Skip to main content
sharethis

นักวิชาการติงกรมประมง รับเงินบริษัทเจ้าของเขื่อนไซยะบุรี อ้างเพื่อฟื้นฟูปลาน้ำโขง หวั่นผลประโยชน์ทับซ้อน ด้านประธานกลุ่มรักษ์เชียงของแนะเยียวยาระบบนิเวศ ขณะที่ผลวิจัยของ MRC ระบุชัดชาวบ้านริมโขงมีฐานะจนลง

 

20 ต.ค. 2564 สำนักข่าวชายขอบ รายงานว่า สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ และเครือข่ายแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรม (Fair Finance Thailand) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอรับงบประมาณสนับสนุนจำนวนกว่า 263 ล้านบาทจากบริษัทซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเขื่อนไซยะบุรี เพื่อจัดทำแผนงานแก้ไขผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนิเวศด้านการประมงบนแม่น้ำโขง ว่า มีอยู่ 3 ประเด็นที่ไม่เหมาะสม โดยประเด็นแรก เงินกว่า 263 ล้านบาทนั้นควรเป็นงานของกรมประมง เพื่อความเป็นอิสระและความเป็นกลางในการสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่มีความเหมาะสมที่กรมประมงจะรับเงินจากเอกชนมาทำ และเป็นงบประมาณเพียงบริษัทเดียวที่มีโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขง ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่ากรมประมงจะเป็นอิสระและดำเนินโครงการอย่างตรงไปตรงมาได้อย่างไร หากรับเงินมาจากบริษัทเจ้าของเขื่อน และกรมประมงจะพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนได้อย่างไร หากดำเนินโครงการตามแผนดังกล่าว อีกทั้งในอนาคต ถ้าประชาชนในพื้นที่ร้องเรียนเรื่องผลกระทบในแม่น้ำโขง กรมประมงจะตอบคำถามอย่างไร ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

ส่วนประเด็นที่สอง สฤณีกล่าวว่าเป็นการตั้งคำถามเรื่องที่มาที่ไป หากเป็นโครงการสำคัญของกรมประมง ควรจะเป็นงบประมาณของรัฐ ทั้งที่เป็นหน้าที่ของกรมประมงแล้ว และเขาควรจะชี้แจงที่มาที่ไปของงาน ไม่ใช่ที่จะต้องทำโครงการนี้ (ฟื้นฟูแม่น้ำโขง) เพราะว่าบริษัทเสนอให้ทำ ควรจะเป็นหน้าที่ของกรมประมง ในฐานะหน่วยงานรัฐที่ต้องทำมากกว่า และประเด็นสุดท้ายคือการตั้งคำถามกับบริษัทเจ้าของเขื่อนว่าที่ทำแบบนี้มองได้ว่าเป็นการแทรกแซงและก้าวก่ายหน้าที่ของหน่วยงานรัฐและกรมประมงซึ่งทำหน้าที่รับผิดชอบหรือไม่ พร้อมเรียกร้องให้บริษัทซีเค พาวเวอร์ ควรเคารพบทบาทของหน่วยงานรัฐ

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวถึงสถานการณ์ผันผวนของปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงว่า เห็นชัดเจนว่าแม่น้ำโขงไม่มีฤดูกาลแล้ว เพราะระดับน้ำฤดูแล้งและฤดูฝนไม่มีความแตกต่างกันเลย หากเป็นช่วงที่ยังไม่มีเขื่อน ระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะขึ้นสูงสุดเดือน ส.ค. ปริมาณน้ำสูงถึง 6-7 เมตร เป็นฤดูน้ำหลาก น้ำยกตัวสูงเอ่อเข้าไปในแม่น้ำสาขา ซึ่งมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศน์ จากการทำวิจัยพบว่าจำนวนปลาแม่น้ำโขง 90 ชนิด และมีกว่า 50 ชนิดอพยพเข้าไปวางไข่ แต่หลายปีมานี้ไม่มีฤดูน้ำหลากแล้ว เนื่องจากแม่น้ำโขงตอนบนถูกควบคุมโดยเขื่อน 11 แห่งในจีน ส่งผลกระทบต่อพันธุ์ปลาอพยพ ขณะที่ฤดูแล้ง น้ำโขงควรลดระดับลงเหลือกว่า 1-2 เมตร แต่ปัจจุบันกลับเปลี่ยนเป็นสูงขึ้น ทั้งๆ ที่น้ำควรแห้งไปตามธรรมชาติ และชาวบ้านได้ทำเกษตรริมโขง

“ปัจจุบันไม่มีปลาจะจับ บางคนบอกเพราะคนเพิ่มขึ้น ใช่แม้คนเพิ่มขึ้น แต่ไม่มีใครลงมาแม่น้ำโขงแล้ว ถึงเวลาหรือยังที่เราต้องฟื้นฟูเยียวยาคนและแม่น้ำโขง เราต้องให้ชัดถึงแนวทาง ไม่ใช่แค่เอาเงินมาใส่ แต่ทำอย่างไรให้แม่น้ำโขงมีปลา หากระบบนิเวศน์ดีขึ้น สิ่งมีชีวิตก็ฟื้นตัว ผมอยากให้การเยียวยาแม่น้ำโขงเป็นรูปธรรม อยากให้ดูตัวอย่างเขื่อนปากมูน ที่มีข้อตกลงเรื่องการปิดเปิดเขื่อนให้ปลาวางไข่ เพียงแต่รัฐไม่ทำตามข้อตกลง” นิวัฒน์ กล่าว

นิวัฒน์กล่าวต่ออีกว่าเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนกรณีแม่น้ำโขงถือว่าแย่มาก เพราะกระบวนการต่างๆ ไม่ได้นำข้อคิดเห็นไปปฎิบัติจริงในขณะที่เขื่อนเกิดขึ้นเรื่อยๆ ตนถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก ประชาชนพูดมากว่า 20 ปีแล้ว ดังนั้น ถึงเวลาที่ภาคประชาชนต้องรวมตัวกันเพื่อกำหนดนโยบายเกี่ยวกับแม่น้ำโขง ซึ่งทางกลุ่มพยายามผลักดันให้เกิดสภาประชาชนแม่น้ำโขงขึ้นมา

เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการด้านการสื่อสารองค์กรแม่น้ำนานาชาติ กล่าวว่า แม้ภาคประชาชนพยายามเสนอทางออกต่อเนื่อง แต่ยังไม่เห็นภาพชัดจากภาครัฐว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ที่ผ่านมามีการสร้างเขื่อน เพราะมองแม่น้ำโขงเป็นแค่เรื่องน้ำและมีการแสวงหารายได้ แต่ผู้ใช้ทรัพยากรน้ำกลับถูกเบียดขับออกไป ปัญหาแม่น้ำโขงต้องใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศ แม้จีนจะพูดคุยกับแต่ประเทศและตั้งกรอบความร่วมมือล้านช้างแม่โขง แต่ก็ยังไม่จริงจัง ระยะหลังจีนมีความพยายามอธิบายมากขึ้น แต่ก็ยังเป็นการบริหารจัดการน้ำโขงโดยเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ซึ่งไม่สอดคล้องกับระบบนิเวศน์ท้ายน้ำ หากจีนบริหารจัดการโดยคำนึงถึงประเทศท้ายน้ำด้วยก็จะดีที่สุด

“ผลกระทบของแม่น้ำโขงข้ามพรมแดนของรัฐชาติ แต่ทำอย่างไรประเทศสมาชิกจะตระหนักถึงปัญหาและตั้งวงเจรจากัน ไม่ใช่ยอมให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งใช้แม่น้ำโขงแสวงหากำไร” เพียรพร กล่าว

รายงานฉบับใหม่ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ระบุว่าการทำประมงยังคงเป็นวิถีชีวิตที่สำคัญในประเทศกัมพูชา สปป.ลาว ไทย และเวียดนาม แต่ปัจจัยต่างๆ ได้แก่ การทำประมงที่มากเกินไป ความเสื่อมโทรมของแหล่งที่อยู่อาศัยที่ เกิดจากการเติบโตของประชากรมนุษย์อย่างรวดเร็ว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำลังส่งแรงกดดันต่อการประมงในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศทางน้ำของลุ่มน้ำกำลังส่งผลกระทบต่อสภาพสังคม

รายงาน 2 ฉบับดังกล่าว คือ รายงานสถานะและแนวโน้มของความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของปลาในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างระหว่างปี 2550-2561 และรายงานการติดตามผลกระทบทางสังคมและการประเมินความเปราะบางปี 2561 พบว่าครัวเรือนยังคงพึ่งพาทรัพยากรน้ำซึ่งอยู่ภายใต้แรงกดดันที่เพิ่มมากขึ้น ข้อมูลของรายงานการติดตามผลกระทบทางสังคมและการประเมินความเปราะบางปี 2561 พบว่าร้อยละ 35 ของ 2,800 ครัวเรือนมีรายได้ลดลง และร้อยละ 32 มีรายได้เท่าเดิม มีเพียงร้อยละ 26 เท่านั้นที่ระบุว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่ร้อยละ 6 ระบุว่ารายได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2559 นอกจากนี้ รายงานทั้ง 2 ฉบับเตือนว่ายังมีประเด็นสำคัญที่ต้องมีการปรับปรุงซึ่งมีความเกี่ยวพันเชิงนโยบายสำหรับรัฐบาล เพื่อให้ชุมชนได้รับการปกป้องจากภัยที่เกี่ยวข้องกับน้ำ และความเปราะบางที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ

จากการศึกษาของ MRC พบว่าชุมชนประมงในเกือบทุกพื้นที่ของลุ่มแม่น้ำโขงถูกรบกวน โดยเฉพาะใน สปป.ลาว และเวียดนาม ซึ่งมีอัตราการจับปลาลดลง ส่วนหนึ่งของข้อแนะนำ คือ เรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศภาคีสมาชิกของ MRC ทั้ง 4 ประเทศบังคับใช้กฎหมายการประมงระดับชาติและการร่วมกันดำเนินการตามยุทธศาสตร์การจัดการและพัฒนาประมงลุ่มแม่นำโขงที่ได้รับการอนุมัติเพื่อฟื้นฟูชุมชนประมงที่ประสบปัญหา นอกจากนี้ ยังเสนอการบูรณาการแผนการจัดการแม่น้ำเพื่อจัดการกับความเสี่ยงจากการสร้างเขื่อนพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำที่เพิ่มขึ้น

หนึ่งในผลการศึกษาที่โดดเด่นพบว่าอุบัติการณ์น้ำท่วมที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัจจัยอื่นๆ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ ในช่วงปี 2558-2561 ประมาณร้อยละ 62 ของกลุ่มตัวอย่างหมู่บ้าน ประสบความสูญเสียและความ เสียหายจากอุทกภัย ในจำนวนนี้ ประเทศไทยมีสัดส่วนสูงสุดที่ร้อยละ 80 ในขณะที่เวียดนามมีสัดส่วนต่ำสุดที่ร้อยละ 42 ทั้งนี้ ร้อยละ 25 ของกลุ่มตัวอย่างหมู่บ้านระบุว่าผลกระทบจากอุทกภัยเลวร้ายมากขึ้น และร้อยละ 25 ระบุว่าผลกระทบเหล่านี้เลวร้ายลงในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาและรุนแรงมากกว่าปีก่อนหน้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net