Skip to main content
sharethis

พ่อค้าออนไลน์วัย 30 ปีถูกแจ้งข้อหา ม.112 หลังแชร์โพสต์ปมจัดหาวัคซีนและคำปราศรัย 'มายด์' ภัสราวลี จากเพจ KTUK – คนไทยยูเค และโพสต์ #ตั๋วช้าง ของรังสิมันต์ โรม ส.ส. ก้าวไกล

11 ส.ค. 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า จิรวัฒน์ (สงวนนามสกุล) อายุ 30 ปี อาชีพขายของออนไลน์ เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ สน.ยานนาวา เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าจิรวัฒน์แชร์โพสต์เฟซบุ๊กทั้งหมด 3 โพสต์ ได้แก่ โพสต์ของบุคคลทั่วไป 1 โพสต์ และโพสต์จากเพจ KTUK – คนไทยยูเค จำนวน 2 โพสต์ ซึ่งโพสต์ทั้งหมดนี้เข้าข่ายการกระทำความผิดตามกฎหมาย ม.112

ศูนย์ทนายฯ ระบุว่าจิรวัฒน์ได้รับหมายเรียกลงวันที่ 1 ก.ค. 2564 ให้เขาเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตาม ม.112 แต่เมื่อเดินทางมาที่ สน.ยานนาวา ตามมายเรียก จิรวัฒน์ได้ขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาออกมา หลังจากทราบว่าผู้กล่าวหา คือ ภัทรวรรณ ขำมา ซึ่งเขาระบุว่าเป็นญาติทางฝั่งฝ่ายหญิงที่คบหากับจิรวัฒน์ นอกจากนี้ ภัทรวรรณยังเป็นเลขาฯ ฝ่ายกฎหมายของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และทั้งคู่เคยมีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกันก่อนหน้านี้ จึงน่าตั้งข้อสังเกตว่าคดีนี้อาจเกิดจากการกลั่นแกล้ง เนื่องจากความไม่พอใจของอีกฝ่าย แต่ใช้ข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทกษัตริย์เป็นเครื่องมือ

อนึ่งเมื่อวันที่ 10 มี.ค.2566 กองบรรณาธิการข่าวประชาไทได้รับจดหมาย ระบุชื่อว่า "ภัทรวรรณ" เพื่อขอให้ลบข้อความที่ระบุในส่วนย่อหน้าข้างบนนี้ โดยระบุว่าเป็นข้อความอันเป็นเท็จและบิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับคดีความผิดตามมาตรา 112 ที่มีชื่อตน (ภัทรวรรณ) เป็นผู้กล่าวหา ซึ่งพยานหลักฐานในคดีนี้ได้มีการตรวจสอบโดยพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการแล้ว และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล จึงขอให้ดำเนินการลบข้อมูลดังกล่าวทันทีที่ได้รับจดหมายนี้

พ.ต.ท.คมสัน เลขาวิจิตร รองผู้กำกับสอบสวน สน.ยานนาวา ผู้แจ้งข้อกล่าวหาต่อจิรวัฒน์ ระบุพฤติการณ์ว่าเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564 ผู้กล่าวหาในคดีนี้ (ภัทรวรรณ) เปิดดูเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อภาษาอังกฤษ ซึ่งมีนามสกุลตรงกับผู้ต้องหา (จิรวัฒน์) และพบว่าบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวได้แชร์โพสต์จากเพจ KTUK – คนไทยยูเค เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2564 ซึ่งโพสต์ดังกล่าวปรากฎภาพของ ร.10 และนายกรัฐมนตรี ทั้งยังมีภาพประกอบเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 พร้อมเนื้อความโดยสรุปเกี่ยวกับการที่ไทยไม่ได้เข้าร่วมในโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นโครงการที่ป้องกันไม่ให้ประเทศที่ร่ำรวยสามารถกวาดซื้อวัคซีนมากักตุนไว้ที่ประเทศตัวเอง โดยโครงการดังกล่าวมีประเทศที่เข้าร่วมแล้วกว่า 172 ประเทศ แต่เนื่องจากไทยไม่ได้เข้าร่วม ทำให้ไม่สามารถรับวัคซินที่มีคุณภาพเข้ามาได้ ในขณะที่การผลิตวัคซีนในไทยถูกผูกขาดโดยบริษัทที่มี ร.10 เป็นผู้ถือหุ้น ซึ่งมีความล่าช้า ทำให้ผลกระทบตกถึงคนไทยที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนที่มีคุณภาพสูงได้ทันท่วงที ในขณะเดียวกันก็มีการนำเข้าวัคซีน Sinovac เข้ามาใช้ทั้งที่มีประสิทธิภาพต่ำ

ต่อมา ผู้กล่าวหา (ภัทรวรรณ) พบว่า เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2564 ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายนี้ยังได้แชร์โพสต์จากผู้ใช้เฟซบุ๊ก ซึ่งปรากฏภาพหนังสือราชการ 4 แผ่น และภาพของ ส.ส. รังสิมันต์ โรม ถือแผ่นกระดาษในมือทั้ง 2 ข้าง พร้อมข้อความประกอบโพสต์เกี่ยวกับเรื่องของตั๋วช้าง พร้อมตั้งคำถามว่า ลายเซ็นกำกับอาจเป็นของสมเด็จพระราชินี อีกทั้งยังมีลายเซ็นกำกับเหนือรหัส 904 พร้อมลิงก์ให้ไปอ่านเนื้อหาต่อบนทวิตเตอร์

นอกจากนี้ ผู้กล่าวหา (ภัทรวรรณ) ยังพบอีกว่า เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2564 ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายนี้ยังได้แชร์โพสต์จากเพจ KTUK – คนไทยยูเค ซึ่งมีเนื้อหาเป็นถ้อยคำปราศรัยของภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 ยืนยันว่าการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ควรต้องพูดถึงได้ทั้งในทางสรรเสริญและวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ประชาชนในฐานะที่เป็นกัลยานมิตรที่ดีที่ต้องสามารถตักเตือนกษัตริย์ได้เมื่อออกนอกลู่นอกทาง นอกจากนั้น ในเวลานี้ การขยายพระราชอำนาจของกษัตริย์อย่างไร้ขอบเขตกำลังส่งผลให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา โดยได้มีการนำเสนอข้อเสนอ 3 ข้อในการปรับปรุงแก้ไขสถาบันกษัตริย์ ได้แก่ แบ่งแยกกองทัพออกมาเป็นของสถาบันกษัตริย์นั้นไม่สามารถทำได้, กษัตริย์ต้องไม่แทรกแซงอยู่เบื้องหลังของกลุ่มก้อนทางการเมือง และขอให้โอนคืนทรัพย์สมบัติของชาติสู่ประชาชน

ผู้กล่าวหาอ้างว่าข้อความที่แชร์ดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อ ร.10 และพระราชินีจึงมาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดี

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาจิรวัฒน์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยประสงค์จะให้การในรายละเอียดเป็นหนังสือภายใน 30 วัน (ภายในวันที่ 9 ก.ย. 2564) จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาไปโดยไม่มีการควบคุมตัวไว้

ทั้งนี้ จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังการกลับมาบังคับใช้มาตรา 112 อีกระลอกในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ไปแล้วอย่างน้อย 116 คน ใน 115 คดี โดยในจำนวนนี้มี 58 คดีแล้วที่มี “ประชาชน” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net