Skip to main content
sharethis

เปิดผลงานวิจัย “กาวเมล็ดมะขามในงานศิลปะ” ของอัศวิณีย์ หวานจริง แห่งภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าของคดี ‘ตัดโซ่’ ผู้แจ้งความจับกุม 2 อาจารย์ - 1 นศ. ทัศนัย เศรษฐเสรี , ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ และยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ จากคณะวิจิตรศิลป์ มช. เช่นกัน กาวเมล็ดมะขามในงานศิลปะเป็นงานวิจัยที่มุ่งอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของครูช่างไทยสมัยโบราณเกี่ยวกับการทำกาวเมล็ดมะขาม และยังได้รับการตีพิมพ์ถึง 2 ครั้งด้วยกัน

 

11 พ.ย. 2565 เปิดผลงานวิจัยของอัศวิณีย์ หวานจริง แห่งภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าของคดี ‘ตัดโซ่’ ผู้แจ้งความจับกุม 2 อาจารย์ - 1 นศ. ทัศนัย เศรษฐเสรี , ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ และยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ จากคณะวิจิตรศิลป์ มช. เช่นกัน ในข้อหาบุกรุกเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นฯ จากกรณีที่อาจารย์และนักศึกษาสาขาวิชา Media Art and Design คณะวิจิตรศิลป์ มช. ได้กระทำการตัดโซ่คล้องกุญแจที่ล็อคประตูทางเข้าสาขาวิชา Media Art and Design ซึ่งเป็นที่ตั้งของหอศิลปวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2564

อัศวิณีย์ หวานจริง อดีตคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มช.

 

เปิดงานวิจัยกาวเม็ดมะขามใช้ในงานศิลปะของอัศวิณีย์

นอกจากเรื่องการเก็บผลงานศิลปะของนักศึกษาใส่ถุงดำ และเป็นเจ้าของคดีตัดโซ่แล้ว รองศาสตราจารย์ อัศวิณีย์ หวานจริง แห่งภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังเป็นเจ้าของผลงานวิจัย เรื่อง “กาวเมล็ดมะขามในงานศิลปะ” ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ถึง 2 ครั้ง กับทางสำนักงานบริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครั้งที่หนึ่งในเดือนพฤษภาคม 2564  และครั้งที่สองเดือนธันวาคม 2564

ผลงานวิจัย “กาวเมล็ดมะขามในงานศิลปะ” เป็นส่วนหนึ่งจากโครงการวิจัย “อนุรักษ์เทคนิคกาวเมล็ดมะขามเพื่อพัฒนาเป็นสื่อการสอน” ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำปีงบประมาณ 2561

ผลงาน “กาวเมล็ดมะขามในงานศิลปะ” โดย อัศวิณีย์ หวานจริง

รองศาสตราจารย์อัศวิณีย์มุ่งหวังให้งานศึกษาชิ้นนี้มีส่วนอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของครูช่างไทยสมัยโบราณเกี่ยวกับการทำกาวเมล็ดมะขาม ซึ่งเป็นวัสดุจากธรรมชาติที่หาได้ง่าย ประหยัด ไม่มีสารเคมี ไม่เป็นพิษและมลภาวะ ต่อสภาพแวดล้อมในธรรมชาติ นำมาประยุกต์ใช้กับวัสดุต่างๆ และสะดวกต่อการใช้สำหรับนักเรียนนักศึกษาได้ทดลองใช้เป็นวัสดุการเรียนการสอนทำผลงานด้านศิลปะ

ความรู้ในการทำกาวเมล็ดมะขามนั้นรองศาสตราจารย์อัศวิณีย์ได้รับมาจากสมัยที่เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ภาควิชาศิลปะไทย คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปกร เมื่อพ.ศ. 2532 จนมารถคิดค้นสูตรในการทำกาวเมล็ดมะขามได้หลากหลายรูปแบบ

ในงานวิจัยมีการบอกถึงกรรมวิธีการทำกาวเมล็ดมะขาม ตั้งแต่การคั่วเมล็ดมะขาม การต้มกาว และการทดลองทำกาวเมล็ดมะขามแห้งแบบแผ่น แบบผง และแบบอัดเม็ด รวมไปถึงการทดสอบลองพื้นกาวเมล็ดมะขามสำเร็จรูป และวิเคราะห์ทางคุณภาพของพื้นกาวเมล็ดมะขามแบบน้ำและแห้งให้แก่ผู้อ่าน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2565 เฟซบุ๊กเพจ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า อัศวิณีย์ยังได้รับทุนอุดหนุนการตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ The International Journal of Designed Objects (Scopus Q2) ในชื่อผลงาน Conservation of Tamarind Seed Glue as a Medium of Art Instruction อีกด้วย

 

คดีตัดโซ่

ภาพจาก ศูนย์ ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

เหตุการณ์ “ตัดโซ่” เกิดขึ้นเนื่องจากการที่นักศึกษาสาขาวิชา Media Art and Design ชั้นปีที่ 4 ไม่สามารถเข้าไปติดตั้งผลงานศิลปะของตนเองได้ เนื่องจากทั้งประตูทางเข้าบริเวณสาขาวิชาและตัวหอศิลป์ถูกล็อคด้วยโซ่และยังถูกตัดน้ำตัดไป เพื่อให้ทันวันแสดงนิทรรศการแสดงศิลปนิพนธ์ “WHIPLASH : MADs Pre-degree Exhibition 2021” ของนักศึกษาในวันที่ 20 ต.ค. 2564 นักศึกษาและอาจารย์ที่เกี่ยวข้องจึงได้ทำการ Occupy หรือบุกยึดหอศิลป์พื้นที่จัดแสดงงานคืนจากผู้บริหารคณะซึ่งมีรองศาสตราจารย์ อัศวิณีย์ หวานจริง เป็นคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ในขณะนั้น

ชื่อของรองศาสตราจารย์ อัศวิณีย์ หวานจริง ขณะที่ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ เป็นที่สนใจและถูกจับตาจากสังคมจากกรณี “เก็บผลงานศิลปะของนักศึกษาใส่ถุงดำ” จนกลายเป็นข่าวดัง โดยเมื่อวันที่ 22 มี.ค.64 คณบดีและรองคณบดีคณะวิจิตรศิลป์นำเจ้าหน้าที่บุกเข้าไปแอบรื้อถอนและเก็บผลงานศิลปะของนักศึกษาที่วางอยู่ภายในลานหน้าตึก Media Art and Design ยัดใส่ถุงดำ และนำขึ้นรถของทางมหาวิทยาลัยเตรียมขนออกไป โดยไม่แจ้งให้นักศึกษาเจ้าของผลงานทราบ

ทางฝ่ายคณบดีและรองคณบดีอ้างว่าเป็นการเก็บไปเพื่อความสะอาดของพื้นที่ ไม่อนุญาตให้วางของเกะกะ ซึ่งหนึ่งในจำนวนนักศึกษาที่ถูกเก็บผลงานศิลปะยัดใส่ถุงดำมียศสุนทร รัตตประดิษฐ์ ผู้ต้องหาในคดีตัดโซ่รวมอยู่ด้วย

 

 

หนังสือ “กาวเมล็ดมะขามในงานศิลปะ” สามารถหาซื้อในรูปแบบไฟล์ PDF ได้ที่เว็บไซต์ซีเอ็ด ในราคา 154 บาท

 

 

หมายเหตุ มีการปรับแก้เนื้อหาในวันที่ 20 ธ.ค. 2565 เวลา 08.21 น. โดยการสลับเนื้อหาข่าวในส่วนงานวิจัย “กาวเมล็ดมะขามในงานศิลปะ” ขึ้นมาอธิบายก่อน "คดีตัดโซ่"

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net