Skip to main content
sharethis

ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติกล่าว 'ขอโทษประชาชนที่จัดหาวัคซีนล่าช้า' ในระหว่างการแถลงข่าวประจำวันของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวานนี้ (21 ก.ค. 2564) โดยระบุสาเหตุที่ล่าช้าว่าเป็นเพราะระเบียบกฎเกณฑ์ของทางราชการ พร้อมเผยว่าตอนนี้กำลังประสานองค์การ GAVI เพื่อเจรจาให้ไทยได้เข้าร่วม COVAX ในปีหน้า ขณะที่อธิบดีกรมควบคุมโรคเซ็นรับรองคำสั่งนำเข้าวัคซีนซิโนแวค 10.9 ล้านโดสตามมติ ครม. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

22 ก.ค. 2564 วานนี้ (21 ก.ค. 2564) สำนักงานสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รายงานการแถลงข่าวประจำวัน เรื่องการชี้แจงกลไกการจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยมี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เป็นผู้แถลง

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ซึ่งหากวิพากษ์วิจารณ์โดยมีข้อมูลไม่ครบถ้วนก็อาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนและไม่เป็นธรรมกับคนทำงานได้ ทั้งนี้ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยืนยันว่าภายใต้การกำกับดูแลของอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข การจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของกระทรวงฯ สามารถตรวจสอบได้ ไม่มีเรื่องทุจริต ส่วนกรณีที่ทางกระทรวงฯ ไม่สามารถเปิดเผยผลการเจรจากับบริษัทวัคซีนได้นั้น เนื่องจากการลงนามสัญญาระบุว่าไม่ให้เปิดเผยข้อมูล หากเปิดเผยอาจส่งผลเสีย เช่น ถูกยกเลิกการเจรจา หรือกรณีการขอให้แอสตราเซเนกาจัดหาวัคซีนจากแหล่งผลิตอื่นให้ประเทศไทยในช่วงที่มีการระบาด เมื่อมีข้อมูลออกไปทางยุโรปก็สั่งห้ามโรงงานไม่ให้จัดส่ง เป็นต้น

นพ.ศุภกิจ ชี้แจงว่ากลไกการจัดหาวัคซีนมี 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรก คือ กลไกตามกฎหมาย ซึ่งเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ.2561 และคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ส่วนที่สอง คือ กลไกการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพื่อประชาชนไทย โดยมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และมีกรรมการจากผู้แทนที่เกี่ยวข้อง อาทิ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เลขาธิการ สปสช. ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เป็นต้น คณะทำงานนี้ทำหน้าที่เจรจากับบริษัทแอสตราเซเนกาและโครงการ COVAX นอกจากนี้ ยังมีการตั้งคณะกรรมการจัดหาวัคซีนทางเลือก ซึ่งมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน

"วัคซีนไม่ใช่สินค้าทั่วไปที่จัดหาโดยง่าย ตลาดยังเป็นของผู้ขาย แม้กระทั่งโครงการโคแวกซ์ยังซัพพลายวัคซีนได้ไม่มากเท่าที่วางแผนไว้ เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว มีการกลายพันธุ์ สิ่งที่วางแผนไว้จึงต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและเจรจากับหลายฝ่ายตลอดเวลา แต่เราจะดำเนินการให้ได้วัคซีนมาถึงคนไทยมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้" นพ.ศุภกิจกล่าว

ด้าน นพ.โสภณ กล่าวว่า กรมควบคุมโรคร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีน ดำเนินการเป็นทีมเจรจากับบริษัทวัคซีน โดยพิจารณาทั้งเรื่องผลการศึกษาประสิทธิภาพ ราคา ความเหมาะสมของการใช้งานในประเทศไทย เช่น การจัดเก็บ การขนส่ง และผลข้างเคียงของวัคซีน โดยมีการเจรจาเป็นขั้นตอน ทั้งการลงนามเอกสารไม่เปิดเผยข้อมูลความลับ เอกสารการจองวัคซีน และเอกสารการซื้อวัคซีน ซึ่งต้องพิจารณาก่อนลงนามอย่างรอบคอบ เพราะข้อความต่างๆ สะท้อนถึงข้อผูกมัด ข้อตกลงที่ต้องดำเนินการร่วมกัน และส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบ

"เราเจรจาเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยมากที่สุด ทั้งเรื่องราคา เงื่อนไขต่างๆ เช่น กำหนดการส่งมอบวัคซีน การดูแลผลิตภัณฑ์ การตรวจสอบคุณภาพการผลิตวัคซีน สัญญามัดจำ การวางเงินจอง บางบริษัทต้องจ่ายเงินก่อนส่งมอบ ต้องหารือกรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ ทุกขั้นตอนทำอย่างรอบคอบในเวลาไม่ล่าช้าไปกว่ากำหนดส่งมอบวัคซีน ซึ่งจะทราบตั้งแต่ตอนเจรจา เช่น วัคซีนไฟเซอร์วันที่ประเทศไทยตัดสินใจสั่งซื้อ กำหนดการส่งมอบคือไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ เป็นต้น" นพ.โสภณกล่าว

แต่ก็ต้องกราบขออภัยพี่น้องประชาชนนะครับที่ทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แม้ว่าจะได้พยายามเต็มที่แล้วแต่ก็ยังจัดหาวัคซีนได้ในจำนวนที่ไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ ซึ่งสถานการณ์ก็เป็นสถานการณ์ที่เราไม่คาดคิด การระบาดของโรคโควิด-19 เราไม่เคยประสบพบเจอกันมาก่อน รวมทั้งสถานการณ์การกลายพันธุ์ของไวรัสนี่ก็ไม่ใช่ที่เราจะคาดหมายได้ล่วงหน้านะครับ เกิดขึ้นแล้วก็ทำให้เกิดการระบาดของโรครวดเร็วและก็รุนแรงกว่าที่เคยเป็นมาก่อนในช่วงปีที่แล้ว ทำให้การจัดหาวัคซีนไม่ทันต่อสถานการณ์ ก็ต้องกราบขออภัยไว้ใน ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่งนะครับ

ขณะที่ นพ.นคร กล่าวว่า สถาบันวัคซีนแห่งชาติเริ่มเจรจาติดต่อประสานงานผู้ผลิตวัคซีน ทั้งที่มีวัคซีนแล้วและอยู่ระหว่างการวิจัยตั้งแต่เดือน ส.ค. 2563 โดยมีการออกประกาศตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ.2561 มาตรา 18 (4) ที่ให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติจองวัคซีนล่วงหน้าที่ยังอยู่ระหว่างการวิจัยได้ จึงเป็นที่มาของการจัดหาวัคซีนแอสตราเซเนกา 61 ล้านโดส ทั้งนี้ การเสนอจัดหาวัคซีนเมื่อมีข้อมูลจากการเจรจากับผู้ผลิต จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเพื่อความรอบคอบ เพราะเกี่ยวพันกับภาระงบประมาณและความผูกพันด้านสัญญา หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไม่สามารถตัดสินใจเพียงลำพัง และก่อนลงนามจะมีการส่งปรึกษาหารือกับหน่วยงานด้านกฎหมายของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ระหว่างการแถลงข่าว นพ.นคร ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้กล่าวขอโทษประชาชนที่ดำเนินการจัดหาวัคซีนล่าช้า ไม่ทันต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรงรวมถึงเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ แต่เหตุผลที่ทำให้การจัดหาวัคซีนล่าช้านั้นเกิดจากขั้นตอนการดำเนินงานและระเบียบของทางราชการ

"ในส่วนของการดำเนินการทุกส่วน ก่อนการลงนามในส่วนใดก็จะมีการส่งปรึกษาหารือหน่วยงานด้านกฎหมายของประเทศเพื่อให้พิจารณาดูก่อน ทุกอย่างก็จำเป็น ในการดำเนินงานของภาครัฐก็จำเป็นต้องมีระบบระเบียบที่เกี่ยวข้อง ก็จำเป็นต้องใช้เวลาในการดำเนินการ ก็เป็นที่มา เกิดความรับรู้ว่าการดำเนินการจัดหาวัคซีนอาจจะไม่ทันตามจำนวนที่คิดว่าควรจะเป็นได้ ทั้งหมดก็เป็นเรื่องของข้อจำกัดที่มี แต่ก็ต้องกราบขออภัยพี่น้องประชาชนนะครับที่ทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แม้ว่าจะได้พยายามเต็มที่แล้วแต่ก็ยังจัดหาวัคซีนได้ในจำนวนที่ไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ ซึ่งสถานการณ์ก็เป็นสถานการณ์ที่เราไม่คาดคิด การระบาดของโรคโควิด-19 เราไม่เคยประสบพบเจอกันมาก่อน รวมทั้งสถานการณ์การกลายพันธุ์ของไวรัสนี่ก็ไม่ใช่ที่เราจะคาดหมายได้ล่วงหน้านะครับ เกิดขึ้นแล้วก็ทำให้เกิดการระบาดของโรครวดเร็วและก็รุนแรงกว่าที่เคยเป็นมาก่อนในช่วงปีที่แล้ว ทำให้การจัดหาวัคซีนไม่ทันต่อสถานการณ์ ก็ต้องกราบขออภัยไว้ใน ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่งนะครับ" นพ.นคร กล่าว

นพ.นคร เปรมศรี กล่าวคำว่า 'ขอโทษพี่น้องประชาชน' ระหว่างไลฟ์แถลงข่าวประจำวัน
(ชมไลฟ์จาก
เพจกระทรวงสาธารณสุข นาทีที่ 17.55-19.32)

สำหรับการดำเนินการในระยะถัดไปคือ การจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมทั้งของปี 2564 และปี 2565 โดยพิจารณาผู้ผลิตวัคซีนที่มีการพัฒนารุ่น 2 ที่ตอบสนองไวรัสกลายพันธุ์และจะเร่งเจรจา เพื่อให้ส่งมอบได้ตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2565 จึงจำเป็นต้องจองล่วงหน้า ส่วนโครงการ COVAX ยังไม่มีการลงนามความร่วมมือ แต่เริ่มประสานกับองค์กรกาวี (GAVI) ในการขอเจรจาจัดหาวัคซีนร่วมกับโครงการ COVAX สำหรับปี 2565 เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้รับวัคซีนของปีหน้า เมื่อมีข้อสรุปเบื้องต้นที่ชัดเจนจะเสนอผ่านคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ จะสนับสนุนวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนในประเทศ โดยสนับสนุนทั้งผู้ผลิตวัคซีนที่ศักยภาพในการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทั้งชนิดเชื้อตาย mRNA หรือซับยูนิตโปรตีน โดยกระทรวงการต่างประเทศเข้ามาช่วยประสานงาน และจะสนับสนุนการวิจัยในประเทศ ทั้ง mRNA ของจุฬาฯ วัคซีนเชื้อตายขององค์การเภสัชกรรม วัคซีน DNA ของบริษัทไบโอเน็ทเอเชีย และวัคซีนซับยูนิต โปรตีนของบริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม อย่างเต็มที่ รวมถึงสนับสนุนการวิจัยพัฒนาความรู้อื่นๆ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานวัคซีนของไทยต่อไป

อธิบดีกรมควบคุมโรคเซ็นแล้ว สั่งซิโนแวคเพิ่ม 10.9 ล้านโดส

ประชาชาติธุรกิจ รายงานโดยอ้างอิงข่าวสดออนไลน์ว่า วานนี้ (21 ก.ค. 2564) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ลงนามในคำสั่งลงวันที่ 15 ก.ค. 2564 ถึงผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้องค์การเภสัชกรรมนำเข้าวัคซีนซิโนแวคเพิ่มเติมจำนวน 10.9 ล้านโดส ซึ่งเป็นคำสั่งที่มีผลผูกพันจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2564 ที่ได้อนุมัติโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับบริการประชาชนในประเทศไทย เพิ่มเติมจำนวน 10.9 ล้านโดส ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรอบวงเงิน 6,111.4120 ล้านบาท

แม้ในรายงานสรุปมติที่ประชุม ครม. ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์รัฐบาลไทยไม่ได้ระบุว่าการจัดหาวัคซีนโควิด-19 จำนวน 10.9 ล้านโดสจะเป็นวัคซีนยี่ห้อใด แต่สื่อหลายสำนัก เช่น มติชนออนไลน์, ไทยรัฐออนไลน์, PPTV HD 36 หรือ Workpoint Today รายงานตรงกันว่าวัคซีนจำนวน 10.9 ล้านโดสที่ ครม. มีแผนจะจัดซื้อคือวัคซีนยี่ห้อซิโนแวค โดยอ้างอิงจากการแถลงข่าวของอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งระบุเพิ่มเติมว่าทางรัฐบาลได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรคเป็นผู้จัดหาวัคซีนตามที่ ครม. เห็นชอบซึ่งก็คือ 'ซิโนแวค' และให้จัดหาวัคซีนชนิดอื่นๆ ที่สามารถป้องกันการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสควบคู่กันไป โดยจัดสรรวงเงินและระยะเวลาการสรรหาวัคซีนเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรกภายในเดือน ก.ค. ด้วยวงเงิน 3,894.8 ล้านบาท และช่วงที่สองในเดือน ส.ค. ด้วยวงเงิน 2,169.96 ล้านบาท นอกจากนี้ ครม. ยังได้จัดสรรงบสำหรับค่าบริการจัดหาและส่วนอื่นๆ เพิ่มเติมให้อีก 46.52 ล้านบาท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net