Skip to main content
sharethis

'ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล' อดีต รมว.คลัง แนะรัฐบาลแก้ผลกระทบ 'รัสเซีย-ยูเครน' ต้องทำตั้งแต่สงครามเริ่มต้น อัดแก้ปัญหาแบบปะผุเหมือนโควิด เดินตามหลังปัญหาตลอด หวั่นกระทบท่องเที่ยว-ส่งออกผลไม้ไปจีนมีปัญหา เหตุจีนยังยึดนโยบาย COVID Zero ชี้ 'รัฐบาลประยุทธ์' ใช้จ่ายเงินสุรุ่ยสุร่าย 8 ปี สร้างหนี้สาธารณะติดเพดานมากกว่ารัฐบาลเลือกตั้ง ในอดีต 3-4 รัฐบาลรวมกัน


ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

19 มี.ค. 2565 ทีมสื่อสภาที่ 3 แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่านายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ช่องยูทูปสภาที่ 3 ถึงผลกระทบที่ประเทศไทยจะต้องประสบจากการสงครามระหว่างประเทศรัสเซีย-ยูเครน ว่า ประเทศไทยควรจะต้องการวางแผน  ในแง่ของเศรษฐกิจระดับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และในระดับรากหญ้า  ที่ผ่านมาผลกระทบจากโควิดทำให้เราไม่สามารถ ที่จะฟื้นธุรกิจการท่องเที่ยวได้ดีเท่าที่ควร ตรงนี้เป็นปัญหาซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข

อดีต รมว.คลัง กล่าวว่าเท่าที่ตนมองไปจนถึงสิ้นปี 2565 และอาจจะปีหน้าบางส่วน นโยบายของประเทศจีนที่ใช้ COVID Zero คือไม่ยอมให้มีการแพร่ระบาดของโควิดได้เลย  พยายามจะหาทางเบรกแต่พอเบรกแล้ว ถ้ามีการแพร่ระบาดอีกก็ล็อกดาวน์ใช้มาตรการแบบเข้ม ซึ่งจีนจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ เพราะจำนวนคนของจีนเยอะมาก แต่จำนวนห้องของโรงพยาบาลน้อย เขาก็รู้ว่าถ้าจำนวนคนติดโควิดแพร่กระจาย ต่อให้มีจำนวนคนอาการหนัก เป็นสัดส่วนเปอร์เซ็นต์น้อย แต่จำนวนประชากรของเขาเยอะ ก็จะทำให้โรงพยาบาลรองรับไม่ได้ เพราะฉะนั้นโอกาสที่ไทยจะฟื้นเรื่องท่องเที่ยว ที่จะทำให้เกิดขึ้นมาโดยเร็ว จากตลาดใหญ่ที่สุดของไทย คือตลาดจีนนั้นทำได้ยาก  ขณะนี้จะพบว่าไทยมีปัญหาเรื่องการส่งสินค้าเกษตรไปประเทศจีน ปัญหาที่มีมากคือการส่งลำไยอบแห้ง ซึ่งเป็นที่นิยมของคนจีนที่สั่งซื้อเป็นประจำ จำนวนการส่งออกของลำไยอบแห้ง ที่ทำในประเทศไทยคือ 100% ส่งออกถึง 70% ของจำนวนที่ผลิต แต่เวลานี้ส่งออกไม่ได้ เพราะประเทศจีนยังมีมาตรการต่างๆที่ทำให้ลำไยจากไทยไม่ได้ส่งไป  

อดีต รมว.คลัง กล่าวต่อว่านอกจากนี้อีกไม่กี่เดือนจะมีทุเรียนออกมาจำนวนแสนๆตัน ถ้าหากว่ายังไม่สามารถที่จะไปเคลียร์ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดจากเหตุผลอะไรก็ตาม ก็จะทำให้เกษตรกรของไทยมีปัญหาใหญ่ คือขายสินค้าไม่ได้  ในปีนี้เกษตรกรอาจจะพบว่าราคาสินค้าดีขึ้น เช่น อาจจะดีใจว่าราคาข้าวขยับขึ้นหน่อย ส่วนราคาข้าวโพดเวลานี้ก็นิ่ง ราคาสินค้าเกษตรอื่นๆเช่นน้ำมันปาล์มก็สูงขึ้น แม้อาจจะดีใจแต่ปัญหาคือเกษตรกรของไทย หาซื้อปุ๋ยได้ยากมีเงินบางทีก็ซื้อไม่ได้ ราคาปุ๋ยก็จะแพงเพราะฉะนั้นต้นทุนในเรื่องของการซื้อปุ๋ย ,ยาฆ่าแมลง จะพุ่งสูงขึ้น ต่อให้มีความสามารถในการขายสินค้าราคาสูงขึ้น แต่ต้นทุนก็จะสูงขึ้นมากกว่า ตรงนี้จะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับเกษตรกร ซ้ำซ้อนกับปัญหาในเรื่องท่องเที่ยวซึ่งยังไม่ฟื้นเพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่สำหรับประเทศไทย

“ส่วนการเตรียมตัววางแผนของรัฐบาลปัจจุบัน กรณีสงครามรัสเซียยูเครน ออกมาคล้ายกับสิ่งที่รัฐบาลทำในสมัยแรกๆของวิกฤตโควิด แทนที่จะไปดักทางปัญหาล่วงหน้า 3-5 ก้าว โดยคิดล่วงหน้าว่าตรงนี้ในอนาคตอีก 3-6  เดือนจะเกิดอะไรขึ้น  แต่ที่ผ่านมาเราจะพบว่าวิกฤตโควิดเฉพาะในช่วงแรก  รัฐบาลเดินตามหลังโควิดประมาณ 1-2 ก้าวตลอดเวลา โดยรอให้ตรงนี้เกิดขึ้นมาแล้วตามไปแก้ในลักษณะแบบปะผุ”อดีตรมว.คลัง ระบุ

อดีต รมว.คลัง กล่าวอีกว่าลักษณะการทำงานแบบนี้ไม่ทันเหตุการณ์ ไม่ได้เตรียมตัวในการแก้ไขปัญหา แล้วปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับวิกฤต รัสเซีย-ยูเครน รัฐบาลไม่ได้วางกระบวนการคิดอ่านในการแก้ไขปัญหา ไว้ตั้งแต่เนิ่นๆตั้งแต่สงครามเริ่มต้น ก็จะช้าไปแล้ว   แบบเดียวกับวัคซีนพอถึงเวลาตั้งใจว่าจะไปจองวัคซีน  ก็ไม่ทันแล้วต้องไปต่อคิวตอนท้าย  เพราะฉะนั้นในส่วนนี้ เห็นว่าในส่วนของรัฐบาลที่ผ่านมา การติดตามสถานการณ์ แล้วมาเล่าวิเคราะห์เน้นให้ประชาชน ผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็กขนาดกลางขนาดใหญ่ ได้ตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มีน้อยมากเกินไป  นอกจากนี้เน้นเฉพาะเรื่องการแก้ไขปัญหาอย่างเดียว คือราคาน้ำมันซึ่งยังไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งภาพรวม  นอกจากนี้มีปัญหาอีกประการหนึ่ง ถ้าดูตามนี้วิธีการที่ประเทศไทย จะผ่านวิกฤติทั้งในเรื่องของโควิด กว่าจะฟื้นตัวขึ้นมาเต็มที่แล้วมองไปข้างหน้า ซึ่งการทำธุรกิจเศรษฐกิจโลกระหว่างอเมริกากับจีน กำลังจะเดินแยกกันเป็นถนนคู่ขนานคนละสาย  จากเดิมเป็นการจับมือเดินถนนสายเดียว แล้วก็ใช้กระบวนการโลกาภิวัตน์ แต่เวลานี้จะกลายเป็นว่า 2 ค่ายเดินถนนคนละสาย ทั้งการค้า การลงทุน อุตสาหกรรม

“ที่เห็นชัดเจนก็คือเรื่องเทคโนโลยี โดยเฉพาะในเรื่องของโทรคมนาคม เพราะฉะนั้นในส่วนนี้ผลกระทบต่อประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย  ซึ่งเดิมเราอาศัยนโยบาย Supply Chain (ห่วงโซ่อุปทาน) ที่ประเทศในเอเชียตั้งโรงงานอุตสาหกรรม และประเทศอีกประเทศหนึ่งผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมส่วนหนึ่ง  ทั้งหมดนี้เชื่อมกันอย่างเป็นโครงข่าย แต่ในอนาคตโมเดลเศรษฐกิจตรงนี้อาจจะไม่สดใสเช่นเดิม   กลายเป็นว่าจะมีธุรกิจหลายอย่าง ซึ่งสหรัฐอเมริกาต้องการที่จะดึงกลับไปผลิตในสหรัฐเอง ขณะที่ยุโรปก็เช่นกัน ตรงนี้จะกระทบในแง่ของอุตสาหกรรมในจีนและภูมิภาคนี้ด้วย “ 

นายธีระชัยกล่าวว่าในแง่การปรับตัวของชุมชน เราจะต้องคิดอ่านว่าชุมชนในประเทศไทยจะต้องปรับตัวอย่างไร ตรงนี้ไม่ได้มีการคิด แต่ถ้าเราคิดว่ามีความจำเป็นต้องหาทางช่วย  ให้ผู้ประกอบการ SME มีเวลาหายใจ ในการที่จะเดินไปข้างหน้า รัฐบาลจะต้องมีวงเงินที่จะนำมาช่วยเหลือประชาชน ไม่ใช่ช่วยเหลือในแง่ลักษณะเป็นการกระตุ้นอุปโภคบริโภค  แต่ช่วยเหลือผู้ประกอบการ ที่ทำให้เขาปรับตัวรองรับภาพทัศน์ ในการค้าขายซึ่งจะเปลี่ยนไปในอนาคตของโลกได้  ซึ่งตรงนี้ต้องใช้เงิน

“น่าเสียดายที่ผ่านมา รัฐบาลประยุทธ์มีการใช้เงินไปเยอะมาก แล้วสร้างหนี้สาธารณะของประเทศขึ้นไป จนกระทั่งติดเพดาน แล้วหนี้สาธารณะที่ท่านสร้าง รัฐบาลเดียวของพล.อ.ประยุทธ์อยู่มา 8 ปี สร้างหนี้มากกว่ารัฐบาลในอดีต ที่มาจากการเลือกตั้ง สร้างหนี้รัฐบาลเดียวเหมามากกว่ารัฐบาลในอดีต 3-4 รัฐบาลรวมกัน แต่หนี้ที่สร้างไม่ได้เอาไปทำให้เกิดประสิทธิภาพ หรือรายได้ที่ควร หนี้ที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์สร้างขึ้นมา เอาไปเพื่อการกินใช้อุปโภคบริโภคมากเกินไป แน่นอนคนที่กินที่ใช้ก็มีความพอใจ ในแง่ของธุรกิจก็จะมีรายได้เข้ามาแต่เฉพาะปีนี้  แต่ไม่ได้ช่วยให้เขาปรับตัว ไม่ได้ช่วยให้เขามองไปข้างหน้า  เพราะฉะนั้นการนำเงินกู้ไปใช้ในเรื่องของการอุปโภคบริโภค ก็จะมีลักษณะเหมือนกับไฟไหม้ฟาง เกิดผลดีทำให้ตัวเลข GDP ดีขึ้นแต่ก็เฉพาะไตรมาสนี้ พอพ้นไปแล้วก็กลายเป็นว่า ประชาชนจะว้าเหว่ แล้วยิ่งมาเจอปัญหารัสเซีย-ยูเครน รัฐบาลในขณะนี้ก็จะหมดสายป่าน เพราะนำไปทุ่มใช้ในเรื่องไม่เป็นเรื่องมาก จนไม่เหลือที่จะนำมาใช้ในเรื่องจริง เพราะฉะนั้นสิ่งนี้เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย”อดีรมว.คลัง กล่าว 

นายธีระชัยกล่าวทิ้งท้ายว่ารัฐบาลจำเป็นที่จะต้องมีแผนการในการเตรียมตัว เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน อีกมากมายหลายด้านแต่หมดกำลังเสียแล้ว เพราะพล.อ.ประยุทธ์ใช้จ่ายเงินสุรุ่ยสุร่าย แม้ว่าท่านจะมีความภูมิใจว่า  นำเงินที่กู้มา ใส่ลงไปในมือประชาชนเพื่อกินเพื่อใช้ เมื่อกินใช้เสร็จขับถ่ายออกมาก็จบ เพราะฉะนั้นไม่ได้ทำให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net