Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

รัฐไทยเฉลิมฉลองวันรัฐธรรมนูญ วันสิทธิมนุษยชนสากล โดยใช้กำลังสลายการชุมนุมของชาวจะนะ

นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ มันสะท้อนว่าประชาธิปไตยไทยตกต่ำ สิทธิมนุษยชนถูกเหยียบย่ำ เหลือเพียงเครื่องหมายการค้า เช่นกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพแจกรางวัล “องค์กรสิทธิมนุษยชนต้นแบบ” ให้บรรษัทยักษ์ใหญ่ทำ PR

ม็อบจะนะ ซึ่งควรเรียกว่า “ผู้หญิงคนแก่มาร้องทุกข์” มา ทวง MOU ข้อตกลงที่รัฐบาลทำไว้ จะเถียงจะแถจะตระบัดสัตย์อย่างไร (ข้อตกลงไม่ใช่สัญญา ครม.รับทราบไม่ได้เห็นชอบ) เชิญพูดได้ตามสบายถ้าไม่อายปาก แต่ทำไมต้องใช้ คฝ.สลาย ไล่นักข่าว ใช้สปอตไลต์ส่อง ไม่ให้ถ่ายภาพถ่ายคลิปเป็นประจักษ์พยานความกล้าหาญของ คฝ.กับผู้หญิงคนแก่

ตำรวจอ้างว่าม็อบกีดขวางจราจร อัครมหาเสนาบดีเจ้าพระยาประยุทธ์โอชาเข้าทำเนียบไม่ได้? ทำเนียบมีตั้งหลายประตู ทำไมต้องใช้กำลัง

ใช่หรือไม่เป็นสันดานละเมิดสิทธิจนเคยชิน อ้างชุมนุมผิดกฎหมายก็ใช้กำลังทันที ใช้อย่างเมามัน ทั้งที่กฎหมายมีหลักความสมควรแก่เหตุ มีกรอบเกณฑ์ที่เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติ ไม่ใช่ชี้หน้าว่าใครผิดแล้วตำรวจใช้กำลังได้ตามอำเภอใจ

แต่ทำมาแล้วไง กับม็อบราษฎร ม็อบทะลุแก๊ซ ทั้งขับรถชน ถีบรถล้ม รุมตีรุมกระทืบคนมือเปล่า ทำแล้วย่ามใจ เพราะรัฐให้ท้าย ปราบม็อบแล้วได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง กระบวนการยุติธรรมก็ปกป้องกันเอง

สาวอุดรบอกประยุทธ์ พัฒนาไม่ได้ให้เกษียณ ตำรวจขอเยี่ยมบ้าน ไม่ยอมให้ไปเรียกทำประวัติ พอโดนสังคมด่าขรม จี้เอาผิดปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ผู้บังคับบัญชารีบปฏิเสธ ไม่จริ๊งไม่จริง แต่ความจริงคือนักเคลื่อนไหวตามจังหวัดต่างๆ ถูกตำรวจ “เยี่ยมบ้าน” พูดจาคุกคาม สร้างความหวาดกลัวให้ครอบครัวพ่อแม่ ห้ามออกมาม็อบ โดยเฉพาะเมื่อนายจะไปสัญจร

ใช้อำนาจโดยไม่มีกฎหมาย อาศัยความเคยชินยุครัฐประหาร ตำรวจทหารบุกบ้านโดยไม่ต้องขอหมายค้นหมายจับ เห็นชัดว่า 7 ปี สิทธิมนุษยชนเตี้ยต่ำลง

แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังคิดว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของม็อบ ของ LGBTQ ช่างหัวมัน ตัวเองไม่เดือดร้อนอะไร ไม่ตระหนักว่าสิทธิมนุษยชนมีไว้คุ้มครองประชาชนผู้ด้อยโอกาสด้อยอำนาจ ไม่มีเส้นสาย ยิ่งรัฐมีอำนาจมาก ประชาชนยิ่งอันตราย ยิ่งให้ท้ายเจ้าหน้าที่ลุแก่อำนาจ เหิมอำนาจ ก็เป็นอย่าง “โจ้ ถุงดำ” ซึ่งถ้าไม่ตาย ถ้าไม่มีคลิป คงรอดได้สบายๆ ด้วยข้ออ้างทำเพื่อชาติใช้อำนาจเถื่อนเพื่อคุ้มครองสุจริตชน

10 ธันวา เป็นทั้งวันสิทธิมนุษยชนสากลและวันรัฐธรรมนูญ ซึ่ง 89 ปีผ่านไป กลับเกิดคำถามว่า ระบอบที่ปกครองประเทศอยู่ทุกวันนี้ใช่ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” จริงๆ หรือ

เพราะคำว่า “ประชาธิปไตย” ถูกลดความหมายลดเพดานลง ทั้งด้วยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยของศาล โดยเฉพาะคดี “ล้มล้าง” นี่ไม่ใช่ระบอบที่คนไทยเคยชินมา 30-40 ปีด้วยซ้ำ ทั้งที่ระบอบก่อนนี้ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มใบ (บางท่านเรียกว่าประชาธิปไตยใต้อำนาจนำ)

รัฐธรรมนูญ 10 ธันวา 2475 เกิดจากคณะราษฎรพยายามประนีประนอมกับเครือข่ายแวดล้อมสถาบัน ภายใต้หลักการประชาธิปไตย เทิดสถาบันพระมหากษัตริย์พ้นไปจากการใช้อำนาจทางการเมืองการบริหาร ซึ่งให้คุณให้โทษได้ เกิดคนพอใจไม่พอใจได้ อาจบริหารสำเร็จก็ได้ ล้มเหลวก็ได้ ฯลฯ ให้ไปอยู่นอกการใช้อำนาจเพื่อเป็นที่เคารพรัก ส่วนความเกลียดความชอบทางการเมืองให้เป็นเรื่องของรัฐบาลจากเลือกตั้ง ซึ่งถ้าประชาชนไม่พอใจก็ด่าได้

น่าเสียดายเครือข่ายอำนาจเดิมไม่ยอมรับหลักการนี้ พระยามโนรัฐประหารเงียบ พระยาพหลยึดอำนาจคืน ตามมาด้วยกบฏบวรเดช แต่ต่อมาก็เกิดรัฐประหาร 2490 ฉีกรัฐธรรมนูญ 2475 สิ้นสุดเจตนารมณ์คณะราษฎร

ในทางรัฐธรรมนูญ 2490 คือก้าวถอยหลังก้าวใหญ่ หลังจากนั้นอาจสลับไปมา แต่รัฐธรรมนูญ 2560 นี่เอง ที่ถอยไปก้าวใหญ่อีกครั้งในความหมาย “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจึงน่าทึ่ง-อึ้ง เพราะเป็นอะไรที่ไม่คาดคิด

คำว่า “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” คำขวัญปฏิวัติสาธารณรัฐฝรั่งเศส ถูกยกมาประณามม็อบปฏิรูปสถาบัน คำว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” มาตรา 1 ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกของ “ปฏิวัติสยาม” ถูกนำมาใช้รองรับความหมายอีกอย่าง ที่นักกฎหมายอ่านแล้วหัวร่อก๊ากๆๆ ทั้งน้ำตา

คุณค่า 10 ธันวากำลังถูกทำลายทั้งสองด้าน เหลือแต่ระบอบอำนาจที่กดเพดานประชาธิปไตย เหยียบย่ำสิทธิ มนุษยชน เพียงแต่แน่ละ คนยังมีชีวิตอยู่ได้ ในระบอบเสมือนยุคกลางแต่มี 5G สมาร์ตโฟน

เดิมพันของระบอบคือทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีได้หรือเปล่า มีรัฐบาลที่บริหารประเทศได้อย่างชาญฉลาด มีระบบราชการที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ปากท้องอิ่ม ระหว่างบีบคั้นให้ยอมจำนนต่อเพดานประชาธิปไตยที่ลดต่ำลง

ถ้าเชื่อว่าประชาธิปไตยไม่เกี่ยวกับปากท้อง ผู้นำโง่ทำเศรษฐกิจดีได้ ก็เชิญเดินหน้าไป

 

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/news_6775611

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net