Skip to main content
sharethis

ยิ่งชีพ (เป๋า) อัชฌานนท์, อรรถพล (ครูใหญ่) บัวพัฒน์ และวาดดาว จากเฟมินิสต์ปลดแอก ผู้ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฟ้องเพิกถอนข้อกำหนดห้ามชุมนุม พร้อมเรียกค่าเสียหายจาก 'ประยุทธ์-เฉลิมพล' ฐานละเมิดเสรีภาพ รวม 4.5 ล้านบาท

ภาพโดย Chana La
 

5 ต.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (5 ต.ค. 2564) เวลาประมาณ 10.00 น. ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์, ชุมาพร แต่งเกลี้ยง หรือวาดดาว จากกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก และอรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ พร้อมทนายความจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เดินทางไปที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนข้อกำหนดและประกาศห้ามชุมนุมภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพราะการออกข้อกำหนดและประกาศดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยไม่ได้สัดส่วน พร้อมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชำระสินไหมรวม 1,500,000 บาทให้โจทก์แต่ละคน ฐานกระทำการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของโจทก์และทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง รวมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ระงับใช้ข้อกำหนดและประกาศดังกล่าวไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด

ยิ่งชีพ ชุมาพร และอรรถพล ซึ่งเป็นโจทก์ยื่นฟ้องในคดีนี้เคยถูกดำเนินคดีข้อหาร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 15 ห้ามชุมนุมมั่วสุมในสถานที่แออัดหรือกระทำการอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยจากการร่วมปราศรัยในการชุมนุมของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 นอกจากนี้ ทั้ง 3 คนยังถูกดำเนินคดีฐานละเมิดประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงฉบับที่ 3 ข้อ 2, 3 และ 4 รวมถึงประกาศฉบับที่ 5 และฉบับที่ 11 จากการร่วมปราศรัยในเวทีเดียวกัน

ในวันนี้ ทั้ง 3 คนเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลย 6 คน ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จำเลยที่หนึ่ง ในฐานะผู้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและออกข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งจำกัดสิทธิเสรีภาพของโจทก์ทั้งสาม, พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.สส. จำเลยที่สอง ในฐานะผู้ออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง, สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นจำเลยที่สาม, กองบัญชาการกองทัพไทยเป็นจำเลยที่สี่ กระทรวงการคลังเป็นจำเลยที่ห้า และสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นจำเลยที่หก

ในการยื่นขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกาศและข้อกำหนดครั้งนี้ โจทก์ทั้งสามยังขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวด้วย ซึ่งหากศาลมีคำสั่งตามคำร้องของโจทก์ทั้งสามจะส่งผลให้ข้อกำหนดและประกาศที่เป็นปัญหาถูกระงับใช้ไปจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาออกมา โดยคดีนี้เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ.4639/2564 ซึ่งศาลมีคำสั่งนัดชี้สองสถานในวันที่ 31 ม.ค. 2565 เวลา 09.00 น. ณ ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก

ชุมาพร แต่งเกลี้ยง หรือวาดดาว จากกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก (ภาพโดย Chana La)
 

สำหรับคำฟ้องที่โจทก์ทั้ง 3 ยื่นฟ้องต่อศาล ระบุว่า การรวมตัวและใช้เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนหลายกลุ่มที่เกิดขึ้นในปี 2563 ถือเป็นการใช้เสรีภาพในกำรแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งรำชอาณาจักรไทยและตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) หรือ ICCPR ที่ประเทศไทยเป็นภาคี

แม้ตามรัฐธรรมนูญ รัฐจะสามารถจำกัดเสรีภาพบางประการของประชาชนได้ แต่ก็เฉพาะในกรณีที่มีสถานการณ์ที่เป็นสภาวะวิกฤติหรือสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที แต่ก็มิได้หมายควำมว่าระบบกฎหมายจะอนุญาตให้รัฐประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ตามชอบใจ แต่จะต้องอยู่ภายใต้หลักความได้สัดส่วน ทั้งในในระบบกฎหมายไทยและระบบกฎหมายที่เป็นสากล และมาตรการจำกัดสิทธิเสรีภาพก็จะต้องบังคับใช้เท่าที่จำเป็นต่อการควบคุมภัยคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยของชาติเท่านั้น และต้องไม่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินจำเป็น

ที่ผ่านมาไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่าการชุมนุมของประชาชนกลุ่มใดรวมทั้งการชุมนุมของโจทก์ทั้งสามเป็นเหตุแห่งการระบาดของเชื้อกลุ่มก้อนใหม่ เพราะการชุมนุมส่วนใหญ่ดำเนินการในพื้นที่โล่งแจ้งทั้งเป็นการรวมตัวในระยะเวลาสั้นๆ ทั้งสถานการณ์แพร่ระบาดในปัจจุบันก็อยู่ในวิสัยที่สามารถบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อป้องกันและควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว

อรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ (ภาพโดย Chana La)
 

การบังคับใช้ข้อกำหนดและประกาศของจำเลยที่หนึ่งและสอง จึงเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ชอบ เพื่อให้ตนมีอำนาจจำกัดสิทธิเสรีภาพของโจทก์ทั้งสามและของผู้ชุมนุม เพราะจำเลยที่หนึ่งและสองไม่ต้องกำรให้มีการชุมนุมของประชาชนอีกต่อไปเพื่อรักษาสถานะความเป็นรัฐบาลที่เป็นอยู่ของตนเอาไว้และไม่ประสงค์ให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของรัฐบาลจำเลยที่หนึ่งเท่านั้น

จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนข้อกำหนด และประกาศของจำเลยที่หนึ่งและสอง รวมทั้งขอให้ต้นสังกัดของจำเลยที่หนึ่งและสองชำระค่าสินไหมแก่โจทก์ทั้งสามเป็นเงินคนละ 500,000 บาท เพื่อชดเชยความเสียหายอันเกิดแก่สิทธิเสรีภาพของโจทก์ทั้งสามอันเกิดจากการบังคับใช้ข้อกำหนดและประกาศของจำเลยทั้งสอง คือ พล.อ.ประยุทธ์ จำเลยที่หนึ่ง และพล.อ.เฉลิมพล จำเลยที่สอง หากไม่ปรากฎต้นสังกัดของจำเลยที่สองให้กระทรวงการคลัง หรือจำเลยที่ห้า เป็นผู้ชำระสินไหม

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ หรือเป๋า ไอลอว์ (ภาพโดย Chana La)
 

เมื่อการกระทำของโจทก์ทั้งสามจากการร่วมการชุมนุมและปราศรัยเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 ไม่เป็นความผิดตามข้อกำหนดและประกาศข้างต้น การที่พนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี ดำเนินคดีกับโจทก์ทั้งสามจึงเป็นการใช้ดุลยพินิจที่ไม่ชอบ นอกจากนั้นยังปรากฎว่าเจ้าพนักงานสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือจำเลยที่หกได้บังคับใช้ข้อกำหนดและประกาศข้างต้นมาดำเนินคดีกับผู้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมเรื่อยมา เป็นการสร้างความหวาดกลัวต่อการใช้เสรีภาพในอนาคต การกระทำข้างต้นเป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของโจทก์ทั้งสามอย่างร้ายแรงจึงให้จำเลยที่หกชำระสินไหมต่อโจทก์ทั้งสามคนละ 500,000 บาท และการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี ต่อโจทก์ทั้งสาม ทั้งการพิมพ์ลายนิ้วมือ รวมถึงการขึ้นทะเบียนประวัติอาชญากรรมแก่โจทก์ทั้งสาม ยังส่งผลให้โจทก์ทั้งสามเสียชื่อเสียง จึงให้จำเลยที่สามถึงที่ห้า ในฐานะต้นสังกัดของจำเลยที่หนึ่งและที่สอง ในฐานะผู้ออกข้อกำหนดและประกาศ และจำเลยที่หกในฐานะต้นสังกัดของพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี ชำระสินไหมการละเมิดต่อชื่อเสียงและเกียรติยศของโจทก์ทั้งสามคนละ 500,000 บาท

ทั้งนี้ นับจากเดือน พ.ค. 2563 จนถึงสิ้นเดือน ก.ย. 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการร่วมชุมนุมแล้วอย่างน้อย 1,171 คน จาก 483 คดี เฉพาะในกรุงเทพมหานครมีการดำเนินคดีผู้ชุมนุมอย่างน้อย 406 คดี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net