Skip to main content
sharethis

กลุ่มนอนไบนารีแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ 'รัฐบาลต้องแถลงขอโทษประชาชนอย่างเป็นทางการ กรณีใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมกลุ่มราษฎรหยุด APEC 2022'

20 พ.ย. 2565 กลุ่มนอนไบนารีแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ 'รัฐบาลต้องแถลงขอโทษประชาชนอย่างเป็นทางการ กรณีใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมกลุ่มราษฎรหยุด APEC 2022' โดยระบุว่าจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่ผ่านมา กลุ่มราษฎรหยุด APEC 2022 ได้จัดชุมนุม ณ บริเวณลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร และมีแผนการเคลื่อนขบวนมวลชนไปยื่นหนังสือต่อผู้นำชาติต่างๆ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออกจากการเป็นประธานการประชุม Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC)  รวมถึงยกเลิกนโยบายความร่วมมือเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG) แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ได้ทำการขัดขวางและใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม มีการยิงกระสุนยาง ทำให้ผู้ชุมนุม สื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บหลายราย ทั้งยังมีผู้ชุมนุมถูกเจ้าหน้าที่จับกุม ดำเนินคดี 25 คน 

กลุ่มนอนไบนารีแห่งประเทศไทย (Non-Binary Thailand)  เห็นว่าการชุมนุมและการเดินขบวน เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกที่พึงได้รับความคุ้มครองตาม กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)  และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560  อีกทั้งกลุ่มราษฎร หยุด APEC 2022 มีการแจ้งการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 2558 แล้ว หากเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลการชุมนุมไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ตกลงหรือกำหนดไว้ เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลการชุมนุมสามารถร้องขอต่อศาล เพื่อให้สั่งให้ยุติการชุมนุมได้ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจปฏิบัติการสลายการชุมนุมก่อนศาลมีคำสั่งได้  แต่ในกรณีนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายดังกล่าว ทั้งยังใช้วิธีสลายการชุมนุมที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล

กลุ่มนอนไบนารีฯ จึงมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

1. ให้รัฐบาล และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางสอบสวนการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย และจัดให้มีมาตรการชดเชยผู้ถูกกระทำความรุนแรงจากการสลายการชุมนุมทั้งหมด

2. ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งยุติการตั้งข้อกล่าวหาต่อผู้ชุมนุม และรัฐบาลต้องมีถ้อยแถลงขอโทษประชาชนอย่างเป็นทางการ พร้อมให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่มีการดำเนินคดีใดๆต่อผู้ชุมนุม โดยมุ่งหวังที่จะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการจัดการกับประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐ
    
ทั้งนี้โดยปกติทั่วไปในนานาประเทศ เมื่อมีการจัดประชุมความร่วมมือระหว่างผู้นำนานาประเทศเช่นนี้ การมีขบวนการภาคประชาสังคมในประเทศนั้นออกมาจัดการชุมนุมในพื้นที่จัดการประชุม ถือเป็นเรื่องปกวิสัย ในบางประเทศ เมื่อเป็นประเทศนั้นเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกับผู้นำชาติต่างๆในประชาคมแล้ว ยังได้จัดสัดส่วนผู้เข้าร่วมจากภาคองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs)ให้เข้าร่วมในการประชุมร่วมกับผู้นำชาติสมาชิกด้วย เช่นการประชุม United Nations Climate Change Conference หรือ the 2022 COP27 ประเทศอียิปต์ ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไป  หรือเมื่อปี 2552 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมAssociation of South East Asian Nations หรือ ASEAN 2009   ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ณ ขณะนั้น ก็ได้ดำเนินการการจัดประชุม ASEN People Forum (APF) โดยที่เลขาธิการอาเซียนและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยในเวลานั้น (กษิต ภิรมย์) ได้เข้าพบภาคประชาสังคมกว่า 1,000 คน ที่มาประชุมด้วยตนเองอีกด้วย   
    
ดังนั้นกลุ่มนอนไบนารีฯ จึงผิดหวังเป็นอย่างยิ่งต่อบทบาทของรัฐบาลในการทำหน้าที่จัดการประชุม APEC ที่นอกจากไม่ให้ความสำคัญต่อเสียงของประชาชนแล้ว การเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC โดยประเทศไทยครั้งนี้ยังจบลงด้วยคราบเลือด ความสูญเสียของประชาชน เท่ากับว่าการประชุมความร่วมมือระหว่างประเทศครั้งสำคัญนี้ ไม่ได้ให้ความสำคัญใดๆต่อประชาชนคนไทยผู้เป็นเจ้าของประเทศแม้แต่น้อย อันเป็นสิ่งที่น่าอัปยศอดสูในประวัติศาสตร์ชาติไทย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net