Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

วิกฤตน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี ในปีนี้ (2565) ที่เรียกได้ว่า ได้สร้างความเสียหายมากที่สุด ในประวัติศาสตร์ของภัยพิบัติน้ำท่วม ที่เคยเกิดขึ้นมาของจังหวัดอุบลราชธานี (แม้ระดับน้ำจะไม่สูงเท่าปี 2521 แต่ มูลค่าความเสียหายมากกว่าปี 2521) ซึ่งสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งของน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานีในปีนี้คือ “เขื่อนปากมูล” ทั่งเรื่องความล้มเหลวในการบริหารจัดการน้ำ ที่ไม่ยอมเปิดประตูตามติของคณะทำงานบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล ที่มีมติให้เริ่มเปิดประตูระบายน้ำในวันที่ 12  มิถุนายน 2565 แต่กลับบ่ายเบี่ยง เลี่ยงมาเปิดในวันที่ 30 กรกฎาคม 2565 ล่าช้ากว่ากำหนดถึง 48 วัน จนนำมาสู่ภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ในปัจจุบัน

ประเด็นสำคัญที่เป็นปมข้อสังสัยว่า เกิดอะไรขื้น ในเมื่อคณะทำงานบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล ได้ประชุมกันเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 และมีมติให้ กฟผ. เริ่มเปิดประตูเขื่อนปากมูลตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2565 และเปิดสุดบานในวันที่ 21 มิถุนายน 2565 แต่ก่อนถึงกำหนดที่ กฟผ.จะต้องเปิดประตูเขื่อนปากมูลสุดบาน ทั้ง 8 บาน กลับมีการเรียกประชุมคณะทำงานบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล ขึ้นในวันที่ 20 มิถุนายน 2565 โดยไม่เชิญตัวแทนสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล เข้าร่วมประชุมด้วย ที่สำคัญการประชุมครั้งนี้ ไม่มีการเปิดเผยรายงานการประชุมแต่อย่างใด แต่ส่งที่เกิดขื้นตามมาคือ ไม่มีการเปิดประตูเขื่อนปากมูลในวันที่ 21 มิถุนายน 2565 แต่อย่างใด และไม่มีคำชี้แจงใดๆ เลย

จ.อุบลฯ มีมติให้ กฟผ.รักษาระดับน้ำเขื่อนปากมูล

แล้วการประชุมในวันที่ 20 มิถุนายน 2565 คณะทำงานบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล เขาลักลอบประชุมกันเรื่องอะไรบ้าง ทำไม จึงไม่มีการเปิดประตูเขื่อนปากมูล ตามมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 

ความลับไม่มีในโลก : ดังนี้ ครับ

การประชุมคณะทำงานบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล ครั้งที่ 5/2565 วันที่ 20 มิถุนายน 2565 โดยที่ประชุมมีมติดังนี้...(ยกมาเฉพาะเนื้อหาบางส่วนที่เป็นสาระสำคัญ) “เนื่องจากระดับน้ำ M7 ต่ำกว่า 108.20 ม.รทก. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยกองโรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธร (หน่วยงานกำกับเขื่อนปากมูล) จึงเสนอให้ปิดประตูเขื่อนปากมูล และที่ประชุมคณะทำงาน ฯ ก็มีมติตามที่ ผู้แทน กฟผ.เสนอ พร้อมกับให้ กฟผ.รักษาระดับน้ำที่ M7 ไว้ไม่ให้ต่ำกว่า 108 ม.รทก.” ….

 … แล้ว 108.20 ม.รทก และ 108 ม.รทก. คืออะไร มีความหมายใด…

ผมขออนุญาตให้ข้อมูลเพื่อที่ทุกท่านจะได้เข้าใจเรื่องการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล โดยเขื่อนปากมูลออกแบบมาเพื่อเก็บกักน้ำที่ระดับ 108 ม.รทก. ส่วนการเปิด – ปิด เขื่อนปากมูล มีหลักเกณฑ์ กำหนดไว้ ดังนี้

เกณฑ์การเปิด - ปิดเขื่อนปากมูล

1. เกณฑ์การเปิดประตูเขื่อนปากมูล เมื่ออัตราการไหลของน้ำที่สะพานเสรีประชาธิปไตย ในจังหวัดอุบลราชธานี สูงกว่า 500 ลบ.ม./วินาที หรือ ระดับน้ำที่วัดห้วยสะคาม ท้ายเขื่อนปากมูลสูงกว่าระดับ 95 ม.รทก. 

2. เกณฑ์การปิดประตูเขื่อนปากมูล เมื่ออัตราการไหลของน้ำที่สะพานเสรีประชาธิปไตย ในจังหวัดอุบลราชธานี ต่ำกว่า 100 ลบ.ม./วินาที หรือ ระดับน้ำที่สะพานเสรีประชาธิปไตย (M7) ต่ำกว่าระดับ 107 ม.รทก.

ดังนั้น เมื่อลองพิจารณามติที่ประชุมคณะทำงาน ฯ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 ประกอบกับเกณฑ์การเปิด – ปิดเขื่อนปากมูล จึงพอสรุปได้ดังนี้

1. ในวันประชุม (20 มิถุนายน 2565) ข้อมูลระบุชัดเจนว่า ระดับน้ำที่ M7 อยู่ที่ 108.20 ม.รทก. ซึ่งสูงกว่าระดับเก็บกักน้ำของเขื่อนปากมูล แล้วถึง 20 เซนติเมตร โดยระดับเก็บกักน้ำเขื่อนปากมูล กำหนดไว้ที่ระดับ 108 ม.รทก. เป็นระดับที่จะทำการเก็บกักน้ำในฤดูแล้ง ในสภาพปกติ ไม่ใช่การมาเก็บน้ำในต้นฤดูฝน

2. ในวันประชุม (20 มิถุนายน 2565) ข้อมูลระบุชัดเจนว่า ระดับน้ำที่ M7 อยู่ที่ 108.20 ม.รทก. ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ในการปิดประตูเขื่อนปากมูลถึง 1.20 เมตร (หนึ่งเมตรยี่สิบเซนติเมตร) และสูงกว่าระดับน้ำที่ควรจะเป็นหากมีการเปิดประตูเขื่อนปากมูล ถึง 3.20 เมตร

3. ที่ประชุมคณะทำงาน ฯ จงใจเปลี่ยนหลักเกณฑ์การเปิดประตูเขื่อนปากมูล ที่ให้อัตราการไหลของน้ำที่ M7 และ สถานีวัดน้ำห้วยสะคาม มาเป็นการใช้ระดับความสูงของน้ำที่ M7 แทน (ตามไฟล์รูปภาพ)

4. คณะทำงาน ฯ ไม่ศึกษาข้อมูลแวดล้อมอื่นเลย เช่นข้อมูลการระบายน้ำเขื่อนหัวนา และเขื่อนราษีไศล ที่ทำการระบายน้ำมาตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน 2565 แล้ว ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะซื่อบื้อขนาดนั้น

จากข้อเท็จจริงที่นำเสนอมาข้างต้น จึงตั้งข้อสังเกตุ ต่อการจัดประชุมคณะทำงาน ฯ ในวันที่ 20 มิถุนายน 2565 ดังนี้

1. รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี (นายวิรุจ วิชัยบุญ) และ หัวหน้ากองโรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธร ในฐานะผู้กำกับเขื่อนปากมูล ผู้อำนวยการชลประทาน 7 อุบลราชธานี หัวหน้าสำนักงานประปาอุบลราชธานี ซึ่งแต่ละท่านล้วนเป็นบุคคลสำคัญที่ทำงานเกี่ยวกับน้ำ จะไม่รู้เลยเหรอว่า เขื่อนปากมูลมีระดับเก็บกักน้ำสูงสุดเท่าใด และเกณฑ์การเปิด – ปิด เขื่อนปากมูล กำหนดไว้ว่าอย่างไร และเขื่อนหัวนา เขื่อนราษีไศล ระบายน้ำลงมาด้านล่างจำนวนมาก จึงไม่ยอมเปิดประตูเขื่อนปากมูล เพื่อทำการพร่องน้ำออก : หากไม่รู้ก็ถือว่าไร้ความสามารถ

2. รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี (นายวิรุจ วิชัยบุญ) หัวหน้ากองโรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธร ในฐานะผู้กำกับเขื่อนปากมูล ผู้อำนวยการชลประทาน 7 อุบลราชธานี หัวหน้าสำนักงานประปาอุบลราชธานี ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ในเรื่องน้ำ และการบริหารจัดการน้ำเป็นอย่างดี ย่อมรู้ว่า เขื่อนปากมูลมีระดับเก็บกักน้ำสูงสุดเท่าใด และเกณฑ์การเปิด – ปิด เขื่อนปากมูล กำหนดไว้ว่าอย่างไร และเขื่อนหัวนา เขื่อนราษีไศล ระบายน้ำลงมาด้านล่างจำนวนมาก แต่กลับไม่ยอมเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลออก : หากรู้ก็ถือว่าละเว้น

สรุปแบบตรงไปตรงมา คนที่เข้าประชุมในวันที่ 20 มิถุนายน 2565 ควรต้องรู้อยู่แล้วว่า ระดับน้ำสูงเกินกว่าระดับเก็บกักน้ำของเขื่อนปากมูลถึง 20 เซนติเมตร และยังเกิดเกณฑ์ที่จะต้องเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลแล้ว ยังมีมติให้ปิดประตูเขื่อนปากมูล ปิดทำเพื่อ ????
 
….พอน้ำท่วมปุ๊บ เสนอโครงการคลองผันน้ำยักษ์ งบประมาณ 45,000 ล้านบาทเลย...ใครควรจะรับผิดชอบต่อความเสียหายนี้ ทุกท่านพิจารณาตามความเหมาะสมครับ

#ปลดระวางเขื่อนปากมูล

#นำคนผิดมารับโทษ

#ให้น้ำท่วมอุบลเป็นครั้งสุดท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net