Skip to main content
sharethis

สื่อพม่าอ้างแหล่งข้อมูลจากคนในพื้นที่ เผยช่วงกลางดึกวานนี้ (23 ธ.ค.) กองทัพพม่าใช้เครื่องบินโจมตีบริเวณเมืองเลเกก่อ เขตเมียวดี ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของ KNU ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก หลัง KNU ออกแถลงการณ์ ร้อง UN กำหนดเขตปลอดการบินในพื้นที่ชายแดนเพียงไม่กี่วัน ส่งผลให้มีชาวกะเหรี่ยงหนีภัยมาที่ฝั่งไทยอีกระลอก ด้านภาคประชาสังคมร้องรัฐไทยปฏิเสธการสนับสนุน ‘มินอ่องหล่าย’ ทั้งทางตรงและทางอ้อม-ประกาศเขต "No-Fly Zone" พื้นที่ชายแดน ปกป้องพลเรือนไทยและพม่า


ชาวพม่าอพยพลี้ภัยกลางดึก 23 ธ.ค. 64 หลังมีเสียงเครื่องบินทิ้งระเบิดและยิงปืนใหญ่ (ภาพจาก Karen National Media)

24 ธ.ค. 64 สื่อพม่า Myanmar Now รายงานวันนี้ (24 ธ.ค.) อ้างแหล่งข้อมูลในพื้นที่ เผยว่า กองทัพพม่าใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ และอาวุธหนัก โจมตีกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ที่เมืองเลเกก่อ ในรัฐกะเหรี่ยง เขตเมียวดี เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 64 เวลาประมาณ 22.00 น. 

แหล่งข้อมูลที่อยู่ในพื้นที่ขณะที่การโจมตีเกิดขึ้นนั้น เปิดเผยกับ Myanmar Now ว่า เครื่องบินของทหารทิ้งระเบิดบริเวณใกล้กับเมืองเลเกก่อ ก่อนที่ทหารราบที่ประจำการที่เนินเขาใกล้เคียงเริ่มยิงอาวุธหนักเข้าใส่บ้านแม่ต่อตะเล 

ขณะที่แหล่งข่าวใกล้ชิดกับผู้บริหาร KNU ในเลเกก่อ กล่าวว่า การทิ้งระเบิดเริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 22.10 น. ส่วนพื้นที่ที่ถูกโจมตีนั้นยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบ 

แหล่งข่าวจากเมียวดี และจาก อ.แม่สอด จ.ตาก ประเทศไทย ตรงข้ามแม่น้ำเมย ซึ่งแบ่งเขตแดนระหว่างพม่า-ไทย ยืนยันว่ามีเครื่องบินบินผ่านมาจริง และได้ยินเสียงปืนใหญ่อีกด้วย  

ทั้งนี้ การสู้รบระหว่างกองทัพพม่า และกองกำลัง KNU เกิดขึ้น โดยมีชนวนเหตุจากเมื่อ 14 ธ.ค. 64 เมื่อกองทัพพม่าดำเนินการบุกเข้าไปตรวจค้นภายในหมู่บ้านเขตดุปลายา หรืออีกชื่อคือ ‘กอกะเลก’ และทำการจับกุมประชาชน นักกิจกรรม และนักการเมืองพรรคฝ่ายตรงข้ามกองทัพพม่า ซึ่งเข้ามาอาศัยหลบภัยในเขต KNU ราว 20 คน จึงส่งผลให้ KNU ต้องตอบโต้การกระทำของกองทัพพม่าดังกล่าว ก่อนบานปลายเป็นการสู้รบยาวนานถึง 1 สัปดาห์ 

นอกจากนี้ อีกชนวนเหตุที่ทำให้พม่าโจมตี KNU คือภายในเมืองเลเกก่อ ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) กองพลที่ 6 ยังเป็นที่ฝึกอาวุธให้กับนักสู้แห่งกองกำลังปกป้องพลเรือน (PDF) ซึ่งเป็นกองกำลังพลเรือนที่ถูกก่อตั้งขึ้นมาโดยรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) และเพื่อต่อสู้กับทหารพม่าอีกด้วย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กองทัพพม่ากับ KNU รบพุ่งต่อเนื่อง ชาวพม่าผวา ลี้ภัยมาไทยกว่า 4,000 คน 

KNU แถลงเรียกร้องให้กองทัพพม่าถอนทหารที่เลเกก่อ ขอนานาชาติช่วยเหลือเหยื่อสงคราม

กองทัพพม่ารบ KNU ขยายแนว องค์ชาวกะเหรี่ยงวอนรัฐบาลไทยไม่รีบส่งผู้ลี้ภัยกลับ

แหล่งข่าวใกล้ชิดกับ PDF ให้สัมภาษณ์กับ Myanmar Now ว่า ก่อนหน้าที่ มีขบวนยานพาหนะทหารของกองทัพพม่า ราว 40 คัน ถูกพบว่ากำลังมุ่งตรงไปที่เมืองเลเกก่อ โดยใช้ทางด่วยสายเอเชีย ผ่านเมียวดี ไม่นานก่อนมีการใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า ขบวนรถทหารมุ่งตรงไปที่ค่ายของกองกำลัง KNLA ในพื้นที่นั้น 

นักสู้ของ PDF รายงานว่า มีปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ 2 ครั้งที่ค่ายของ PDF ทางตะวันตกของเมืองเลเกก่อ แหล่งข่าวระบุต่อว่า ขาของเขาได้รับบาดเจ็บจากการโจมตีดังกล่าว แต่ว่าค่ายทหารไม่ได้รับเสียหายแต่อย่างใด 

“มีการโจมตีทางอากาศ 2 ครั้ง ครั้งแรกตกลงบนพื้นที่ทางใต้ของค่ายทหารของเรา และอีกครั้งตกในพื้นที่เปล่า ใจกลางค่ายทหาร” แหล่งข่าวระบุ

การโจมตีเกิดขึ้น หลัง 3 วันก่อนหน้านี้ กองกำลัง KNU ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้สหประชาชาติ เรียกประชุมด่วน เพื่อกำหนดให้พื้นที่ชายแดนไทย-พม่า เป็น ‘เขตปลอดเครื่องบิน’ หรือ “No Fly Zone” เพื่อปกป้องพลเรือนจากการถูกโจมตีทางอากาศ  

ซอต่อนี โฆษกของกองกำลัง KNU ยืนยันรายงานว่ามีการโจมตีทางอากาศจริง แต่ปฏิเสธที่จะเปิดเผยข้อมูลมากกว่านี้ เขาเรียกร้องให้นานาชาติ ดำเนินมาตรการ เพื่อคุ้มครองพลเรือนที่ได้รับผลกระทบจากการปะทะ

“เราบอกแล้วว่ามันจะเกิดขึ้น และตอนนี้มันก็เกิดขึ้นแล้ว อย่างที่เราได้บอกไป สิ่งสำคัญที่สุดตอนนี้คือการปกป้องสาธารณชน ปกป้องชีวิตพลเรือนเป็นหลักการของประชาคมโลก” โฆษก KNU ให้สัมภาษณ์กับ Myanmar Now 

สมจิต รุ่งจำรัสรัศมี ผู้สื่อข่าวพิเศษบีบีซีไทยรายงานวันนี้ (24 ธ.ค.) จาก อ.แม่สอด จ.ตาก ว่าผลจากการใช้การโจมตีทางอากาศ ทำให้มีชาวกะเหรี่ยงที่อพยพเข้ามาฝั่งไทยเมื่อคืนนี้ (23 ธ.ค.) ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่หนีภัยการสู้รบมาอยู่บริเวณริมแม่น้ำเมยฝั่งเมียนมา แต่ไม่สามารถเดินทางข้ามมาฝั่งไทยได้ เนื่องจากมีทหารไทยตรึงกำลังอยู่ตามแนวชายแดน แต่การโจมตีทางอากาศครั้งนี้ทำให้เจ้าหน้าที่ไทยต้องยอมให้ข้ามมาฝั่งไทยในช่วงเวลา 01.30 น. ของวันนี้ ซึ่งการอพยพหนีภัยการสู้รบเป็นไปอย่างทุลักทุเลเนื่องจากมีทั้งเด็ก ผู้หญิง และคนชรา

นายกฯ รับช่วยเหลือผู้หนีภัย แต่ไม่ให้ตั้งศูนย์พักพิง

สมจิต รุ่งจำรัสรัศมี ผู้สื่อข่าวพิเศษของบีบีซีไทย รายงานวันนี้ (24 ธ.ค.) เมื่อเวลา 9.00 น. ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ที่ชายแดนไทย-เมียนมาวันนี้ (24 ธ.ค.) โดยยอมรับว่า การสู้รบระหว่างทหารเมียนมากับกองกำลังชาติพันธุ์มีความรุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องภายในของเมียนมา แต่ทางการไทยได้เตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นไว้แล้ว โดยเฉพาะเรื่องการจัดเตรียมพื้นที่ปลอดภัย และให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ที่หนีภัยการสู้รบเข้ามาในฝั่งไทย

นายกฯ กล่าวอีกว่าแม้ไทยจะพร้อมดูแลผู้ได้รับผลกระทบด้านที่พัก อาหารและยา แต่จะไม่มีการตั้งศูนย์พักพิงขึ้น เพราะศูนย์พักพิงที่มีอยู่ในขณะนี้ซึ่งมีผู้ลี้ภัยอยู่ประมาณ 9 หมื่นคนก็มีปัญหาอยู่แล้ว

ส่วนเรื่องการส่งผู้ลี้ภัยในศูนย์พักพิงกลุ่มนี้กลับเมียนมานั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งที่ผ่านมาก็ทยอยส่งกลับไปบ้างแล้ว แต่เมื่อเกิดวิกฤตการเมืองในเมียนมาจึงชะงักไป

สำหรับการปะทะระลอกล่าสุดนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ทางการไทยได้ประท้วงและยิงกระสุนควันเตือนหลังจากมีกระสุนลอยมาตกในฝั่งไทย

รัฐบาลไทยต้องทำมากกว่านี้

มูลนิธิ ‘เพื่อนไร้พรมแดน’ (Friends without Borders) ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานประเด็นผู้ลี้ภัย ออกแถลงการณ์บนหน้าเพจเฟซบุ๊ก ‘รัฐไทยต้องทำมากกว่าเปิดประตูมนุษยธรรม’ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลไทยช่วยเหลือประชาชนพม่า พร้อมประณามและยุติการช่วยเหลือทุกอย่างแก่กองทัพพม่า หลังกองทัพพม่าโจมตีทางอากาศในเขตดุปลายา รัฐกะเหรี่ยง วานนี้  

เพื่อนไร้พรมแดน ระบุว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยร่วมมือกับภาคประชาสังคมท้องถิ่นและองค์กรมนุษยธรรมที่มีประสบการณ์ ให้ที่พักพิงและดูแลผู้ลี้ภัยใหม่โดยยึดหลักมนุษยธรรมและหลักสิทธิมนุษยชนต่อไป
  
ขอให้ทางการไทยได้ช่วยอำนวยความสะดวกให้ภาคประชาสังคมท้องถิ่นได้ส่งมอบความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ให้เข้าถึงประชาชนเพื่อนบ้านของเราซึ่งกำลังพลัดถิ่นฐานในรัฐกะเหรี่ยงได้โดยเร็วที่สุด

ที่สำคัญ รัฐบาลไทยไม่อาจปฏิเสธอีกต่อไปว่า การก่ออาชญากรรมต่อพลเรือนไร้อาวุธในประเทศพม่าที่ทวีคูณและแผ่ขยายทั่วประเทศตลอดมานับจากรัฐประหาร 1 ก.พ. 64 เป็นเพียงเรื่องความขัดแย้งในประเทศ 

เมื่อการกระทำของกองทัพพม่าส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย ถึงเวลาที่รัฐบาล รวมถึงกองทัพ จะต้องแสดงจุดยืนอันชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยต่อปฏิบัติการอันโหดเหี้ยมที่เกิดขึ้นต่อพลเรือนไร้อาวุธ และปฏิเสธการสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อกองทัพพม่า 

“ไทยเป็นประเทศเพื่อนบ้านของประเทศพม่า ประชาชนพม่าทุกชาติพันธุ์ไม่เพียงจะเป็นเพื่อนบ้านของประชาชนไทย หากพลเรือนริมชายแดนทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำเมย-สาละวิน ล้วนเป็นเครือญาติ หรือกระทั่งครอบครัวเดียวกัน

"การสนับสนุนใดๆ ต่อกองทัพพม่าก็คือการสนับสนุนการก่ออาชญากรรมต่อเพื่อนบ้าน ญาติพี่น้อง และครอบครัวของเรา” ข้อความจากแถลงการณ์ของมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน 

ในวันเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก “แม่สอดต้านเผด็จการ‘ โพสต์ข้อความเรียกร้องความกล้าหาญจากรัฐบาล และกองทัพ ช่วยปกป้องพลเรือนตามแนวชายแดนไทย-พม่าอีกด้วย

"ไม่มีเพื่อนบ้านที่ไหนเขาบินเครื่องบินรบตามแนวชายแดน" สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เป็นแค่การกระทำที่ไร้มนุษยธรรมในฝั่งพม่า แต่เป็นสิ่งที่อาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่ประชาชนตามแนวชายแดนไทยด้วย

“เราขอความกล้าหาญจากรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคง ให้ได้สักครึ่งนึงกับการทำกับสหายเรา (นักกิจกรรมการเมือง) เราผิดหวังที่รัฐไม่มีปัญญาจนเพื่อนมนุษย์ของเราต้องเรียกร้องต่อโลก(UN) ให้ประกาศ NO FLY ZONE” ข้อความจากเพจ แม่สอดต้านเผด็จการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net