียม
  • รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาไม่ได้ห้ามคนต่างชาติในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นหรือระดับมลรัฐ แต่ห้ามเฉพาะการเลือกตั้งระดับประเทศเท่านั้น
  • บางเมืองในรัฐแมรีแลนด์ รัฐเวอร์มอนต์ รวมถึงเมืองซานฟรานซิสโกในรัฐแคลิฟอร์เนีย อนุญาตให้คนต่างชาติมีสิทธิเลือกตั้งท้องถิ่น เช่น คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา สภาเทศบาล หรือนายกเทศมนตรี
  • ในการเลือกตั้งระดับประเทศของสหรัฐอเมริกา จำนวนประชากรที่ปรากฏอยู่ในระบบสำมะโนประชากรจะถูกนับเพื่อใช้ในการแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยนับรวมทั้งบุคคลที่ถือสัญชาติอเมริกันและบุคคลที่ไม่ได้ถือสัญชาติอเมริกัน

สำนักข่าวเดอะวอชิงตันโพสต์รายงานเมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาว่าสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมี ส.ส. จากพรรครีพับลิกันเป็นเสียงข้างมาก ลงมติไม่รับร่างกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นของกรุงวอชิงตันดีซีที่อนุญาตให้บุคคลที่ไม่ได้เป็นพลเมืองอเมริกันสามารถใช้สิทธิเลือกผู้แทนในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น โดยร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับเสียงสนุนส่วนมากจาก ส.ส. พรรคเดโมแครต ซึ่งในปัจจุบันกลายเป็นเสียงข้างน้อยในสภา หลังแพ้การเลือกตั้งกลางเทอมเมื่อเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว

ก่อนหน้านี้ รายงานข่าวเมื่อเดือน ต.ค. 2565 ของเดอะวอชิงตันโพสต์ระบุว่าสภาท้องถิ่นแห่งเขตโคลัมเบีย (D.C. Council) มีมติรับหลักการร่างกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นฉบับใหม่ในเดือนเดียวกัน ด้วยคะแนนสียงเห็นชอบ 12 ต่อ 1 ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการเลือกตั้งท้องถิ่นฉบับเก่า โดยขยายสิทธิการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นให้ครอบคลุมผู้อยู่อาศัยในกรุงวอชิงตันดีซีที่ไม่ได้เป็นพลเมืองอเมริกัน ซึ่งรวมถึงผู้อยู่อาศัยถาวร (Green-card Holder) ผู้อยู่อาศัยชั่วคราวตามประเภทวีซ่า และผู้อพยพที่ยังไม่ได้รับการรับรองสถานะ (Undocdumented immigrants) บุคคลที่ไม่ใช่พลเมืองอเมริกันเหล่านี้จะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดจึงจะสามารถใช้สิทธิออกเสียงในการเลือกตั้งท้องถิ่นประเภทต่างๆ อาทิ นายกเทศมนตรี อัยการสูงสุด คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา รวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนสภาท้องถิ่น แต่จะไม่มีสิทธิในการเลือกตั้งระดับประเทศ

เดอะฮิลส์ สื่อการเมืองอเมริกันรายงานเพิ่มเติมว่าสภาท้องถิ่นแห่งเขตโคลัมเบียให้เหตุผลว่าผู้อยู่อาศัยในกรุงวอชิงตันดีซีทุกคนคือผู้มีส่วนร่วมในการบริการสาธารณะต่างๆ ในท้องถิ่น เช่น โรงเรียน ความปลอดภัยสาธารณะ หรือประเด็นทางสังคมที่สำคัญอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ส.ส.จากพรรครีพับลิกันให้เหตุผลว่าบุคคลที่ไม่ได้ถือสัญชาติอเมริกันไม่ควรได้รับสิทธิเลือกตั้ง เพราะบุคคลถือสัญชาติอื่นอาจทำงานให้กับรัฐบาลของประเทศอื่น รวมถึงผู้อพยพที่ยังไม่ได้รับสถานะผู้อยู่อาศัยถาวรก็ไม่ควรได้รับสิทธินี้เช่นกัน ขณะที่ ส.ส.พรรคเดโมแครตค้านว่ารัฐบาลท้องถิ่นหลายแห่งในสหรัฐฯ อนุญาตให้บุคคลที่ไม่ได้เป็นพลเมืองอเมริกันสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นได้ ดังนั้น ผู้อยู่อาศัยในกรุงวอชิงตันดีซีควรได้รับสิทธิดังกล่าวเช่นกัน

ผลการลงมติในกฎหมายดังกล่าวมี ส.ส. โหวตไม่เห็นด้วย 260 ต่อ 162 เสียง โดยมี ส.ส. จากพรรคเดโมแครตจำนวน 42 คนที่ร่วมโหวตไม่เห็นด้วยเช่นเดียวกับ ส.ส. จากพรรครีพับลิกัน นอกจากนี้ ในวันเดียวกันนั้น ส.ส.พรรครีพับลิกันยังได้โหวตคว่ำร่างแก้ไขกฎหมายอาชญากรรมของกรุงวอชิงตันดีซีซึ่งไม่ได้รับการแก้ไขมาตั้งแต่ พ.ศ.2444 โดยมี ส.ส.เดโมแครตร่วมโหวตคัดค้านอีก 31 เสียง

หลังผลการลงมติ ส.ส. พรรคเดโมแครตหลายคนออกมาแสดงความคิดเห็นว่าผิดหวัง รวมถึงอัยการสูงสุดแห่งกรุงวอชิงตันดีซีที่ออกแถลงการณ์ว่า “การกระทำของสภาคองเกรสคือการขัดขวางอำนาจในการปกครองตนเองของเขตโคลัมเบีย” พร้อมเรียกร้องให้ทุกคนเห็นความจำเป็นในการผลักดันให้เขตโคลัมเบียซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงวอชิงตันดีซี ได้รับการยกสถานะขึ้นเป็นรัฐที่มีการปกครองตนเองชัดเจนเช่นเดียวกับรัฐอื่นๆ ทั้ง 50 รัฐของสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกัน อเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ-คอร์เตซ หรือ เอโอซี ส.ส.พรรคเดโมแครตจากรัฐนิวยอร์กกล่าวว่า ส.ส.พรรครีพับลิกันพยายามเข้าไปควบคุมอำนาจท้องถิ่นของกรุงวอชิงตันดีซี ทั้งที่รัฐบาลท้องถิ่นของหลายเมืองในแต่ละรัฐทั่วประเทศเริ่มให้สิทธิในการเลือกตั้งท้องถิ่นแก่ผู้ที่ไม่ได้เป็นพลเมืองแต่เป็นผู้เสียภาษี

ขณะที่อาบิเกล สแปนเบอร์เกอร์ ส.ส.พรรคเดโมแครตจากรัฐเวอร์จิเนียซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมลงคะแนนคัดค้านร่างกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นของกรุงวอชิงตันดีซีเปิดเผยกับเดอะวอชิงตันโพสต์ว่าเธอทราบดีว่าการลงคะแนนเสียงของ ส.ส.รีพับลิกันต่อกฎหมายทั้ง 2 ฉบับเป็นการแสดงออกให้ว่าต้องการโจมตีกรุงวอชิงตันดีซีซึ่งเป็นที่ตั้งของทำเนียบขาว แม้เธอจะเห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายอาชญากรรมที่ไม่มีการแก้ไขมากว่า 120 ปี แต่เธอไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งที่ให้สิทธิบุคคลไม่ได้เป็นพลเมืองอเมริกัน เพราะสิทธิในการเลือกตั้งคือสิทธิพื้นฐานของบุคคลที่ถือสัญชาติอเมริกันเท่านั้น

ด้านจิม จอร์แดน ส.ส.พรรครีพับลิกันจากรัฐโอไฮโอ ทวีตข้อความบนทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า “เมื่อวานนี้ ส.ส.เดโมแครต 162 คนโหวตให้ต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายมีสิทธิเลือกตั้งในกรุงวอชิงกันดีซี น่าขัน พลเมืองอเมริกันเท่านั้นที่ควรมีสิทธิออกเสียงในการเลือกตั้งของชาวอเมริกัน” โดยข้อความดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในโลกออนไลน์

สภาคองเกรสมีอำนาจเหนือสภาท้องถิ่นกรุงวอชิงตันดีซี

ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ สภาคองเกรสหรือสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจหน้าที่ในการตรากฎหมายระดับสหพันธ์ (Federal Laws) และถูกจำกัดอำนาจบางส่วนไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการออกกฎหมายระดับมลรัฐ (State Laws) ซึ่งสภาผู้แทนท้องถิ่นเป็นผู้ทำหน้าที่ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ หมวด 1 มาตรา 8 วรรค 17 ระบุไว้ว่า “ให้รัฐสภามีอำนาจในด้านนิติบัญญัติในทุกรณีในดินแดนที่เป็นที่ตั้งของรัฐบาลสหพันธ์ (โดยมีพื้นที่ไม่เกิน 10 ตารางไมล์)...” และพระราชบัญญัติกิจการภายในของเขตโคลัมเบีย (District of Columbia Home Rule Act) ที่ให้อำนาจสภาคองเกรสในการปฏิเสธหรือรับรองกฎหมายที่สภาเขตโคลัมเบียเห็นชอบเพราะเขตดังกล่าวเป็นพื้นที่ตามขอบเขตอำนาจของรัฐบาลกลาง จึงทำให้สภาคองเกรสมีอำนาจในการรับรองกฎหมายท้องถิ่นของเขตโคลัมเบียซึ่งมีสถานะเป็นเขตปกครองพิเศษและเป็นที่ตั้งของกรุงวอชิงตันดีซี โดยสภาคองเกรสสามารถเข้าไปจัดการกฎหมายพื้นฐานต่างๆ อาทิ การศึกษา สวัสดิการ สาธารณสุข การครอบครองอาวุธปืน การสมรส การทำแท้ง และอื่นๆ รวมถึงการจัดการงบประมาณและภาษีท้องถิ่น ซึ่งโดยปกติแล้ว กฎหมายเหล่านี้เป็นหน้าที่ของสภาระดับมลรัฐ และสภาคองเกรสไม่มีอำนาจในการยับยั้งการออกกฎหมายของสภามลรัฐ หากเห็นว่ากฎหมายระดับมลรัฐขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายระดับสหพันธ์จะต้องยื่นเรื่องให้ศาลระดับมลรัฐ หรือศาลสูงสุด (Supreme Court) เป็นผู้ตัดสินเท่านั้น

ทั้งนี้ เขตโคลัมเบียซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงวอชิงตันดีซี มีผู้แทนในสภาคองเกรสแต่ไม่สามารถออกเสียงได้

นิวยอร์กไทม์มองเหตุคว่ำ กม. 2 ฉบับส่อแววสภาไร้เสถียรภาพ

เดอะนิวยอร์กไทม์วิเคราะห์ว่าการที่สภาคองเกรสซึ่งพรรครีพับลิกันคุมเสียงข้างมากโหวตคว่ำร่างกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นและร่างกฎหมายอาชญากรรมของกรุงวอชิงตันดีซีตั้งแต่เปิดประชุมสภาสมัยแรกของปี 2566 นั้นเป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ในกรุงวอชิงตันดีซีกังวลว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นนี้ต่อไปเพราะพรรคเดโมแครตกุมอำนาจรัฐบาลและคุมเสียงข้างมากในวุฒิสภา

สำนักข่าวเดอะนิวยอร์กไทม์ระบุว่าการที่สภาคองเกรสโหวตคว่ำร่างกฎหมายท้องถิ่น 2 ฉบับของเขตโคลัมเบียถือเป็นการใช้อำนาจแทรกแซงที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก นับตั้งแต่ พ.ศ.2534 ที่สภาคองเกรสมีมติไม่เห็นชอบกฎหมายท้องถิ่นเรื่องความสูงของอาคารอะพาร์ทเมนต์ในเขตดาวน์ทาวน์กรุงวอชิงตันดีซี และการแทรกแซงครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงท้ายของสมัยรัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ ในครั้งนั้น สภาคองเกรสโหวตเห็นชอบกฎหมายเพิกถอนอภิสิทธิ์ทางการเมืองของนายกเทศมนตรีกรุงวอชิงตันดีซีที่สามารถเข้าร่วมประชุมรัฐสภาได้ นอกจากนี้ ในช่วงเวลาเดียวกัน ส.ส.พรรครีพับลิกันบางคนได้เสนอให้ยกเลิกพระราชบัญญัติกิจการภายในของเขตโคลัมเบียที่ประกาศใช้มานานกว่า 50 ปี ซึ่งหากพระราชบัญญัติดังกล่าวถูกยกเลิกไปจริงจะทำให้ผู้อยู่อาศัยในกรุงวอชิงตันดีซีไม่มีสิทธิในการเลือกนายกเทศมนตรีและสภาเทศบาลท้องถิ่น

แม้การลงมติคว่ำร่างกฎหมายปกครองท้องถิ่นของกรุงวอชิงตันดีซีจะเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้ง แต่รายงานของเดอะนิวยอร์กไทม์ระบุว่าสภาคองเกรสใช้มาตรการทางกฎหมายด้านอื่นๆ เพื่อจำกัดสิทธิในการปกครองตนเองของกรุงวอชิงตันดีซี เช่น การแก้ไขพระราชบัญญัติงบประมาณ ที่สภาคองเกรสสั่งห้ามรัฐบาลท้องถิ่นกรุงวอชิงตันดีซีเก็บภาษีและออกข้อกำหนดการซื้อขายกัญชา รวมถึงสั่งห้ามกรุงวอชิงตันดีซีใช้งบประมาณของเมืองเพื่อเป็นสวัสดิการช่วยเหลือการด้านทำแท้ง นอกจากนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สภาคองเกรสยังมีคำสั่งห้ามกรุงวอชิงตันดีซีใช้งบประมาณท้องถิ่นในโครงการแลกเปลี่ยนเข็มฉีดยาเพื่อลดอันตรายในผู้ใช้ยาเสพติดและลดการติดเชื้อ HIV และห้ามเจ้าหน้าที่รัฐในเขตนี้ใช้สวัสดิประกันสุขภาพเพื่อเบิกจ่ายให้คู่สมรส

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้สนับสนุนการกระจายอำนาจปกครองตนเองให้แก่กรุงวอชิงตันดีซียังคงเชื่อว่าคะแนนโหวตในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ส.ส. บางส่วนเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น

รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ไม่ห้ามคนต่างชาติมีสิทธิเลือกตั้ง

ข้อมูลจาก Democracy Docket เว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลด้านการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ที่จัดทำขึ้นโดยกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครต ระบุว่ารัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ไม่ได้กำหนดให้สิทธิในการเลือกผู้แทนเป็นสิทธิโดยกำเนิดที่ติดตัวมากับการได้สัญชาติแต่รัฐธรรมนูญมอบอำนาจให้มลรัฐเป็นผู้กำหนดสิทธิเลือกตั้ง ดังนั้น ในช่วงแรกของการก่อตั้งประเทศ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นและระดับสหพันธ์จึงไม่จำเป็นต้องมีสัญชาติอเมริกัน แต่ต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายของแต่ละรัฐกำหนด เช่น เพศกำเนิด สีผิว มูลค่าการถือครองทรัพย์สิน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม พัฒนาการทางด้านสังคมและการเมืองในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 ทำให้กฎหมายเลือกตั้งของสหรัฐฯ ปรับเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบดังที่เห็นในปัจจุบัน คือให้สิทธิการเลือกตั้งทุกระดับแก่บุคคลที่ถือสัญชาติอเมริกัน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะได้สัญชาติมาโดยกำเนิดหรือการแปลงสัญชาติ โดยบุคคลที่ถือสัญชาติอเมริกันมีสิทธิออกเสียงในการเลือกตั้งทั้งระดับท้องถิ่น ระดับมลรัฐ และระดับสหพันธ์

ใน พ.ศ.2539 สภาคองเกรสออกกฎหมายปฏิรูปผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมายและความรับผิดชอบด้านคนเข้าเมือง ซึ่งหนึ่งในบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวระบุว่าห้ามคนต่างชาติใช้สิทธิเลือกตั้งระดับสหพันธ์ และกำหนดโทษทางอาญาแก่คนต่างชาติที่พยายามลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่กฎหมายดังกล่าวไม่ได้ห้ามคนต่างชาติใช้สิทธิเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นหรือระดับมลรัฐ จึงทำให้บางเมืองในบางรัฐอนุญาตให้ผู้ที่ไม่ได้ถือสัญชาติอเมริกันสามารถเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นได้ เช่น 11 เมืองในรัฐแมรีแลนด์ 2 เมืองในรัฐเวอร์มอนต์ และเมืองซานฟรานซิสโก ที่อนุญาตให้ผู้อยู่อาศัยที่ไม่ได้เป็นพลเมืองมีสิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา

นิวยอร์กซิตี้กับสิทธิการเลือกตั้งของผู้อพยพ

ย้อนกลับไปเมื่อกลางปี 2565 ศาลมลรัฐนิวยอร์กตัดสินให้กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นที่ออกโดยสภาเมืองนิวยอร์กซิตี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยกฎหมายดังกล่าวอนุญาตให้บุคคลที่ไม่ได้ถือสัญชาติอเมริกัน รวมถึงผู้อพยพที่ยังไม่ได้รับการรับรองสถานะ สามารถลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งนายกเทศมนตรีและเจ้าหน้าที่ตำแหน่งอื่นๆ ในระดับท้องถิ่นของเมืองได้

กลุ่มผู้สนับสนุนกฎหมายดังกล่าวของสภาเมืองนิวยอร์กซิตี้ระบุว่ากฎหมายการเลือกตั้งท้องถิ่นฉบับนี้สะท้อนเสียงที่แท้จริงของคนที่สร้างบ้านในมหานครแห่งนี้และจ่ายภาษีให้ท้องถิ่นแต่กลับต้องเผชิญความยากลำบากในการใช้ชีวิตเพราะไม่ใช่พลเมืองอเมริกัน ขณะที่ ส.ส.รัฐนิวยอร์กจากพรรครีพับริกันหลายคนระบุว่ากฎหมายดังกล่าวขัดต่อกฎหมายการเลือกตั้งและธรรมนูญการปกครองของมลรัฐที่กำหนดไว้ชัดเจนว่าสิทธิในการเลือกตั้งเป็นของพลเมืองอเมริกัน ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกับที่ผู้พิพากษาศาลมลรัฐนิวยอร์กยกขึ้นมาประกอบผลคำตัดสิน

สิทธิในการเลือกตั้งของคนต่างชาติในสหรัฐฯ ยังต้องถกเถียงต่อ

บทความเมื่อปี 2564 โดย PEW องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำงานด้านการพัฒนานโยบายสาธารณะระบุว่าไม่เพียงแต่เมืองต่างๆ ใน 2 รัฐข้างต้นเท่านั้นที่ให้สิทธิเลือกตั้งระดับท้องถิ่นแก่คนต่างชาติ แต่ยังมีอีกหลายเมืองในหลายรัฐที่กำลังพิจารณาออกกฎหมายขยายสิทธิการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นให้ครอบคลุมแก่ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในรัฐนั้นๆ เช่น เมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ที่กำลังพิจารณาให้สิทธิการเลือกตั้งคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาแก่บิดามารดาที่ไม่ได้ถือสัญชาติอเมริกันแต่มีบุตรที่เป็นพลเมืองอเมริกัน เป็นต้น ซึ่งทาง PEW มองว่าการมอบสิทธิในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นแก่คนต่างชาติถือเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันต่อในระยะยาวในสังคมอเมริกัน

ทั้งนี้ แม้ว่าคนต่างชาติที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯ จะไม่มีสิทธิเลือกตั้งในระดับสหพันธ์ แต่ข้อมูลจาก PEW Research Center และสํานักการสํารวจสํามะโนประชากรระบุว่าในการแบ่งเขตเลือกตั้งเพื่อหาจำนวนผู้แทนราษฎรระดับประเทศจะนับรวม ‘ผู้อยู่อาศัยทุกคน’ ไม่ว่าจะเป็นพลเมืองอเมริกันหรือผู้ถือสัญชาติอื่นตามที่มีข้อมูลปรากฏอยู่ในระบบสำรวจสำมะโนประชากร

แปลและเรียบเรียงจาก:

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net