Skip to main content
sharethis

รายงานความโปร่งประจำปี 2563 ของทวิตเตอร์ ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ธ.ค. พบว่ารัฐบาลไทยส่งคำร้องขอให้ทวิตเตอร์เปิดเผยข้อมูลของผู้ใช้งาน 'ลดลง' แต่ส่งคำร้องให้ทวิตเตอร์ลบเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม 'มากขึ้น' เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2563 สวนทางกับกระแสโลก

15 ก.ค. 2564 รายงานความโปร่งใสปี 2563 ฉบับเต็มของทวิตเตอร์ระบุว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 (ก.ค.-ธ.ค.) รัฐบาลไทยมีคำร้องขอให้ทวิตเตอร์เปิดเผยข้อมูลผู้ใช้งานจำนวน 22 ครั้ง เป็นการขอข้อมูลตามกิจวัตร 20 ครั้ง และขอข้อมูลเร่งด่วน 2 ครั้ง ซึ่งลดลงจากช่วงครึ่งปีแรก ที่มีการขอข้อมูลผู้ใช้งานทั้งหมด 43 ครั้ง เป็นการขอตามกิจวัตร 34 ครั้ง และขอแบบเร่งด่วนอีก 9 ครั้ง ทำให้ภาพรวมในปีที่แล้ว รัฐบาลไทยมีการขอดูข้อมูลผู้ใช้งานรวม 65 ครั้ง

กราฟเปรียบเทียบการขอข้อมูลผู้ใช้งานทวิตเตอร์ของรัฐบาลไทยตั้งแต่ปี 2014-2020
(สีน้ำเงิน = คำสั่งศาล / สีฟ้า = คำขอตามกิจวัตร)
 

อย่างไรก็ตาม ในรายงานของทวิตเตอร์ระบุว่ารัฐบาลไทยส่งคำร้องขอให้ลบหรือระงับเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมเพิ่มมากขึ้น โดยในช่วงระหว่างเดือน ก.ค.-ธ.ค. 2563 มีการส่งคำร้องมากถึง 100 ครั้ง แบ่งเป็นคำร้องตามคำสั่งศาลจำนวน 86 ครั้ง และคำร้องทางกฎหมายทั่วไปอีก 14 ครั้ง ในขณะที่ช่วงครึ่งแรกของปี 2563 มีการส่งคำร้องขอให้ลบทวีตที่ไม่เหมาะสมเพียง 7 ครั้ง แบ่งเป็นคำสั่งศาล 2 ครั้ง และคำสั่งทางกฎหมายทั่วไปอีก 5 ครั้ง สรุปได้ว่าภาพรวมของปี 2563 รัฐบาลไทยส่งคำขอขอให้ทวิตเตอร์ลบเนื้อหารวม 107 ครั้ง ซึ่งสวนทางกับภาพรวมทั่วโลกที่มีการขอให้ลบ
ทวีตน้อยลงถึง 9%

กราฟเปรียบเทียบคำขอของรัฐบาลไทยให้ทวิตเตอร์ลบเนื้อหาไม่เหมาะสมตามกฎหมายไทยตั้งแต่ปี 2014-2020
(สีน้ำเงิน = คำสั่งศาล / สีฟ้า = คำสั่งทั่วไปทางกฎหมาย)
 

นอกจากนี้ ทวิตเตอร์ยังระบุว่าตลอดปี 2563 รัฐบาลไทยขอให้ลบบัญผู้ใช้งานรวม 468 ครั้ง แบ่งเป็นการขอร้องให้ลบบัญชีตามคำสั่งศาลจำนวน 435 ครั้ง และการขอให้ลบตามกฎหมายทั่วไปอีก 32 ครั้ง

ภาพรวมทั่วโลก

รายงานความโปร่งใสช่วงครึ่งหลังปี 2563 ของทวิตเตอร์ ระบุว่า ได้รับคำขอดูข้อมูลผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น 15% จากรายฉบับก่อนหน้า และอินเดีย คือประเทศที่รัฐบาลส่งคำร้องขอดูข้อมูลผู้ใช้งานมากที่สุด โดยคำขอของรัฐบาลอินเดียคิดเป็น 25% ของคำขอจากรัฐบาลทั่วโลก ในขณะที่สหรัฐอเมริกาซึ่งเคยได้อันดับ 1 ในช่วงครึ่งปีแรกกลับตกลงมาอยู่ในอันดับ 2 โดยคำขอของรัฐบาลอเมริกันคิดเป็น 22% จากคำขอทั้งหมด ส่วนอันดับรองลงมา ได้แก่ ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส ตามลำดับ โดยคำขอดูข้อมูลผู้ใช้งานจากทั้ง 4 ประเทศนี้รวมกันคิดเป็นกว่า 78% ของคำขอทั้งหมดทั่วโลก

ส่วนประเทศที่มีการขอให้ลบทวีตที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมมากที่สุด คือ ญี่ปุ่น คิดเป็น 43% ของคำขอทั่วโลก โดยส่วนใหญ่แล้ว คำขอของรัฐบาลญี่ปุ่นจะเกี่ยวข้องกับความผิดด้านยาเสพติด สื่อลามกอนาจาร หรือการฟอกเงิน ส่วนอับดับรองลงมา คือ อินเดีย รัสเซีย ตุรกี และเกาหลีใต้ ตามลำดับ

ที่มา: Twitter's Transparency Reports

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net