Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ตลอดปิดเทอมที่ผ่านมาทำให้ผมมีเวลาอ่านหนังสือมากขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งงานวรรณกรรม งานวิชาการ และการ์ตูน ซึ่งหลายเล่มก็ทำได้ดีมากจนผมรู้สึกตกหลุมรักหนังสือแทบทุกเล่มที่ผมอ่านโดยไม่ทราบเหตุผล


ผมจัดประเภทหนังสือง่าย ๆ ในหัว คัดแยกแต่เพียงหนังสือเล่มไหนดีและไม่ดีสำหรับผม ซึ่งหลายเล่มก็เอาตัวเองเข้ามาอยู่ในประเภท ‘หนังสือที่ดี’ ได้อย่างง่ายดาย จนสุดท้ายมันนำพาผมมาสู่คำถามเกี่ยวกับวิธีการจัดประเภทของหนังสือภายในหัวของผมว่า ข้างในนั้นทำมันงานอย่างไร และมันใช้เกณฑ์หรือกรณีแบบไหนเพื่อจัดประเภทหนังสือมากมายหลายประเภทให้อยู่ในหมวดหมู่ของหนังสือที่ดีได้

ดังนั้นสิ่งที่ผมก็ทำต่อไปก็คือ ไต่สวนวิธีการทำงานของกระบวนการให้คุณค่าหนังสือ ผมใช้วิธีมองอย่างไรเพื่อทำให้ตัวหนังสือบรรลุเป้าประสงค์ของมันกับตัวของผมเอง และอะไรที่ทำให้หนังสือเล่มต่าง ๆ ปรากฏต่อผมว่าเป็นหนังสือที่ดี

โดยผมเริ่มต้นจากค้นหาคุณสมบัติที่หนังสือดีหลากหลายชนิดมีรวมกันเพื่อค้นหาถือสภาวะที่หนังสือเหล่านี้ถือครองร่วมกันเพื่อทำให้ตัวมันเองปรากฏออกมาว่าดี หรือพูดให้ง่ายก็คือ ตัวหนังสือมันมีอะไรดีวะ ฉันถึงได้ตกหลงรักมันได้ง่ายถึงเพียงนี้? โดยเฉพาะเวลาที่หนังสือทำให้เรากลับเข้ามาใคร่ครวญกับตัวเองราวกับว่าหนังสือกำลังพูดคุยบางอย่างกับเรา

ฉะนั้นแล้ว ตัวหนังสือจึงถือครองสารบางชนิดที่เริ่มต้นกระทำกับผู้อ่านในระหว่างที่ผู้อ่านกระทำการอ่านหนังสือ และเพื่อที่จะทำให้เป้าประสงค์ของตัวมันถูกค้นพบ หนังสือที่ดีจะสามารถนำพาผู้อ่านไปสู่ความจริงสองแบบ 1. สามารถพาผู้อ่านหนีจากความจริงได้ 2 . สามารถพาผู้อ่านค้นพบความจริงได้ แต่ทั้งสองอย่างนั้นจะพาผู้อ่านไปเจอความจริงไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ

สำหรับกลุ่มที่หนึ่ง ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นผ่านโลกของวรรณกรรม เพราะตัวมันสามารถเชื้อเชิญผู้อ่านให้ท่องไปในมิติอื่น ๆ ของโลกได้ กระนั้นงานประเภทอื่น ๆ เองก็มีความสามารถที่จะพาเราไปสู่มิติพิศวงได้ไม่ต่างจากวรรณกรรม ตัวอย่างเช่น ‘ว่าด้วยเพศ’ ของ ธเนศ วงศ์ยานนาวา อันจะมีบทหนึ่งกล่าวถึงศิลปะว่าด้วยการผูกมัด จากมัดของไปถึงมัดคน และมัดใครต่อใครให้บรรลุจุดสุดยอด (เพศ) ซึ่งเป็นมิติที่พิศวงสุด ๆ ในท่ามกลางชีวิตที่ปกติของเรา ทว่าการมัด การห่อเองก็ล้อไปได้ด้วยดีกับปรัชญาแห่งความแออัดที่มนุษย์ต้องเข้าไปจัดการเพื่อให้เกิดพื้นที่[1] - เป็นแนวความคิดที่ล้อไปในระนาบเดียวกันกับสภาพสถาปัตยกรรมเมืองของประเทศไทยที่เราพอจะพบได้ตามท้องถนนกรุงเทพฯ และทุ่งร้างตามปริมณฑล จากสภาพระบบนิเวศผังเมืองในประเทศ เราสามารถอนุมานถึงพฤติกรรมร่วมเพศของคนในประเทศได้หรือไม่?

จะเห็นว่า การทะลุมิติผ่านตัวบททำให้เกิดภาพสะท้อนแบบใหม่ให้กับเราได้อย่างน่าเหลือเชื่อ โดยอาศัยเพียงประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของเราก็สามารถสื่อสารคู่ไปกับตัวบทได้เป็นอย่างดี

ทว่าอะไรคือความหมายของการที่ตัวบท (หนังสือ บทความ ฯลฯ) พาเราหนีจากความจริงเพื่อไปสู่ความจริง? ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนที่สุด ชุดหนังสือไตรภาคเรื่อง His Dark Materials ภาพรวมของชุดหนังสือนี้ถ่ายทอดเรื่องราวของความกล้าหาญของมนุษย์ การต่อสู้เพื่ออิสรภาพระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าได้ละเมียดละไม โรแมนติก และเย้ายวน เชิญชวนให้ผู้อ่านท่องร่วมไปกับไลราและวิลไปสู่พหุโลกภายในเรื่อง - สนุก น่าติดตาม และทำให้อ่านจนลืมเวลา

สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างมิติของตัวบท และมิติของนักอ่านคือ เราไม่ได้เพียงแค่ชมการดำเนินไปของเรื่องราวเท่านั้น แต่เรายังคิดตามไปด้วย บางครั้งก็ถึงคันคิดตามอย่างจริงจัง ซึ่งในแง่นี้ไม่ได้หมายความเพียงแค่เนื้อหาทางปรัชญา แต่ยังรวมถึงชีวิต ความรักที่เกิดขึ้นภายในเรื่อง จากบทสรุปของไตรภาคเรื่อง His Dark Material ไม่ได้เป็นเพียงตอนจบ เป็นอวสาน ทว่าเป็นการเปิดช่องทางการคิดต่อ “แต่ถ้าอย่างนั้นเราก็จะสร้างมันไม่ได้ ไม่มีใครทำมันได้ถ้าคิดถึงแต่ตัวเอง เราต้องทำตัวให้มีอะไรยาก ๆ อย่างความร่าเริง เมตตาอยากรู้อยากเห็น อดทนอะไรพวกนั้น แล้วเราก็ต้องเรียน คิด และทำงานหนัก พวกเราทุกคน ในทุก ๆ โลก แล้วจากนั้นพวกเราจะสร้าง […] สาธารณะรัฐแห่งสวรรค์” (สู่เส้นทางมรณะ หน้า 582)

ซึ่งหากคำบอกเล่าของไลราเป็นจริง เราสามารถเอาจริงเอาจังแค่ไหนกับการสร้างสาธารณะสวรรค์ สิ่งที่เธอบอกจบแค่ภายในเรื่องหรือไม่?

นอกจากนี้เรายังจะเห็นการพยายามตีความความผูกพันความจริงของศาสนจักรกับความจริงบางประการที่ทำให้เกิดการทดลองขึ้นกับเด็ก ๆ ในบทพูดของมิสโคลเตอร์ “[…] ภูตินั้นเป็นเพื่อนที่วิเศษมากเมื่อหนูยังเด็ก แต่เมื่อถึงวัยที่เราเรียกว่าวัยหนุ่มสาว ซึ่งตัวหนูเองก็จะถึงในไม่ช้านี่แหละ ภูติก็สร้างความคิดและความรู้สึกที่แสนจะว้าวุ่นให้หนู แล้วนั้นแหละที่ฝุ่นธุลีจะเข้ามา ถ้าได้ผ่าตัดสักนิดก่อนหน้านั้น หนูก็จะไม่เจอปัญหายุ่งยากอะไรอีกเลย […]” (ธุลีปริศนา ตอน มหันตภัยขั้วโลกเหนือ หน้า316) และ “ […] คณะปกครองตัดสินลงไปว่าฝุ่นธุลีคือหลักฐานที่เป็นรูปธรรมของบาปกำเนิด […] และพวกเขาเห็นความแตกต่างรู้จักความดีและความชั่ว ก็รู้สึกอับอาย จึงนำใบมะเดือมาเย็บเพื่อปกปิดเรือนร่างของตน และนั้นคือวิธีที่บาปกำเนิดเกิดขึ้นมาในโลกนี้” ลอร์ดแอสเรียลสรุปให้ไลราฟังจากเรื่องราวปฐมบท (ธุลีปริศนา ตอน มหันตภัยขั้วโลกเหนือ หน้า 412-413)

ซึ่งตัวบทไม่ได้แค่มอบปริศนา สสารที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่าตัวบทใช้ปริศนาเหล่านี้เพื่อเข้าสื่อสารโดยอ้อมกับผู้อ่าน กลเม็ดที่มนุษย์ใช้วัฒนธรรม ความบริสุทธิ์เพื่อเข้าควบคุมคนอันเป็นเรื่องยากที่จะทำความเข้าใจ แต่กลับเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราเองก็เป็นผู้ถูกควบคุมผ่านความหวังดีอันไร้เหตุผล

เราจะเห็นแนวความคิดเดียวกันเกิดขึ้นกับวรรณกรรมเรื่อง 1984 การสถาปนาความมั่นคงของพรรคพี่บึ้มโดยรับประกันเพียงความปลอดภัยของอำนาจตนเอง ไม่ใช่ความปลอดภัยของคนด้วยกัน ความรักที่ไม่บริสุทธิ์ต่อพี่เบิ้มจำต้องถูกจับตามอง ความรักระหว่างพระเอกงานเองจึงต้องดำเนินไปอย่างลับ ๆ ความรักเปรียบเหมือนทางสว่างซึ่งเป็นความกล้าหาญที่เผด็จการไม่ชอบ จนสุดท้ายก็จบลงด้วยการลงโทษโทษฐานพยายามนอกใจพรรคของตนเอง

จะเห็นว่าวรรณกรรมเยาวชนทิ้งทวนความน่าสนใจถึงความสมจริงทางจินตนาการไว้พอสมควร เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างวรรณกรรมกับผู้อ่านเกิดขึ้นเพราะตัวภาษาเองฉายภาพแบบหนึ่ง ทำให้ผู้อ่านสามารถจินตนาการได้ว่า - หรืออย่างน้อยก็รับรู้ถึงความสลับซับซ้อนที่เกิดขึ้นของตัวเองกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกภายนอก และพอจะรู้ว่าตัวเองควรจะปฏิบัติอย่างไร หรือวางตำแหน่งตัวเองอย่างไร[2]

ความสนุกของโลกวรรณกรรมจึงเป็นการทำให้ผู้อ่านได้กลมกลืนไปกับตัวละครและทุกครั้งการกระทำของตัวละครมักจะชวนทำให้ผู้อ่านระมัดระวังกับการกระทำของตนเองให้มากขึ้น หรือกล่าวก็คือ มันทำให้เกิดความเบิกบานใจของผู้อ่านที่เกิดการระลึกขึ้นได้ของความจริงบางอย่าง ในแง่นี้การอ่านเพื่อหนีสำหรับวรรณกรรมที่ดีจึงไม่ได้ชวนผู้อ่านหนีออกไปจากโลกแห่งความจริง[3] ทว่าเป็นการชวนผู้อ่านให้หนีออกจากตัวตนของตัวเองสักครู่หนึ่งเพื่อตกตะกอน ให้เวลาตนเองใคร่ครวญถึงชีวิต และหาเส้นใต้ของตนเองเพื่อสร้างเป็นฐานความจริงบนโลกเสียใหม่

ทว่าก่อนที่จะไปสู่ความจริงในลักษณะที่สอง ในโลกสมัยใหม่ยังมีสิ่งที่เรียกว่า แฟนฟิกชั่น ที่ไม่แน่ใจว่าควรจะจัดตำแหน่งอยู่ตรงไหน หากวรรณกรรมเป็นเครื่องมือที่ใช่หลีกหนีความจริงเพื่อตระเตรียมตัวเองให้พร้อมสำหรับความจริงอีกแบบ วรรณกรรมประเภทนี้จะเสนอความจริงแบบไหนให้เรา หรืออย่างน้อยที่สุดมันกำลังพาเราไปหาความจริงรูปแบบไหน

เราจะเห็นได้อย่างล้นหลามในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา หรือในช่วงที่วัฒนธรรมอินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามามีบทบาท ไมโครซอฟเวิร์ดเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับนักเขียนเยาวชนแทนที่จะเป็นเครื่องพิมพ์ดีด และการเข้ามาของวรรณกรรมเรื่อง Harry Potter ลักษณะของโรงเรียน ความสัมพันธ์แบบสามเหลี่ยมของ แฮร์ไมโอนี รอน และแฮรี่ สิ่งเหลานี้กลายมาเป็นวัตถุดิบสำหรับจินตนาการของนักเขียนรุ่นใหม่ในยุคนั้นอย่างท่วมท้น และปรากฏการณ์ของ Harry Potter เองก็สร้างมรดกชิ้นสำคัญทำให้เกิดวรรณกรรมที่ทรงคุณค่ามากมาย เช่น หัวขโมยแห่งบารมอสเป็นต้น[4]

และหัวขโมยแห่งบารามอสเองก็กลับมาสร้างอัตลักษณ์ที่ลื่นไหลทางเพศพร้อมทั้งวัฒนธรรมหลายอย่างที่ถูกจริตเยาวชนไทยมากขึ้นต่อจากแฮรี่ ทำให้เกิดเป็นแฟนฟิกชั่นตามต่อขึ้นมาอีกในเว็บ เด็กดีในช่วงนั้น และวงการแฟนฟิกชั่นก็เติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ จนเกิดเป็นงานอีเว้นที่สำคัญ ๆ ต่อมา เช่น Comic avenue

แล้วแฟนฟิกชั่นสัมพัทธ์กับวิธีการไปสู่ความจริงด้วยหรือไม่? นี่อาจจะเป็นคำถามที่น่าสนใจ เพราะเหมือนว่าโลกของแฟนฟิกชั่นจะไม่ได้ก้าวออกไปไหนไกลจากโลกของวรรณกรรมเลย กระนั้นในบางสังคม แฟนฟิกชั่นกลับเป็นตลาดที่สำคัญมาก และสร้างเม็ดเงินให้กับนักเขียนได้เป็นจำนวนมากเช่นกัน Comic avenue เป็นหนึ่งในนั้น และงานโดจินในประเทศญี่ปุ่นเองก็เป็นตัวอย่างที่ดีว่า มีนักเขียนจำนวนมากหาเลี้ยงชีพจากการสารต่อจักรวาลของวรรณกรรม ให้อภิปรัชญาภายในวรรณกรรมคงเส้นคงวามากขึ้น

แฟนฟิกชั่นจึงไม่ใช่เพียงการถอดตัวเองไม่ออกจากวรรณกรรม ทว่าเป็นการต่อยอดทางวรรณกรรมที่น่าสนใจโดยอาศัยความรู้ ความเข้าใจ ประวัติศาสตร์ภายในตัวบทเพื่อถ่ายทอดเนื้อเรื่องในฉบับของตัวเองต่อมา มันจึงไม่ผิดนักหากจะบอกว่า นักเขียนแฟนฟิกชั่นกำลังศึกษาวรรณกรรมอยู่นั่นเอง

ความจริงประเภทที่สอง การที่ตัวบทสามารถพาผู้อ่านไปหาความจริงได้เลย หรือกล่าวคือ ผู้อ่านตระเตรียมตัวเองมาสำหรับรับรู้ความจริงชุดใดชุดหนึ่งอยู่แล้ว ความจริงเช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยกับงานเขียนทางวิชาการ ที่ผู้อ่านเลือกหยิบจับหนังสือขึ้นมาเพราะคาดหวังจะได้พบข้อมูลบางอย่างอยู่แล้ว ผมเจอความรู้สึกเช่นนี้เวลาตั้งใจหยิบหนังสือเรื่อง On truth หรือกระแสธารของวัฒนธรรมการวิจารณ์ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่แตกต่างจากเวลาที่ผมหยิบ To the Light House หรือ Babette's feast ขึ้นมาอ่าน

แต่บางงานเขียนก็ให้ความรู้สึกที่ตีกันไปมา เช่น Thus spoke Zarathustra ที่เล่าผ่านมุมมองแบบวรรณกรรมแต่ก็ยังมีนัยของการเทศให้ฟัง มีความจริงบางอย่างที่ถูกเล่าผ่านปากของซารันธุสตร้าให้เกิดความรู้สึกคล้อยตาม เช่น

“He who shot the doctrine will to existence at truth certainly did not hit the truth: This will – does not exist […] Only where life is, there is also will: not will to life, but – so I teach you – will to power!”[5]

หรือไม่ งานแนววิจารณ์เองก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจงานที่เขาเคย หรือกำลังอ่านมากขึ้น แม้บางงานจะไม่ได้เรียกร้องให้มีความคิดใดความคิดหนึ่งมากรอบจำกัดความลื่นไหลของงานศิลปะ แต่สิ่งที่การวิจารณ์ทำส่งผลให้เกิดการตีความที่หลากหลายและละเอียดซับซ้อนมากขึ้นตามลำดับ พร้อมทั้งเกิดการเชื่อมโยง ต่อยอดมากมายจนส่งผลให้เกิดการยกระดับตัวงานขึ้นมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ จนเกิดการเป็นความน่าสนอกสนใจว่า สักวันหนึ่งงานของฉันอาจจะถูกพูดถึงโดยนักวิจารณ์บางคน

มีอาจจะเป็นความคิดโดยสังเขปที่ผมพยายามอธิบายปรากฏการณ์ทางความคิดที่ผมใช้จำแนกความรู้สึกดีที่มีต่อตัวงาน งานหลายเรื่องสามารถตบความคิดที่กระจัดกระจายในสมองผมให้เป็นระเบียบมากขึ้น และอาจจะเป็นเพราะผมเป็นคนเชื่อคนง่าย ผมเองก็รู้สึกอยากเขียนเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะความรู้สึกที่มีหลังจากอ่านหนังสือ On truth จบ

แต่การพูดเช่นนี้ก็ไม่ต่างจากการพูดความจริงดำรงอยู่แค่ในหนังสือเท่านั้น ผมเห็นว่าวิธีการมองเช่นนี้นั้นป่วยการ ตัวหนังสือเองไม่ได้บันทึกความจริงเอง กลับกันตัวบทเองสัมพัทธ์กับผู้คนที่อ่านมัน เช่นนั้นแล้ว หนังสือที่ดีจึงไม่ใช่แค่หนังสือที่ถูกนักวิจารณ์บอกว่ามันดี ไม่ใช่หนังสือรางวัลซีไรต์สะท้อนสังคม แต่ไม่ได้มีความหมายอะไรเพราะสิ่งที่เขาอยากรู้ไม่ได้สัมพัทธ์กับสิ่งที่หนังสืออยากให้

การบังคับให้อ่านหนังสือจึงเป็นการกระทำที่ป่วยการ ตัวบทที่ดีจะเรียกร้องผู้คนให้เข้ามาอ่านเอง สังคมที่ไม่สนใจหาความจริงเพิ่มเติมเห็นทีจะเป็นสังคมที่ถูกทำให้เชื่องแล้ว แต่หลายทศวรรษที่ผ่านมาก็พอที่จะทำให้เห็นแล้วว่า แม้แต่คนที่อ่านหนังสือเองก็เชื่องไม่ต่างจากคนที่ไม่อ่านหนังสือ เป็นความจริงที่น่าเสียใจที่ว่า หนังสือไม่ได้ทำให้ใครคนใดคนหนึ่งเข้าถึงความจริงมากกว่าอีกคนหนึ่งเลย

การตะบี้ตะบันอ่านในสังคมที่ให้คุณค่ากับการอ่านราวกับว่ามันจะช่วยทำให้ลอยฟ้าได้ ดำเนินไปตรงข้ามกับผลลัพธ์ที่ออกมาของรัฐไทยในปัจจุบัน

ผมมองว่าตัวบทที่ดีเองจะทำการไต่สวนความขบถของคนที่อ่านด้วยเช่นเดียวกัน การอ่านกับสังคมจึงเป็นสิ่งที่ดำเนินไปในระนาบเดียวกัน สังคมที่เรียกร้องความเท่าเทียมจะอ่านเพราะเขาแสวงหาความจริงบางอย่าง ซึ่งตัวบทที่ดีเองก็จะสะท้อนภาพความคิดของเขาให้ชัดเจนมากขึ้นพร้อม ๆ กับสิ่งที่เขากำลังต่อสู้

อาจจะกล่าวได้ว่าหนังสือที่ดีจะเดินไปในระนาบเดียวกันกับผู้อ่านเพื่อช่วยแถลงไขจริยศาสตร์ของผู้อ่านเองด้วยเช่นกัน ดั่งเช่นสิ่งที่เกิดขึ้นในชุดหนังสือเรื่อง His Dark Materials ที่แม้ตัวมันเองจะถูกจัดให้อยู่ในประเภทของวรรณกรรมเยาวชน แต่สิ่งที่มันทำเองกลับเปิดวิสัยทัศน์เรื่องคุณค่าของความกล้าหาญ เช่นเดียวกับพัฒนาการของความรักว่ามันสามารถผลักดันให้มนุษย์คนหนึ่งเดินไปได้ไกลขนาดไหน ซึ่งเป็นพลังอันมหาศาลสำหรับผู้คนที่กำลังจะต้องโตมาในสังคมอันเหี่ยวแห้งแบบนี้

 กล่าวโดยสรุป หนังสือที่ดีมีพันธะบางอย่างที่จะต้องสื่อสารความจริงออกมา และความจริงที่ในแง่นี้สื่อสารโดยตรงกับสภาพวะที่สังคมกำลังเผชิญหน้าอยู่ งานเขียนที่ดีจึงต้องสื่อสารกับผู้อ่านอย่างตรงไปตรงมาในท้ายที่สุด

 

อ้างอิง

Friedrich Nietzsche. Translated by R.J. Hollingdale. 2003. “Thus Spoke Zarathustra”. Penguin Books

ธเนศ วงศ์ยานนาวา.  2562. ‘ว่าด้วยเพศ’. พิมพ์ครั้งที่ 4. สำนักพิมพ์สมมติ.

คงกฤช ไตรยวงศ์. 2562. ความจริงในงานศิลปะกับศาสตร์การตีความของกาดาเมอร์. ‘On Truth’. พิมพ์ครั้งที่ 4. อิลลูมิเนชั่นส์ เอดิชันส์.

Philip Pullman. ผู้แปล วันเพ็ญ บงกชสถิต. 2005. “ธุลีปริศนา ตอน มหันตภัยขั้วโลกเหนือ” และ “ธุลีปริศนา ตอน สู่เส้นทางมรณะ”. นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์

 

           

 

[1] ธเนศ วงศ์ยานนาวา. ว่าด้วยเพศ. หน้าที่ 363

[2] คงกฤช ไตรยวงศ์, ‘ความจริงในงานศิลปะกับศาสตร์การตีความของกาดาเมอร์’, On truth 157-156

[3]  Ibid., 166-167

[4] ใน The Thief of Baramos Perfect Guidebook ช่วงตอบคำถามนักเขียนมีคนถามถึงแรงบันดานใจของนักเขียนอยู่ ซึงนักเขียนเอง็ตอบว่า ได้รับแรงบันดานใจมากจากหลากหลายเรื่อง แต่เฉพาะในส่วนของโรงเรียน เดินตลาดของตัวละคร เธอในรับอิทธิพลมาจากวรรณกรรมเรื่องแฮรี่ พ็อตเตอร์

[5] Friedrich Nietzsche. Translated by R.J. Hollingdale. “Thus Spoke Zarathustra”. P. 138

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net