Skip to main content
sharethis

ตั้งแคมเปญล่ารายชื่อค้านมติถอด ‘สุชาติ สวัสดิ์ศรี' พ้นศิลปินแห่งชาติ ชี้ข้อกล่าวหาหมิ่นเหม่ต่อสถาบันกษัตริย์เป็นข้อกล่าวหาที่มีผลกระทบรุนแรง จำเป็นต้องแสดงพยานหลักฐานให้ประจักษ์ชัด ย้ำ กก.วัฒนธรรม ควรติดตามทำความเข้าใจสภาพสังคมอย่างเท่าทันการวิวัฒน์ของวัฒนธรรม 

6 ก.ย.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ได้รับหนังสือแจ้งการยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ล่าสุด ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ผู้ก่อตั้ง Documentary Club สร้างแคมเปญรณรงค์นี้ร้องเรียน กรมส่งเสริมวัฒนธรรมและคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ผ่านเว็บไซต์ change.org โดยมีการแพร่แถลงการณ์ ซึ่งมีบุคคลในวงการหนังสือ และนักวิชาการร่วมลงนามแนบท้าย 102 ราย พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนร่วมลงนามด้วย

โดยแคมเปญระบุว่า ตามที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมมีหนังสือเลขที่ วธ 0503.5/3105 แจ้งไปยัง สุชาติ สวัสดิ์ศรี อ้างถึงมติคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2564 วันพฤหัสบดีที่ 19 ส.ค.2564 ให้ยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติ สุชาติ ด้วยคะแนนเสียงมากกว่าสองในสามของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติมติคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ อ้างเหตุผลการยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ ระบุว่า สุชาติ มีพฤติกรรมเสื่อมเสียโดยการแสดงความเห็นที่เป็นประเด็นขัดแย้งในสังคม มีถ้อยคำหรือภาพที่หมิ่นเหม่ต่อสถาบันผ่านสื่อเฟซบุ๊ก

มติดังกล่าว ก่อให้เกิดปัญหาข้อสงสัยหลายประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ อาทิ

1. ข้อกล่าวหาหมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นข้อกล่าวหาที่มีผลกระทบรุนแรง จำเป็นต้องแสดงพยานหลักฐานให้ประจักษ์ชัด ไม่สมควรกล่าวหาอย่างเลื่อนลอยปราศจากหลักฐานอ้างอิง ทั้งนี้ประเด็นสำคัญคือ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติมิใช่ผู้มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยว่าผู้ใดหมิ่นหรือไม่หมิ่นสถาบัน เนื่องจากบทบาทดังกล่าวเป็นหน้าที่ขององค์กรตุลาการ มติคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรตินายสุชาติ สวัสดิ์ศรี โดยใช้เหตุผลนี้ จึงเป็นการวินิจฉัยเกินเลยบทบาทหน้าที่

2. หากวัฒนธรรมคือสิ่งที่วิวัฒน์ไปตามความเคลื่อนไหวแปรเปลี่ยนทางสังคม บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจึงควรติดตามทำความเข้าใจสภาพสังคมอย่างเท่าทัน และมีขีดความสามารถในการจำแนกแยกแยะได้ว่า พฤติกรรมใดเป็นการปิดหูปิดตาประจบสอพลอ พฤติกรรมใดเป็นข้อเสนอโดยปรารถนาให้สถาบันกษัตริย์อยู่ร่วมกับสังคมที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารเฉกเช่นปัจจุบัน

3. หากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ถึงพร้อมด้วยสติปัญญาและดุลพินิจ สมควรเข้าใจได้ไม่ยากว่าการดึงสถาบันมาใช้เป็นข้อกล่าวหานั้น นอกจากจะรังแต่สร้างความมัวหมองให้แก่สถาบันแล้ว ในขณะเดียวกันยิ่งเป็นแรงเสริมให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชน เนื่องจากเป็นที่รับรู้กันดีว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นเพียงเครื่องมือปิดปากผู้เห็นต่างทางความคิด ทั้งหมดนี้ยกเว้นว่าคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจะยอมรับว่า การตีสองหน้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย

4 หากใช้วิธีพิจารณาแบบเหมารวมรวบรัดเฉกเช่นพฤติกรรมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ การใช้กฎกระทรวงข้อ 10 ที่เพิ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 2563 เป็นเครื่องมือยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ ก็อาจตีความวินิจฉัยได้เช่นกันว่า นี่เป็นการแก้ไขกฎกระทรวงโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการกับบุคคลในสถานการณ์แตกต่างทางความคิด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net