Skip to main content
sharethis

กลุ่ม 'ประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ' ยื่นหนังสือเอาผิด 'จิราพร สินธุไพร' ส.ส. เพื่อไทย ระบุอภิปรายเหมืองทองคำบิดเบือนข้อเท็จจริง - 'สนธิญา' ร้องสอบ ส.ส.ก้าวไกล อภิปรายพาดพิงสถาบันฯ เข้าข่ายกระทำผิด ม.108-ม.112 หรือไม่ ร้อง ปอท. ตรวจสอบโซเชียล 'Kath Khangpiboon-ตุ๊ดส์ review' โพสต์ติง 'ประยุทธ์' ผิด พ.ร.บ.คอมฯ หรือไม่


ที่มาภาพ: Voice online

Voice TV รายงานว่าเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2565 ที่ห้องแถล่งข่าว ศาลาแก้ว รัฐสภา กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ นำโดย วันเพ็ญ พรรมรังสรรค์ ได้ยื่นหนังสือต่อ สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฏร ถึง ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาฯ ให้มีการสอบสวนจริยธรรมต่อ จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่อง ‘เหมืองทองอัครา’ เมื่อวานนี้ (21 ก.ค. 2565) และอีกหลายครั้งที่ผ่านมา

วันเพ็ญ ในฐานะแกนนำกลุ่มดังกล่าว ระบุว่า ตนเป็นตัวแทนประชาชนที่เป็นผู้ร้องในเรื่องเหมืองทองอัคราต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ให้ดำเนินการสอบสวนกรณีที่บริษัทเอกชนประกอบเหมืองแร่ทองคำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย บางส่วนชี้มูลความผิดต่อเจ้าหน้าที่รัฐ และบางคดีได้สั่งฟ้องต่ออัยการแล้ว และอีกบางส่วนก็ยังอยู่ในการสอบสวนกว่า 40 คดี

วันเพ็ญ กล่าวอีกว่า การที่ประเทศไทยยุติการทำเหมืองแร่ทองคำ โดยคำสั่ง คสช. มาตรา 44 ตามคำสั่งที่ 72/2559 ประกอบกับมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2559 เป็นอำนาจโดยชอบรัฐบาลไทยผู้ซึ่งให้สัมปทาน เมื่อประชาชนร้องเรียผลกระทบก็ได้มีการใช้อำนาจรัฐบาลเข้ามาสัมปทาน ระงับไม่ให้ต่อใบอนุญาตที่สิ้นอายุตามปกติ นี่จึงเป็นการใช้อำนาจโดยชอบของรัฐบาลไทยผ่านมติของครม. โดยการไม่ต่อใบอนุญาตนั้น ได้นำไปสู่การตรวจสอบตามข้อร้องเรียน และพบว่า บริษัททำผิดกฎหมายในประเทศไทยหลายกรณี กรณีเช่นนี้ แม้ประเทศไทยจะถูกดึงเข้าสู่อนุญาโตตุลาการ แต่ว่าในการต่อสู้ในชั้นนี้ประเทศไทยมีจุดแข็งในการต่อสู้ เนื่องจากคสช.ที่ใช้มาตรา 44 ประกอบกับมติครม. ในการยุติการทำเหมืองทองคำ ประเทศไทยก็ยังมีพระราชบัญญัติเหมืองแร่ 2550 ที่คุ้มครองไว้ จึงไม่เสียเปรียบเป็นเหตุให้จ่ายเงินใดๆ แก่บริษัทเอกชน นี่คือจุดแข็งของประเทศไทยที่ได้เดินหน้าเข้าสู่อนุญาโตตุลาการอย่างสง่างาม 

วันเพ็ญ เสริมว่า ด้วยเหตุนี้ การที่ จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย หยิบเรื่องเหมืองแร่ทองคำมาอภิปรายอยู่หลายครั้ง และบิดเบือนข้อเท็จจริง ไม่ครบถ้วนว่าประเทศไทยได้รับความเสียหายจาก ม.44 จึงไม่ถูกต้อง นอกจากนี้กรณีดังกล่าว อนุญาโตตุลาการ ยังไม่ได้มีข้อชี้ขาด และที่สำคัญการอภิปรายโจมตี ม.44 โดยไม่หยิบเอาการใช้มติของคณะรัฐมนตรีอันเป็นการบริหารแผ่นดินโดยราชการไทยผู้ให้สัมปทาน และเป็นอำนาจสัญญาทางปกครองว่าเป็นการใช้อำนาจโดยรัฐบาลไทย 

“การกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ล้มคดีเหมืองทองคำ เป็นประเด็นที่อ่อนไหว และเกี่ยวข้องกับคดีสำคัญ กลุ่มประชาสังคมจึงเห็นว่า การอภิปรายของ จิราพร อาจทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อรูปคดี และนำเอกสารความเห็นของอัยการสูงสุดมาเผยต่อที่สาธารณะจึงเป็นประเด็นเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ ควรได้รับการตรวจสอบ และหากผิดจริงต้องส่งต่อแผนกคดีทางการเมืองต่อไป” วันเพ็ญ กล่าว

'สนธิญา' ร้องสอบ ส.ส.ก้าวไกล อภิปรายพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ เข้าข่ายกระทำผิด ม.108-ม.112 หรือไม่

เพจ Voice TV รายงานเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2565 ว่าสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ไปร้องเรียนให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล ให้ตรวจสอบการกระทำผิดกฎหมายอาญามาตรา 108 และ 112 กรณี​ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ในวันที่ 21 ก.ค. ที่ผ่านมา พาดพิงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์

ซึ่งอาจเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายอาญา และขัดต่อรัฐธรรมนูญ​ มาตรา 6 (องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้) เพื่อให้ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลไปตรวจสอบ หาข้อเท็จจริง และดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

สนธิญา เปิดเผยว่า จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ต่อเนื่องที่ผ่านมา เมื่อวานนี้ ตนเห็นว่ามีบางส่วนที่เกี่ยวพันไปถึงสถาบันพระกษัตริย์ วันนี้จึงได้นำคลิป มาให้ทาง บช.น.ตรวจสอบเพื่อให้พิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวนั้นขัดต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 108 และมาตรา 112 หรือไม่ ซึ่งก็สุดแล้วแต่ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลจะวินิจฉัย

ซึ่งในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นั้น ส.ส.และ ส.ว. มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ แต่ขณะเดียวกัน หากเมื่อไหร่ก็ตามที่การอภิปรายนั้นทำให้เกิดความเสียหายในคดีอาญา ตนก็สามารถที่จะดำเนินการได้ตามประมวลกฎหมายอาญา

วันนี้จึงนำหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอที่ อมรัตน์ อภิปรายพาดพิงพระมหากษัตริย์มาให้ตรวจสอบ ตามมาตรา 108 และ 112 ว่าคำพูดนั้นเป็นการก้าวล่วงสถาบันหรือไม่อย่างไร แต่ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะในการอภิปรายและนำชื่อของพระมหากษัตริย์เข้าไปเกี่ยวข้องนั้นเป็นการมิบังควร เพราะในการอภิปรายทุกครั้งควรหลีกเลี่ยง ซึ่งตัว ส.ส. ที่อภิปรายน่าจะต้องรู้อยู่แล้วว่าควรมีขอบเขตประมาณไหน

ทางด้านพันตำรวจเอกฐิติรัฐ พรหมมินทร์ ผู้กำกับการฝ่าย​อำนวยการ 4 เป็นผู้ที่มารับเรื่องตรวจสอบในวันนี้ โดยกล่าวว่า ทางตำรวจยินดีที่จะรับเรื่อง และจะดำเนินการให้แล้วเสร็จ ตามกระบวนการต่อไป

ร้อง ปอท. ตรวจสอบโซเชียลโพสต์ติง 'ประยุทธ์' ผิด พ.ร.บ.คอมฯ หรือไม่

ไทยรัฐออนไลน์ ยังรายงานว่าเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2565 ที่ศูนย์รับแจ้งความกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) สนธิญา ได้เข้าพบ ร.ต.อ.ฐานันดร สาสูงเนิน รอง สว.(สอบสวน) กก.3 บก.ปอท.เพื่อให้ตรวจสอบบัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์ "Kath Khangpiboon" ของเคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเฟซบุ๊กเพจ "ตุ๊ดส์ review" กรณีนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตามมาตรา 14 มาตรา 15 และมาตรา 16 เพื่อให้ ตำรวจ บก.ปอท.ตรวจสอบข้อเท็จจริง

นายสนธิญา เปิดเผยว่า วันนี้มาร้องเรียนในเรื่องของผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ชื่อว่า "Kath Khangpiboon" เท่าที่ทราบเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ไม่ได้แสดงความคิดเห็นในเชิงวิชาการ หรือในเชิงสุจริตใจ รวมถึงคำพูดที่ใช้นั้นทำให้เกิดความเสียหาย จากการหยิบยกการอภิปรายของนายกรัฐมนตรีไปเขียนในเชิงเสียหาย ไม่ใช่เชิงติติงด้วยความสุจริตใจ หรือในเชิงวิชาการ จึงมาร้องเรียนให้ บก.ปอท. ตรวจสอบว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่าย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 มาตรา 15 และมาตรา 16 หรือไม่

นายสนธิญา กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ตนกำลังติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจในทุกประเด็น หากมีการอภิปรายที่เป็นความเท็จ จะต้องร้องจริยธรรมเช่นกัน เพราะการอภิปรายควรอยู่ในกรอบจริยธรรมและข้อเท็จจริง ซึ่งจะติดตามกระทั่งการอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้วเสร็จ นอกจากนี้ กรณีพรรคเพื่อไทยที่กล่าวเกี่ยวกับควายหรือวัว โดยเฉพาะหัวหน้าพรรค นายชลน่าน ศรีแก้ว นั้น ตนอยากจะกราบเรียนฝากไปว่า ปัจจุบันควายตัวละ 7 ล้านบาท แต่ ส.ส. เพื่อไทยที่ไปเรียกเงิน 5 ล้านบาท จากอธิบดีกรมน้ำบาดาลนั้น ถูกกว่าควาย และเรื่องนี้อยู่ในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลไปแล้ว รวมถึงกรณีอภิปรายไม่ไว้วางใจพรรคเพื่อไทย และฝ่ายค้าน เรียกตนเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยมาโดยตลอด แต่พฤติกรรมการกระทำ หรือคำพูดไปในทางที่เสียหายมาโดยตลอดเช่นกัน เพราะฉะนั้นในเรื่องของระบอบประชาธิปไตย สามารถที่จะตรวจสอบ หรือดำเนินการได้อย่างเสรี แต่การกระทำที่ทำให้บุคคลอื่นเสียหาย หรือใส่ร้ายด้วยความเท็จ ต้องดำเนินการตามกระบวนการต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net