Skip to main content
sharethis

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ จัดงาน “วันผู้ย้ายถิ่นสากล” เปิดเวทีจัดเรตติ้งรัฐและกระทรวงแรงงานกับการแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติและผู้ย้ายถิ่น ชี้ สอบตก ตกขอบ ย่ำอยู่กับที่ “อดิศร เกิดมงคล” แนะ รัฐให้จริงใจในการแก้ไขปัญหา หลังพบแรงงานเสี่ยงหลุดจากระบบร่วมล้านคน เปิดช่องค้ามนุษย์ และแรงงานเถื่อน

 

16 ธ.ค. 2565 เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) จัดงานวันผู้ย้ายถิ่นสากล  (International Migrant Day 2022) ในงานมีการเสวนา “เช็คคะแนนกระทรวงแรงงาน เดินหน้า ย่ำอยู่กับที่ หรือถอยหลัง กับการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติ หลังสถานการณ์โควิด”  โดยมีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมเสวนา

โดยก่อนเริ่มเวทีเสวนา แม็กซิมิลเลียน พอตเลอร์ หัวหน้าแผนกการเคลื่อนย้ายแรงงานและการบูรณาการทางสังคมองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ได้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “เปิดกว้าง (การจ้างงานที่เป็นธรรม) เชื่อมโยง (การจัดหางานอย่างมีจริยธรรม) เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจด้วย

 ขณะที่ อดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรประชากรข้ามชาติกล่าวในเวทีเสวนาว่า  จากผลกระทบของการระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากหลุดจากระบบการจ้างงานอย่างถูกฎหมาย เนื่องจากข้อจำกัดของกฎหมายทั้งในเรื่องการเปลี่ยนย้ายนายจ้าง และการแก้ไขปัญหาของภาครัฐยังไม่เอื้อต่อแรงงานข้ามชาติ

“โดยเฉพาะแรงงานพม่าที่มีปัญหาทางการเมืองภายใน ไม่เอื้อต่อการนำเข้า ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน หากเทียบก่อนและหลังการระบาดของโควิด เฉพาะช่วงเดือนต.ค.2565  พบแรงงานข้ามชาติหายไปจากระบบถึงประมาณ 160,000 คน จากแรงงานข้ามชาติที่ขออนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรีที่มีมากถึง 1,876,945 คน จากจำนวนแรงงานข้ามชาติ 2,438,794 คน” อดิศร กล่าว

อดิศร เกิดมงคล

ระบบลงทะเบียนล้มเหลว เอื้อนายหน้าหาประโยชน์

อดิศร กล่าวว่า เห็นได้จากในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายเปิดจดทะเบียนและดึงแรงงานข้ามชาติที่หลุดเข้าระบบถึง 4 ครั้ง และมีมาตรการในการขยายเวลาการดำเนินการของแรงงานข้ามชาติกลุ่มต่าง ๆ ออกไปอีกมากกว่า 10 ครั้ง ชี้ให้เห็นว่า ระบบขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติล้มเหลว ล่าช้าเปิดช่องแสวงหาประโยชน์

“ยกตัวอย่าง เช่น ขั้นตอนการยื่นบัญชีรายชื่อแรงงานข้ามชาติทางระบบออนไลน์ ให้ดำเนินการภายใน 15 วัน โดยจะต้องได้รับการอนุมัติขั้นตอนการขอเข้าใช้ระบบของนายจ้างและขั้นตอนการอนุมัติบัญชีรายชื่อถึงสองครั้งจากกรมการจัดหางานในส่วนกลางเท่านั้น ทำให้เกิดความล่าช้า และ พบว่านายจ้างจำนวนมากต้องรอการอนุมัติการเข้าใช้ระบบเพื่อขอยื่นบัญชีรายชื่อถึง 5 วัน ระบบยุ่งยากสับสนส่งผลให้ต้องใช้นายหน้า ที่ต้องเสียค่าดำเนินการตั้งแต่ 12,000 – 18,000 บาท ทั้งที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่ควรจะเป็นจะอยู่ที่ประมาณสามพันกว่าบาทเท่านั้น" อดิศร กล่าว

 

 

พบแรงงานข้ามชาติเสี่ยงหลุดระบบร่วมล้านคน

จากการประเมินเบื้องต้นคาดว่ามีแรงงานข้ามชาติมากกว่า 7 แสนคนที่ยังไม่มีหนังสือเดินทางหรือหนังสือเดินทางหมดอายุ และตลอดช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 แรงงานข้ามชาติไม่สามารถเดินทางกลับไปจัดทำหนังสือเดินทางที่ประเทศต้นทางได้เนื่องจากปิดชายแดน ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการ

 ขณะเดียวกันมาตรการจัดทำหนังสือเดินทางของประเทศต้นทางในประเทศไทยทั้งโดยศูนย์ดำเนินการที่ตั้งขึ้นและสถานทูตประจำประเทศไทยก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันตามกรอบระยะเวลาตามมติคณะรัฐมนตรี คือภายใน 13 กุมภาพันธ์ 2566 ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงว่าแรงงานข้ามชาติมากกว่า 700,000 คนจะกลายเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมายเพราะไม่สามารถดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลได้ทัน

เปิดช่องขบวนการแรงงานเถื่อน – ค้ามนุษย์

แม้รัฐบาลจะมีมาตรการทางกฎหมายในแง่การคัดครองผู้ลี้ภัย แต่ก็ยังมีความล่าช้าในการดำเนินการ  ส่งผลให้มีผู้อพยพเข้าเมืองอยู่และทำงานในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย และหลายครั้งที่รัฐบาลใช้มาตรการในการผลักดันส่งกลับซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้อพยพ ซึ่งขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน การขาดมาตรการรองรับส่งผลให้ผู้อพยพจำนวนมาก ต้องลักลอบเข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างมีความเสี่ยงทั้งต่อชีวิตและต่อการค้ามนุษย์ข้ามชาติ รวมทั้งกลายเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมายในประเทศไทยด้วยเช่นกัน

 

จัดเรตติ้งรัฐไทยถอยหลังและสอบตก พร้อมเปิด 4 ปัญหาหลัก

ถ้าหากจะประเมินการจัดการเรื่องแรงงานข้ามชาติและผู้อพยพโยกย้ายของรัฐบาลไทยในช่วงที่ผ่านพบว่าการดำเนินการของรัฐบาลไทยนั้นถอยหลังและสอบตกและนำไปสู่  4 ปัญหาสำคัญ คือ แรงงานข้ามชาติถูกกฎหมายหลุดระบบ พบแรงงานอพยพเข้ามาอย่างผิดกฎหมายเพิ่มขึ้น รัฐบาลยังแก้ปัญหาเฉพาะหน้าขาดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน และมาตรการการจัดการยังส่งผลให้การคอรัปชั่นและเอื้อประโยชน์ต่อการแสวงหาประโยชน์ของระบบนายหน้าและเจ้าหน้าที่รัฐ

ข้อเสนอสำคัญสำหรับการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติและผู้อพยพของรัฐบาลไทย ต้องการให้มีการทบทวนแนวทางและระยะเวลาในการดำเนินการจดทะเบียนและขอต่อใบอนุญาตทำงานออกไปตามเงื่อนไขข้อจำกัด จัดระบบการดำเนินการที่ง่ายเอื้อต่อการดำเนินการของนายจ้างและแรงงานข้ามชาติ มีมาตรการดึงแรงงานข้ามชาติเข้าอยู่ระบบ ควบคู่ไปกับการป้องกันการหลุดจากระบบของแรงงานข้ามชาติ เช่น มีมาตราการผ่อนผันให้กลุ่มแรงงานนำเข้า MoUโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพม่าที่ครบวาระการจ้างงานตามกฎหมายยังสามารถทำงานในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราวจนกว่าระบบการนำเข้าแรงงานข้ามชาติจะเอื้อต่อการดำเนินมากขึ้น เร่งรัดการจัดระบบคัดกรองผู้ลี้ภัย ทำระบบรับเรื่องร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพและลงโทษอย่างจริงจังต่อเจ้าหน้าที่ที่แสวงหาประโยชน์จากข้อจำกัดของนโยบาย และจัดทำยุทธศาสตร์การจัดการแรงงานข้ามชาติ และยุทธศาสตร์การจัดการผู้อพยพเพื่อการบริหารจัดการระยะยาว

แฉล้ม สุกใส

นายจ้างให้เรตติ้งย่ำอยู่ ขึ้นทะเบียนล่าช้า ทำแรงงานนอนคุก

ขณะที่ แฉล้ม สุกใส ตัวแทนนายจ้างกิจการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา คือในเรื่องการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ที่ภาครัฐดำเนินการล่าช้า โดยล่าสุดมติ ครม. 5 ก.ค. เปิดให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงาน 4 สัญชาติ ที่มีสถานะไม่ถูกต้อง แต่การดำเนินการที่ล่าช้าทำให้แรงงานถูกจับกุมดำเนินคดี เมื่อนำแรงงานไปข้อขึ้นทะเบียนแล้ว ก็จะได้รับเอกสารติดตัวเป็นสำเนาใบขอขึ้นทะเบียน สำเนาใบเสร็จ เป็นต้น แต่เอกสารเหล่านี้ใช้แสดงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้

“เจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนไม่รับฟัง หรือไม่มีความเข้าใจในเรื่องเอกสารหลักฐานการขอขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ  เขาไม่รู้ว่าเอกสารแต่ละประเภทคืออะไร ต้องดูอย่างไร จะขอดูเพียงพาสปอร์ตตัวจริงเท่านั้น เมื่อไม่มีพาสปอร์ตมาแสดงก็ถูกจับเข้าไปนอนในคุก สุดท้ายต้องให้เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานมายืนยันให้จึงถูกปล่อยตัวออกมา ถือว่าเป็นการติดคุกฟรี ดังนั้นหากจะให้จัดเรตติ้งให้กระทรวงแรงงานขอให้เรตติ้งทำงานตกขอบและยังช้าอยู่" แฉล้ม กล่าว

 

ข้อเสนอแนะของเราคือ ภาครัฐควรปรับปรุงการทำงาน กระทรวงแรงงานกับตำรวจต้องทำความเข้าใจร่วมกัน อยากให้สื่อสาร และประสานงานกันให้เข้าใจตรงนี้มากขึ้น

นักปกป้องสิทธิแรงงาน จัดเรตติ้ง ถอยหลังตกขอบ ระบุ กระทรวงแรงงานไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับแรงงานที่ต้องการเรียกร้องสิทธิ

ธนพร วิจันทร์ นักปกป้องสิทธิแรงงาน กล่าวว่า   นโยบายการขึ้นทะเบียนของกระทรวงแรงงานไม่ชัดเจน มีเรื่องการเรียกรับเงินจากเจ้าหน้าที่เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ตนจึงพาคนงานไปยื่นหนังสือติดตามความคืบหน้าปัญหาการขึ้นทะเบียนและเรียกร้องให้กระทรวงแรงงานดูแลไม่ให้มีการเรียกรับเงิน  แต่กลับถูกกระทรวงแรงงานไปแจ้งความกล่าวหาว่าตนเองให้ที่พัก ซ่อนเร้นคนต่างด้าว ฯสุดท้าย ตำรวจอ้างว่าข้อหาดังกล่าวไม่มีพยานหลักฐานจึงแจ้งข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งการที่ตนถูกภาครัฐฟ้องในหลังออกมาเรียกร้องในประเด็นสิทธิแรงงานนั้นมองว่าเป็นเพราะความไร้น้ำยาในการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติ เป็นการรู้ไม่จริงแต่ทำเป็นเก่ง มันบ่งบอกว่าคุณพยายามมีมติ ครม.ที่จะทำให้แรงงานข้ามชาติขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่สามารถทำให้จบได้  เนื่องจากกลไกไม่เป็นวัน สต็อป เซอร์วิส ไม่อำนวยความสะดวกในการให้แรงงานต่อเอกสาร หรือใบอนุญาตทำงาน  จึงทำให้เป็นภาระของแรงงาน และสุดท้ายมันจึงเป็นช่องทางของการทำงานหากินของนายหน้า  

“ส่วนการให้เรตติ้งการทำงานของกระทรวงแรงงานนั้น มองว่าถอยหลัง และยังตกขอบด้วย ไม่ใช่ถอยหลังธรรมดา เพราะว่ากระบวนการจัดการที่มีปัญหา ยิ่งเป็นหน่วยงานรัฐก็ยิ่งมีแนวคิดในเรื่องชาตินิยม มีทัศนคติที่ไม่ดีกับแรงงานข้ามชาติ ยกตัวอย่างคดีของพี่ที่มันไม่ควรจะออกมาเป็นแบบนี้ พวกเราที่เป็นนักปกป้องสิทธิแรงงาน หรือผู้นำแรงงานที่เรียกร้องในเรื่องประเด็นแรงงานข้ามชาติ เราไปเรียกร้อง ไปยื่นหนังสือ แล้วติดคุก 1 เดือน ปรับ 2 หมื่น ซึ่งกระทรวงแรงงานควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัย สำหรับแรงงานทุกคนทุกเชื้อชาติที่อยู่ในไทยด้วย” ธนพร กล่าว

ธนพร วิจันทร์

“อสต.” ให้เรตติ้งรัฐบาลก้าวหน้าในการดูแลสุขภาพแรงงานข้ามชาติในสถานการณ์โควิด

Thandar Myo อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) กล่าวว่า ในตอนช่วงสถานการณ์ตอนโควิดระบาด ตนเองได้ทำงานเป็น อสต.ของศุภนิมิตบางครั้งก็มีแรงงานข้ามชาติบางคนในชุมชนที่ลงไปทำงานไม่สบาย ก็มาขอความช่วยเหลือให้ช่วยพาไปโรงพยาบาล เพราะเขาสื่อสารภาษาไทยไม่ได้ คุยกับหมอกับพยาบาลไม่รู้เรื่อง เมื่อลงไปช่วยก็สังเกตุเห็นว่าที่โรงพยาบาลไม่มีล่ามเลยจึงคิดว่าหากโรงพยาบาลมี อสต.มาช่วยในการสื่อสารก็จะลดอุปสรรคปัญหาไปได้เยอะ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็จะไม่เหนื่อยมาก นอกจากนี้ตนยังยังมีข้อเสนอในเรื่องสถานะของอสต.เองก็ยังไม่ได้รับการยอมรับ จึงอยากให้มีการอบรมที่ได้มาตรฐานจากหน่วยงานรัฐ และมีใบรับรองให้ เพื่อจะสามารถใช้อ้างอิงและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่แรงงานข้ามชาติในชุมชนได้ และอยากให้มีการสนับสนุนค่าตอบแทนให้กับ อสต. ที่เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้บ้าง ซึ่งทำงานเป็นทั้งล่ามและเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพให้กับแรงงานข้ามชาติ รวมถึงช่วยเฝ้าระวังเรื่องโรคระบาดในชุมชนแรงงานฯ อยากขอให้หน่วยงานรัฐของไทยช่วยผลักดันให้เป็นจริงในอนาคตได้หรือไม่

Thandar Myo

ทั้งนี้หากให้ประเมินการทำงานของรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลแรงงานข้ามชาติในสถานการณ์โควิดตนยังมองว่ามีความก้าวหน้า และยังสามารถผลักดันในสิ่งต่างๆที่ได้กล่าวมาให้ดีขึ้นไปจากเดิมที่ก้าวหน้าอยู่แล้วให้ก้าวหน้าขึ้นไปอีกได้ด้วย เนื่องจากภาครัฐได้มีการสนับสนุน Hospitel โรงพยาบาลสนาม ยารักษาและถุงยังชีพให้กับแรงงานข้ามชาติในช่วงสถานการณ์โควิดระบาด รวมถึงจัดเตรียมวัคซีนให้กับ อสต. ที่เป็นด่านหน้า และให้กับแรงงานข้ามชาติอย่างทั่วถึง

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net