Skip to main content
sharethis

'ไครียะห์' เยาวชนนักเคลื่อนไหว #Saveจะนะ และเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ยื่นหนังสือทวงถามความคืบหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะจากรัฐบาลแบบคู่ขนานใน กทม. และ จ.สงขลา หลังผ่านไปเกือบ 1 ปี เรื่องไม่คืบ ทั้งยังพบว่าบริษัทเอกชนที่ได้สิทธิ์ในการพัฒนาพื้นที่เริ่มเข้ามาสำรวจความคิดเห็นประชาชน ทั้งๆ ที่มติ ครม. ก่อนหน้านี้มีคำสั่งให้ชะลอออกไปก่อน

25 พ.ย. 2564 วันนี้ (25 พ.ย. 2564) เวลา 14.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล ไครียะห์ ระหมันยะ เยาวชนนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม เจ้าของฉายา 'ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ' เดินทางมายื่นหนังสือทวงถามความคืบหน้าเรื่องการพิจารณายกเลิกโครงการเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา ไครียะห์ได้ปราศรัยพร้อมอ่านข้อความในจดหมายเปิดที่เธอเตรียมมายื่นให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งทวงถามความคืบหน้าหลังผ่านไปเกือบ 1 ปีที่ประชาชนในพื้นที่ออกมาเรียกร้อง แต่เรื่องกลับเงียบ และบอกว่าในวันที่ 29 พ.ย. นี้ เธอจะมาทวงคำตอบจาก พล.อ.ประยุทธ์ ทุกวัน ตั้งเวลา 16.00 น. เป็นต้นไป

จดหมายเปิดผนึกถึงลุงตู่...นายกรัฐมนตรี

จาก..ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ

สวัสดีค่ะ...ลุงตู่ หนูชื่อไครียะห์ ระหมันยะ บ้านอยู่สวนกง อำเภอจะนะ บ้านหนูอยู่ติดทะเล จึงไม่ต้องสงสัยว่าชีวิตหนูกับทะเลมีความผูกพันธ์กันอย่างไร หนูจึงรู้สึกภาคภูมิใจทุกครั้งเมื่อมีใครเรียกหนูว่า “ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ”

ลุงคงไม่รู้จักหนู และคงไม่รู้ว่า หนูเป็นลูกหลานชาวประมงพื้นบ้าน พวกเราอยู่กันได้เพราะมีฐานทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ เราจับปลาด้วยเครื่องมือประมงที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเลือกจับเฉพาะสัตว์น้ำที่โตได้ขนาด โดยใช้ภูมิปัญญาแบบพื้นถิ่น สัตว์น้ำที่จับได้ล้วนเป็นที่ต้องการของตลาดและผู้บริโภคทั้งในจังหวัดสงขลาและยังส่งขายทั่วไปถึงต่างประเทศ รายได้หลักที่ทำให้พวกเราอยู่กันมาได้จนถึงทุกวันนี้ก็คือทะเล ทะเลจะนะจึงเป็นสิ่งมีค่าที่พระผู้เป็นเจ้าประทานมาให้ ที่พวกเราไม่เคยคิดเนรคุณ

หนูอยากจะบอกลุงด้วยว่า อำเภอจะนะบ้านของหนู มีฐานทรัพยากรหลากหลาย ที่ไม่ใช่แค่ทะเลเท่านั้น ถัดจากชายฝั่งออกไป เป็นผืนแผ่นดินที่พวกเราสามารถเพาะปลูกพันธุ์พืชได้หลายชนิด ทั้งแตงโมจะนะ นาข้าวพันธุ์พื้นถิ่น หรือข้าวลูกปลาที่คนสงขลารู้จักกันดี และยังมีสวนผลไม้อื่น ๆ ตามฤดูกาล นอกจากนั้นแล้ว อำเภอจะนะยังขึ้นชื่อเรื่องแหล่งเพาะเลี้ยงนกเขาชวาเสียง และเป็นที่ยอมรับของประเทศเพื่อนบ้านแถบนี้ ทั้งยังเป็นอำเภอที่มีการทำกรงนกเขาส่งออกไปทั่วประเทศ สร้างรายได้ให้กับคนจะนะเป็นกอบเป็นกำ

หนูภาคภูมิใจที่มีชีวิตอยู่ ณ ที่แห่งนี้ ชายฝั่งทะเลจะนะ ซึ่งมีหาดทรายที่สวยงามไม่แพ้ที่ใดในประเทศนี้ มีแหล่งเพาะปลูก มีฐานทรัพยากรที่เกื้อหนุนพวกเราอย่างไม่หมดสิ้น และที่สำคัญพวกเรายังอยู่ในสภาพอากาศที่บริสุทธิ์ปลอดภัย แบบที่ไม่ต้องซื้อหา

ลุงจำมั้ยว่า เมื่อปีที่แล้วญาติพี่น้องของหนู มาอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาลแห่งนี้ เพื่อบอกกับลุงว่า บริษัทเอกชนใหญ่แห่งหนึ่งกำลังเข้ามาสร้างนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่ต้องใช้ที่ดินกว่า 16,000 กว่าไร่ ตรงบ้าน ตรงที่ทำกิน และที่เพาะปลูกของพวกหนูทั้ง 3 ตำบล บ้านของพวกหนูจะถูกแทนที่ด้วยโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก บริษัทเอกชนแห่งนั้นบอกว่าจะนำพาความเจริญมาให้ และอ้างว่าจะทำให้พวกเราทุกคนมีงานทำ มีอนาคต และมีรายได้จากนิคมอุตสาหกรรมที่เขาเป็นเจ้าของ ซึ่งเราไม่เคยเชื่อว่านั่นคืออนาคตของเรา หากแต่เป็นอนาคตของพวกเขามากกว่า เราจึงบอกลุงในครั้งนั้นว่า “เราไม่ต้องการการพัฒนาแบบนั้น” ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราไม่ต้องการการพัฒนา แต่การพัฒนานั้นจะต้องสอดคล้องกับฐานทรัพยากรที่เรามีอยู่ ในวันนั้นลุงรับปากว่าจะดูแลเรื่องนี้พร้อมกับจะส่งคนมาตรวจสอบ จนถึงวันนี้กำลังจะครบรอบ 1 ปี คำสัญญาของลุงเลื่อนลอยกลางสายลม บริษัทยังเดินหน้าโครงการไม่เคยหยุด หนูจึงมาทวงถามคำสัญญาต่อเรื่องนี้กับลุงอีกครั้ง และยังยืนยันคำเดิมว่า “นิคมอุตสาหกรรมไม่ใช่อนาคตของพวกหนู” แต่มันจะทำให้ชีวิตพวกเราล่มสลายในอนาคตอันใกล้นี้มากกว่า เพราะสุดท้ายแล้วพวกหนูก็คือเหยื่อของการพัฒนา ที่ต้องเสียสละบ้าน ทะเล และที่ทำกินให้กับคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น

หนูขอประกาศว่า วันที่ 29 พฤศจิกายน นี้หนูจะมารอฟังคำตอบจากลุงตู่ทุกวัน ในเวลาเลิกงานช่วง 16.00 น. ไปจนกว่าจะได้คำตอบจากลุง ต่อข้อเรียกร้องที่พวกเราเคยเสนอไปเมื่อปีที่แล้ว

ไครียะห์ ระหมันยะ “ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ”

25 พฤศจิกายน 2564

หลังปราศรัยและการอ่านจดหมายเปิดผนึกเสร็จสิ้น สมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาแสดงตนเป็นผู้รับหนังสือแทนนายกรัฐมนตรี และตอบคำถามของไครียะห์ว่าขณะนี้ รัฐบาลได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งคณะกรรมการได้ทำรายงานสรุปส่งไปให้นายกฯ แล้ว ซึ่งมีข้อสรุปว่า ศอ.บต. ยังไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี กฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสภาพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมแห่งชาติยังไม่เห็นชอบเรื่องการขยายและพัฒนาอุตสาหกรรมเมืองจะนะในระยะที่ 4 จึงขอให้ ศอ.บต. ชะลอการดำเนินการออกไปทั้งหมด ทั้งเรื่องการทำประชาพิจารณ์และการทำ EIA โดย ศอ.บต. ต้องไปปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีให้ถูกต้องเสียก่อน ส่วนกรณีที่ไครียะห์บอกว่าภาคเอกชนกำลังเปิดรับฟังความคิดจากคนในพื้นที่นั้นถือว่าขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีหรือไม่ สมพาศตอบว่าตนไม่ทราบ เพราะตนทราบเฉพาะเรื่องที่ส่วนกลางดำเนินการไปแล้วเท่านั้น ส่วนเรื่องที่ดินที่มีการออกโฉนดทับซ้อนกันระหว่างที่ดินของประชาชนและ ส.อบต. นั้น ทางส่วนกลางได้สั่งให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบแล้ว

ขณะเดียวกันที่ ศาลากลางจังหวัดสงขลา เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นได้เดินทางเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อทวงถามความคืบหน้าในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน โดยตัวแทนเครือข่ายได้อ่านแถลงการณ์ทวงถามความคืบหน้า ซึ่งมีเนื้อหาใจความว่า การปล่อยให้บริษัททีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ประกาศที่จะจัดเวทีศึกษาอีไอเอ ในโครงการย่อยจำนวน 4 ฉบับรวด ระหว่างวันที่ 13-20 ธ.ค. 2564 ของโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา รวมถึงการเปลี่ยนสีผังเมืองเป็นสีม่วงเพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรม และการดำเนินการอื่นๆ ของศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ต่อโครงการนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพและความไม่จริงใจของรัฐบาลต่อการแก้ไขปัญหาประชาชน ทั้งที่เคยมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงกันไว้ เมื่อคราวที่พวกเราเดินทางไปเสนอทางออกต่อเรื่องนี้ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล

ในข้อตกลงดังกล่าว นำมาซึ่งการออกคำสั่งตั้งคณะกรรมการเพื่อให้มีการตรวจสอบโครงการนี้โดยนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2564 นั่นหมายถึงการยอมรับว่าโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะมีการดำเนินงานที่เป็นปัญหา โดยท่านย้ำว่าให้คณะกรรมการใช้อำนาจตรวจสอบอย่างเต็มที่ตรงไปตรงมา และเมื่อเรียบร้อยแล้วให้รายงานผลตรวจสอบข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี โดยเชิญผู้แทนส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐและบุคคลเข้าร่วมรับฟังการชี้แจงข้อเท็จจริงของผลการตรวจสอบต่อไป

จนถึงวันนี้ พวกเรายังไม่เคยรับรู้เลยว่า ผลการตรวจสอบของคณะกรรมการเป็นอย่างไร ในขณะที่ ศอ.บต. กำลังผลักดันให้มีการเปลี่ยนสีผังเมืองเพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรม และยังปล่อยให้บริษัททีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (จำกัดมหาชน) จัดเวทีศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือ EIA. ทั้ง 4 ฉบับ ซึ่งถือเป็นการไม่ยอมรับในกระบวนการแก้ไขปัญหา อันสะท้อนได้ถึงความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารราชการของรัฐบาล

พวกเราจึงขอประกาศว่า รัฐบาลจะต้องดำเนินการตามข้อตกลงที่เคยให้ไว้เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยจะต้องหยุดการดำเนินการทุกไว้ก่อน ทั้งการเปลี่ยนสีผังเมืองเป็นสีม่วง และการจัดเวทีของบริษัททีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (จำกัดมหาชน) จนกว่าจะมีรูปธรรมการแก้ไขปัญหาตามที่พวกเราได้เสนอไปแล้วทั้งหมด ไม่เช่นนั้นแล้วพวกเราจะเดินทางไปทวงคำสัญญาต่อเรื่องนี้อีกครั้งในวันครบรอบ 1 ปี ที่จะถึงในเดือน ธ.ค. 2564 นี้

เมื่อวันที่ 10-15 ธ.ค. 2563 เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นได้มีการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณายกเลิกโครงการเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา และมีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ไว้กับรัฐบาล โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้แทนรัฐบาลได้ยอมรับข้อเสนอของเครือข่ายฯ ที่ให้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. โดยตั้งคณะอนุกรรมการกำกับ ติดตามการแก้ไขปัญหากรณีโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งมีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ร่วมด้วย

เครือข่ายฯ ได้ขอให้ยุติการดำเนินการใดๆ ในโครงการนี้เอาไว้ก่อน โดยเฉพาะการเปลี่ยนสีผังเมืองในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 16,700 ไร่ รวมทั้งการยุติการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA,EHIA) ทั้ง 4 โครงการ ของบริษัท TPIPP. และ IRPC. และขอให้รัฐบาลต้องจัดให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) โดยมีหลักการประเมินโดยต้องตั้งคณะทำงานซึ่งมีสัดส่วนการของภาคประชาชน และนักวิชาการที่ภาคประชาชนเสนอในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อวางกรอบการศึกษาการเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ร่วมกัน โดยกระบวนการทำงานให้ดำเนินการประเมินศักยภาพทรัพยากร และพัฒนาต่อยอดจากทรัพยากรของท้องถิ่น และในการศึกษานี้ต้องไม่มี ศอ.บต. เป็นผู้มีส่วนในการดำเนินการจัดทำ

อย่างไรก็ตาม เครือข่ายฯ และประชาชนในพื้นที่เห็นว่าผ่านไปเกือบ 1 ปี รัฐบาลไม่มีการดำเนินการใดๆเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว แต่กลับให้มีการเดินหน้าจัดทำกระบวนการแก้ไขผังเมืองในพื้นที่ เพื่อเปลี่ยนสีผังเมืองจากพื้นที่สีเขียว หรือที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม และที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ ให้กลายเป็นพื้นที่สีม่วงซึ่งเป็นสำหรับประกอบอุตสาหกรรม สำหรับนิคมอุตสาหกรรมกว่า 16,700 ไร่ และมีการเดินหน้าจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA,EHIA) ทั้ง 4 โครงการ ของบริษัท TPIPP ซึ่งผิดเงื่อนไขข้อตกลงที่ได้มีการลงนามกันไว้ ทำให้เครือข่ายฯ รวมถึงไครียะห์ต้องออกมายื่นหนังสือทวงถามพร้อมกันในวันนี้ที่ กทม. และ จ.สงขลา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net