Skip to main content
sharethis

กสม. ร่วม กมธ. สิทธิมนุษยชน วุฒิสภา จัดเวทีสาธารณะ “สิทธิชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562” - ภาคประชาชนสะท้อนรัฐยังมีวิธีคิดออกกฎหมายแบบรวมศูนย์แนะดึงชุมชนเป็นศูนย์กลางร่วมอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน

22 เม.ย.2565 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สนง.กสม.) รายงานต่อสื่อมวลชนว่า วันนี้ (22 เม.ย.)  เวลา 13.30 น. ที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา อาคารรัฐสภา เกียกกาย กรุงเทพมหานคร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา จัดเวทีสาธารณะหัวข้อ “สิทธิชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562” โดยมี สมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา และ พรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นประธานร่วมในเวที

ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้นำเสนอ “ข้อเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับกฎหมายลำดับรองประกอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562” อันเป็นการรวบรวมปัญหาและวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบคำร้อง การศึกษาบทบัญญัติของกฎหมาย หลักการสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการหารือร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และภาคประชาสังคมด้านสิทธิในที่ดินและการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ทั้งนี้สืบเนื่องจาก ที่ผ่านมา กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนจำนวนมากโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทและกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของรัฐ ว่าประสบปัญหาแจ้งการครอบครองที่ดิน ทำให้เกิดปัญหาการประกาศพื้นที่ป่าทับซ้อนกับพื้นที่ที่ประชาชนครอบครอง นอกจากนี้ ยังมีปัญหาด้านกระบวนการมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายลำดับรอง และเนื้อหาสาระของร่างกฎหมายลำดับรองด้วย โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 ประธาน กสม. ได้มีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงร่างกฎหมายลำดับรอง ตลอดจนการประเมินผลสัมฤทธิ์ของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เมื่อครบกำหนดการบังคับใช้กฎหมาย 5 ปี ส่งไปยังคณะรัฐมนตรี และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แล้ว ซึ่งข้อเสนอแนะดังกล่าว มีประเด็นสำคัญคือ การเสนอให้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการชุมชน” อันมีองค์ประกอบของประชาชนและชุมชนในพื้นที่ และส่วนท้องถิ่น โดยคณะกรรมการชุมชนนี้จะมีบทบาทในการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ในเขตป่าอนุรักษ์ร่วมกับคณะกรรมการที่ปรึกษาพื้นที่คุ้มครอง หรือ PAC ในแต่ละพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวต่อไปว่า การจัดเวทีสาธารณะในครั้งนี้ จึงเป็นการแลกเปลี่ยนและให้ข้อคิดเห็น เพื่อแสวงหาแนวทางบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรม ตลอดจนการแก้ไขกฎหมายลำดับรองให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนบนพื้นฐานของสิทธิชุมชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

กิตติศักดิ์ ปรกติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย กล่าวว่า การบังคับใช้และตีความพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมาของภาครัฐ มุ่งคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก โดยมิได้คำนึงถึงสิทธิชุมชนอันได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญไม่บัญญัติข้อจำกัดไว้ โดยที่การใช้สิทธิชุมชนมีเงื่อนไขที่จะต้องเป็นไปบนหลักของความสมดุลและยั่งยืนในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย อย่างไรก็ดี สิทธิชุมชน มีศักดิ์และความสำคัญมากกว่าการมุ่งคุ้มครองเพียงทรัพยากรธรรมชาติ การร่างอนุบัญญัติหรือกฎหมายลำดับรองต่าง ๆ ของภาครัฐจึงต้องกำหนดกฎเกณฑ์ในทางที่เป็นคุณกับชุมชน เพื่อให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

สาธิต วงศ์หนองเตย กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาที่ดิน และการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน สภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นว่า การเกิดขึ้นของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยภาพรวมถือเป็นความก้าวหน้าของรัฐที่สะท้อนให้เห็นว่ารัฐได้ให้การยอมรับอย่างแท้จริงว่ามีผู้คนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จึงออกกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาในส่วนนี้เพื่อให้คนอยู่กับป่าได้ นอกเหนือไปจากการใช้วิธีไล่รื้อและจับกุม อย่างไรก็ดี ตนเห็นว่า หากจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้จะต้องมีกลไกที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนได้พูดคุยกันเพื่อหาทางออกในทางปฏิบัติ รวมทั้งต้องแก้ไขปัญหาให้กับบุคคลที่ถูกดำเนินคดีบุกรุกป่า โดยที่รัฐบาลมีนโยบายจะนิรโทษกรรมให้แล้วเสร็จ ก่อนออกกฎหมายลำดับรองด้วย

ประยงค์ ดอกลำไย ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) เรวดี ประเสริฐเจริญสุข มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาณุเดช เกิดมะลิ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และ ประทีป มีคติธรรม ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ร่วมแสดงความคิดเห็น สรุปได้ว่า ที่ผ่านมารัฐมักมีสมมุติฐานว่าชุมชนที่อาศัยอยู่ในป่ากว่า 4,000 ชุมชน คือผู้บุกรุกป่าทั้งที่ชุมชนเหล่านี้คือผู้ที่อาศัยอยู่มาก่อนการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติหรือเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ การตั้งสมมติฐานเช่นนี้ นำไปสู่การออกกฎหมายหรือระเบียบที่หน่วยงานของรัฐยังคงเป็นผู้มีอำนาจควบคุมเบ็ดเสร็จทุกการดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ป่าซึ่งรวมทั้งพื้นที่อนุรักษ์ในทะเล เช่น รูปแบบของการสร้างที่อยู่อาศัย หรือ ชนิดของสัตว์ป่าสัตว์น้ำที่ชาวบ้านจะสามารถจับมาเพื่อหาเลี้ยงชีพได้ ซึ่งทำให้ชุมชนในพื้นที่ป่ายังคงอ่อนแอและขาดศักยภาพในการดำรงชีพด้วยตนเอง

ผู้แทนภาคประชาชนยังสะท้อนว่า แม้สิทธิชุมชนจะได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับและทุกวันนี้ได้รับการส่งเสริมอย่างกว้างขวางในทางสากล แต่เมื่อพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติรวมทั้งร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 พบว่า ยังมีนัยยะของการต้องการกำกับดูแลเบ็ดเสร็จโดยรัฐเป็นหลักมากกว่าการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น ดังนั้น วิธีคิดในการร่างกฎหมายลำดับรองหรืออนุบัญญัติจึงต้องปรับเปลี่ยนใหม่ให้เป็นไปในทางที่ต้องไม่สร้างภาระให้กับชุมชน ส่งเสริมให้ชุมชนสามารถออกแบบวิถีชีวิตของตนได้อย่างมีคุณภาพ ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการใช้และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันอย่างยั่งยืน อันจะเป็นการลดอุปสรรคด้านอัตรากำลังของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่ไม่เพียงพอต่อการดูแลพื้นที่ป่าด้วยการดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมดูแลและบริหารจัดการ ทั้งนี้ ผู้แทนภาคประชาชนสนับสนุนข้อเสนอแนะในการแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามความเห็นของ กสม. และมุ่งหวังให้ข้อเสนอแนะดังกล่าวได้รับการผลักดันให้เกิดผลจริงในทางปฏิบัติบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของประชาชน

“กสม. ยินดีร่วมมือกับทุกฝ่ายและทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนข้อเสนอแนะแนวทางในการคุ้มครองสิทธิชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์กรณีนี้ให้เกิดขึ้นในทางปฏิบัติได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม โจทย์ที่ท้าทายที่ต้องการให้ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนได้ร่วมมือกัน คือการทำให้ทั้งคน ป่า การอนุรักษ์ และการพัฒนา เดินหน้าไปพร้อมกันได้ บนพื้นฐานของหลักการกระจายอำนาจและการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งหัวใจสำคัญคือประชาชนและชุมชนต้องมีส่วนร่วม” ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวปิดเวที

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net