Skip to main content
sharethis

เจ้าของร้านเฝอชาวเวียดนาม ฉายา 'หอมซอยเบ' ถูกตำรวจบุกเข้าจับกุมถึงบ้านหลังทำท่าโรยเกลือ เลียนแบบ 'ซอลต์เบ' (Salt Bae) เชฟชื่อดังชาวตุรกี ที่เสิร์ฟสเต็กเคลือบทองถึงปากรัฐมนตรีระดับสูงของเวียดนาม จนนำมาสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ลั่นโซเชียลเวียดนามถึงการใช้ชีวิตหรูหราจากเงินภาษีประชาชน

23 พ.ย. 2564 สำนักข่าว Radio Free Asia รายงานว่าตำรวจเมืองดานังของเวียดนามบุกจับกุม ‘บุ่ยต๋วนลัม’ (Bui Tuan Lam) อดีตนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมที่ผันตัวมาเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวเนื้อ หรือเฝอ เมื่อวันที่ 16 พ.ย. ที่ผ่านมา หลังจากเขาโพสต์วิดีโอตนเองขณะโรยผักในชามเฝอ และเรียกตัวเองว่า ‘หอมซอยเบ’ เพื่อเลียนแบบท่าโรยเกลือและฉายาของ ‘ซอลต์เบ’ (Salt Bae) หรือนุสเรต ก็อคเช (Nusret Gökçe) เชฟชื่อดังชาวตุรกีที่เสิร์ฟสเต็กเคลือบทองให้แก่ พล.อ.โต๋ ลัม รัฐมนตรีความมั่นคงสาธารณะของเวียดนาม ตามที่ปรากฎเป็นคลิปภาพไวรัลในอินเทอร์เน็ต ซึ่งเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในโซเชียลมีเดียของเวียดนาม

“ตำรวจมาหาผมที่บ้านตอนเช้า มี 2 คนมาจากหน่วยงานความมั่นคงประจำเมือง ส่วนอีกคนเป็นตำรวจในท้องที่ และแน่นอน มีตำรวจนอกเครื่องแบบอีกจำนวนหนึ่งตามมาถ่ายรูปอยู่ด้านนอก” บุ่ยต๋วนลัมกล่าว พร้อมระบุว่าตำรวจไม่ได้แจ้งเหตุผลในการจับกุมที่ชัดเจน บอกแค่ว่าขอให้เขาเดินทางไปที่สถานีตำรวจพร้อมกันเพื่อให้ปากคำเพิ่มเติมในคดีอาชญากรรม แต่บุ่ยต๋วนลัมปฏิเสธ และขอให้เจ้าหน้าที่แจ้งให้ชัดเจนว่าเขามีความผิดในข้อหาใด

“ผมไม่ยอมไปและบอกตำรวจไปว่าถ้ามีเหตุผลในการจับกุมที่ชัดเจน ผมถึงจะยอมให้ความร่วมมือ เพราะว่าคำสั่งต่างๆ ต้องสอดคล้องกับหลักการดำเนินคดีตามกฎหมาย ดังนั้นจะมาตั้งข้อหาแบบกว้างๆ อย่างนี้ไม่ได้” บุ่ยต๋วนลัมกล่าว

อย่างไรก็ตาม บุ่ยต๋วนลัมกล่าวว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงยืนยันว่าจะพาตัวเขาไปที่สถานีตำรวจและใช้กำลังบังคับให้เขายอมเดินทางไปด้วย ซึ่งบุ่ยต๋วนลัมตั้งข้อสังเกตว่าการบุกจับกุมในครั้งไม่นี้น่าจะมีสาเหตุมาจากคลิปวิดีโอล้อเลียนซอลต์เบที่เขาโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เพราะในช่วง 2-3 เดือนก่อนหน้านี้ เขาได้รับหมายเรียกจากตำรวจหลายครั้ง แต่เขาไม่สนใจ และเลือกที่จะไม่เดินทางไปรายงานตัวตามหมายเรียก

บุ่ยต๋วนลัมตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าคลิปวิดีโอล้อเลียนซอลต์เบอาจจะกระทบกระเทือนและเป็นตัวกระตุ้นให้ตำรวจต้องรีบบุกมาถึงที่บ้านเพื่อนำตัวเขาไปสอบสวน

“สำหรับผมแล้ว ผลกระทบจากคลิปนี้ถึงขั้นทำให้ตำรวจโกรธจนต้องรีบส่งหมายจับมาตามตัว พวกเขาคงคิดมานานแล้วล่ะว่าอยากจับกุมผม” บุ่ยต๋วนลัมกล่าว

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2564 บีบีซี รายงานว่า ก็อคเช หรือซอลต์เบ เชฟและเจ้าของร้านอาหารหรู Nusr-Et ในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร โพสต์วิดีโอลงในแอปพลิเคชัน TikTok เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2564 ขณะกำลังปรุงเสิร์ฟสเต็กเคลือบทองให้กับรัฐมนตรีความมั่นคงสาธารณะของเวียดนามพร้อมคณะ ภายหลังเดินทางไปร่วมประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกวของสกอตแลนด์ อย่างไรก็ตาม คลิปดังกล่าวถูกลบออกจาก TikTok ของก็อคเชแล้ว

หลังจากวิดีโอดังกล่าวเผยแพร่ออกไปก็มีเสียงวิพาก์วิจารณ์จากผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียชาวเวียดนามจำนวนมากที่ตั้งคำถามถึงความเหมาะสมเรื่องการกินหรูอยู่แพงของรัฐมนตรี เพราะเมนูสเต็กเคลือบทองน่าจะมีราคาสูงกว่าเงินเดือนของรัฐมนตรีหลายเท่า โดยบีบีซีรายงานเพิ่มเติมว่าเมนูสเต็กเคลือบทองนี้ไม่ได้บรรจุไว้ในรายการอาหารบนเว็บไซต์ของร้าน แต่จากการตรวจสอบพบว่าเมนูนี้น่าจะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 850-1,500 ปอนด์ หรือราวๆ 37,000-66,000 บาท ไม่รวมค่าเครื่องดื่ม เครื่องเคียง และค่าบริการ (Service Charge) อีก 15% ในขณะที่เงินเดือนของรัฐมนตรีเวียดนามอยู่ที่เดือนละ 600-800 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 19,800-26,400 บาท ไม่รวมเงินพิเศษอื่นๆ ทั้งนี้ ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าค่าอาหารทั้งหมดมีราคาเท่าไร และใครเป็นผู้รับผิดชอบ

ฮวงดุง (Hoang Dung) นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชาวเวียดนามซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มคนแรกๆ ที่โพสต์ภาพรัฐมนตรีกินสเต็กเคลือบทองลงในเฟซบุ๊ก ตั้งคำถามว่าเหตุใดรัฐมนตรีและคณะต้องรับประทานอาหารในร้านที่หรูและมีราคาแพงขนาดนั้น ซึ่งหลังจากนั้น ชาวเน็ตเวียดนามได้โพสต์ประณามและตำหนิรัฐมนตรีอย่างดุเดือด พร้อมเปรียบเทียบกับปัญหาความยากจนในเวียดนาม

“เงินภาษีของฉันถูกใช้จ่ายไปความหรูหราฟุ่มเฟือย”

“เวียดนามยังเป็นประเทศยากจน แต่รัฐมนตรีกลับใช้ชีวิตหรูหรา เจ้าหน้าที่ก็พากันหลงระเริงไปกับความฟุ่มเฟือย”

อย่างไรก็ตาม ชาวเน็ตบางส่วนพยายามปกป้องรัฐมนตรีด้วยการชี้ว่าพวกเขาใช้เงินในส่วนที่จัดสรรไว้แล้วสำหรับการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ ขณะที่บางส่วนระบุว่าอาจมีคนเชิญให้รัฐมนตรีและคณะเดินทางไปรับประทานอาหารที่ร้านดังกล่าวโดยไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายก็เป็นได้

เวียดนามเคยเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก แต่เศรษฐกิจของเวียดนามกำลังเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ประชาชนจำนวนมากในเวียดนามยังมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนามระบุว่ารายได้เฉลี่ยของชาวเวียดนามอยู่ที่คนละ 230 ดอลลาร์สหรัฐ/เดือน หรือประมาณคนละ 7,600 บาท/เดือน

ที่มา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net