Skip to main content
sharethis

ในเกาหลีใต้มีวัฒนธรรม "ฮเวชิก" (Hoesik) อันเป็นการบังคับให้พนักงานบริษัทสังสรรค์หลังเลิกงาน แต่คนทำงานรุ่นใหม่มองว่าเป็นวัฒนธรรมที่ล้าสมัยและรบกวนเวลาส่วนตัว ซึ่งช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้วัฒนธรรมนี้หายไปชั่วคราว แต่หลังสถานการณ์คลี่คลาย คนทำงานหนุ่มสาวต่างหวั่นใจว่าวัฒนธรรมนี้จะกลับมาอีกครั้ง


ที่มาภาพประกอบ: Tere (CC BY-NC-ND 2.0)

Summary

  • ในเกาหลีใต้ มีวัฒนธรรม "ฮเวชิก" (Hoesik) ซึ่งเป็นการบังคับให้พนักงานบริษัทสังสรรค์หลังเลิกงาน โดยไม่ได้รับค่าจ้างใดๆ ทั้งนี้คนทำงานรุ่นใหม่ในเกาหลีใต้มองว่าเป็นวัฒนธรรมที่ล้าสมัยและเป็นการรบกวนเวลาส่วนตัวของพนักงาน
  • ในช่วงการระบาดของโควิด-19 เกาหลีใต้มีมาตรการจำกัดการรวมตัวได้ไม่เกิน 10 คน ควบคู่ไปกับมาตรการเคอร์ฟิวตอนเที่ยงคืนสำหรับร้านอาหารและบาร์ ทำให้วัฒนธรรมนี้หายไปชั่วคราว
  • แต่หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น และรัฐบาลได้ปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ ทำให้คนทำงานหนุ่มสาวเกาหลีใต้ต่างหวั่นใจว่าวัฒนธรรมบังคับสังสรรค์หลังเลิกงานนี้จะกลับมาอีกครั้ง

เมื่อเกาหลีใต้ประกาศการตัดสินใจยกเลิกข้อจำกัดส่วนใหญ่เกี่ยวกับโควิด-19 เมื่อช่วงเดือน เม.ย. 2565 'จัง' พนักงานออฟฟิศหญิงวัย 29 ปีรู้สึกกังวลมากกว่ามีความสุข

การสิ้นสุดของการเว้นระยะห่างทางสังคมอาจรื้อฟื้นวัฒนธรรมการรวมตัวหลังเลิกงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่เรียกว่า "ฮเวชิก" (Hoesik) ในภาษาเกาหลี จางเป็นหนึ่งในคนทำงานหนุ่มสาวที่มองว่าวัฒนธรรมนี้ล้าสมัยและล่วงล้ำเวลาส่วนตัวของพนักงาน

"ฮเวชิกเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตการทำงานของคุณ เพียงแต่มันไม่ได้รับค่าจ้าง" จัง ผู้ซึ่งอาศัยและทำงานในกรุงโซลกล่าว เธอขอให้ระบุนามสกุลเท่านั้น เพื่อจะได้พูดเกี่ยวกับนายจ้างของเธออย่างตรงไปตรงมา

เมื่อช่วงเดือน เม.ย. 2565 เกาหลีใต้ยกเลิกเคอร์ฟิวเที่ยงคืนในบาร์และร้านอาหาร และยกเลิกมาตรการจำกัดการรวมตัวได้ไม่เกิน 10 คน กฎเกณฑ์ดังกล่าวใช้เป็นแนวทางสำหรับบริษัทต่างๆ ในการปรับใช้นโยบายการทำงานระยะไกลและควบคุมการชุมนุมที่ไม่จำเป็น เช่น การดื่มนอกเวลาทำการ

"ส่วนที่แย่ที่สุดของการสังสรรค์หลังเลิกงานคือคุณไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไร การดื่มจะดำเนินต่อไปได้จนถึงดึกดื่นจนไม่มีใครรู้ว่าเมื่อใดที่มันจะจบ" จังกล่าว

ทั้งนี้ตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 ระบาด มีชาวเกาหลีใต้จำนวนมากขึ้นโดยเฉพาะคนทำงานวัยหนุ่มสาว ที่ไม่พอใจต่อกิจกรรมสังสรรค์หรือร่วมงานต่างๆ กับบริษัท เช่น การไปพักร้อนกับบริษัท หรือการเดินป่ากับเพื่อนร่วมงานในช่วงเวลาที่นอกเหนือเวลาทำงานปกติ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

วัฒนธรรมนี้อาจจะคงอยู่ แต่อาจจะมีไม่บ่อยครั้งเหมือนแต่ก่อน


ช่วงโควิด-19 ทำให้พนักงานในเกาหลีใต้ทำงานทางไกลจากที่บ้านเพิ่มมากขึ้น และหลังวิกฤตคลี่คลาย หลายบริษัทก็เลือกใช้การทำงานแบบไฮบริดต่อเนื่อง | ที่มาภาพประกอบ: Jean Chung/Rest of World

ซู ยอง-กู ศาสตราจารย์ด้านการตลาดแห่งมหาวิทยาลัย Sookmyung Women's University ในกรุงโซล ชี้ว่าการระบาดใหญ่อาจทำให้วัฒนธรรมฮเวชิกแบบเก่าค่อยๆ จางหายไป

จากการสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้โดย Incruit Corp ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเว็บไซต์จัดหางาน เกือบร้อยละ 80 ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่าวัฒนธรรมการสังสรรค์ของบริษัทของพวกเขาเปลี่ยนไปในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ โดย ร้อยละ 95 แสดงความพึงพอใจต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

2 ปีที่ผ่านมา จังเล่าถึงช่วงเวลาเลิกงานที่ไม่ต้องสังสรรค์ เธอใช้เวลาในการทำความสะอาดบ้านมากขึ้น ทำอาหารเย็นให้ตัวเอง และออกกำลังกาย

ส่วน คิม วุน-บอง ชายวัย 30 ปี ซึ่งเริ่มทำงานให้กับหน่วยงานรัฐเมื่อปี 2564 กล่าวว่าเขารู้สึกโชคดีที่ไม่ต้องผ่านวัฒนธรรมฮเวชิก ซึ่งต้องขอบคุณกฎการเว้นระยะห่างทางสังคมในช่วงโควิด-19

"จริงๆ แล้วผมชอบการรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน เพราะผมรู้ว่ามันจะสิ้นสุดแค่เวลา 13.00 น." เขากล่าว "ผมหวังว่าวัฒนธรรมการสังสรรค์ช่วงเย็นจะเปลี่ยนไป เพราะหายไปเกือบ 2 ปีแล้ว"

แม้ว่าคนทำงานวัยหนุ่มสาวจะไม่พอใจกับวัฒนธรรมฮเวชิกมากขึ้น แต่พนักงานอาวุโสหลายคนยังคงเชื่อว่าการสังสรรค์ดังกล่าวจำเป็นต่อการสร้างสายสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ศาสตราจารย์ซู ยอง-กู ระบุ

"มันจะเป็นอีกหนึ่งความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่" ศาสตราจารย์ซู ยอง-กู กล่าว "แม้ว่าวัฒนธรรมฮเวชิกและการทำกิจกรรมร่วมกันช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์จะยังมีต่อไป แต่มันก็ไม่สามารถจัดขึ้นได้บ่อยเท่าที่เคยเป็นมา"

ในขณะที่บริษัทหลายแห่งค่อยๆ ให้พนักงานกลับมาที่ออฟฟิศของตน แต่บางบริษัทก็พยายามหาจุดกึ่งกลาง โดยเลือกใช้การทำงานแบบไฮบริด (ทั้งทำงานทางไกลและการเข้าออฟฟิศ) แทนที่จะใช้แผนการกลับสู่ออฟฟิศอย่างเต็มรูปแบบ

หนึ่งในนั้นคือบริษัท SK Telecom ที่กำลังดำเนินนโยบายให้พนักงานสามารถเลือกได้ว่าจะทำงานจากที่บ้าน ที่สำนักงานใหญ่ หรือในพื้นที่ทำงานเล็กๆ ที่บริษัทเปิดไว้ให้

"เราไม่มีคำแนะนำเฉพาะเกี่ยวกับการสังสรรค์มื้อค่ำของพนักงาน แต่มันคงจะไม่ค่อยมีบ่อยนักเมื่อพนักงานของเราหลายคนทำงานจากที่บ้าน" เจ้าหน้าที่ของ SK Telecom กล่าวโดยขอไม่เปิดเผยชื่อ เนื่องจากเขาไม่ได้รับอนุญาตให้พูดคุยกับสื่อ

"กุญแจสำคัญคือเราไม่สนใจว่าพนักงานของเราเข้าออฟฟิศบ่อยแค่ไหน ตราบใดที่มันยังช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพของพวกเขา"


ที่มา
Young South Koreans are dreading the revival of work dinners as Covid measures ease (CNBC, 28 April 2022)
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net