Skip to main content
sharethis

ธีระพล อันมัย มอง “ยืนหยุดขัง” อุบลราชธานีต่อให้คนน้อยก็ไม่ใช่ปัญหาในเมื่อการยืนหยุดขังเป็นการต่อสู้และเป็นการต่อต้านรูปแบบหนึ่งในแนวทางสันติวิธี

ในช่วงเวลากว่า 6 เดือนที่ผ่านมาเรือนจำเปรียบเสมือนเป็นที่อยู่ของคนที่เห็นต่างจากรัฐ แกนนำและแนวร่วมประชาธิปไตยถูกจับกุมคุมขังอยู่ภายในนั้น ทั้งอานนท์ นำภา, เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์, ไผ่ จตุภัทร์, รุ้ง-ปนัสยา, ไมค์ ภาณุพงศ์, เบนจา อะปัญ, อาทิตย์ทะลุฟ้า, จิตรกร (แจ็คกี้ทะลุแก๊ซ) และอีกหลายต่อหลายคนที่ผลัดกันถูกเจ้าหน้าที่นำตัวเข้าออกคุก

ด้านคนที่อยู่นอกคุกและยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยต่างพยายามเรียกร้องคืนสิทธิประกันตัวให้แก่คนในเรือนจำ การประท้วงเล็กๆ แต่ยาวนานอย่างการยืนหยุดขังเพื่อกดดันให้ศาลและผู้ที่เกี่ยวข้องคืนสิทธิประกันตัวให้แก่ผู้ต้องขังคดีการเมืองจึงเริ่มต้นขึ้น จังหวัดอุบลราชธานีเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่กิจกรรมยืนหยุดขังปะทุขึ้น ธีระพล อันมัย อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เล่าให้ประชาไทฟังถึงการยืนหยุดขังที่เขาและเพื่อนๆ ร่วมกันทำทุกเย็น บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

“เราเริ่มจัดกิจกรรมกันมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เราไม่ได้จัดทุกวัน เหนื่อยจากภาระหน้าที่การงาน แต่จะมีการนัดหมายกันส่วนใหญ่ก็เป็นวันพุธและวันศุกร์ที่มีเวลาว่างตรงกัน ตอนแรกเราจัดกิจกรรมในเมือง แต่ต่อมาย้ายสถานที่จัดมายืนทำกิจกรรมที่หน้ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพราะว่าคนที่มาร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการและนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นหลัก จัดหน้ามหาวิทยาลัยการเดินทางได้สะดวกมากกว่า” ธีระพลกล่าว

ธีระพล อันมัย อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 

สัมภาษณ์ผู้ร่วม "ยืนหยุดขัง" ในที่อื่น

คนมาร่วมเยอะไหม น้อยสุดกี่คน เวลาคนมาน้อยรู้สึกอย่างไร

ธีระพล : มีคนมาร่วมมากบ้างน้อยบ้างตามจังหวะสถานการณ์ มากสุดก็ 30 กว่าคน น้อยสุดมี 7 คนเป็นอย่างต่ำ คนที่มาร่วมส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาและนักวิชาการ แต่ก็มีประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงมาร่วมยืนด้วย โดยเฉพาะในช่วงที่มีเหตุการณ์การคุกคามจับกุมที่กรุงเทพฯ คนจะมาเยอะกว่าปกติ

มีการคุกคามจากเจ้าหน้าที่ขณะทำกิจกรรมบ้างไหม

ธีระพล : เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาประจำ ส่วนตำรวจสันติบาล สืบจังหวัด จะมาแนะนำตัวก่อนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วก็ไม่ได้มีพฤติกรรมคุกคามอะไร แต่ก็มีทหารแต่งกายนอกเครื่องแบบ ผมเกรียน ขับรถกระบะสีดำไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนมายืนถ่ายรูป โดยไม่ได้แจ้งวัตถุประสงค์

ทำไมถึงรู้ว่าเป็นทหาร

ธีระพล : ที่รู้ว่าเป็นทหารก็เพราะตำรวจนอกเครื่องแบบที่มาเฝ้าสังเกตการณ์การทำกิจกรรมเป็นคนบอก

คนที่มาทำกิจกรรมก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาส่วนใหญ่แล้วเป็นคนที่รู้จักคุ้นเคยกันมาก่อนจากการทำกิจกรรมการเมืองก่อนหน้านี้ รู้จักกันมานานแล้ว

กิจกรรมยืนหยุดขังหน้ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ยืนเฉยๆ บางครั้งคนก็น้อย คุณรู้สึกแย่ รู้สึกโดดเดี่ยวไหม

ธีระพล : ยืนมานานเท่าไหร่ กี่วันก็จำไม่ค่อยได้แล้ว แต่ไม่ได้รู้สึกโดดเดี่ยวอะไรมาก เพราะว่าการที่ไม่ได้ทำอะไรเลยมันจะทำให้เรามีความรู้สึกแย่ยิ่งกว่า การทำกิจกรรมยืนหยุดขังก็เป็นการต่อสู้ เป็นการต่อต้านรูปแบบหนึ่งในแนวทางสันติวิธี

นอกจากนั้นมันยังมีสิ่งที่เป็นกำลังใจ ก็คือการได้รับการตอบรับจากผู้คนที่ขับรถสัญจรผ่านไปมา มีคนเปิดกระจก เปิดหน้าต่างรถ โบกมือชูสามนิ้วทักทายตลอด บางคนก็จอดรถพูดให้กำลังใจ

มีคนที่แสดงตัวว่าไม่เห็นด้วยกับการทำกิจกรรมบ้างไหม

ธีระพล : มีแค่ครั้งเดียว เป็นพ่อของบัณฑิตที่มางานรับปริญญา เขาเดินเข้ามาตั้งคำถามในลักษณะที่ไม่ต้องการคำตอบว่า “ก็ทำผิดจริงไม่ใช่เหรอ” แต่ก็ไม่ได้มีปากเสียงอะไรกัน พวกนี้เป็นคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์

นอกจากยืนเฉยๆ มีการทำกิจกรรมอย่างอื่นด้วยไหม

ธีระพล : ก็มีการนำหนังสือมาอ่าน แล้วตอนจบก็จะมีการอ่านบทกวี

หลังการปล่อยตัวผู้ต้องขังในคดีการเมืองทั้งหมดจะทำกิจกรรมร่วมกันต่อหรือไม่

ธีระพล : ยังไม่ได้คุยกันจริงจัง แต่คิดว่ากิจกรรมยืนหยุดขังก็ยังจะต้องทำต่อไป เพราะกรณีของคุณอัญชัญที่ยังถูกขังอยู่ ก็เป็นนักโทษเด็ดขาดจากการถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามกฏหมายอาญามาตรา 112 เราอยากจะสื่อสารกรณีของคุณอัญชันออกไปสู่ประชาชน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net