Skip to main content
sharethis

ขปส.แถลงกรณี 28 ก.ย.นี้ ศาลฎีกานัดอ่านคำพิพากษาคดี แสงเดือน ตินยอด ปชช.พื้นที่บ้านกวัก จ.ลำปาง เหยื่อทวงคืนผืนป่ายุค คสช. สะท้อนความเหลื่อมล้ำ และความ '2 มาตรฐาน' กระบวนการยุติธรรม พร้อมเรียกร้องให้ 'ประวิตร' เร่งออก กม.นิรโทษฯ ผู้ได้รับความเสียหายจากนโยบายรัฐ

 

21 ก.ย. 2565 มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ โพสต์ข้อความบนแพลตฟอร์ม ‘เฟซบุ๊ก’ วันนี้ (21 ก.ย.) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ออกแถลงการณ์ สืบเนื่องจากวันที่ 28 ก.ย.นี้ ศาลฎีกานัดอ่านคำพิพากษาคดีบุกรุกป่าของ แสงเดือน ตินยอด วันหนี่ง ยาวิชัยป้อง ชาวบ้านแม่กวัก อ.งาว จ.ลำปาง ผู้ได้รับความเสียหายจากนโยบายทวงคืนผืนป่ายุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังถูกอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท และป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่โป่ง ฟ้องร้องดำเนินคดีบุกรุกป่าเมื่อปี 2561 ซึ่งคดีเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ และการใช้กฎหมาย '2 มาตรฐาน' ระหว่างประชาชน และผู้มีอำนาจ 

ขปส. ระบุในแถลงการณ์เรียกร้องถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี เร่งออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐ เพื่อคืนความเป็นธรรมให้แก่ประชาชน

แถลงการณ์ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)

เรื่อง คืนความเป็นธรรม ให้ความเป็นคน ออกฎหมายนิรโทษกรรมเหยื่อทวงคืนผืนป่า

ผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า กรณีแสงเดือน ตินยอด หรือ วันหนี่ง ยาวิชัยป้อง ชาวบ้านแม่กวัก อำเภองาว จังหวัดลำปาง หนึ่งในเหยื่อถูกกระทำด้วยนโยบายรัฐที่ไม่เป็นธรรมและปราศจากการรับฟังเสียงของประชาชนนั้น เป็นกรณีที่สะท้อนภาพใหญ่ “ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง” ในประเทศอย่างชัดเจนที่สุด โดยจากคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่กลับคำตัดสินคำพิพากษาศาลชั้นต้น สั่งจำคุก 1 ปี เรียกค่าเสียหาย 4 แสนบาทนั้น แสดงให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมให้ค่ากับกฎหมายและนโยบายของรัฐบาลและหน่วยงานรัฐเหนือข้อเท็จจริง ข้อมูล และเสียงเรียกร้องจากประชาชน จนกระทั่งจะมีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 28 กันยายน 2565 นี้ ชะตากรรมของคนจนนั้นก็เสมือนแขวนอยู่บนเส้นด้าย ไม่มีหลักประกันใดๆ ในอิสรภาพ

“คุกกับคนจน” เหมือนต้องคำสาปของสังคมไทย ไม่ว่าจะผ่านกี่ยุคสมัยรัฐบาล กี่รัฐประหาร กี่รัฐธรรมนูญ ชีวิตของประชาชนที่ไร้อำนาจ ไร้ยศฐา ไร้อิทธิพลใหญ่ ก็ยังคงเป็นคนชนชั้นล่าง ที่ต้องก้มหน้าดิ้นรนปากกัดตีนถีบอยู่วันยังค่ำ ทั้งๆ ที่ “ความยากจนไม่ใช่อาชญากรรมและคนจนก็ไม่ใช่อาชญากรของแผ่นดิน”

เราอยู่ในประเทศที่ดัชนีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมอยู่อันดับต้นของโลก แต่อุดมไปด้วยคนเจ้าใหญ่นายโต ผู้ทรงอิทธิพลที่กระทำผิด จนต้องได้รับโทษนั้น กลายเป็นเรื่องเหลือเชื่อ ส่วนการลอยนวลพ้นผิดอย่างหน้าตาเฉย หรือการหลบหนีจากผลการตัดสินกลับเป็นเรื่องง่ายดายแสนจะปกติ แต่กับประชาชนที่ได้อยู่อาศัยหากินกับผืนดินผืนป่าของบรรพชน พึ่งพิงธรรมชาติมาช้านาน กลับถูกอำนาจรัฐของตน เปลี่ยนอาณาบริเวณเหล่านั้นให้กลายเป็นเขตป่านานาประเภทในนามของกฎหมายและตราประกาศทับชีวิตประชาชนอย่างไม่แยแส เปลี่ยนประชาชนนับล้านให้กลายเป็นผู้อยู่อาศัยอย่างผิดกฎหมาย ถูกตีตราให้เป็นผู้บุกรุกทำลายป่า ทำลายสมบัติชาติ และเป็นเหยื่อของคดีความและคุกตาราง ภายใต้สิ่งที่เรียกว่ากระบวนการยุติธรรม เป็นกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เคยลบภาพของ “คุกกับคนจน” แต่เดินหน้าตอกย้ำสังคมแห่งความเหลื่อมล้ำต่ำสูง

สังคมนี้มีกระบวนการยุติธรรมเป็นของเหล่าชนชั้นปกครองเพื่อชนชั้นผู้ปกครอง เพื่อหล่อเลี้ยงความศักดิ์สิทธิ์ของระบอบอภิสิทธิ์ที่ซึมแทรกแผ่ขยายไปทุกอณู คงเหลือแต่เพียง “ความอยุติธรรม” ที่เคียงคู่ประชาชนผู้ถูกกดขี่ใต้อำนาจบงการกฎหมายแสนศักดิ์สิทธิ์ เป็นดั่งคำสาปที่แสนศักดิ์สิทธิ์ต่อเหล่าคนจน เป็นระบบที่นำพาให้ “ความเป็นสองมาตรฐาน” ยังคงดำเนินต่อไปเสมือนเรื่องปรกติ และต้องยอมรับชะตากรรม

ภายใต้ข้อเท็จจริงที่แน่ชัด ว่าคนจนถูกบีบรัดด้วยนโยบายและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เพื่อคืนชีวิต คืนศักดิ์ศรีแก่คนจนให้กลับมาตั้งต้นจากการเป็นผู้บริสุทธิ์ ณ วันนี้ เราขอเรียกร้องให้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เร่งออก กฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ จักต้องเกิดขึ้น เพื่อคืนความเป็นธรรม ให้ความเป็นคนแก่ราษฎร โดยเร่งด่วน

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
21 กันยายน 2565

อนึ่ง คดีแสงเดือน ตินยอด เกิดขึ้นตั้งแต่ชุมชนบ้านแม่กวัก ถูกประกาศป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่โป่ง ทับที่ทำกิน หลังจากนั้น กรมป่าไม้อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์และอยู่อาศัยได้โดยให้สิทธิ สทก.1 หลังจากนั้น มีการเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ขณะที่ก็ยังมีการต่อใบอนุญาตทำกินให้ รวมถึงได้รับการส่งเสริมให้ปลูกยางพารา แต่หลังมีคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทรัพยากรป่าไม้ หรือ 'นโยบายทวงคืนผืนป่า' แสงเดือนจึงถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท และป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่โป่ง บังคับให้ตัดฟันยางพาราของตนเอง 2 ครั้ง ในปี 2556 และ 2558 ก่อนจะถูกดำเนินคดีในปี 2561 

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าแสงเดือน ทำกินในพื้นที่มาก่อนการประกาศเป็นป่าสงวนฯ และกำลังดำเนินตามนโยบาย ‘โฉนดชุมชน’ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 และยังได้รับการผ่อนผันตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 

อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์ได้กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น สั่งจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา ข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติโดยเจตนา และเรียกค่าเสียหาย 4 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย. 2561 รวมทั้งให้แสงเดือน ออกจากพื้นที่และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ก่อนที่ศาลฎีกาจะนัดอ่านคำพิพากษาวันที่ 28 ก.ย.นี้

นอกจากนี้ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เคยรายงานว่า แสงเดือน ตินยอด ได้รับผลกระทบจากการถูกดำเนินคดี โดยเฉพาะเรื่องสภาพจิตใจ เป็นโรคซึมเศร้า และมีความกังวลต่อความตัดสินของศาลตลอดเวลา นอกจากนี้ เนื่องด้วยเธอไม่มีที่ดินทำกิน ทำให้แสงเดือน มีหนี้สิน และขาดแคลนรายได้อย่างหนัก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net