Skip to main content
sharethis

เหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่หนองบัวลำภูทำให้เสียงเรียกร้องสงครามยาเสพติด (drug war) กลับมา ความตายกว่า 2,000 ศพในสมัยทักษิณยังไม่มีการหาความจริง การเรียกร้องหากำปั้นเหล็กอาจนำมาซึ่งการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางเช่นในอดีตและมันไม่ได้ช่วยแก้ปัญหายาเสพติดที่ใจกลางแต่อย่างใด

เหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่จังหวัดหนองบัวลำภูสร้างความสะเทือนใจแก่ผู้คนทั้งประเทศ ข้อมูลเบื้องต้นที่ออกมาในช่วงแรกพบว่าผู้ก่อเหตุเสพยาเสพติด แม้ในช่วงหลังจะมีข้อมูลอีกชุดระบุว่าผู้ก่อเหตุไม่ได้เสพยา ถึงกระนั้นปัญหายาเสพติดก็กลายเป็นเป้าความสนใจของสังคมอีกครั้ง

และทุกครั้งที่ยาเสพติดถูกมองว่าเป็นปัญหาหลัก นโยบายสงครามยาเสพติดที่เคยดำเนินในสมัยทักษิณ ชินวัตรก็จะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดเสมอว่าต้องการให้มีการปราบปรามอย่างเด็ดขาดเช่นในอดีต ด้วยความหนักหน่วงของเหตุการณ์ เส้นแบ่งระหว่างผู้ป่วยที่ใช้ยาเสพติดกับคนติดยาก็พร่าเลือน สังคมดูเหมือนต้องการให้จัดการกับผู้ที่ข้องเกี่ยวกับยาเสพติดอย่างไม่ละเว้น

สุณัย ผาสุข นักวิจัยอาวุโสจากฮิวแมนไรตส์วอตช์ (แฟ้มภาพ ประชาไท)

แต่สุณัย ผาสุข นักวิจัยอาวุโสจากฮิวแมนไรท์วอตช์ ผู้เคยทำการศึกษาและเก็บข้อมูลจากนโยบายสงครามยาเสพติดที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,000 ราย กำลังบอกว่า สงครามยาเสพติดเป็นเพียงการป้องปรามปัญหาที่พื้นผิวโดยไม่ได้ลงลึกถึงต้นตอ ที่สำคัญมันจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงเช่นในอดีต

สงครามยาเสพติดคือการใช้อำนาจแบบศาลเตี้ย

มีหลายประเทศในโลกที่ใช้สงครามยาเสพติดหรือ drug war เป้าหมายคือการลดจำนวนผู้ผลิต ผู้กระจายยา และผู้เสพ ซึ่งเป็นเพียงพื้นผิวของปัญหา โดยไม่ได้ลงลึกถึงคำถามที่ว่าเหตุใดคนจึงเสพยา มีปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไร จะใช้ยาอย่างไรไม่ให้เป็นอันตราย (harm reduction) หรือหากผู้เสพยาต้องการเลิกจะมีแนวทางสนับสนุนอย่างไรที่ไม่ใช่การบังคับบำบัดแบบที่เคยทำมา

ทั้งนี้ลักษณะของสงครามยาเสพติด สุณัยอธิบายว่ามันคือการให้อำนาจเกินขอบเขตหรือก็คือ ศาลเตี้ย ซึ่งเป็นลักษณะร่วมของทุกประเทศที่ใช้นโยบายนี้ เพราะต้องการแสดงภาพความเฉียบขาด ต้องการผลงานที่โชว์แก่สาธารณชนได้ บางกรณีมีศพผู้ต้องสงสัยมาแสดงด้วย ลักษณะอีกประการที่พบเหมือนกันคือผู้ที่ถูกจัดการมักไม่ใช่ตัวการใหญ่ แต่เป็นคนชายขอบ เช่น คนจน กลุ่มชาติพันธุ์ แรงงานอพยพ เป็นต้น

“ที่อเมริกาหรือประเทศอื่นๆ ที่ปราบหนักๆ มันก็ทำให้ยาเสพติดยิ่งกลายเป็นธุรกิจที่มีกำไรมากขึ้นเพราะว่ามันไดร์ฟราคาให้สูงขึ้น โดยที่รายใหญ่ไม่กระเทือน เพราะฉะนั้นรายใหญ่ก็ได้กำไรมากขึ้น มีช่องทางที่ซับซ้อนมากขึ้น แล้วยืมมือสงครามยาเสพติดกำจัดคู่แข่งหรือพวกที่ออกนอกลู่นอกทาง ไม่ได้อยู่ในเครือข่ายเขา”

ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์สะเทือนใจสืบเนื่องจากยาเสพติด สงครามยาเสพติดจะถูกหยิบขึ้นมาทุกครั้งเพื่อตอบรับกระแสสังคม ครั้งนี้ก็เช่นกัน สุณัยกล่าวว่าเพราะมันเป็นนโยบายที่ทำได้ง่ายที่สุดและเห็นผลเร็วในการลดจำนวน โดยในยุคทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี นโยบายสงครามยาเสพติดได้กำหนดเป้าหมาย 3 เดือนแรกผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดจะต้องลดลงเท่าใด

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสงครามยาเสพติดได้ที่ หลุมศพเท่าไรก็ไม่พอ สงครามยาเสพติด เอชไอวี/เอดส์และการละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

2,000 กว่าศพที่ไร้การสอบสวน

“คนที่ถูกขึ้นบัญชีไว้ นับรวมถึงการที่ถูกฆาตกรรมด้วย มันชัดมากจนเป็นกรณีศึกษา classic สงครามยาเสพติดของรัฐบาลทักษิณเข้ากับตัวแบบที่อยู่ในคำอธิบายเลยว่าตอบกระแสสังคม ตอบสิ่งที่เป็นผิวหน้าของการทำงาน แต่ไม่ได้เจาะลึกลงไปข้างใน พยายามตอบโจทย์ที่มีตัวชี้วัดที่จับต้องได้ว่าเดือนนี้รวบยอดไปได้เท่าไหร่  รวมถึงสังคมไทยยังเป็นสังคมที่เชื่อในเรื่องคนชั่ว มันไม่ควรจะมี ในเครื่องหมายคำพูดนะ คนชั่วไม่ควรมีที่ยืนในแผ่นดิน ตอนนั้นคุณจำได้ว่าตอนเปิดนโยบายทักษิณพูดเองเลยว่าพวกค้ายาเสพติดไม่จบในคุกก็จบที่เมรุเผาศพ แล้วต่อจากนั้นพูดมาอีกหลายครั้งว่าต้องให้ไปเจอยมบาลบ้างอะไรบ้าง ซึ่งมันมีนัยยะว่า คนชั่ว มันก็ต้องตาย แล้วมันก็มีการตอบรับจากทุกภาคส่วน”

สุณัยเล่าอีกว่า ช่วงเวลานั้นตามหมู่บ้านต่างๆ มีการขึ้นป้ายว่าคนที่ใช้ยาเสพติด ขายยาเสพติดจะไม่มีที่ยืนในชุมชน และการขจัดนั้นนับรวมถึงการฆาตกรรมด้วย สังคมเริ่มเห็นรายงานข่าวที่คนถูกขึ้นบัญชีจำนวนมากกลายเป็นเหยื่อของการฆาตกรรมโดยไม่มีที่มาที่ไป ไม่มีการติดตามสอบสวน อีกส่วนหนึ่งก็ถูกจับตายมากขึ้นการจับกุมเป็นลักษณะบุ่มบ่าม ไม่ระมัดระวัง ทำให้มีหลายกรณีที่ผู้ไม่เกี่ยวข้องใดๆ ได้รับความเสียหายหรือแม้กระทั่งเสียชีวิต

นอกจากนี้ยังมีหลายกรณีที่ถูกกลั่นแกล้งเพราะเคยร้องเรียนเจ้าหน้าที่ตำรวจ บางคนมีเรื่องบาดหมางกับคนในชุมชนก็ถูกกลั่นแกล้งว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติดโดยไม่มีการตรวจสอบ มีผู้ถูกสังหารเสียชีวิตจำนวนมากซึ่งถูกเหมารวมเรียกว่า ฆ่าตัดตอน

“การตายมันเยอะมากจนที่กาฬสินธ์ุ ในช่วงนั้นโลงศพไม่พอ หรือเป็นคนที่รวยขึ้นมาในชุมชน ไม่รู้เหตุผลว่าทำไมรวย แล้วหลายกรณีเป็นคนที่ทำธุรกิจหวย ถูกลอตเตอรี่ หรือเล่นหวยใต้ดินถูกรางวัลแล้วไม่อยากบอกใคร ไม่อยากแบ่งเงิน ก็ถูกสงสัยว่าค้ายาบ้าแน่ๆ ก็ถูกเอาไปขึ้นบัญชีแล้วโดนยิงตาย ก็จะมีลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นเยอะแยะเลย”

3 เดือนผ่านไป ยอดผู้เสียชีวิตจากนโยบายสงครามยาเสพติดก็สูงขึ้นไปถึง 2,000 กว่าศพ คนบริสุทธิ์ล้มตาย โดยไม่มีที่มาที่ไปและการสอบสวน ภาครัฐอธิบายเพียงว่าเป็นการฆ่าตัดตอนของขบวนการค้ายาเสพติดกันเอง เพื่อไม่ให้เกิดการซัดทอดไปถึงตัวการใหญ่

แม้ภายหลังรัฐประหารปี 2549 รัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ ศึกษา และวิเคราะห์ การกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษและการนำนโยบายไปปฏิบัติจนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง และทรัพย์สินของประชาชน (คตน.) โดยมีคณิต ณ นคร เป็นประธาน แต่สุดท้ายแล้วก็ล้มเหลวในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ทำให้สังคมยังเชื่อว่าสงครามยาเสพติดเป็นทางออกที่ดีและมีประสิทธิภาพที่สุด

ขณะที่การบำบัดผู้เสพยาก็ใช้วิธีบังคับบำบัด เน้นยอดจำนวนคนที่เข้าสู่กระบวนการเลิกยาในโรงเรียนวิวัฒน์พลเมือง โดยทำข้อตกลงกับกองทัพและค่ายทหารเป็นศูนย์บังคับให้เลิกยาด้วยการจับฝึกทหารและออกกำลังกายอย่างหนัก ซึ่งขัดต่อหลักการแพทย์

“ส่วนหนึ่งก็รวมถึงองค์กรสิทธิมนุษยชนด้วย มองว่านโยบายนี้มันมีปัญหา เนื่องจากมันไม่มีฉันทามติในสังคม ผมว่ามันเป็นนโยบายที่มีปัญหา เกิดการละเมิดสิทธิและละเมิดกฎหมายมากมายแล้วก็ความล้มเหลวที่พูดถึงทำให้สงครามยาเสพติดไม่ถูกจำกัดไปสักที พร้อมจะกลับมาเมื่อสังคมเผชิญวิกฤตสะเทือนอารมณ์มากๆ”

ภายหลังเหตุกราดยิงที่จังหวัดหนองบัวลำภูจะเห็นว่า พรรคเพื่อไทยหยิบนโยบายสงครามยาเสพติดขึ้นมาหาเสียงอีกครั้ง ขณะที่รัฐบาลก็แสดงท่าทีขึงขังว่าจะจัดการยาเสพติดอย่างเด็ดขาด

สังคมไทยยังไม่เรียนรู้ แม้แต่ฝั่งประชาธิปไตยก็ยังเรียกร้องกำปั้นเหล็ก

สุณัยกล่าวว่าประเด็นที่สังคมไทยมักไม่ทำความเข้าใจก็คือทำไมคนจึงต้องเสพยา มันมีแรงกดดันอะไรที่ใหญ่กว่านั้นในเชิงสังคม เศรษฐกิจ ชุมชน ครอบครัว หรืออาการเจ็บป่วยส่วนตัวหรือไม่

“พวกฝั่งประชาธิปไตยหลายคนก็พูดประโยคนี้ ว่าต้องใช้ไม้แข็ง ยาเสพติดเป็นปัญหาทำให้เกิดโศกนาฏกรรมทางสังคม เพราะฉะนั้นตัวอย่างที่ดีที่สุดคือความสำเร็จหรือความเฉียบขาดแบบทักษิณ ผมอึ้งที่ว่าพวกเรียกตัวเองว่าฝั่งประชาธิปไตยก็ไม่ได้รับเอาวาทกรรมที่มีมุมของสิทธิมนุษยชนหรือมุมของหลักนิติธรรมเข้ามาต้องการสิ่งที่เรียกว่ากำปั้นเหล็ก เป็นตัวเลขจับต้องได้วัดได้

“ล่าสุดที่ผมเจอมาเถียงกับผมหลังไมค์ บอกว่าการบำบัดไม่ควรจะเป็นทางเลือกแต่ต้องบังคับ แล้วผมถามว่ารู้หรือเปล่ายุคที่เขาบังคับเขาบังคับยังไงบ้าง ผมบอกว่าพวกยาเสพติดมันควรจะเป็นทางเลือก เขาไม่มองว่าการใช้ยาเสพติดเป็นสิทธิ ในขณะที่มุมมองทางด้านสิทธิมนุษยชนในหลักสากลมองว่าการใช้ยาเสพติดเป็นสิทธิ แต่ต้องใช้อย่างปลอดภัยต่อตนเองและชุมชนที่อยู่รอบๆ ไม่ใช่ใช้แล้วหลอนไปอาละวาด”

การที่แนวคิดในลักษณะที่สุณัยกล่าวมาไม่สามารถเกิดขึ้นได้เป็นเพราะยาเสพติดถูกทำให้เป็นสิ่งต้องห้ามทั้งในทางกฎหมายและศีลธรรม เพราะฉะนั้นต้องลงใต้ดินแล้วไม่มีการให้การศึกษา ทำความเข้าใจปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้คนเลือกเสพยา ผิดกับในหลายประเทศที่มีสถานที่ให้ผู้ใช้ยาได้เสพยาและแจกเข็ม มีการควบคุมประเภทของยาเสพติดที่ใช้ได้และใช้ไม่ได้

“กรณีกัญชา มันมีตัวอย่างให้เห็นเลยว่าถ้ามีแรงจูงใจทางการเมืองและเศรษฐกิจด้วย รัฐบาลสามารถให้ความรู้เกี่ยวกับ harm reduction เกี่ยวกับยาเสพติดบางประเภทได้ แต่ทำไมไม่ให้ความรู้ยาเสพติดประเภทอื่นๆ ด้วย อันนี้ก็เลยเกิดสองมาตรฐานชัดเจน พอมีกรณีกัญชา กรณีกระท่อมเกิดขึ้น มันก็ได้เห็นมาตรฐานการปฏิบัติที่ต่างกัน”

สุณัยกล่าวว่าการผลักดันนโยบายสงครามยาเสพติดอีกครั้งหนึ่งกำลังเป็นการเดินซ้ำรอยความผิดพลาดของทักษิณและบ่งบอกว่าสังคมยังไม่เกิดการเรียนรู้ในการแก้ปัญหายาเสพติดที่ใจกลางปัญหาอย่างแท้จริง

กรณีเหตุกราดยิงที่หนองบัวลำภู สุณัยเห็นว่ามีความซับซ้อนที่ไม่สามารถตอบได้อย่างรวบรัด ในช่วงแรกมีข้อมูลว่าผู้ก่อเหตุเสพยาเสพติด ต่อมาก็บอกว่าเป็นเพราะทะเลาะกับภรรยา

“มันต้องมีคำตอบที่รอบด้านกว่านี้ ครอบคลุมกว่านี้ ปัญหาอะไรที่ทำให้คนตัดสินใจไปฆ่าคนอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องเลย แล้วหลังจากนั้นก็มาฆ่าลูกเมียตัวเอง ฆ่าตัวเองตาย อะไรเป็นแรงผลัก มันต้องมีความพยายามทำความเข้าใจมากกว่านี้

“แล้วถ้าจะมองว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารฝ่ายความมั่นคงของไทยที่มีอาวุธอยู่กับตัวมีลักษณะของการฆ่าตัวตายหรือฆ่าเพื่อนร่วมงานเยอะในแต่ละปี อย่างผมทำงานที่ชายแดนใต้เยอะ มีเรื่องนี้ทุกปีว่าอยู่ๆ ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ อส. คว้าปืนขึ้นมายิงตัวตายก็ดีหรือยิงเพื่อนร่วมงานตายก็ดี มันมีอะไรเกิดขึ้นในหน่วยงาน จะไปโทษยาเสพติดทุกกรณีก็คงไม่ใช่”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net