Skip to main content
sharethis

ส.ส.ก้าวไกล แฉทุจริตถนนพาราซอยล์ ใบเสร็จชัด เอี่ยว 'อสถ' ปี 62 ถาม 'อนุพงษ์' กระทรวงมหาดไทยลงโทษกันยังไง ให้คนทุจริตได้เลื่อนตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวง ด้าน รมว.มหาดไทย ยันไม่ได้ปิดบัง สอบสวนและลงโทษแล้ว ดำเนินการต่อทั้งทางวินัย เรื่องอาญาก็ว่ากันอีก

15 ก.พ. 2566 ที่รัฐสภา หลังจาก ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กรุงเทพฯ เขตบางขุนเทียน พรรคก้าวไกล อภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 กรณีทุจริต “โครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร” หรือ ถนนพาราซอยล์ ของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เมื่อปี 2562 นั้น ข่าวสดออนไลน์ และไทยโพสต์ รายงานการชี้แจงของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ซึ่ง รมว.มหาดไทย กล่าวว่า การร้องเรียนทุจริตที่มีปลัดเทศบาลอำนาจเจริญ ไปเรียกค่าตอบแทนจากผู้ประกอบการ 15% หรือเกือบ 400 ล้านบาท แต่เมื่อผู้ประกอบการจ่ายเงินแล้ว กลับไม่ได้รับโครงการ ทางกระทรวงมหาดไทย โดยปลัดกระทรวงมหาดไทยคนเก่าที่เกษียณไปแล้ว ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว 

รมว.มหาดไทย กล่าวต่อว่า ต่อมาปลัดกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ได้ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง สรุปว่า ปลัดเทศบาลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอำนาจเจริญกับสามี มีความผิดจริง เป็นความผิดวินัยร้ายแรง และแจ้งให้จังหวัดที่ย้ายมาทำหน้าที่ใหม่ได้ทราบ กระทรวงมหาดไทยไม่ได้ปิดบัง ได้มีการสอบสวน พิจารณาลงโทษแล้ว จากนี้ก็มีการดำเนินการต่อทั้งทางวินัย เรื่องอาญาก็ว่ากันอีก

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวถึงกรณี สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย คนปัจจุบันนั้น พบว่า ในช่วงนั้นคณะกรรมาธิการสอบระบุชัดเจนว่า ขณะสุทธิพงษ์ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในชั้นนี้ จากการสืบสวนยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานเชื่อมโยง จึงยุติเรื่องแค่นั้น การแต่งตั้งปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นการแต่งตั้งไปตามระเบียบว่า ในขณะนั้นสุทธิพงษ์ยังมีคุณสมบัติได้รับการแต่งตั้ง ถ้ามีข้อมูลตามที่อภิปรายก็ส่งข้อมูลมา ตนจะดำเนินคดีตามวินัย

ส.ส.ก้าวไกล แฉทุจริตถนนพาราซอยล์ ใบเสร็จชัด เอี่ยว 'อสถ' ปี 62 ถาม “อนุพงษ์”กระทรวงมหาดไทยลงโทษกันยังไง ให้คนทุจริตได้เลื่อนตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวง

สำหรับการอภิปรายของ ณัฐชา นั้นทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า ณัฐชาอภิปราย ว่านโยบายนี้มีมาตั้งแต่ปี 2560 สมัยรัฐบาล คสช. ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ จัดทำโครงการเพื่อทำถนนผสมยางพารา มีจุดประสงค์เพื่อแก้ปัญหายางพาราตกต่ำ โดยตั้งเป้าให้ อปท. ทำถนนให้ได้ 75,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังการทำโครงการ คือราคายางไม่ได้ดีขึ้น สิ่งที่เพิ่มขึ้นคือยอดเงินในกระเป๋าของข้าราชการระดับสูงในกระทรวงมหาดไทย

ณัฐชา กล่าวว่า โครงการนี้ไม่ใช่แค่การไปซื้อยางพาราจากประชาชนมาถมถนน แต่เป็นการนำน้ำยางพาราไปผสมกับสารเคมีเพื่อให้เกิดเป็นวัสดุสำหรับทำถนน ซึ่งการผสมสารนี่เองที่มีความไม่ชอบมาพากล ในช่วงแรก มีบริษัทอยู่แค่ 3 เจ้าเท่านั้น ที่ได้รับการรับรองจาก กยท. ว่าสามารถใช้ผสมทำถนนได้ ต่อมาทั้ง 3 เจ้า ถูกแฉว่าอาจเป็นเจ้าของเดียวกันทั้งหมด แค่แยกร่างออกมาให้ดูเหมือนมีการแข่งขันกัน แต่เรื่องนี้นอกจากการผูกขาด ยังมีเหตุการณ์เชื่อมโยงกับข้าราชการระดับสูง เกี่ยวข้องกับงบประมาณราว 1,000 ล้านบาทในช่วงระหว่างมีโครงการ

โดยตัวละครสำคัญในเรื่องนี้มี 3 คน คนแรกคือ “พ” เป็นรองปลัดเทศบาลในจังหวัดอำนาจเจริญ คนที่สองคือ “ช” สามีของ “พ” เป็นกรรมการบริษัทค้าสารน้ำยาง คนที่สามคือ “ป” เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ที่เป็นเพื่อนสนิทของ 2 คนแรกอีกที โดยทั้ง 3 คนมีการพูดคุยกันว่าการทำโครงการนี้ มีค่าน้ำร้อนน้ำชา 15% ของมูลค่าโครงการ แบ่งเป็น 5% เป็นค่าดำเนินงาน อีก 10% ส่งให้ “นาย”

ณัฐชาอภิปรายพร้อมแสดงหลักฐานเป็นแชทไลน์ระหว่าง “พ” กับบุคคลที่ใช้ชื่อว่า “อสถ.” ระบุว่ากรณีโครงการเกิน 10 ล้านบาท เป็นอำนาจอนุมัติของสำนักงบประมาณ แต่หากไม่เกิน 10 ล้านบาทเป็นอำนาจของ “อสถ.” ต่อมาปรากฏว่ามีการโอนเปลี่ยนแปลงโครงการเพื่อเรียกรับผลประโยชน์ พบว่าผู้รับเหมา “ป” ได้รับโครงการใน 7 จังหวัดทางภาคอีสาน รวม 55 โครงการ เป็นเงิน 394 ล้านบาท ทุกโครงการมีมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท เป็นอำนาจอนุมัติโดย “อสถ” ทั้งหมด

ณัฐชา กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นการเอื้อประโยชน์กันระหว่างผู้รับเหมากับข้าราชการประจำและข้าราชการระดับสูง สั่งกันมาเป็นทอดๆ ฮั้วและแบ่งเงินกัน สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องใหม่ และมีการตรวจสอบกันเองแล้วภายในกระทรวงมหาดไทย ผลออกมาเป็น หนังสือกระทรวงมหาดไทย ลงนามโดยรองปลัดกระทรวงฯ ขณะนั้น ระบุว่า “พ” ผิดวินัยร้ายแรง ส่วน “อสถ” ในขณะนั้นกลับไม่ผิด โดยต่อมา “พ” ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นปลัดเทศบาลเมืองที่จังหวัดสมุทรปราการ ส่วน “อสถ” ปัจจุบันได้รับการแต่งตั้งเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย

นี่คือความไม่ชอบมาพากล แต่ละคนที่แต่งตั้ง ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการไปจนถึงระดับบริหาร การบริหารราชการแผ่นดินในยุค 3ป ลงโทษกันแบบนี้หรือ จึงต้องถาม 3 ข้อว่า หนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรู้เห็นเป็นใจกับการทุจริตครั้งนี้หรือไหม สอง ทราบข้อมูลพยานหลักฐานทั้งหมดนี้หรือไม่ สาม กระบวนการลงโทษทางวินัยของกระทรวงมหาดไทย มีแต่การเลื่อนตำแหน่งใช่หรือไม่ และสี่ คนมีประวัติด่างพร้อย มีมลทินมัวหมองขนาดนี้ สมควรเป็นปลัดกระทรวงต่อไปในยุครัฐบาล 3ป ใช่หรือไม่” ณัฐชา กล่าว

“กระบวนการตรวจสอบภายในของมหาดไทยนำพาความเคลือบแคลงสงสัย ท่านมักอ้างเข้ามาปราบโกง ถ้าเหตุการณ์ทั้งหมด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไม่ได้มีส่วนรู้เห็น ด้วยพยานหลักฐานวันนี้ ต้องมีกระบวนการนำคนผิดมาลงโทษ ปลดผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดตามหลักฐาน เพื่อไม่ให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นอีก” ณัฐชากล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net