Skip to main content
sharethis

199 องค์กรภาคประชาชน ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐทหารพม่ายุติการประหารชีวิตนักโทษทางการเมือง พร้อมปล่อยตัว เปียว เซยา ตอ และจ่อ มิน ยู และนักโทษทางการเมืองทั้งหมดโดยทันที ยุติการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน คืนประชาธิปไตยและสันติภาพโดยเร็ว

8 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า องค์กรภาคประชาชนทั้งไทยและต่างประเทศจำนวน 199 องค์กร นำโดย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) ร่วมออกแถลงการณ์เรียกร้อง รัฐทหารพม่ายุติการประหารชีวิตนักโทษทางการเมือง 

แถลงการณ์ระบุด้วยว่า การที่กองทัพทหารพม่าที่ยึดอำนาจได้กระทำการความรุนแรงต่อประชาชนพม่า  และมีคำสั่งตัดสินประหารชีวิต เปียว เซยา ตอ และจ่อ มิน ยู รวมทั้งผู้ต้องหารายอื่นๆ เป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง และขอเรียกร้องให้ปล่อยตัว เปียว เซยา ตอ และจ่อ มิน ยู พร้อมนักโทษทางการเมืองทั้งหมดโดยทันที ยุติการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนชาวพม่า และคืนประชาธิปไตยและสันติภาพแก่ประชาชนพม่าโดยเร็ว

โดยมีรายละเอียดของแถลงการณ์ ดังนี้

แถลงการณ์เรียกร้อง รัฐทหารพม่ายุติการประหารชีวิตนักโทษทางการเมือง

ตามที่ปรากฏรายงานข่าวว่ารัฐทหารพม่าได้ มีมติอนุมัติให้ประหารชีวิตสองนักโทษทางการ เมืองที่เป็นนักกิจกรรมทำงานประชาธิปไตยโดย อ้างว่าทั้งสองมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย ซึ่งหากมีการประหารชีวิตเกิดขึ้นจริงแล้ว จะเป็นการประหารชีวิตนักโทษทางการเมืองครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 2519

ผู้ที่จะถูกตัดสินประหารชีวิตครั้งนี้ คือนายเปียว เซยา ตอ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติสังกัดพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางออง ซานซูจี และจ่อ มิน ยู นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ก่อนหน้านี้มีผู้ถูกศาลพิพากษาประหารชีวิตอีกสองรายคือ หล่า เมียว อ่อง และ อ่อง ธุรา ซอ ซึ่งรออยู่ในแดนประหาร

นายเปียว เซยา ตอ และนายจ่อ มิน ยู ถูกกล่าวหาว่า มีส่วนระดมทุนและจัดหาอาวุธให้รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา (National Unity Government หรือ NUG) ซึ่งต่อต้านรัฐทหารพม่าที่ทำการรัฐประหาร

นับแต่ทหารพม่าได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นเวลาเกือบ 16 เดือน ที่กองทัพทหารพม่าได้ทำความรุนแรงสร้างความหวาดกลัวทั่วประเทศ หลังการยึดอำนาจอย่างผิดกฎหมาย กองทัพทหารพม่าได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 2,000 คน รวมทั้งผู้หญิงและเด็ก และควบคุมตัวไว้กว่า 12,000   ตน 

กองทัพทหารพม่า ได้ทำการอย่างโหดร้ายต่อประชาชนชาวพม่า ด้วยการโจมตีทางอากาศตามอำเภอใจ การยิงกระสุน การสังหารหมู่ การเผาหมู่บ้าน การทรมาน การข่มขืน  นอกจากนี้ ยังสกัดกั้นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้พลัดถิ่นกว่า 880,000 คนทั่วประเทศ โจมตีสถานพยาบาล ข่มขู่ทำร้ายเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ 

แม้จะมีความรุนแรงที่โหดร้าย แต่ชาวพม่ายังคงต่อต้านกองทัพ เพื่อแสดงให้เห็นถึงเจตจำนงที่แรงกล้าหาญในการปกป้องประชาธิปไตยอย่างแน่วแน่

มีข้าราชการพลเรือนกว่า 400,000 คนที่เข้าร่วมขบวนการปฏิเสธอำนาจรัฐ ปฏิเสธที่จะทำงานภายใต้กองทัพ ในขณะที่ประชาชนชาวพม่าจำนวนมากนัดหยุดงาน มีการประท้วงตามท้องถนน การคว่ำบาตรผลิตภัณฑ์ทางทหาร และการรณรงค์ไม่จ่ายค่าไฟฟ้า ขณะที่มีการจัดตั้งกองกำลังป้องกันตนเอง การจัดตั้งการบริหารงานในท้องถิ่นที่เป็นอิสระใหม่จากกองทัพ ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการอิสระในพื้นที่ชนชาติพันธุ์

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) และเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน และสันติภาพได้ติดตามสถานการณ์ในพม่ามาโดยตลอด และเห็นว่าการที่กองทัพทหารพม่าที่ยึดอำนาจได้กระทำการความรุนแรงต่อประชาชนพม่า  และมีคำสั่งตัดสินประหารชีวิตนายเปียว เซยา ตอ  นายจ่อ มิน ยู และผู้ต้องหารายอื่นๆ เป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง และขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายเปียว เซยา ตอ และนายจ่อ มิน ยู พร้อมนักโทษทางการเมืองทั้งหมดโดยทันที  ยุติการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนชาวพม่า และคืนประชาธิปไตยและสันติภาพแก่ประชาชนพม่าโดยเร็ว

ประกาศ ณ วันที่ 6 มิถุนายน 2565

 ลงชื่อ

1. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ) 

2. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)  

3. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม 

4. มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน 

5. กลุ่มนอนไบนารีแห่งประเทศไทย 

6. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) 

7. สถาบันปรีดีพนมยงค์ 

8. เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม 

9. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) 

10. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน 

11. มูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม 

12. มูลนิธิวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาแห่งเอเซีย

13. Spirit in Education Movement : SEM

14. มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)  หรือ Human Rights and Development Foundation (HRDF)

15. ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD)

16. กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง The Mekong Butterfly

17. ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย(WeMove)

18. มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (Prorights Foundation)

19. คณะทำงานไทยเพื่อกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน (Thai Working Group for an ASEAN Human Rights Mechanism )

20. เครือข่ายติดตามการลงทุนไทยและความรับผิดชอบข้ามพรมแดน (ETOs Watch Coalition ) ร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนผู้รักความเป็นธรรม รวม 199 องค์กร 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net