Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผยศาลขอนแก่นยกคำร้องขอเพิ่มเงื่อนไขประกัน 'ทิวากร' จำเลยคดี ม.112 ชี้ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี จึงไม่มีเหตุกําหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม 


ทิวากร วิถีตน | แฟ้มภาพ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2564 ว่าศาลจังหวัดขอนแก่นนัดคุ้มครองสิทธิและตรวจพยานหลักฐาน คดีที่พนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่นเป็นโจทก์ฟ้องทิวากร วิถีตน เกษตรกรชาวขอนแก่น ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีโพสต์รูปตนเองใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” รวมทั้งโพสต์ 2 ข้อความ เรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์ยุติการใช้มาตรา 112 และปล่อย 4 แกนนำราษฎร เมื่อ ก.พ. 2564

14.00 น. ศาลออกพิจารณาคดีที่ห้องคุ้มครองสิทธิฯ เริ่มด้วยการอธิบายสิทธิของจำเลยในคดีอาญาในการให้การและต่อสู้คดี รวมถึงโทษในคดีนี้ จากนั้นได้อ่านคำฟ้องของโจทก์ให้ทิวากรฟังโดยละเอียด ก่อนถามคำให้การและแนวทางต่อสู้คดีในเบื้องต้น ทิวากรให้การปฏิเสธ โดยรับว่าเป็นผู้โพสต์รูปและข้อความดังกล่าวจริง แต่มองว่าไม่ได้เข้าองค์ประกอบความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ศาลนัดพร้อมครั้งต่อไปเพื่อตรวจพยานหลักฐานในคดีในวันที่ 22 พ.ย. 2564 เวลา 09.00 น.

ต่อมา อัยการได้แถลงว่า โจทก์ได้ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2564 ขอให้ศาลเพิ่มเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวจำเลย ตามที่พนักงานสอบสวนในคดีมีหนังสือขอมา และศาลได้นัดไต่สวนคำร้องดังกล่าวเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2564 แต่ได้เลื่อนไต่สวนเนื่องจากทนายจำเลยติดว่าความในคดีอื่น จากนั้นได้เลื่อนอีกเนื่องจากสถานการณ์โควิด และศาลยังไม่ได้กำหนดวัดใหม่ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้สอบถามความคืบหน้ากรณีดังกล่าวมา 

ศาลเห็นว่า โจทก์ จำเลย และทนายจำเลยอยู่พร้อมหน้ากันแล้ว จึงได้ไต่สวนคำร้องดังกล่าวในนัดนี้เลย โดยได้สอบถามโจทก์ถึงเหตุในการขอให้เพิ่มเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย 

โจทก์แถลงว่า หลังจากศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจําเลยแล้ว โจทก์ได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวน สภ.ท่าพระว่า จําเลยยังคงมีพฤติกรรมกระทําการที่ก่อความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กว่า “ระบบกษัตริย์-ศักดินาของไทยเป็นระบอบที่ชั่วร้าย ที่เป็นอันตราย และทําลายความเป็นมนุษย์ จําต้องปฏิรูป” รวมทั้งข้อความว่า “จําเลยขอเปิดอกคุยกับรัชกาลที่ 10 และพระเทพฯ เกี่ยวกับการอภิวัฒน์ประเทศไทยไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” 

พนักงานสอบสวนจึงขอให้โจทก์ขอต่อศาลเพิ่มเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวของจําเลย โดยเพิ่มเงื่อนไขว่า ให้จําเลยงดเว้นการกระทําใด ๆ ที่ทําให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ อันเป็นการกระทําในลักษณะเดียวกันกับที่จําเลยถูกฟ้องเป็นคดีนี้ 

ด้านทิวากรแถลงว่า ได้โพสต์ข้อความตามคําร้องของโจทก์จริง แต่จําเลยแสดงความเห็นตามวิถีทางที่ถูกต้อง และเป็นเจตนาดีต่อสังคมและประเทศชาติ ต้องการสร้างพื้นที่การพูดคุยระหว่างคนที่เห็นต่าง ไม่ต้องการให้สังคมเกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย

ทนายจำเลยแถลงเพิ่มเติมว่า จดหมายของจำเลยที่มีถึงรัชกาลที่ 10 ตามคำร้องของโจทก์ ก็เป็นเช่นเดียวกับการถวายฎีกา ซึ่งอยู่ในวิสัยที่ประชาชนทั่วไปจะกระทำได้

ภายหลังเสร็จการไต่สวน ศาลมีคำสั่งยกคําร้องของโจทก์ ระบุว่า พิจารณาแล้วเห็นว่า หลังจากที่ศาลได้ไต่สวนโดยสอบถามโจทก์และจําเลยแล้ว จําเลยยอมรับว่าได้โพสต์ข้อความตามคําร้องของโจทก์จริง แต่จําเลยไม่มีเจตนาที่จะทําให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ และข้อความที่จําเลยโพสต์เป็นถ้อยคําที่สุภาพ ไม่ได้ส่อเจตนาไปในทางทําให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสีย จึงเห็นว่า ศาลมีคําสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจําเลย โดยที่จําเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี จึงไม่มีเหตุที่จะกําหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมให้จําเลย แต่อย่างไรก็ดี ศาลได้ว่ากล่าว ตักเตือน ให้คําแนะนําจําเลยตามสมควร ถึงการกระทําที่อาจตีความไปในทางที่หมิ่นเหม่ต่อการกระทําความผิดขึ้นอีก 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net