Skip to main content
sharethis

คุยกับ 'พรพิมล' แม่ค้าออนไลน์เชียงใหม่ วัย 22 ปี ผู้เคยถูกจับ-ขัง คดี ม.112 กับชีวิตใหม่ที่กำลังเริ่มขึ้นภายหลังตัดสินใจขอลี้ภัยทางการเมือง ผลกระทบจากการตกเป็นผู้ต้องหา รวมทั้งการตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศ

พรพิมลเป็นหญิงสาววัย 22 ปี ที่หาเลี้ยงตัวเองมาตั้งแต่เด็กด้วยการขายของออนไลน์ ชีวิตเธอเปลี่ยนจากฟ้าเป็นเหวเมื่อเธอถูกตำรวจบุกจับที่หอพักในอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เธอถูกคัดค้านการประกันตัวสองครั้ง ถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่เป็นเวลา 23 วัน และต่อมาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ก่อนที่พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่จะยื่นฟ้องต่อศาลในเดือน มิถุนายน 2564 ในฐานความผิดมาตรา 112  และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

พรพิมลบอกเล่าเรื่องราวความไม่เป็นธรรมที่สร้างรอยแผลให้จิตใจของเธอกับ ประชาไท ในประเทศที่เธอกำลังรอที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ในฐานะผู้ขอลี้ภัยทางการเมือง 

'พรพิมล' แม่ค้าออนไลน์เชียงใหม่ วัย 22 ปี

ชีวิตก่อนโดนจับกุมในข้อหา ม.112

พรพิมลเล่าว่าเดิมเธอเป็นคนลำปาง มาอาศัยอยู่ที่เชียงใหม่เพื่อศึกษาต่อปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง แต่เรียนไม่จบเพราะต้องออกมาทำงานหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวด้วยการขายเสื้อผ้าออนไลน์ ในช่วงที่ขายดีสุด ๆ เธอมีกำไรต่อเดือนตกอยู่ที่ 30,000 – 40,000 บาท

“ถ้าเราไม่เจอ ม.112 ก็ขายดีมาก ๆ มีเงินหมุนต่อปีล้านขึ้น แต่พอโดนคดีเข้าไป เราขาดการติดต่อกับร้านเสื้อผ้าที่จีนและลูกค้าคนไทย มันก็เกิดความเสียหาย บางครั้งเราสั่งของมา เขาส่งของมาแล้วเราไม่สามารถจ่ายเงินได้ทัน หรือรับออเดอร์ลูกค้าไว้แล้วแต่ไม่สามารถส่งของให้เขาได้เพราะติดคุก พอออกมาเราก็ต้องคืนเงินทั้งหมด”

ถูกจับกุมตามหมายจับศาลจังหวัดเชียงใหม่

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่ามีผู้ถูกจับกุมตามหมายจับในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยอยู่ระหว่างนำตัวไปที่สภ.ช้างเผือก หลังทนายความจากศูนย์ทนายความฯ ติดตามไปก็ได้พบกับ พรพิมล และแฟนที่แจ้งเรื่องขอความช่วยเหลือ

“วันหนึ่งตำรวจประมาณ 5-6 นาย มาจับหนู มากันเยอะมาก คือเขามาบอกว่าหนูโดนคดี 112 แต่หนูไม่แน่ใจเพราะไม่เคยได้รับเอกสารแจ้งเตือนมาก่อน เขาพาหนูไปโรงพัก โดนกีดกันไม่ให้แฟนหนูขึ้นรถมาพร้อมกัน หนูรู้สึกตั้งแต่แรกแล้วว่าไม่ปลอดภัยแน่ ๆ หนูกลัวมาก กลัวเขาจะพาไปที่อื่นที่ไม่ใช่โรงพัก แล้วระหว่างที่นั่งอยู่ในรถตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจสองคนเขาพูดจาคุกคามหนู เขาพูดถึงสรีระร่างกายและหน้าตาของหนู เขาพูดว่า ‘ถ้าน้องไม่โดน 112 พี่จะจีบน้องแล้ว พี่ไปดูเฟซบุ๊กน้องตอนที่เกิดเรื่อง น้องน่ารักมากเลยนะ’ ตอนนั้นหนูทั้งกลัวทั้งตกใจ”

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตรวจยึดโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ไอแพดไปโดยไม่มีหมายจากศาลเพื่อเข้าถึงอุปกรณ์ดังกล่าว

“ระหว่างนั่งรถไปโรงพัก ตำรวจเขาก็เกลี้ยกล่อมให้หนูยอมรับสารภาพ หนูคิดว่ากระบวนการนี้มันแปลก ๆ เขามาเอาตัวหนูไปก่อน เอกสารอื่น ๆ ตามมาทีหลัง เอกสารที่เขาให้หนูมามีแค่บันทึกการจับกุม ไม่มีเอกสารอื่นใดนอกจากนี้เลย ไม่มีหมายจับด้วย แต่ที่แน่ ๆ ตอนนั้นหนูกลัวมาก กลัวว่าเขาจะพาไปที่อื่น กลัวว่าชื่ออยู่โรงพักแต่ตัวไปอยู่ที่อื่นแล้ว”

จดหมายจาก “พรพิมล” หลังนอนห้องขังคืนแรก ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว

ฝากขังและไม่ให้ประกันตัว

ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังพรพิมลตามคำร้องของพนักงานสอบสวนและมีคำสั่งยกเลิกคำร้องขอประกันตัว พรพิมลถูกควบคุมตัวไว้ในโรงพักที่สภ.ช้างเผือกเป็นเวลา 1 คืน ในฐานะผู้ต้องหาคดี 112 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เผยแพร่จดหมายของพรพิมลที่เขียนบอกเล่าสภาพความเป็นอยู่ในห้องขังคืนแรกที่นอนที่สถานีตำรวจช้างเผือก และร้องขอ “ช่วยคืนชีวิตให้หนูที” แม้จะผ่านมาเกือบหกเดือนแล้ว ทว่าภาพความทรงจำในวันนั้นยังคงอยู่

“ก่อนหน้าโดนจับ หนูมีสติเต็มร้อย แต่ทุกวันนี้สติและความเชื่อมั่นในตัวเองของหนูลดเหลือแค่ 50-60 เปอร์เซนต์ เท่านั้นเอง หนูกลัว หนูผวากับทุกสิ่งทุกอย่าง ตอนที่เข้าไปอยู่ในคุกคืนแรกมันทรมานที่สุด แย่ที่สุด เขาเอาหนูไปอยู่ในห้องที่ไม่เห็นแสงเห็นตะวัน แล้วข้างห้องของหนูเป็นคนป่วยจิตเวช เขากรีดร้องตลอดเวลา เอาหัวทุบกำแพงโน่นนี่นั่น หนูก็กลัว ตกใจด้วย บางทีก็กรีดร้องไปตามเขานั่นแหละ การที่เราต้องเข้าไปอยู่ในคุกเพียงเพราะโพสต์ข้อความเพียงหนึ่งข้อความมันเป็นเรื่องที่เหี้ยมาก มันเหมือนหนูตายทั้งเป็น ‘ฉันตายแล้ว ฉันไม่ควรต้องมาอยู่ในนี้แล้ว’ พื้นห้องขังมันแข็งมาก นอนๆ อยู่ก็ต้องกรีดร้องออกมาเพราะมีแมลงสาบมาไต่ ในห้องขังสกปรกมาก เศษอาหารเต็มไปหมด หนูเลยเขียนจดหมาย เขียนทั้งน้ำตา เขียนไปร้องไห้ไปด้วย”

รู้จักมาตรา 112 มากน้อยแค่ไหน ก่อนจะมาโดนกับตัว

พรพิมลเล่าว่าก่อนหน้านี้เธอไม่ได้สนใจข่าวสารบ้านเมืองมากเท่าไหร่ เธอเพียงไม่ชอบและไม่เข้าใจกฎระเบียบและธรรมเนียมปฏิบัติบางอย่างในช่วงวัยเด็ก เช่น การเข้าแถวเคารพธงชาติและการกล่าวปฏิญาณตนรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เธอให้เหตุผลว่าอากาศร้อนและไม่เข้าใจว่าทำไปแล้วจะเกิดผลอะไร แต่รู้ว่าหากเธอไม่ปฏิบัติตามเธอจะโดนทำโทษและหักคะแนนความประพฤติ พอโต  ได้มีเวลาหาข้อมูลเรื่องทางประวัติศาสตร์มากขึ้น เรียนรู้เรื่องการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยและขั้วการเมืองต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสังคมไทย รวมถึงกฎหมาย ม.112

“หนูมองว่ากฎหมาย ม.112 เป็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม มันถูกใช้เพื่อปิดปากคนที่เห็นต่าง ส่วนตัวหนูมองว่ามันไม่สมควรมีอยู่เพราะเป็นกฎหมายที่ปกป้องคน ๆ เดียว เป็นกฎหมายที่ใช้เพื่อกดขี่คนที่เขาเห็นต่าง ถูกนำมาใช้กับนักโทษทางการเมือง กลุ่มนักเรียกร้องประชาธิปไตย ไม่เคยคิดว่าจะมาโดนกับตัว เพราะคิดเสมอว่าฉันเป็นแค่ประชาชนธรรมดาหนึ่ง ฉันแสดงความคิดเห็นในนามของประชาชน ยังไงเขาก็ไม่จับฉันหรอก ทั่วโลกไม่มีใครใช้กฎหมายคุ้มครองกษัตริย์กับประชาชนหรอก แต่พอมาโดนกับตัว หนูเลยเข้าว่าหนูคิดผิด นี่มันกะลาแลนด์ นี่มันเป็นประเทศที่ไม่ให้ความรู้สึกที่เป็นเสมือนบ้าน”

เธอมองว่าการโดนคดีในฐานความผิดอื่น ๆ ยังไม่ร้ายแรงเท่าการถูกหมายจับใน ม.112

“ถ้าโดนคดีอื่นมันอาจจบง่ายกว่า แต่พอมาเป็นม.112 มันมีคนคนหนึ่งที่ควบคุมกฎหมายนี้อยู่ ตำรวจเลยต้องทำหน้าที่ให้หนักขึ้นอีก มันเลยจบไม่ง่าย มันไม่ได้เป็นไปตามระบบ ไม่ได้อยู่ในกระบวนการของศาล ถ้าเป็นคดีเช่นฆ่าคนตาย เขาก็ฟ้อง ขึ้นศาล แล้วทำไปตามกระบวนการที่ควรจะเป็น เขาได้รับสิทธิเต็ม ๆ สิทธิในการให้ประกันตัว สิทธิในการให้การ แต่ว่าคดีทางการเมือง แม้แต่เล็กน้อยเจ้าหน้าที่ก็เอามาเป็นจุดเอารัดเอาเปรียบคนที่โดนคดี กฎหมายในต่างประเทศมีไว้เพื่อปกป้องประชาชน แต่กฎหมายที่ไทยมีไว้เพื่อเอารัดเอาเปรียบและทำร้ายประชาชน”

ผลกระทบจากการตกเป็นผู้ต้องหา ม.112

“ชีวิตเปลี่ยนไปมากตั้งแต่ได้รับ ม.112 หนูเสียเพื่อน เสียครอบครัว เสียเงิน เสียหน้าที่การงาน และที่สำคัญ หนูเหมือนคนเสียสติ หนูอยู่ไม่เป็นที่เลยหลังจากที่ออกมา หนูกระวนกระวาย กลัวมาก ย้ายที่อยู่ตลอดเวลาเพราะคิดว่าที่ไหนก็ไม่ปลอดภัย หนูกลับบ้านที่ลำปางไม่ได้เลย ที่บ้านเขาบอกว่า  ตำรวจมา ตามหาที่บ้านแล้วบอกว่าถ้าหาไม่เจอจะฆ่ายกครัว บอกว่าเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบสองนาย ตากับยายที่เลี้ยงหนูมาเขาบอกว่ายายไม่กล้าออกไปตลาดเลยเพราะเขากลัวว่าจะโดนคดีไปด้วย บางคนก็ไม่ชอบ หาว่าลูกหลานบ้านนี้ทำตัวไม่ดี เขาไม่ขายของให้ยาย”

พรพิมล

เหตุการณ์ที่ทำให้ตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศ

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวพรพิมลชั่วคราวในระหว่างสอบสวนในวันที่ 23 เมษายน 2564 หลังควบคุมตัวมาแล้ว 23 วัน และนัดให้มารายงานตัวที่ศาลอีกครั้งในวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 พรพิมลเล่าว่าการรายงานตัวที่ศาลคือเหตุการณ์ที่ทำให้เธอหมดความเชื่อมั่นในระบบความยุติธรรมของไทยและเลือกที่จะย้ายไปในประเทศที่เธอมั่นใจว่าจะได้รับการคุ้มครอง

“การรายงานตัวในวันนั้น เจ้าหน้าที่ศาลบอกให้หนูลงไปรอที่คุกที่ใต้ถุนที่ศาล รอให้ทนายมาประกันตัวแล้วค่อยออกมา ขั้นตอนในวันนั้นไม่โอเค โดยปกติแล้วการไปรายงานตัว คือเซ็นชื่อและถูกปล่อยตัวออกมา แต่วันนั้นเขาให้หนูไปอยู่ในคุกทั้งวัน หนูไม่ได้กินข้าว ไม่ได้กินน้ำ เข้าไปตอนแปดโมงเช้าได้ออกมาอีกทีคือห้าโมงเย็น นี่คือเหตุการณ์ที่ทำให้หนูตัดสินใจแล้วว่าจะไม่อยู่และเลือกที่จะเดินทางออกจากไทย เอาเงินก้อนสุดท้ายที่เหลืออยู่หาซื้อตั๋วเครื่องบินแล้วบินออกมาเลย”

ทำไมเลือกลี้ภัย แทนที่จะสู้คดีในไทย

พรพิมลกล่าวว่าเธอหมดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมและไม่เหลือความไว้เนื้อเชื่อใจในเรื่องความปลอดภัย รวมถึงมองไม่เห็นโอกาสที่จะกลับไปใช้ชีวิตเป็นปกติเหมือนเดิมในประเทศไทย การลี้ภัยไปยังประเทศอื่นจึงเป็นทางออกที่เธอเชื่อว่าจะช่วยให้เธอได้เยียวยาบาดแผลในใจและเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง

“สู้ไปก็ไม่ชนะ มีจุดจบเดียวคือถูกขัง เพราะเราเข้าไปอยู่ในกระบวนการของเขาแล้ว เขาเป็นคนสร้างกฎขึ้นมา เราเป็นผู้ถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียว ไม่ว่าจะขยับตรงไหนก็ต้องรอเขาอนุญาต มันให้ความรู้สึกว่าสู้คดีในไทย สู้ไปยังไงก็แพ้ เห็นมากี่คน ๆ แล้ว เขาสู้ยากมาก ๆ ขนาดเขามีสปอตไลต์ส่อง ท้ายที่สุดเขาก็ตาย หนูคิดว่าสักวันหนึ่งมันก็คงบีบให้หนูฆ่าตัวตายอยู่ดี”

ความยากลำบากในการเดินทาง

การเดินทางเพื่อไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ของพรพิมลท้าทายมากและเกือบจะล้มเหลว เพราะหนังสือเดินทางของเธอไม่ปรากฎข้อมูลจากการบอกกล่าวของเจ้าหน้าที่สนามบิน การเฝ้าติดตามจากบุคคลไม่ทราบสังกัดตลอดเวลาที่เธออยู่ในสนามบิน ความทุลักทุเลของการเดินทางข้ามจังหวัด รวมถึง การต้องปฏิบัติตามมาตรการโควิดและข้อจำกัดในการเดินทางข้ามประเทศ แต่ในที่สุดพรพิมลก็สามารถเดินทางออกมาได้

“หนูพยายามออกมาสองครั้ง ครั้งแรกไม่ผ่านเพราะเจ้าหน้าที่ไม่พบข้อมูลในระบบฐานข้อมูลพาสปอร์ต เจ้าหน้าที่ตรวจสอบอยู่นานมากจนทำให้ตกเครื่อง นอกจากนี้ยังมีคนใส่ชุด PPE เดินตามถ่ายภาพหนูตลอดเวลาที่อยู่ในสนามบิน ไม่ว่าจะไปไหน อยู่จุดไหนเขาก็เดินตามถ่ายภาพและพิมพ์ข้อความส่งไปให้ใครก็ไม่ทราบ ครั้งที่สองผ่านมาได้ยังไงหนูก็ไม่ค่อยแน่ใจ แต่จำได้แม่นว่าเป็นช่วงเวลาที่กดดันที่สุดในชีวิต ช่วงรอสแกนนิ้วมือและเช็คพาสปอร์ตของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง หนูอยู่ไม่เป็นสุขเลย พอเขาถ่ายรูปพาสปอร์ตเสร็จแล้วอนุญาตให้หนูไปได้ ตอนนั้นวิ่งอย่างเดียวเลย วิ่งเลย หนูดีใจที่ได้ชีวิตใหม่ แล้วพอมาถึงประเทศปลายทางแล้วคือเหมือนได้เกิดใหม่ เหมือนพ้นจากขุมนรกมาแล้ว น้ำตาไหลเลย หลังจากนั้นก็วิ่งไปหาตำรวจแล้วบอกเขาว่าฉันต้องการจะลี้ภัย”

การเริ่มต้นชีวิตใหม่

พรพิมลยื่นเรื่องขอลี้ภัยทันทีเมื่อเดินทางมาถึงประเทศปลายทาง แม้ว่าขณะนี้เรื่องของเธอยังคงอยู่ในขั้นตอนระหว่างพิจารณาการให้สถานะ แต่เธอก็ได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดี ทำให้เธอพร้อมที่จะเริ่มวางแผนชีวิตใหม่ในต่างแดน

“ชีวิตที่มาเริ่มต้นใหม่ตรงนี้ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนนิดหน่อย แต่หนูคิดว่ามันดีกว่าประเทศไทยมาก เพราะถ้ายังอยู่ที่ไทย หนูก็ยังต้องจ่ายภาษีให้เขาไปเรื่อย ๆ หนูคงไม่ได้รับสวัสดิการที่ดีเมื่อเทียบกับที่นี่ มาถึงปุ๊บหนูได้ฉีดวัคซีนโควิดทันที ทั้งที่คนไทยหลาย ๆ คนยังไม่ได้ฉีดเลย ส่วนตัวหนูคิดว่าการปรับตัวอยู่ที่ต่างประเทศทำได้ง่ายกว่าอยู่ที่ไทย เพราะเราไม่ต้องไปแก่งแย่งชิงดีกับใคร รัฐไทยชอบบีบบังคับให้ประชาชนใช้สวัสดิการแบบแก่งแย่ง แต่ในประเทศที่หนูอยู่ ประชาชนเขาได้รับสวัสดิการอย่างทั่วถึงทุกคน”

“หนูคิดว่าเมื่อได้สถานะแล้วจะเรียนภาษาต่อไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะเอาภาษาไปใช้ทำงาน แล้วยื่นเรียนปริญญาตรี เพราะความฝันจริง ๆ แล้ว หนูอยากเป็นหมอ หนูจะลองดูว่ามันจะสำเร็จไหม”

ยังมีความหวังว่าจะได้กลับไทยไหม?

“ในตอนนี้ที่กำลังจะได้เริ่มชีวิตใหม่ หนูไม่คิดหวังว่าจะได้กลับไทย และหนูก็ไม่อยากกลับไทยเลย มีสิ่งเดียวที่ไทยที่หนูคิดถึงมากๆ คือ ครอบครัวของหนู ถ้ามีหน้าที่การงานที่มั่นคง หนูอยากเอาเขามาอยู่ด้วย หนูรู้สึกโดดเดี่ยวตั้งแต่เล็กจนโต การออกมาอยู่แบบนี้มันไม่ใช่ความรู้สึกใหม่ หนูชิน หนูย้ายออกจากบ้านมาอยู่หอพักตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่ 4 แล้วพอจบม.6 ก็ย้ายมาอยู่เชียงใหม่ ส่วนจะให้กลับไปไทย หนูไม่อยาก หนูกลัว มันไม่ไหวแล้ว ประเทศไทยเป็นภัยต่อจิตใจหนูมากเลยค่ะ”

สิ่งที่อยากบอกกับกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตย

“หนูอยากขอบคุณพวกเขา ขอบคุณที่ออกมาเรียกร้องสิทธิ์ และขอบคุณที่ให้ชีวิตใหม่แก่หนู เพราะถ้าไม่มีพวกเขามาช่วยกันทำข่าวและกดดัน หรือดันแท็กในทวิตเตอร์ หรือไม่มีการเคลื่อนไหวของพวกเขา หนูคงไม่สามารถออกมาแบบนี้ได้ อย่าเพิ่งท้อค่ะ เพราะหนูเชื่อว่าในท้ายที่สุดแล้วเราจะได้ประชาธิปไตยมา”

ความคิดเห็นที่พรพิมลมีต่อกฎหมายมาตรา 112

“กฎหมายส้นตีน กฎหมายนี้ไม่ควรมีอยู่ ควรจะเอาออกไปได้แล้ว ไม่ว่าใครก็ตามไม่สมควรที่จะโดนเล่นงานด้วยกฎหมายมาตรา 112 มันไม่เป็นธรรม มันเป็นเสมือนเดธ โน้ต (Death Note : สมุดบันทึกจาก มังงะชื่อเดียวกัน ผู้ที่ถูกเขียนชื่อลงในสมุดบันทึกเล่มนี้จะเสียชีวิตตามที่เจ้าของเดธโน้ตเขียนรายละเอียดไว้)” พรพิมล กล่าว

ประภากรณ์ ลิพเพิร์ท ผู้ช่วยนักวิจัยสาขานโยบายการพัฒนา มหาวิทยาลัยพัสเซา ประเทศเยอรมนีกล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงานกลางเพื่อการย้ายถิ่นและผู้ลี้ภัยของประเทศเยอรมนีในระหว่างปี 2557-2564 ระบุว่ามีคนไทยขอลี้ภัยในประเทศเยอรมนีรวมแล้วกว่า 60 คน และตัวเลขผู้ขอลี้ภัยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจในช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยในปี 2563 ปีเดียว มีผู้ขอลี้ภัยมากถึง 17 คน และ จนถึงเดือนกันยายนในปี 2564 นี้ มีผู้มาขอลี้ภัยแล้วถึง 11 คน อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนจะได้รับสถานะเป็นผู้ลี้ภัย เพราะคำร้องขอลี้ภัยแทบทั้งหมดถูกปฏิเสธตลอดช่วง 7 ปีที่ผ่านมา มีเพียงผู้ขอลี้ภัย 5-6 คนเท่านั้นที่ได้รับการคุ้มครองและมีโอกาสได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ในประเทศเยอรมนี

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผยว่า จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,458 คน จากทั้งหมด 794 คดี  และจากผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด มีกลุ่มเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 223 ราย

ส่วนในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 145 คน จาก 145 คดี

พรพิมลนับเป็นผู้ถูกคุมขังระหว่างการต่อสู้คดีการเมืองรายที่ 20 โดยเป็นคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 รายที่ 13

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net