Skip to main content
sharethis

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนและองค์กรสิทธิมนุษยชนออกจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้ ส.ว. ยืนยันหลักการตาม ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ….ฉบับเดิมที่ผ่านมติเห็นชอบโดยสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว

 

8 ส.ค.2565 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และองค์กรสิทธิมนุษยชน ออกจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้ สมาชิกวุฒิสภา ยืนยันหลักการตาม ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ….ฉบับเดิมที่ผ่านมติเห็นชอบโดยสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว เพื่อให้ได้มาซึ่งการมีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย สอดคล้องกับที่ประเทศไทยต้องอนุวัติการกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับกฎหมายสากลที่รัฐไทยมีพันธกรณี ทั้งยังเป็นกฎหมายที่ภาคประชาชนให้การยอมรับ นำไปสู่การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่สามารถเกิดผลในทางปฏิบัติได้จริง อันเป็นการยกระดับความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนของไทย ให้ยืนหยัดอย่างสง่างามในเวทีประชาคมโลกต่อไป

 

โดยมีรายละเอียดแถลงการณ์ดังนี้

จดหมายเปิดถึงสมาชิกวุฒิสภา

 

8 สิงหาคม 2565

เรื่อง  ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ…. 

ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ….  ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 จนกระทั่งร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวได้เข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ซึ่งได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาทำการพิจารณาแก้ไขความตามร่างกฎหมายฉบับสภาผู้แทนราษฎรหลายมาตรา ก่อนนำเข้ามาในที่ประชุมวุฒิสภาเพื่อลงมติวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ในวันที่ 9 สิงหาคม 2565 นั้น

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และองค์กรสิทธิมนุษยชนดังรายนามข้างท้าย มีความเห็นร่วมกันว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวที่ผ่านการแก้ไขจากชั้นคณะกรรมาธิการของวุฒิสภานั้น ได้ทำให้สาระสำคัญหลายประการผิดไปจากเจตนารมณ์ของสภาผู้แทนราษฎรและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน   ที่มุ่งหมายให้มีกฎหมายฉบับนี้ เป็นการยกระดับปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนประเทศไทยให้เป็นไปตาม อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี  (Convention against Torture and Other Cruel Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: CAT)  และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (International Convention for the Protection of all Persons from Enforced disappearance : CED)

ร่างกฎหมายที่แก้ไขโดยคณะกรรมาธิการ วุฒิสภาได้ถูกตัดสาระสำคัญออกไปหลายประการ ได้แก่การตัดนิยามของ “การกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานแก่ร่างกายหรือจิตใจ ที่มิใช่การกระทำความผิดตามมาตรา ๕  ถือเป็นความผิดทางอาญา” ออกไป ส่งผลให้การกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิดทางอาญา ตัดข้อบังคับให้ต้องบันทึกวีดีโอระหว่างควบคุมตัวซึ่งระบุให้เจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อควบคุมตัวแล้วจะต้องทำการบันทึกภาพและเสียงทั้งในขณะที่ทำการจับกุมและควบคุมตัวจนกระทั่งส่งไปถึงพนักงานสอบสวน การตัดข้อความดังกล่าวออกไปซึ่งเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงว่าจะมีการซ้อมทรมานมากที่สุด จะทำให้เกิดการซ้อมทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหายได้โดยง่าย การกำหนดให้กฎหมายอื่นๆที่มีข้อยกเว้นความรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ให้นำมาใช้กับกฎหมายนี้ การแก้ไขเรื่องอายุความสำหรับความผิดอันเกิดจากการกระทำให้สูญหาย เป็นอายุความ ๒๐ ปี โดยมิให้เริ่มนับจนกว่าจะทราบชะตากรรมของผู้ถูกกระทำให้สูญหาย แก้ไขให้คดีความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ เป็นคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ โดยตัดอำนาจ พนักงานสอบสวน พนักงานฝ่ายปกครอง พนักงานอัยการให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสอบสวนคดีซ้อมทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหายออกไป  การพิจารณาคดีตาม พ.ร.บ.นี้ให้เป็นการพิจารณาในศาลทุจริตและประพฤติมิชอบแต่ยังให้เจ้าหน้าที่ทหารที่กระทำความผิดขึ้นศาลทหารที่ล่าช้าและส่งผลถึงการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้เสียหาย เนื่องจากศาลทหารมีกระบวนพิจารณาที่มุ่งหมายตรวจสอบการกระทำผิดตามกฎหมายอาญาทหารเท่านั้น มิใช่มุ่งดำเนินกระบวนพิจารณากรณีที่ทหารกระทำผิดอาญาแผ่นดิน

ด้วยเหตุนี้ เราจึงขอเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภา ได้โปรดยืนยันหลักการตามร่างกฎหมายฉบับเดิมที่ผ่านมติเห็นชอบโดยสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว เพื่อเป็นการยืนยันหลักการเจตนารมณ์ของการมีร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้ได้มาซึ่งการมีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย สอดคล้องกับที่ประเทศไทยต้องอนุวัติการกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับกฎหมายสากลที่รัฐไทยมีพันธกรณี ทั้งยังเป็นกฎหมายที่ภาคประชาชนให้การยอมรับ นำไปสู่การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่สามารถเกิดผลในทางปฏิบัติได้จริง อันเป็นการยกระดับความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนของไทย ให้ยืนหยัดอย่างสง่างามในเวทีประชาคมโลกต่อไป  

ด้วยความเชื่อมั่นในหลักการสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

รายชื่อหน่วยงานร่วมลงนาม

          สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

          มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CRCF)

          กลุ่มด้วยใจ

          สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)

          กลุ่มนอนไบนารีแห่งประเทศไทย

          คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)

          มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net