Skip to main content
sharethis

ม.จ.จุลเจิม อ้างหลังจาก 2475 เป็นต้นมา เกือบร้อยปี ที่ สถาบันพระมหากษัตริย์ โดนปล้นพระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน ถามสมควรแล้วหรือยัง ที่ต้องถวายคืนพระราชอำนาจ เพื่อปฏิรูปการเมืองใหม่ ในรูปแบบ ของ ร.7

11 เม.ย.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ‘เฟซบุ๊ก’ บัญชีส่วนตัว ‘จุลเจิม ยุคล’ ของ ม.จ.จุลเจิม ยุคล นายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ โพสต์ข้อความว่า หลังจาก 2475 เป็นต้นมา เกือบร้อยปี ที่ สถาบันพระมหากษัตริย์ โดนปล้นพระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมี ข้าราชการทหาร ตำรวจประชาชนคน ธรรมดา รวมตัวกันเปลี่ยนแปลงการปกครอง และขึ้นบริหารบ้านเมืองภายใต้อำนาจที่ผลัดเปลี่ยนกันหลายกลุ่ม หลายเหล่า และหลายอุดมการณ์ความคิด ประเทศชาติมีแต่ย่ำแย่ลงทุกวัน

"เราไม่อาจหวังพึ่งคนเหล่านั้นได้อีกต่อไป ถึงเวลาแล้วที่เรา (ประชาชน) ต้องคิดกันว่า สมควรแล้วหรือยัง ที่ต้องถวายคืนพระราชอำนาจ เพื่อปฏิรูปการเมืองใหม่ ในรูปแบบ ของ พระบาทสมเด็จ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาล ที่ 7" ม.จ.จุลเจิม โพสต์

ม.จ.จุลเจิม ยังยก พระราชดำริ ส่วนหนึ่งวันที่ 2 มี.ค.2477 โดยอ้างว่า พระบาทสมเด็จ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ต้องพระประสงค์ เพื่อปฏิรูปบ้านเมือง ให้เจริญแบบอารยประเทศ

“การที่ข้าพเจ้าได้ยินยอมให้มีสมาชิก 2 ประเภทก็โดยหวังว่าสมาชิกประเภทที่ 2 ซึ่งข้าพเจ้าตั้งนั้น จะเลือกจากบุคคลที่รอบรู้การงาน และชำนาญในวิธีดำเนินการปกครองประเทศโดยทั่วๆ ไปไม่จำกัดเปนพวกใดคณะใด เพื่อจะได้ช่วยเหลือนำทางให้แก่สมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา แต่ครั้นเมื่อถึงเวลาที่จะตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 ขึ้น ข้าพเจ้าหาได้มีโอกาสแนะนำในการเลือกเลย และคณะรัฐบาลก็เลือกเองแต่ฉะเพาะผู้ที่เป็นพวกของตนเกือบทั้งนั้น” ลงพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 เวลา 13 นาฬิกา 45 นาที

 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฏรเมื่อปี 2475 นั้น รัชกาลที่ 7 พระองค์ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใช้ในประเทศ โดยผู้มีส่วนช่วยร่างรัฐธรรมนูญคือ พระยากัลยาณไมตรี หรือ ฟรานซิส บี. แซร์ ร่างนั้นมีเพียง 12 มาตรา เรียกว่า “Outline of Preliminary Draft” เสร็จสิ้นในปี 2467 แต่ไม่ได้มีการประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว มี 12 มาตรา ให้อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์ มีพระราชอำนาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี อภิรัฐมนตรี และองคมนตรีสภา อำนาจสูงสุดทางนิติบัญญัติเป็นของพระมหากษัตริย์

ส่วนอีกฉบับในปี 2474 รัชกาลที่ 7 เสด็จไปรักษาพระเนตรที่สหรัฐอเมริกา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีวิสารวาจา และเรมอนด์ บี. สตีเวนส์ ร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญเสร็จในวันที่ 9 มี.ค. 2474 (หรือ 9 มีนาคม 2475 ตามปฏิทินสากล) ได้มอบร่างดังกล่าวให้แก่อภิรัฐมนตรี ในวันที่ 12 มี.ค. 2474 (หรือ 12 มีนาคม 2475 ตามปฏิทินสากล) เพื่อประชุมพิจารณาในที่ประชุมอภิรัฐมนตรีสภา แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้มีการประชุมพิจารณากันอย่างไร และไม่มีการพระราชทานรัฐธรรมนูญในพระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปีในวันที่ 6 เม.ย. 2475 โดยร่างนี้ ระบุ พระมหากษัตริย์แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง และแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ไม่เกินครึ่งหนึ่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net