Skip to main content
sharethis

“สภาผู้ชมฯ ภาคใต้ไทยพีบีเอส” ตั้งเวทีรับฟังความเห็นบทบาทท้องถิ่นต่อการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล นักวิชาการชี้ต้องแก้ด้วยอิงธรรมชาติแบบชั่วคราว ไม่ใช่ทุ่มงบถมคอนกรีตให้ปัญหาลุกลามแบบชั่วโคตร จี้เอามาตรการบังคับทำ EIA คืนมา เผยวงเสวนาได้ข้อสรุปชัดว่านำ พ.ร.บ.ป้องกันสาธารณภัยมาใช้แก้ปัญหาได้

 

 

10 ก.ย.2564 เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่ผ่านมา สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการภาคใต้ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อพัฒนารายการ ครั้งที่ 4/2564 เรื่อง “บทบาทท้องถิ่นต่อการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้วยข้อกำหนดและ พ.ร.บ.ป้องกันสาธารณภัย” โดยช่วงเช้าเน้นให้วิทยากรนำเสนอปัญหาพร้อมแลกเปลี่ยนและตอบข้อซักถามจากผู้เข้าร่วม ส่วนภาคบ่ายเน้นแลกเปลี่ยนวามคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอจากผู้เข้าร่วม ซึ่งบางส่วนอยู่ในห้องประชุมลีลาวดี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี แต่เกือบทั้งหมดเข้าร่วมด้วยระบบประชุมออนไลน์ทาง Zoom Meeting

ผศ.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง ผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมชายฝั่ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง แถมยังเป็นไปในลักษณะยิ่งแก้ยิ่งพังว่า ภาคใต้มีปัญหาร่วมถึง 12 จังหวัดและมีความยาวชายฝั่งมากที่สุดในประเทศไทย ปัญหาที่ผ่านมาเราเลือกที่จะจัดการแต่กับพาะธรรมชาติ แต่เราไม่เคยคิดจัดการกับการกระทำของมนุษย์เลย โดยรัฐบาลทุ่มงบประมาณทำเขื่อนกันคลื่นกัดเซาะชายฝั่งระหว่างปี 2563-2564 จำนวน 1,300-1,500 ล้านบาท แล้วเราก็ต้องสร้างกำแพงกันคลื่นแบบนี้ไปเรื่อยๆ โดยที่แทบไม่เหลือสภาพชายหาดทะเลแบบเดิมๆ แล้วพื้นที่ที่สร้างจะไม่ถูกกัดเซาะอีก แต่พื้นที่ถัดไปจะถูกกัดเซาะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ผศ.สมปรารถนานำภาพรูปแบบการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ที่มักเน้นใช้คอนกรีตเสริมเหล็กมาให้ที่ประชุมชมพร้อมอธิบายว่า จากชายฝั่งที่เคยถูกกัดเซาะชั่วคราว เพราะผ่านไประยะเวลาหนึ่งธรรมชาติจะคืนกลับมาด้วยตัวเอง แต่ต่อไปจะเป็นการกัดเซาะชายฝั่งแบบชั่วโคตร ซึ่งธรรมชาติไม่มีวันที่จะกลับมาเหมือนเดิมได้ เพราะเราได้เอาคอนกรีตไปถมไว้หมดแล้ว ยิ่งต่อจากนี้ไปยิ่งมีแต่จะน่ากลัวขึ้นเรื่อยๆ เพราะรัฐบาลชุดที่เพิ่งผ่านมาได้ถอดการสร้างกำแพงกันคลื่นออกไปจากโครงการที่จะต้องจัดทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ไปแล้วด้วย

“ในวิกฤตด้านสาธารณสุขตอนนี้ประเทศไทยเรากำลังเผชิญกับโรคระบาดร้ายแรงคือ เชื้อไว้รัสโควิด-19 แต่ในเรื่องของวิกฤตธรรมชาติเวลานี้ประเทศไทยเรากำลังเผชิญกับเชื้อโรคร้ายลักษณะเดียวกันคือ โรคสร้างกำแพงคอนกรีตป้องกันกัดเซาะชายฝั่งทะเล เรื่องนี้สังคมไทยเราต้องช่วยกันคิด” ผศ.สมปรารถนากล่าวและว่า แนวทางแก้ไขไม่ให้เกิดปัญหาแบบชั่วโคตรคือ ใช้วิธีที่อิงกับธรรมชาติในการแก้ปัญหา เช่น แทนที่จะใช้กำแพงคอนกรีตกันคลื่นด้วยงบประมาณหลายร้อยล้านบาท แต่หันมาใช้การปักไม้ วางกระสอบทรายขนาดเล็กหรืออะไรที่เป็นสิ่งของเล็กๆ แล้วถอนออกได้มาแทน ซึ่งงบประมาณที่ใช้ก็น้อยกว่าแบบเทียบกันไม่ได้ และควรออกมาเป็นข้อบัญญัติท้องถิ่นหรือกฎหมายเลย หยุดส่งต่อความฉิบหายของชายหาดต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ประวีณ จุลภักดี อาจารย์พิเศษคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี นักวิชาการที่ร่วมแก้ปัญหากับชุมชนมาตลอดให้ความเห็นว่า การที่เอาโครงการสร้างกำแพงกันคลื่นกัดเซาะชายฝั่งทะเลออกไปจากบังคับให้ต้องทำการศึกษา EIA ก่อน ถือว่ารัฐบาลได้สร้างบาปให้กับบ้านเมืองมหาศาล จึงควรต้องกลับเข้าสู่ระบบเดิมคือบังคับให้ทำ EIA ก่อน นอกจากนี้แล้วกระบวนการรับฟังความคิดเห็นไม่ควรที่จะสร้างความขัดแย้งในชุมชนเพิ่มขึ้นไปอีก โดยเอาชาวบ้านที่ขัดแย้งมาเผชิญหน้ากัน เรื่องนี้ผู้เกี่ยวข้องต้องหาทางแก้ปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นอีก

ไมตรี จงไกรจักร์ อนุกรรมการบูรณาการด้านการจัดการการกัดเซาะชายฝั่งทะเลของรัฐสภา กล่าวในระหว่างร่วมเสวนาถึงเวลาข้อกำหนดท้องถิ่นและ พ.ร.บ.ป้องกันสาธารณภัย กับการจัดการการกัดเซาะชายฝั่งทะเลแบบบูรณาการว่า ที่ จ.พังงาบ้านผมอยู่มาตลอดชีวิตไม่เคยมีปัญหาเรื้อยรัง แต่พอสร้างกำแพงกันคลื่นที่แรกกลายเป็นปัญหาใหญ่ลุกลามเลย การแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งใช้กฎหมายป้องกันภัยพิบัติได้ โดยให้ผู้ว่าฯ ประกาศเขตภัยพิบัติแล้วใช้งบได้ไม่เกิน 10 ล้านบาท แล้วมอบให้ท้องถิ่นหรือชุมชนเข้าไปแก้ปัญหาแบบชั่วคราว โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นก็ดี ไม่ใช่รัฐบาลทุ่มงบถมคอนกรีตสร้างปัญหาแบบชั่วโคตรดังกล่าว

“เวลานี้กระบวนการให้ความรู้ชาวบ้านและให้มีส่วนร่วมน้อยเกินไป ใช้เงินงบประมาณในเรื่องนี้ปีละหลายล้านบาทมาก แต่ไม่ได้ผลเลย สักแต่ว่าให้ชาวบ้านรีบพูดๆ แล้วรับยกมือสนับสนุนสร้างกำแพงกันคลื่นกัน” ไมตรีกล่าว

ศุภราพร จักรมานนท์ ผู้ตรวจราชการกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า พ.ร.บ.ป้องกันภัยพิบัติปี 2550 สรุปคือครอบคลุมภัยทุกประเภทที่กระทบประชาชน สิ่งนี้เชื่อมไปถึงบริบทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เลย วันนี้ถึงเวลาหรือยังที่เราต้องมองการแก้ปัญหาให้ถูกต้อง ขอลงลึกในมาตรา 16 เลยว่าเราสามารถวางแผนการแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ สามารถเชื่อมโยงแผนปฏิรูปประเทศหรือแผนชาติได้ ทำความเข้าใจให้ชัด แล้วประเมินจัดอันกับเป็นแผนปฏิบัติการให้รับกับแผนชาติปี 2564-2570 แล้วดูว่าทำอย่างไรที่จะช่วยฟื้นฟูเพื่อสร้าง ซ่อมแซม และให้ท้องถิ่นและประชาชนมีส่วนร่วมได้

ศุภราพรกล่าวด้วยว่า ตอนนี้รัฐบาลมีทั้งงบกลางและงบประจำมากมาย คือโจทย์สำคัญว่าเราต้องมีการลำดับการแก้ปัญหาให้ไปสู่การปฏิบัติได้ด้วย โดยต้องมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ มีการของบประจำปี หรือท้องถิ่นวางแผนใช้งบประจำปีได้ก่อนที่จะของบกลาง เรื่องนี้หน่วยงานกลางก็ต้องพยายามทำความเข้าใจด้วยว่าแต่ละท้องถิ่นมีความจำเป็นอย่างไร ต้องจัดลำดับความสำคัญให้เหมาะสม ในแง่ปฏิบัติชัดเจนมากว่า พ.ร.บ.ป้องกันสาธารณภัยใช้แก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งทะเลได้ แต่อยากให้มองการแก้ปัญหาระยะยาวที่เป็นระบบ

พรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า กรมเรามีบทบาทป้องกันและแก้ไขเรื่องนี้ด้วย ปัญหากัดเซาะชายฝั่งมีหลายมิติและหลายประเด็นว่าเกิดจากอะไรบ้าง การก่อสร้างโครงสร้างป้องกันทำให้ไม่เกิดการหมุ่มเวียนของตะกอน และโครงสร้างแข็งทำให้เกิดการกัดเซาะเพิ่ม หรือสภาวะอากาศต่างๆ เรื่องการบังคับทำ EIA ตอนนี้เราพยายามผลักดันข้อบังคับให้มีการประกาศใช้มาตรการว่าในลักษณะเดียวกันกับการที่ต้องทำการศึกษา EIA แต่ใช้กฎหมายคนละตัวกัน ซึ่งก็จะเหมือนกับให้การศึกษาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมกลับมามีผล ส่วนผลจะออกมาอย่างไรก็ต้องรอดูกัน

“เห็นด้วยกับการใช้โครงสร้างอ่อนแก้ปัญหา กำแพงกันคลื่นควรจะเป็นทางออกสุดท้าย เรื่องการกัดเซาะชายฝั่งก็ต้องดูว่าเป็นเรื่องชั่วคราวหรือถาวร ถ้าชั่วคราวก็ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมถูกต้องแล้ว ส่วนงานอื่นๆ ของกรมเราก็หนุนช่วยเรื่องการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้วย ไม่ว่าจะเรื่องการเพิ่มการปลูกป่าชายเลน เป็นต้น อีกส่วนหนึ่งเราก็พยายามให้ความรู้แก่ภาคประชาชนได้มากที่สุดอยู่แล้ว แล้วก็มีการร่วมกับหลายๆ มหาวิทยาลัยด้วย ดีใจที่ภาคประชาชนให้ความสนใจเรื่องนี้” พรศรีกล่าว

ประทีป จันทบูร นายกเทศมนตรีเมืองม่วงงาม อ.สิงหนคร จ.สงขลา หนึ่งในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยที่กำลังเกิดปัญหาการกัดเซาะอย่างหนักกล่าวว่า ชายหาดม่วงงามเคยอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นิยม แต่ต่อมาช่วงมรสุมหนึ่งมีการกัดเซาะชายหาดมากหน่วย ซึ่งก็ไม่มากมายอะไรเลย แต่รัฐบาลกลับได้มาสร้างกำแพงกันคลื่น ซึ่งเวลานี้ชาวบ้านส่วนใหญ่ต่างก็ไม่เห็นด้วย เพราะกระทบวิถีชีวิตและการทำมาหากิน เราเห็นว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะต้องมาสร้างกำแพงกันคลื่อนของกรมโยธาธิการและผังเมือง เราเห็นด้วยว่าควรให้ท้องถิ่นและชาวบ้านช่วยกันแก้ปัญหากันก่อน

“ที่ผ่านมาเราก็ปักไม่ไผ่ ไม่สน หรือวางกระสอบทรายขนาดเล็ก ซึ่งก็สามารถก็แก้ปัญหากันมาได้ตลอด เวลามีปัญหาชาวบ้านก็มาขอเทศบาลให้ช่วย เราก็ช่วยกันแก้ปัญหา ที่ผ่านมาๆ เราก็ประสานงานกับท้องถิ่นอื่นๆ หนุนช่วยแก้ปัญหากันด้วย สำหรับปัญหาเรื่องกำแพงกันคลื่นที่กำลังสร้างบนชายหาดของเรา ตอนนี้เราได้ฟ้องไปที่ศาลปกครองแล้วด้วย ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าเราจะสามารถรักษาชายหาดของเราไว้ให้ลูกหลานได้หรือไม่” ประทีปกล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net