Skip to main content
sharethis

เลขานุการมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม หวัง 'งานครบรอบ 30 ปี' เป็นบทเรียนกระตุกต่อมผู้มีอำนาจปกครองให้ตระหนัก หากใช้อำนาจผิดทาง ไม่เป็นไปตามครรลองคลองธรรม ประชาชนจะลุกขึ้นมาทวงสิทธิ์

 

16 ก.พ.2565 สภาที่ 3 รายงานต่อสื่อมวลชนว่า ชัยยง อัชฌานนท์ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม ให้สัมภาษณ์ช่องยูทูปสภาที่3 ถึงการจัดงาน 30 ปี พฤษภาประชาธรรม ว่า การที่ประชาชนลุกขึ้นมาเรียกร้องประชาธิปไตย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 นับถึงวันนี้ครบรอบ 30 ปี เหตุการณ์ในครั้งนั้นก่อให้เกิดความสูญเสีย ทางด้านบุคลากรภาคประชาชนจำนวนมาก ทั้งเสียชีวิตและสูญหายโดยที่ไม่ทราบร่องรอยว่าเป็นอย่างไรบ้าง  ส่วนที่บาดเจ็บนับได้หลาย 100 คน จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น คณะญาติของผู้สูญหายรวมทั้งผู้ที่รับบาดเจ็บ ก็หามาตรการที่อยากจะทราบความจริงและข้อเท็จจริง ว่าผู้สูญหายไปนั้นเป็นตายร้ายดีอย่างไร 

เลขานุการมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม กล่าวว่า ญาติผู้ที่เสียชีวิต ผู้ที่บาดเจ็บเขาก็อยากจะรู้ว่าทำไมถึงมีการกระทำ จนกระทั่งญาติพี่น้องลูกหลานของเขาต้องเสียชีวิต หรือกระทำจนกระทั่งตัวเขาได้รับบัตรเจ็บ ก็พยายามเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ให้กระจ่างชัด แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร ทางขณะผู้เสียหายก็เลยมีความจำเป็น ต้องมาขอให้สภาทนายความช่วยดำเนินคดี  เพื่อจะได้ทราบข้อเท็จจริงที่เป็นปริศนาค้างคาใจให้กระจ่าง ซึ่งตอนนั้นสภาทนายความ ได้แต่งตั้งคณะทนายความขึ้นมา 1 ชุด เพื่อดำเนินคดีให้กับผู้เสียหาย ตนก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย

ชัยยง กล่าวต่อว่า  หลังจากเหตุการณ์สงบแล้ว รัฐบาลมีการออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรม ให้กับผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ แล้วก็ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น  ก็เป็นอันว่าไม่ต้องรับโทษ แต่จะเน้นไปทางด้านคดีอาญาเป็นหลัก เพราะฉะนั้นคดีที่ให้สภาทนายความทำ ก็หนักไปในทางคดีแพ่งก็ฟ้องจำเลยทั้งหมด  รวมทั้งหน่วยงานที่มีกองกำลังในขณะนั้น ที่ออกมาเขาเรียกว่า ฝ่ายรักษาความสงบ ส่วนฝ่ายประชาชนเขาเรียกว่าเป็นผู้ที่มาก่อให้เกิดบัตรเจ็บล้มตาย ต่างฝ่ายต่างเรียกร้องกันคนละอย่าง

เลขานุการมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม กล่าวว่า ทั้งนี้มีการดำเนินคดีเพื่อที่ต้องการจะทราบข้อเท็จจริง มีการขอให้ศาลออกหมายเรียกเอกสารต่างๆ รวมทั้งบุคลากรที่รู้เห็นเรื่องราวมาให้ข้อเท็จจริง เพื่อต้องการไขข้อข้องใจเหล่านี้ แต่ในที่สุดก็ได้รับการบ่ายเบี่ยง และไม่สามารถเปิดเผยออกมาได้ในที่สุดคดีที่ดำเนินการในศาลนั้น ท่านก็วินิจฉัยว่าเนื่องจากมี พ.ร.ก.นิรโทษกรรมแล้ว เพราะฉะนั้นเป็นอันว่าความผิดทั้งหลายก็ได้รับการยกไป หมายความว่าไม่ต้องมีความรับผิดชอบกัน ในทางกฎหมายก็จบลงเพียงเท่านี้

ชัยยง กล่าวอีกว่า เพราะฉะนั้นปัญหาเรื่องต่างๆ ที่เขาคาใจกันอยู่จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 30 ปีแล้ว ยังไม่สามารถที่จะหาข้อเท็จจริง มาคลี่คลายความรู้สึกที่แย่ๆของเขาได้ ลองนึกดูว่าถ้ามีคนอันเป็นที่รักของเราในครอบครัวสูญหายไป ไม่รู้ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร และรู้แน่ๆว่าเขาเป็นผู้หนึ่ง ที่มาอยู่ในเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย เมื่อปี 2535 นั้น แต่อยู่ๆก็หายไป เขาต้องการคำตอบว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร เชื่อว่าหน่วยงานภาครัฐ ต้องมีข้อมูลและทำบันทึกไว้ จะเป็นชั้นความลับระดับไหนก็ตาม แต่เวลาล่วงเลยมานานขนาดนี้แล้วควรจะเปิดเผยออกมา ว่าผู้ที่สูญหายไปโดยไร้ร่องรอยนั้น ความจริงแล้วเขาเป็นอย่างไร  

การจัดงานครบรอบ 30 ปีพฤษภาประชาธรรมนั้น เลขานุการมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม กล่าวว่า มีข้อเรียกร้องหนึ่งของคณะผู้จัดงานอยากจะขอให้ทำประวัติศาสตร์เมื่อปี 2535 ที่ยังคลุมเครืออยู่ ให้กระจ่างชัดออกมา แล้วเรื่องราวต่างๆการเรียกร้องไม่สามารถทำได้แล้ว เพราะมันล่วงเลยเวลาของอายุความตามที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว เพียงแต่ว่าทำอย่างไรที่จะเหตุการณ์นั้นเป็นบทเรียน ที่จะให้ผู้มีอำนาจปกครอง ได้ตระหนักว่าเมื่อไหร่ก็ตาม ถ้าหากว่าการใช้อำนาจปกครองไปในทางที่ไม่ถูก ไม่ควร ไม่เป็นไปตามครรลองคลองธรรม ประชาชนจะลุกขึ้นมาทวงสิทธิ์ของเขา และเมื่อนานโอกาสที่จะเกิดความเสียหาย เช่นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์หลายครั้งที่ผ่านมา ก็อาจจะเกิดซ้ำรอยขึ้นมาอีกได้ ก็ขอให้การจัดงานรำลึก 30 ปีพฤษภาประชาธรรมนี้  เป็นบทเรียนชิ้นหนึ่งสำหรับผู้มีอำนาจปกครอง ทั้งในปัจจุบันและอนาคตจะได้ตระหนักว่า  ใช้อำนาจนั้นให้ถูกต้องชอบธรรมแล้วบ้านเมืองจะสงบสุข 

ส่วนผู้บริหารระดับสูงที่มีอำนาจ จะรับฟังเสียงสะท้อนจากมูลนิธิพฤษภาประชาธรรมมากน้อยแค่ไหนนั้น เลขานุการมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม กล่าวว่า ขอให้พึงรับฟังข่าวสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องสำคัญของประวัติศาสตร์ ทุกปีก็จะมีการจัดงานรำลึกและในหลายปีที่ผ่านมา หน่วยงานราชการก็เข้ามาสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานครราชการอื่นๆที่พอจะให้การสนับสนุนช่องทางไหนได้ ก็เข้ามาสนับสนุน เพราะฉะนั้นข่าวสารที่เกิดขึ้นจากการจัดงานรำลึก ในวาระครบรอบ 30 ปีนี้ น่าจะต้องเข้าถึงสายตาและเข้าถึงการรับรู้ ของผู้ปกครองผู้มีอำนาจส่วนว่ารับรู้แล้วจะเพิกเฉยหรือจะเข้ามา สนองตอบข้อเรียกร้องของผู้ที่กำลังทุกข์ยาก ลำบาก ตรอมตรมมาเป็นเวลา 30 ปี ก็ขอวิงวอนให้มาช่วยกันปลดเรื่องทุกข์ให้กับบุคคลเหล่านี้ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net