Skip to main content
sharethis

10 พ.ย. 2564 เวลา 15.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี ชั้น 3 ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยคำร้องของณฐพร โตประยูร ที่ขอให้ศาลวินิจฉัยเกี่ยวกับการปราศรัยของอานนท์ นำภา หรือทนายอานนท์, ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง ในการชุมนุม #ม็อบ3สิงหา เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย หรือม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และการชุมนุม #ม็อบ10สิงหา ธรรมศาสตร์จะไม่ทน 10 ส.ค. 2563 จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

 

ณฐพร ซึ่งเป็นผู้ยื่นคำร้องระบุว่าการปราศรัยในที่ชุมนุมของทั้ง 3 คนเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และขอให้กลุ่มผู้ถูกร้องเลิกการกระทำดังกล่าว ทั้งนี้ ณฐพรยื่นฟ้องนักกิจกรรมทั้งหมด 8 คน แต่ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาเพียง 3 คนนี้เท่านั้น โดยศาลระบุว่าจะพิจารณาจากเอกสารคำร้อง คำคัดค้านคำร้อง และเอกสารที่ทางศาลเรียกจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ซึ่งศาลระบุว่าพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้

เมื่อเวลา 13.15 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าประชาชนและสื่อมวลชนเริ่มรวมตัวหน้าอาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์เพื่อรอฟังคำวินิจฉัยในเวลา 15.00 น. โดยมีสุรีรัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน มาร่วมให้กำลังใจและรอฟังผลคำวินิจฉัยด้วย ต่อมาเวลา 14.00 น. ปนัสยาปรากฏตัวที่บริเวณลานด้านหน้าอาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์และอ่านคำแถลงปิดคดี โดยยืนยันว่าการกระทำของตนตามที่มีผู้ร้องนั้น ไม่ใช่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่เป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ก่อนจะเดินเข้าไปด้านในอาคารพร้อมกับสุรีรัตน์ ส่วนสื่อมวลชนและประชาชนที่มารอฟังคำวินิจฉัยไม่ได้รับอนุญาตให้ตามเข้าไปในพื้นที่ด้านในศาล

ปนัสยาอ่านแถลงการณ์ปิดคดีบริเวณหน้าอาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ในเวลา 14.00 น.
ก่อนเข้าฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (ภาพโดย iLaw)
 

คำแถลงการณ์ปิดคดี

ข้อ 1. คดีนี้ ศาลนัดฟังคำวินิจฉัยในวันนี้ แต่เนื่องจากศาลมีคำสั่งไม่ดำเนินการไต่สวนซึ่งเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีที่กระทบต่อสิทธิในการที่จะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมของผู้ถูกร้อง ผู้ถูกร้องขอยื่นคำแถลงปิดคดีประกอบในวันนัดฟังคำวินิจฉัยเพื่อสรุปข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังต่อไปนี้

ผู้ถูกร้องขอเรียนว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 49 โดยเจตนารมณ์ของบทบัญญัตินี้มีขึ้นเพื่อเป็นกลไกทางกฎหมายในการปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ไม่ให้ได้รับอันตรายจากบุคคลที่ใช้สิทธิเสรีภาพไปในทิศทางที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบดังกล่าว โดยสาระสำคัญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และปรากฏตัวในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอยู่ 2 ประการ คือ

ประการแรก เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของประชาชนแต่เพียงองค์กรเดียว โดยในระบอบประชาธิปไตยเช่นนี้ การใช้อำนาจรัฐต่างๆ ต้องมีเชื่อมโยงกับประชาชน ตั้งแต่ในระดับรัฐธรรมนูญ ประมุขของรัฐ องค์กรของรัฐที่ใช้อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ล้วนแล้วแต่เมื่อสืบย้อนกลับไปเกี่ยวกับที่มาและแหล่งของอำนาจจะต้องเกาะเกี่ยวกับการให้ความยินยอมของประชาชน ผ่านการออกเสียงประชามติ การเลือกตั้ง การแต่งตั้งโดยผู้แทนประชาชน หรือใช้อำนาจภายใต้กรอบของกฎหมายที่ตราขึ้นโดยตัวแทนของประชาชน ทั้งนี้ เพื่อให้การใช้อำนาจในระบอบดังกล่าวเป็นไปโดยชอบธรรมและมีรากฐานมาจากเจตจำนงของประชาชน ซึ่งหลักการเหล่านี้ปรากฏในมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ

และประการที่สอง เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีรูปของรัฐเป็นราชอาณาจักร กล่าวคือมีประมุขของรัฐเป็นพระมหากษัตริย์ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งโดยรับสืบทอดทางสายโลหิต โดยสถานะของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของประชาชน มีความแตกต่างจากการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) หรือการปกครองในระบอบราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ (Limited Monarchy) ที่พระมหากษัตริย์ทรงมีสถานะเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดของประเทศ ใช้พระราชอำนาจที่เกี่ยวกับภารกิจต่างๆ ของรัฐได้โดยพระองค์เอง และมีอำนาจเหนือกว่าองค์กรที่เป็นตัวแทนของประชาชน แต่สถานะและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยจะต้องตั้งอยู่บนหลักพระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดมิได้ (The king can do no wrong) ที่ให้พระมหากษัตริย์ดำรงตำแหน่งเป็นประมุขของรัฐ แต่มิใช่เจ้าของอำนาจสูงสุดของประเทศ โดยพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์มีในทางพิธีการเท่านั้น เนื่องจากการใช้พระราชอำนาจใดๆ ในนามของพระมหากษัตริย์จะต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำและยินยอมของสถาบันการเมืองที่มีจุดเชื่อมโยงกับประชาชน อย่างคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา ซึ่งจะมีความรับผิดชอบทางการเมืองและกฎหมายแทนพระมหากษัตริย์ต่อไป ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยและหลักพระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดมิได้ (The king can do no wrong) จึงทำให้พระมหากษัตริย์ดำรงสถานะเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติและเป็นกลางทางการเมือง โดยหลักการเช่นนี้ได้ปรากฏในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2562

โดยรูปแบบและการกระทำที่จะถือว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพของบุคคลที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ ตัวอย่างเช่น การใช้สิทธิเสรีภาพโดยมีวัตถุประสงค์ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงเจ้าของอำนาจสูงสุดของประเทศจากไปประชาชนไปเป็นขององค์กรอื่น การใช้สิทธิเสรีภาพรณรงค์ให้เปลี่ยนระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีประมุขแบบอื่น หรือการใช้สิทธิเสรีภาพโดยวัตถุประสงค์เพื่อทำให้การเลือกตั้งหรือการออกเสียงประชามติไม่สามารถดำเนินการได้ เป็นต้น

ด้วยข้อกฎหมายเช่นนี้ เมื่อพิเคราะห์กับการกระทำของผู้ถูกร้อง เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ก็ไม่ปรากฏว่าผู้ถูกร้องได้ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 34 คุ้มครองไว้ ไม่ได้เผยแพร่ถ้อยคำปราศรัยหรือข้อความคิดใดต่อสาธารณะในลักษณะที่เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศจากประชาชนไปเป็นบุคคลอื่น หรือเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงประมุขของรัฐจากพระมหากษัตริย์ไปเป็นอย่างอื่นแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้ง 10 ประการ ผู้ถูกร้องได้กระทำโดยมีความมุ่งหมายที่ธำรงไว้ซึ่งพระมหากษัตริย์และรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ให้เข้มแข็งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสนอให้ปรับปรุงกฎหมายและรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับพระราชอำนาจ ให้สอดคล้องกับหลักพระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดมิได้ (The king can do no wrong) ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

ข้อเสนอข้อ 1. การเสนอให้ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าผู้ใดจะกล่าวหาฟ้องร้องพระมหากษัตริย์มิได้ แล้วเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของพระมหากษัตริย์ได้ ขอเสนอดังกล่าวไม่ขัดต่อระบอบประชาธิปไตยและหลักพระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดมิได้ เนื่องจากการกระทำของพระมหากษัตริย์ หากกระทำไปภายใต้คำแนะนำและยินยอมของผู้รับสนองพระราชโองการ ในทางรัฐธรรมนูญก็ไม่มีบุคคลใดจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ได้ แต่หากพระมหากษัตริย์กระทำผิดในทางส่วนตัว ก็ให้เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน พิจารณาจัดการตามรัฐธรรมนูญต่อไปได้ ซึ่งหลักการเช่นนี้ได้ปรากฏมาแล้วในปฐมรัฐธรรมนูญของประเทศไทย อย่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2475 และสภาผู้แทนราษฎรก็เคยวินิจฉัยความหมายของสถานะอันล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์ไปในทำนองด้วยกันนี้ด้วย ปรากฎตามรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 26 (สมัยสามัญ สมัยที่หนึ่ง) วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน 2576

ข้อเสนอข้อ 2. การเสนอให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก็เป็นไปเพื่อส่งเสริมให้เสรีภาพในการแสดงความคิดและการแสดงออก ซึ่งเป็นเสรีภาพที่จำเป็นที่สุดในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ขยายวงกว้างออกไป เพื่อให้ประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดของประเทศ สามารถวิพากษ์วิจารณ์องค์กรรัฐทุกองค์กรที่ใช้อำนาจของประชาชนได้

ข้อเสนอข้อ 3. การเสนอให้ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 และให้มีการแบ่งแยกระหว่างทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลังและทรัพย์ส่วนพระองค์ที่เป็นส่วนตัวของพระมหากษัตริย์ให้ชัดเจน เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์สินของรัฐ อยู่ภายใต้การดูแลขององค์กรของรัฐที่มีความเชื่อมกับประชาชนและรับผิดชอบทางการเมือง รวมถึงการถูกฟ้องคดีตามกฎหมายแทนพระมหากษัตริย์ตามหลักการบริหารทรัพย์สินของรัฐสมัยใหม่

ข้อเสนอข้อ 4. การเสนอให้ปรับลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้สถาบันพระมหากษัตริย์ ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ทั้งนี้ก็เป็นไปเพื่อให้ต้องการให้พระมหากษัตริย์ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาชนในทุกสถานการณ์อันจะเป็นการเชิดชูสถานะการเป็นศูนย์รวมจิตใจของพระมหากษัตริย์ให้สูงเด่นยิ่งขึ้น

ข้อเสนอข้อ 5. การเสนอยกเลิกส่วนราชการในพระองค์และหน่วยงานอื่นๆ ที่ไม่มีความจำเป็น เช่น องคมนตรี ก็เป็นเพียงขอเสนอเรื่องการปรับเปลี่ยนการจัดระเบียบหน่วยงานของรัฐเท่านั้น

ข้อเสนอข้อ 6. การเสนอให้ยกเลิกการบริจาคและการรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อกำกับให้การเงินของพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมดนั้น เป็นไปเพื่อความปรารถนาดีต่อพระมหากษัตริย์ เพื่อป้องกันมิให้บุคคลใดแอบอ้างหาผลประโยชน์ในการรับบริจาคเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและเป็นการป้องกันการนำสถาบันพระมหากษัตริย์ไปเป็นเครื่องมือในการหาประโยชน์มิชอบ

ข้อเสนอข้อ 7. การเสนอยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะของพระมหากษัตริย์ ก็เป็นข้อเสนอที่ต้องการส่งเสริมให้พระมหากษัตริย์ดำรงสถานะเป็นศูนย์รวมของคนในชาติและเป็นกลางทางการเมืองอย่างแท้จริง ไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ ที่จะทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ในทางสาธารณะได้

ข้อเสนอข้อ 8. เรื่องการยกเลิกประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงาม ก็มิใช่ข้อเสนอที่มุ่งหมายที่มีลักษณะเป็นการเปลี่ยนแปลงประมุขของรัฐจากพระมหากษัตริย์เป็นอย่างอื่นแต่อย่างใด โดยข้อเสนอดังกล่าวที่มุ่งความปรารถนาดี ที่มิต้องการให้บุคคลใช้พระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือทางการเมืองอีกต่อไป

ข้อเสนอข้อ 9. การเสนอให้สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์หรือมีส่วนเกี่ยวข้องใดกับพระมหากษัตริย์ ก็เป็นไปด้วยความปรารถนาดีที่ต้องการสร้างความกระจ่างเกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่างๆ ให้กับสังคมไทย และปกป้องพระมหากษัตริย์จากมลทินมัวหมองต่างๆ

ข้อเสนอข้อ 10. การเสนอห้ามมิให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหาร ก็เป็นข้อเสนอที่มีความมุ่งหมายในการธำรงรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยและรักษาสถานะที่เป็นกลาง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญของพระมหากษัตริย์

ข้อ 2. ด้วยข้อเท็จจริงและกฎหมายข้างต้น ผู้ถูกร้องจึงขอเรียนว่า การกระทำของผู้ถูกร้องเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ทั้ง 10 ประการ มิได้เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแต่อย่างใด แต่กลับกันการกระทำของผู้ถูกร้องและข้อเสนอทั้งหมด ต่างจะช่วยส่งเสริมให้สถานะของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงด้วย

ผู้ถูกร้องจึงขอให้ศาลวินิจฉัยยกคำร้องของผู้ร้องด้วย

ก่อนหน้านี้ เมื่อวานนี้ (9 พ.ย. 2564) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญออกเอกสารข่าว เกี่ยวกับมาตรการดูแลความปลอดภัยบริเวณโดยรอบศาลรัฐธรรมนูญซึ่งจะมีการอ่านคำวินิฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ในวันพุธที่ 10 พ.ย. 2564 เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณที่ทำการศาล  คุ้มครองประโยชน์สาธารณะ และเพื่อให้การดำเนินกระบวนการพิจารณาของศาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ ศาลมีคำสั่ง ดังนี้

  1. กำหนดบุคคลให้เฉพาะผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง ผู้รับมอบอำนาจหรือผู้รับมอบฉันทะ หรือผู้ที่ศาลอนุญาต รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น อยู่ในห้องพิจารณาคดีเพื่อรับฟังการอ่านคำวินิจฉัยของศาลในวันดังกล่าว และให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจัดให้มีช่องทางการรับฟังการอ่านคำวินิจฉัยของศาลเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและสื่อมวลชน
  2. ออกประกาศศาลรัฐธรรมนูญกำหนดอาณาบริเวณหรือพื้นที่ที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติงาน รักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย ในวันที่ 10 พ.ย. 2564 เวลา 00.01 น. ถึงเวลา 23.59 น.
 

ศาลรัฐธรรมนูญชี้ 'อานนท์-ไมค์-รุ้ง' ผิดฐานล้มล้างการปกครอง

iLaw รายงานโดยอ้าอิงตามการถ่ายทอดสดจากห้องพิจารณาคดีในศาลรัฐธรรมนูญว่า เวลา 15.00 น. เจ้าหน้าที่นัดแนะว่า ระหว่างที่ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์จะมีเจ้าหน้าที่ให้สัญญาณว่า แสดงความเคารพศาลครั้งหนึ่ง ขอความกรุณาทุกท่านลุกขึ้นยืนเพื่อเป็นการเคารพศาล ระหว่างที่ศาลอ่านคำวินิจฉัยขอให้ทุกท่านอยู่ในความเรียบร้อยห้ามประพฤติตนในทางที่ก่อให้เกิดความไม่เรียบร้อย ก่อความรำคาญ หรือกระทำการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการยุยงส่งเสริม ยั่วยุ หรือสนับสนุนใดในการกระทำดังกล่าว ผู้นั้นอาจกระทำการละเมิดอำนาจศาลตามมาตรา 39 ของ พ.ร.ป.วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 และข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง

หนึ่ง คำร้องขอให้ศาลมีการแก้ไขคำสั่งที่ผิดพลาดและมีคำสั่งให้ไต่สวน ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2564 ศาลมีคำสั่งให้ยุติการไต่สวนเพราะพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้และศาลกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือและลงมติในวันพุธที่ 10 พ.ย. 2564 แล้ว จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง 

สอง คำร้องขอให้ศาลดำเนินการนำตัวผู้ถูกร้องที่หนึ่งมาศาลฉบับลงวันที่ 25 ต.ค. 2564 และคำร้องขอให้ศาลดำเนินการนำตัวผู้ร้องที่สองมาศาลฉบับลงวันที่ 25 ต.ค. 2564 ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลส่งหนังสือแจ้งนัดอ่านคำวินิจฉัยไปถึงผู้ถูกร้องที่หนึ่งและผู้ถูกร้องที่สองและผู้รับมอบฉันทะของผู้ถูกร้องทั้งสาม ซึ่งมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาคดี ผู้ถูกร้องที่หนึ่งและสอง และผู้รับมอบฉันทะของผู้ถูกร้องทั้งสามได้รับหนังสือนัดแล้วถือว่า ทราบนัดโดยชอบ หากไม่มาศาลตามนัดศาลย่อมอ่านคำวินิจฉัยไปได้ จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องทั้งสองฉบับ ต่อจากนี้คณะตุลาการดำเนินการแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติต่อไป

ต่อไปเป็นเรื่องการอ่านคำวินิจฉัย ทนายผู้ถูกร้องขออนุญาตแถลงว่า การไต่สวนก่อนการมีคำวินิจฉัย อานนท์ นำภา ใช้คำว่า ไม่มีโอกาสต่อสู้คดี ถ้าท่านมีคำวินิจฉัยเห็นว่า จะไม่ต้องไต่สวนคดีนี้สามารถจะวินิจฉัยไปได้เลย ตามคำร้องทนายขอให้ยุติไว้ก่อนและเบิกตัวอานนท์มาเบิกความต่อศาล ชี้แจงข้อกล่าวหา อานนท์บอกกับทนายความว่า หากตุลาการมีคำวินิจฉัยไม่รับคำร้องขอให้มีการไต่สวนและเบิกตัวมา อานนท์สั่งห้ามทนายความอยู่ในห้องพิจารณคดีเพราะไม่ประสงค์จะมีตัวแทนของเขาอยู่ในการฟังคำวินิจฉัยครั้งนี้เพราะเป็นคำสั่งของผู้ที่เป็นผู้ให้อำนาจทนายความมา

ทนายความกล่าวว่าผมเรียนด้วยความเคารพ ผมมีความจำเป็นในฐานะผู้รับอำนาจ ตัวเขาอยู่ในเรือนจำมาไม่ได้เขาบอกผมอย่างนี้ผมคงต้องปฏิบัติตาม และกล่าวว่าพยานหลักฐานที่อ้างมาในคำร้องไม่เพียงพอต่อการกล่าวหา

อย่างไรก็ตาม ศาลแจ้งว่า เรื่องนี้ศาลใช้ระบบไต่สวน ซึ่งศาลแสวงหาข้อเท็จจริงได้ และศาลได้แสวงหาข้อเท็จจริงจากหลายๆฝ่ายจนได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนที่สามารถจะวินิจฉัยได้ ศาลจึงสั่งงดการไต่สวน อันนี้เป็นการสั่งตามที่กฎหมายบัญญัติ ส่วนจะไม่ฟังเป็นสิทธิของผู้รับมอบฉันทะ ศาลอีกท่านหนึ่งกล่าวว่า การนัดแนะกันของทนายความและอานนท์เป็นการพูดด้วยวาจาใช่ไหม แต่หนังสือรับมอบอำนาจมาแต่แรกไม่มีเรื่องพวกนี้ แต่ถ้าจะถือยืนยันแบบนี้เดี๋ยวศาลจะบันทึกไว้ให้ เพราะจริงๆมันไม่ถูกต้อง มันจะต้องเป็นลายลักษณ์อักษรมาว่า ความต้องการของเขาเป็นเช่นไร "คุณพูดเฉยๆจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ใช่ไหม แต่ถ้ายืนยันไม่เป็นไร เดี๋ยวศาลบันทึกให้"

 

ทนายความแจ้งว่า เขายื่นคำร้องเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2564 และรอฟังคำสั่ง อานนท์ถามเขาทุกครั้งที่ไปเยี่ยมในเรือนจำว่า ศาลมีคำสั่งเบิกตัวไต่สวนไหม เขาขอยืนยันว่า อานนท์สั่งว่า ถ้าท่านไม่ให้ไต่สวนจะขอให้ทนายความออกจากห้องพิจารณาเพราะเขาไม่อยากให้มีตัวแทนฟัง ส่วนเรื่องการไต่สวนเขาและอานนท์เข้าใจดีว่า เป็นอำนาจของศาลที่จะงดการไต่สวนเพราะในศาลยุติธรรมหรือศาลอื่น ถ้าเพียงพอแล้วก็ไม่จำเป็นต้องพิจารณาคดี เขาเข้าใจตรงนี้ดี แต่เพียงเราอาจจะมองต่างมุมกันว่า เรื่องนี้เป็นข้อกล่าวหาที่ยิ่งใหญ่และเราน่าจะมีโอกาสที่จะแสวงหาข้อเท็จจริงเสนอต่อศาลด้วย 

ทนายความกล่าวอีกว่า วันนี้เขาพาพยานมาสองคน คือ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และอีกคนหนึ่ง หากให้ไต่สวนจะเริ่มได้โดยไม่ประวิงเวลา

โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าจำเลยทั้ง 3 มีความผิดฐานล้มล้างการปกครองตามคำร้อง และมีคำสั่งผูกพันในอนาคต ซึ่งหมายความว่าต่อจากนี้ การชุมนุมทางการเมืองที่กล่าวถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จะถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ

“การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 2 และ 3 เป็นการใช้สิทธิ เสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตราา 49 วรรค 1 และสั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 1 2 และ 3 รวมทั้งกลุ่มองค์กรเครือข่าย เลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 2”

นอกจากนี้ ข้อความตอนหนึ่งในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังระบุว่า "ตลอดประวัติศาสตร์การปกครองของไทยนี้ อำนาจการปกครองเป็นของกษัตริย์มาโดยตลอดตั้งแต่ยุคสุโขทัย"

เปิดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับเต็ม

iLaw และกรุงเทพธุรกิจถอดเทปคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญตามการถ่ายทอดสดของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำวินิจฉัยฉบับเต็มนั้นมีความยาวกว่าคำวินิจฉัยที่เผยแพร่โดยสื่อของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ รายละเอียดดังต่อไปนี้

คำวินิจฉัย เรื่องพิจารณาที่ 19/2563 คำวินิจฉัยที่ 19/2564 ลงวันที่ 10 พ.ย. 2564
เรียบเรียงโดยกรุงเทพธุรกิจ

ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำชี้แจง พยานหลักฐานต่าง ๆ รวมทั้งบันทึกเสียงการปราศรัยของผู้ถูกร้องที่ 1-3 ฟังเป็นยุติว่า ผู้ถูกร้องที่ 1-3 ปราศรัยในที่สาธารณะหลายครั้ง หลายสถานที่ต่อเนื่องกัน นับตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค. 2563 เรียกร้องให้ดำเนินการแก้ไขเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยการชุมนุมที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อ 10 ส.ค. 2563 ผู้ถูกร้องที่ 1-3 อภิปรายให้มีการเปลี่ยนแปลงสถาบันฯ ด้วยข้อเรียกร้อง 10 ประการ โดยมีสาระสำคัญคือ ยกเลิกมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญ คือการห้ามฟ้องกษัตริย์ และเพิ่มให้สภาผู้แทนราษฎรฟ้องกษัตริย์ได้ รวมถึงยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และเปิดให้ประชาชนใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้ รวมถึงนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯทุกคน เป็นต้น

กรณีมีข้อโต้แย้งที่ต้องวินิจฉัยก่อนว่า คำร้องคลุมเครือ ไม่ชัดเจน และไม่ครบองค์ประกอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 หรือไม่ ศาลเห็นว่า เมื่อพิจารณาคำร้อง และเอกสารประกอบคำร้อง เป็นกรณีผู้ร้องกล่าวอ้างว่า การปราศรัยของผู้ถูกร้องที่ 1-3 เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ณ เวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทน จัดที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีเนื้อหาบิดเบือน จาบจ้วง ล้อเลียน หมิ่นพระบรมเดชานุภาพของสถาบันฯ เป็นการกระทำเจตนาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 โดยอ้างเอกสารต่าง ๆ รวมทั้งถอดคลิปเสียง ที่แสดงถึงการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1-3 กับพวก ประกอบมาท้ายคำร้อง ถือเป็นส่วนหนึ่งของคำร้อง

คำร้องจึงมีความชัดเจน และเพียงพอทำให้ผู้ถูกร้องที่ 1-3 เข้าใจสภาพของการกระทำที่เป็นข้อกล่าวหา สามารถต่อสู้คดีได้ ดังนั้นข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องที่ 1-3 ฟังไม่ขึ้น

ประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยมีว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1-3 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเห็นว่า หลักการตามรัฐธรรมนูญ วางรากฐานระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ระบอบประชาธิปไตยฯ) โดยคุณค่าทางรัฐธรรมนูญ แก่นของปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ ประกอบด้วยคุณค่าสำคัญได้แก่ การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 3 การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน มีการบัญญัติไว้ครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม 2475 และบัญญัติเรื่อยมาในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ

ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ยกบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 วรรคหนึ่ง ที่ระบุถึงสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยมาประกอบ พร้อมอธิบายว่า การกำหนดหลักประกันเสรีภาพของประชาชน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นการเฉพาะ และส่วนที่กฎหมายอื่นมิได้บัญญัติห้ามไว้ ปวงชนชาวไทยย่อมมีสิทธิและเสรีภาพดังกล่าว ได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญทุกกรณี โดยมีเงื่อนไขว่าการใช้สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอื่นคุ้มครอง ต้องไม่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น

เมื่อบุคคลมีสิทธิและเสรีภาพ ย่อมมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามมาด้วย ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ หมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย มาตรา 50 (1) (3) (6) รวมถึงมาตรา 49 ที่เกี่ยวกับบุคคลใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯมิได้ โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 มุ่งหมายให้ปวงชนชาวไทยทุกคน มีส่วนร่วมปกป้องและพิทักษ์รักษาระบอบประชาธิปไตยฯ และกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจทำหน้าที่ตรวจสอบ วินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำที่ล้มล้างการปกครองดังกล่าว

โดยมาตรา 49 วรรคหนึ่ง ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ (ปี 2560) ถูกบัญญัติครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2475 แก้ไขเพิ่มเติมปี 2495 มาตรา 35 และบัญญัติทำนองเดียวกันในรัฐธรรมนูญฉบับต่อ ๆ มาทุกฉบับ วางหลักปกป้องระบอบประชาธิปไตยฯ เพื่อป้องกันการคุกคามซึ่งการกระทำของการใช้สิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มุ่งหมายให้คุณค่ารัฐธรรมนูญ รองรับการดำรงอยู่ของระบอบประชาธิปไตยฯ ไม่ให้ล้มเลิกหรือสูญเสียไป 

ขณะที่หลักการตามมาตรา 49 วรรคสอง ที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยนั้น ถูกบัญญัติครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2540 และบัญญัติทำนองเดียวกันในรัฐธรรมนูญปี 2550 และปี 2560 โดยมีวัตถุประสงค์คือ ถ้ามีผู้ล้มล้างการปกครองมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้

ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา เอกสาร พยานหลักฐานต่าง ๆ จากอัยการสูงสุด (อสส.) ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง จ.ปทุมธานี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ อธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) โดยการปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ผู้ถูกร้องที่ 1-3 จัดเวทีปราศรัยกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์

ทั้งนี้รัฐธรรมนูญมีบทลักษณะห้ามใช้สิทธิและเสรีภาพในการล้มล้างการปกครอง ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ปี 2550 และปี 2560 และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 18-22/2555 และคำวินิจฉัยที่ 3/2562 (กรณีพรรคไทยรักษาชาติ) วางหลักคำว่า “ล้มล้าง” ว่าเป็นภัยร้ายแรงต่อรัฐธรรมนูญ และระบอบการปกครองที่สุดวิสัยจะแก้ไขกลับคืนได้ เป็นการกระทำ ทำลาย หรือล้างผลาญให้สูญสลายหมดสิ้นไป ไม่ให้ดำรงอยู่อีกต่อไป การใช้สิทธิและเสรีภาพเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพระราชฐานะของพระมหากษัตริย์ ส่งผลให้พระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในที่เคารพ สักการะ เกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเกินความพอเหมาะพอควร ส่งผลให้กระทบกระเทือนและอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยฯ ในที่สุด

พระมหากษัตริย์ กับชาติไทย เป็นเนื้อเดียวกันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และดำรงอยู่ด้วยกันในอนาคต ไทยมีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยปวงชนชาวไทยเห็นพ้องต้องกันอันเชิญพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถวายความเคารพสักการะผู้ใดละเมิดมิได้ เพื่อธำรงความเป็นชาติไทยไว้ ดังที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ ปี 2475 

โดยบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญปี 2475 เห็นได้ว่า ประวัติศาสตร์การปกครองของไทย อำนาจการปกครองเป็นของพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด นับตั้งแต่ยุคสุโขทัย อยุธยา ตลอดจนกรุงรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์มีพระราชภารกิจสำคัญยิ่งเพื่อรักษาความอยู่รอดของบ้านเมืองและประชาชน โดยดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย นำกองทัพต่อสู้ปกป้อง และขยายราชอาณาจักรตลอดเวลา ในยุคที่ผ่านมาถือหลักปกครองตามหลักศาสนา และทศพิธราชธรรมปกครอง พระมหากษัตริย์จึงเป็นที่เคารพศรัทธา ศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทยมาโดยตลอดหลายร้อยปี แม้เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 คณะราษฎรผู้ก่อการ และประชาชนชาวไทย เห็นพ้องต้องกันอันเชิญพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักคงอยู่กับระบอบประชาธิปไตย โดยเรียกว่าระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และราชอาณาจักรคงไว้ซึ่งระบอบนี้ต่อเนื่อง ทำนองเดียวกับประเทศต่าง ๆ ที่มีความเป็นมาของชาติแตกต่างกัน แต่ที่เหมือนกันคือเอกลักษณ์ หรือสัญลักษณ์ และทรัพย์สมบัติชาติ จะมีกฎหมายห้ามทำให้มีมลทิน หรือชำรุด 

ดังนั้นข้อเรียกร้องให้มีการยกเลิกการรับรองพระราชฐานะของพระมหากษัตริย์ ประมุขของรัฐ ผู้ใดจะกล่าวหาละเมิดมิได้ จึงเป็นการกระทำเจตนาทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์โดยชัดแจ้ง การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1-3 เซาะกร่อนบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยฯ เรียกร้องโจมตีในที่สาธารณะ อ้างเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญไม่ถูกต้อง ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ละเมิดสิทธิและเสรีภาพประชาชนอื่นได้ด้วย เป็นกรณีตัวอย่างให้คนอื่นทำตาม

ผู้ถูกร้องที่ 1-3 มีการดำเนินงานอย่างเป็นขบวนการ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ และเป้าหมาย แม้การปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 จะผ่านไปแล้ว แต่ภายหลังผู้ร้อง (นายณฐพร โตประยูร) ยื่นคำร้องต่อศาล ปรากฏว่าผู้ถูกร้องที่ 1-3 ยังคงร่วมชุมนุมกับบุคคลกลุ่มต่าง ๆ ใช้ยุทธวิธีเปลี่ยนแปลงการชุมนุม เปลี่ยนตัวบุคคลปราศรัย ใช้กลยุทธไม่มีแกนนำ แต่มีรูปแบบการกระทำ กลุ่มคนที่มีแนวคิดเดียวกันกับผู้ถูกร้องที่ 1-3 และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง มีลักษณะขบวนการเดียวกัน มีเจตนาเดียวกันกับผู้ถูกร้องที่ 1-3 กระทำซ้ำ และกระทำต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีการกระทำเป็นขบวนการ ปลุกระดม ใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จ ก่อให้เกิดความรุนแรง และความวุ่นวายในสังคม

ระบอบประชาธิปไตย มีหลักการ 3 อย่างคือ “เสรีภาพ” ทุกคนคิดพูดทำอะไรก็ได้ที่ไม่มีกฎหมายห้าม “เสมอภาค” ทุกคนเท่าเทียมกัน “ภราดรภาพ” บุคคลทั้งหลายมีอันหนึ่งอันเดียวกัน เกื้อกูลฉันท์พี่น้อง มีความสามัคคีกัน ระบอบประชาธิปไตยฯ ด้วยความผูกพันขของปวงชนชาวไทย กับพระมหากษัตริย์ที่มีมานับหลายร้อยปี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงได้รับความยินยอมจากปวงชนชาวไทย ใช้อำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล

สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย เป็นเสาหลักสำคัญที่จะขาดเสียมิได้ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ ดังนั้นการกระทำใดๆ ที่มีเจตนาเพื่อทำลายหรือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องสิ้นสลายไป ไม่ว่าการพูด เขียน หรือการกระทำต่างๆ เพื่อให้เกิดผลเป็นการบ่อนทำลาย ด้อยคุณค่า หรืออ่อนแอลง ย่อมมีเจตนาล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์

การใช้สิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกร้องที่ 1-3 ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย เป็นการอ้างสิทธิหรือเสรีภาพเพียงอย่างเดียว ไม่คำนึงถึงหลัก “เสมอภาค” และ “ภราดรภาพ” ผู้ถูกร้องที่ 1-3 ใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็น ไม่รับฟังความเห็นของผู้อื่น ไม่ยอมรับความเห็นที่แตกต่างจากบุคคลอื่น และละเมิดสิทธิส่วนตัวคนอื่น ด่าทอ รบกวนพื้นที่ส่วนตัว ยุยงปลุกปั่นด้วยข้อเท็จจริง บิดเบือนจากความเป็นจริง

พยานหลักฐานประจักษ์ชัดว่าผู้ถูกร้องที่ 1-3 มีการจัดตั้งกลุ่มองค์กรเครือข่าย ใช้ความรุนแรงต่อเนื่อง มีส่วนจุดประกายการอภิปราย ปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรงในบ้านเมือง ทำให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ ทำลายหลัก “เสมอภาค” และ “ภราดรภาพ” นำไปสู่การล้มล้างระบอบประชาธิปไตยฯในที่สุด

นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่า การชุมนุมหลายครั้ง มีการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ การแสดงออกโดยการลบสีน้ำเงินออกจากธงชาติ หมายถึงการลบสถาบันฯ ออกจากธงชาติ ข้อเรียกร้อง 10 ประการ ของผู้ถูกร้องที่ 1-3 ทำให้สถานะของพระมหากษัตริย์ไม่เป็นไปตามประเพณีการปกครองของชาติไทยที่ยึดถือปฏิบัติตลอดมา

พฤติการณ์ในการปราศรัยของผู้ถูกร้องที่ 1-3 ในวันที่ 10 ส.ค. 2563 และพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องที่ 1-3 ต่อเนื่องหลังจากนั้น แสดงให้เห็นมูลเหตุจูงใจของผู้ถูกร้องที่ 1-3 ว่า การใช้สิทธิหรือเสรีภาพโดยมีเจตนาซ่อนเร้นในการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มิใช่เป็นการปฏิรูป และเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยไม่สุจริต มีการละเมิดกฎหมาย มีมูลเหตุจูงใจล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง แม้เหตุการณ์ตามคำร้องผ่านพ้นแล้ว แต่ผู้ถูกร้องที่ 1-3 รวมทั้งกลุ่มลักษณะองค์กรเครือข่าย ยังกระทำการดังกล่าวต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1-3 เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และศาลรัฐธรรมนูญสั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 1-3 รวมถึงกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบคำวินิจฉัยฉบับเต็มที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอ่านในห้องพิจารณาคดีและคำวินิจฉัยที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่ออกมานั้นพบว่าข้อความบางส่วนถูกตัดทอนไป เช่น "ประวัติศาสตร์การปกครองของไทย อำนาจการปกครองเป็นของพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด นับตั้งแต่ยุคสุโขทัย อยุธยา ตลอดจนกรุงรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์มีพระราชภารกิจสำคัญยิ่งเพื่อรักษาความอยู่รอดของบ้านเมืองและประชาชน...ทำนองเดียวกับประเทศต่าง ๆ ที่มีความเป็นมาของชาติแตกต่างกัน แต่ที่เหมือนกันคือเอกลักษณ์ หรือสัญลักษณ์ และทรัพย์สมบัติชาติ จะมีกฎหมายห้ามทำให้มีมลทิน หรือชำรุด" หรือ "นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่า การชุมนุมหลายครั้ง มีการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ การแสดงออกโดยการลบสีน้ำเงินออกจากธงชาติ หมายถึงการลบสถาบันฯ ออกจากธงชาติ ข้อเรียกร้อง 10 ประการ ของผู้ถูกร้องที่ 1-3 ทำให้สถานะของพระมหากษัตริย์ไม่เป็นไปตามประเพณีการปกครองของชาติไทยที่ยึดถือปฏิบัติตลอดมา" ที่ปรากฏในฉบับอ่านก็ไม่ปรากฎอยู่ในคำวินิจฉัยฉบับเผยแพร่ นอกจากนี้ ยังไม่มีการเปิดเผยว่าการลงมติเสียงข้างมากของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีการลงคะแนนกี่เสียง

คลิปการถ่ายถอดสด ศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งพิจารณาเพื่ออ่านคำวินิจฉัยคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

'ทนายกฤษฎางค์' ผิดหวังคำวินิจฉัย-'ณฐพร' เตรียมร้องต่อยุบก้าวไกล

 

กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความในคดีนี้ให้ความเห็นหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ตามมาตรา 49 ที่ให้อำนาจวินิจฉัย “สั่งให้เลิกการดำเนินการกระทำนั้นๆ” ไม่ได้สั่งให้ “ห้ามกระทำการใดๆ ต่อไป” รวมทั้งไม่ได้ห้ามคนที่ไม่ได้ถูกกล่าวหาในคดีด้วย แล้วเมื่อคนอื่นๆ ก็มีข้อเท็จจริงไม่เหมือนกันแล้วศาลรัฐธรรมนูญจะห้ามได้อย่างไร

“มันไปลบล้างอำนาจของใครก็ไม่รู้ทั้งหมดเลยอาจจะลบอำนาจของปวงชนชาวไทยที่มีสิทธิเสรีภาพด้วย”

“ต่อให้คำพิพากษาเป็นคุณกับเราเราก็รับไม่ได้เพราะกระบวนการไม่ถูกต้อง เรากำลังจะสร้างรากฐานการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะฉะนั้นการรวบรัดตัดความเราไม่เห็นด้วย” ทนายความของอานนท์ แสดงความเห็นต่อการที่ศาลไม่เรียกผู้ถูกร้องมาไต่สวนก่อนที่จะมีคำวินิจฉัย

กฤษฎางค์กล่าวว่าส่วนตัวเขาหวังว่านักกฎหมายระดับชาติและตุลาการของศาลทุกแห่งว่าคำวินิจฉัยอันนี้ทุกคนจะมีความเห็นอย่างไร และคำวินิจฉัยนี้ควรจะถูกตรวจสอบจากสังคมและนานาชาติแล้วควรจะต้องมีคำตัดสินจากศาลใดศาลหนึ่งว่าคำวินิจฉัยนี้ใช้บังคับไม่ได้

“ผมมองในแง่ดี คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้ทำให้เราจะแสวงหาความยุติธรรมที่ดีกว่า หาระบบที่มันดีกว่า ถ้าใช้เครื่องใช้ไม้สอยอันหนึ่งแล้วเราไม่รู้ว่ามันดีไม่ดีเราก็ใช้มันไปเรื่อยๆ แต่เมื่อไหร่เรารู้ว่ามันใช้ไม่ได้ เราจะได้เปลี่ยนมัน”

นักข่าวถามกฤษฎางค์ว่าผู้ร้องในคดีนี้จะนำคำวินิจฉัยในการไปดำเนินคดีอื่นๆ หรือไม่ เขาตอบว่าเป็นก็อาจจะมีคนยกไปอ้างแต่ว่าศาลยุติธรรมจะเชื่อตามคำวินิจฉัยนี้หรือนำมาบังคับใช้หรือไม่ ก็จะเป็นการพิสูจน์ตัวของศาลยุติธรรมอีกทีหนึ่ง แต่เขาเองก็รู้อยู่แล้วว่าคำวินิจฉัยของศาลนี้จะไปเพิ่มภาระให้กับคนที่ออกมาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงในระบบที่ดีกว่า และที่ผ่านมาฝ่ายก็ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบอยู่แล้วซึ่งคำวินิจฉัยนี้ก็ไม่ได้เพิ่มภาระเท่าไหร่

กฤษฎางค์เห็นว่าจะเกิดปัญหาถ้านำคำวินิจฉัยนี้ไปลงกรอบในคดีที่มีอยู่แล้วในศาลยุติธรรม เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคดีนี้ก็เป็นคดีเดียวกับที่อานนท์ ปนัสยาและภาณุพงศ์ถูกแจ้งความดำเนินคดีพร้อมเพื่อนที่สภ.คลองหลวงซึ่งกำลังจะถึงศาลธัญบุรีในอีกไม่กี่วันนี้ก็เป็นภาระแน่ๆ แล้วคดีในศาลรัฐธรรมนูญนี้ทางทนายความได้พยายามยื่นคำแถลงคัดค้านส่งพยานหลักฐานให้ศาลก็ไม่ให้พิสูจน์แล้วก็เร่งมาตัดสินว่าเป็นการล้มล้างการปกครองก่อนก็คงจะเสียเปรียบ ในส่วนของทนายความก็คงต้องศึกษาว่าจะกระทบคดีความอย่างไร

“เด็กๆ พวกนี้ที่ขึ้นศาลทหารตอนประยุทธ์รัฐประหารใหม่ๆ เด็กพวกนี้มีทนาย โจทก์จะสืบใครยังให้เราซักค้าน โอเคมันหนักเหนื่อยไม่ให้ประกัน แต่คดีนี้เราได้ฟังแต่ว่าไต่สวนแล้ว แต่เราไม่รู้ไต่สวนอะไร คุณรู้ไหมว่าเขาเชื่ออะไร มีหลักฐานอะไร ผู้ร้องร้องมาแต่กระดาษ เอาคำปราศรัยมาถอดเทปเทปจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ แล้วคำว่าปฏิรูปกับล้มล้างมันแปลว่าอะไร แล้วการที่เป็นคดีเดียวกับคดีที่ศาลยุติธรรมมันเป็นธรรมหรือ?” ทนายความสะท้อนปัญหาในกระบวนการพิจารณามีคำวินิจฉัยในวันนี้ เขาอธิบายว่าหลังจากทางศาลส่งคำร้องมาทางทีมทนายความได้ทำคำร้องคัดค้านพร้อมหลักฐานและระบุบัญชีพยานอีก 8 ปากและขอให้มีการสืบพยานด้วยเพื่อขอโอกาสพิสูจน์และถ้าได้พิสูจน์ก็ไม่กังวลใจที่จะแพ้คดีและถ้าได้พยายามจนถึงที่สุด ศาลก็จะมีความยุติธรรมมากที่สุด

นักข่าวถามว่าแล้วคำวินิจฉัยนี้จะถูกนำไปใช้ในการดำเนินคดีอื่นๆ หรือฝ่ายรัฐจะออกคำสั่งปิดกั้นเนื้อหาที่รัฐอ้างว่าเป็นการล้มล้างการปกครองด้วยหรือไม่ กฤษฎางค์เห็นว่าคงถูกนำไปใช้แน่นอน แต่เขาก็ย้ำว่าศาลรัฐธรรมนูญเองต้องมีความรับผิดชอบในเมื่อเขียนคำวินิจฉัยอันหนึ่งออกมาก็พึงระลึกเสมอว่าจะถูกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำไปใช้ซึ่งไม่เป็นปัญหาที่จะถูกนำไปใช้ แต่ต้องก่อให้เกิดความยุติธรรม

“เพราะกฎหมายไม่ได้เป็นความยุติธรรม แต่กฎหมายเป็นเครื่องมือเพราะฉะนั้นก็มีคนเอาไปใช้แน่”

ขณะเดียวกัน มติชนออนไลน์ รายงานว่า ณฐพร ผู้ร้องในคดีนี้ เปิดเผยว่าภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยดังกล่าว ตนจะเดินหน้าเอาผิดและยุบพรรคก้าวไกลกรณีเรียกร้องให้มีการแก้ไข ม.112 ซึ่งตนได้ยื่นคำร้องกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไว้ตามมาตรา 92 และเชื่อว่า กกต. จะขอคัดถ่ายสำเนาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไปดำเนินการต่อ นอกจากนี้ มติชนออนไลน์ยังรายงานเพิ่มเติมว่าไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่าหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย หากพบนักการเมืองที่กระทำพฤติกรรมตามที่ศาลวินิจฉัยเป็นหน้าที่ของ กกต. ​ต้องพิจารณา แต่จะเข้าข่ายผิดหรือไม่ต้องพิจารณาเป็นรายกรณี โดยทางกฎหมายนั้นมีฐานที่พิจารณาได้คือ ความผิดตามกฎหมายอาญา และ ผิดจริยธรรมของนักการเมือง ที่กำหนดให้เป็นค่านิยมหลัก ต่อการยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ

เปิดคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของ 'ทนายอานนท์-รุ้ง-ไมค์'

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกร้องทั้งสามคนที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 พร้อมกับได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีการไต่สวนคดี โดยมีการยื่นบัญชีพยานบุคคลและพยานเอกสารที่ต้องการให้ศาลไต่สวนประกอบ แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุติการไต่สวนในที่สุด

  1. ข้อกล่าวหาของนายณฐพร ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 เนื่องจากคำร้องมีความคลุมเคลือ ไม่ชัดแจ้ง และไม่มีการบรรยายคำร้องตามองค์ประกอบของมาตรา 49 และคำร้องไม่เข้าองค์ประกอบ รธน. ม.49 – คำบรรยายอื่นๆ เป็นคนละประเด็นกับคำร้อง ศาลไม่อาจรับไว้พิจารณาได้
  2. กฎหมายรัฐธรรมนูญ กับกฎหมายอาญาต้องแยกพิจารณาคนละส่วน ทั้งผู้ถูกร้องทั้งสามยังเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่เคยถูกตัดสินว่าผิดทางอาญา
  3. การโต้แย้งจากความรู้สึกส่วนตัว ศาลไม่มีอํานาจพิจารณา ขัดเจตนารมณ์และองค์ประกอบของรัฐธรรมนูญ
  4. การแสดงความคิดเห็นและการชุมนุม ไม่ใช่การล้มล้างการปกครอง เช่นการเรียกร้องรัฐประหาร อีกทั้งการกระทำยุติลงแล้ว ศาลไม่มีอํานาจในการสั่งยุติหรือเลิกการกระทําดังกล่าว
  5. การใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและแสดงความเห็นที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การล้มล้างการปกครองฯ
  6. 10 ข้อเสนอ ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ “ไม่ใช่การล้มล้าง” สามารถดําเนินการได้ตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ

'รุ้ง' อ่านแถลงการณ์อีกครั้งหลังศาลมีคำวินิจฉัย

หลังจากที่ ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยเสร็จสิ้น ปนัสยาซึ่งออกมาจากห้องพิจารณาคดีเพื่อรับฟังคำวินิจฉัยพร้อมกันกับประชาชนด้านหน้าอาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ได้อ่านแถลงการณ์อีกหนึ่งฉบับ ซึ่งมีเนื้อหายืนยันว่าการกระทำของตน อานนท์ และภาณุพงศ์ ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อล้มล้างการปกครอง แต่เป็นการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปหรือปรับปรุงสถาบันกษัตริย์ และตนไม่เห็นด้วยกับวิธีการไต่สวน รวมถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ปนัสยาขณะอ่านแถลงการณ์อีกหนึ่งฉบับหลังศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยเสร็จสิ้น

แถลงการณ์กรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าล้มล้างการปกครอง
โดยปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล

ข้าพเจ้าขอส่งสารนี้ด้วยใจจริง ถึงพี่น้องประชาชนชาวไทยผู้เป็นเจ้าของอํานาจอธิปไตยทุก ท่าน เนื่องด้วยคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ต่อข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ที่รุ้ง พี่ อานนท์ และพี่ไมค์ได้กล่าวถึงในวันที่ 10 ส.ค. 2563 ซึ่งศาลได้วินิจฉัยว่า ข้าพเจ้าขอยืนยันอย่างหนักแน่นว่าข้อเรียกร้องของพวกเราไม่ได้มีวัตถุประสงค์หรือมีเจตนาเป็นไปเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เบื้องต้น ข้าพเจ้าเคารพในคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ด้วยจิตวิญญาณอันซื่อตรงต่อหลักนิติธรรม ข้าพเจ้าเห็นว่า คําตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ไม่อาจยอมรับได้เพราะขาดซึ่ง ความชอบอย่างยิ่งด้วยกระบวนพิจารณาคดี ด้วยเหตุว่า กฎหมายได้ระบุให้การพิจารณาคดีของศาล รัฐธรรมนูญนั้น ให้ใช้ระบบไต่สวน ซึ่งศาลมีอํานาจแสวงหาพยานหลักฐาน เปิดโอกาสให้คู่กรณีได้ เสนอพยานหลักฐาน เพื่อต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ตามหลักนิติธรรม และเป็นสิทธิของคู่ความที่พึงมีในกระบวนยุติธรรม และแม้ศาลจะสามารถใช้ดุลพินิจเพื่อแสงหาข้อเท็จจริง แต่การใช้ดุลพินิจนั้น ต้องเป็นไปเพื่อรักษาไว้ซึ่งความยุติธรรม แต่ทั้งนี้ในทางความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ศาลกลับไม่เปิดโอกาสให้มีการไต่สวน ไม่ยอมให้นักวิชาการเข้าให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ อันเป็นการกระทบต่อ สิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม โดยศาลได้ให้เหตุผลว่าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้จึงยุติการไต่สวน แม้จําเลยจะได้มีการยื่นร้องขอต่อศาลให้มีการไต่สวนแล้วก็ตาม

ข้าพเจ้าขอยืนยันอีกครั้งว่า ข้าพเจ้าไม่อาจเห็นด้วยกับคําตัดสินดังกล่าว และขอเน้นย้ำอย่างบริสุทธิ์ใจว่าข้อเรียกร้องต่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองใน ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นการกระทําที่มีเจตนาเพื่อทําลาย หรือล้างผลาญให้สูญสิ้นสลายหมดไป ดังที่นาย ณฐพร โตประยูร กล่าวอ้าง และในทางกลับกัน ข้าพเจ้ากลับเห็นว่าการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ย่อมจะส่งผลเป็นการธํารงไว้ซึ่งความมั่นคง และเป็นเหตุให้สถาบันพระมหากษัตริย์เจริญวิวัฒน์พัฒนาสถาพรขึ้นอย่างที่ควรจะเป็นภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

และด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงยังขอยืนยันในข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ที่ว่า

  1. ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ
  2. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
  3. ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561
  4. ตัดลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์
  5. ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์
  6. ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด
  7. ยกเลิกพระราชอํานาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ
  8. ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียว จนเกินงาม
  9. สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎร
  10. ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก

ข้อเสนอต่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่ 10 ข้อนี้ ล้วนแต่เป็นการเสนอด้วยเจตนาสุจริต ด้วยความปรารถนาดีที่ต้องการจะให้สถาบันกษัตริย์ของไทย มีความชอบธรรมและสามารถดํารงอยู่ได้ อย่างสง่างาม ตามครรลองระบอบประชาธิปไตยอย่างสากล

ทั้งนี้ ในส่วนของการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ข้าพเจ้าขอยืนยันว่าการผลักดันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายอาญามาตรา 112 มิได้เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ย่อมเป็นไปเพื่อให้การส่งเสียงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเป็นกัลยาณมิตรสามารถเป็นไปได้ ข้าพเจ้าขอยืนยันว่าการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นกระบวนการที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุว่าประชาชน ผู้เป็นแหล่งที่มาของอํานาจอธิปไตย ย่อมเป็นผู้ทรงอํานาจในการสถาปนาและแก้ไขกฎหมายทั้งปวง เพราะเมื่อได้ชื่อว่ากฎหมายแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในลําดับศักดิ์ใด กฎหมายย่อมสามารถถูกแก้ไขได้ตาม เจตจํานงของประชาชนผ่านกระบวนการตามกฎหมาย ภายใต้ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังที่มีการบัญญัติรับรองไว้ตามมาตรา 133 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

อย่างไรก็ดี เมื่อมีการวินิจฉัยคดีนี้เกิดขึ้นแล้ว และผลได้ปรากฎออกมาดังที่ทุกท่านทราบ ข้าพเจ้าขอให้การตัดสินวินิจฉัยในครั้งนี้ จงถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ว่าศาลรัฐธรรมนูญซึ่งควรมีหน้าที่สําคัญในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ รักษาดุลยภาพแห่งอํานาจ และปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้วินิจฉัยว่าการเรียกร้องให้เกิดการการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์หมายถึงการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และขอให้คําตัดสินดังกล่าว อันพวกท่านทั้งหลายมีส่วนร่วมหรือสนับสนุน จงเป็นกระจกสะท้อนต่อเบื้องลึกในจิตใจของท่านทั้งหลาย เพื่อแสดงให้เห็นถึงความกลัวต่อสภาพอันเปราะบางที่ดํารงอยู่ ซึ่งพวกท่านต่างรู้ได้ด้วยมโนสํานึก และผ่านการกระทําของท่าน และขอให้ท่านทราบว่า พวกท่านกําลังมีส่วนในการขัดขวางการ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เพื่อให้สถาบันสามารถดํารงอยู่อย่างสง่างาม ภายใต้ระบอบการปกครองประชาธิ ไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างแท้จริง

ท้ายที่สุดนี้ ข้าพเจ้าขอยืนยันด้วยใจอันเห็นประโยชน์แห่งมหาชนเป็นที่ตั้งว่า หนทางที่ดีที่สุด ในการชํารงไว้ซึ่งความมั่นคงแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่การใช้กลไกทางกฎหมายเพื่อเป็น เครื่องมือในการกดปราบ คุกคาม หรือการพยายามสร้างสังคมแห่งความหวาดกลัว แต่คือการ พยายามร่วมมือกันจาก “ทุกภาค” ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน ทุกความคิดทางการเมือง” ทั้งฝ่าย ประชาธิปไตย และฝ่ายอนุรักษ์นิยม และจาก “ทุกองคาพยพของรัฐ” ทั้งองค์กรนิติบัญญัติ องค์กรบริหาร องค์การตุลาการ องค์กรอิสระ รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อร่วมกันผลักดันให้การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์สามารถดําเนินไปจนประสบผลสําเร็จสถาพรได้จริง อันจะเป็นการธํารงไว้ซึ่งความ มั่นคงและเป็นเหตุแห่งความเจริญพิพัฒน์วัฒนาของสถาบันกษัตริย์ควบคู่กับสถาบันประชาชน ตาม ครรลองการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริงสืบไป

หลังปนัสยาอ่านแถลงการณ์จบ กลุ่มทะลุฟ้าได้ทำการเผาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลอง เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และประชาชนโปรยกระดาษที่มีข้อความ เช่น “ยกเลิก 112 ก้าวแรกสู่การปฏิรูปสถาบัน” “ปฏิรูปตุลาการ” “ตุลาการโจรถ่อย ปล่อยเพื่อนกู” เข้าไปในเขตรั้วที่เจ้าหน้าที่กั้นไว้ไม่ให้ผ่าน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net